ภูมิแพ้ในเด็กเล็ก พร้อมวิธีดูแลลูก เมื่อเด็กเป็นภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ในเด็ก เป็นโรคที่พบได้ในเด็กตั้งแต่อายุไม่กี่เดือนจนถึงเด็กโต มักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีความเสี่ยงต่อโรคภูมิ แพ้ เช่น คนในครอบครัวมีประวัติเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งโรคภูมิแพ้ในเด็กมีหลายอาการ เริ่มตั้งแต่อาการแพ้นมในวัยทารก อาการภูมิแพ้บนผิวหนังในช่วงอายุ 3-4 เดือน อาการแพ้อาหารในเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงวัย เริ่มทานอาหารตามวัย หากพ่อแม่พบว่าลูกเป็นภูมิแพ้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและแนวทางการรักษา อย่างถูกต้อง
สรุป
- อาการของโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในทารกหรือเด็กเล็ก ได้แก่ อาการคันตา มีน้ำตาไหล จาม หอบหืด คัน ผิวหนังอักเสบ หรือลมพิษ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ในเด็ก เพื่อปกป้องและดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคภูมิแพ้ได้อย่างเหมาะสม
- ปัจจุบันโรคภูมิแพ้ในเด็กหรือในผู้ใหญ่ยังไม่มีวิธีที่รักษาให้อาการของโรคภูมิแพ้หายขาดได้ ภายใต้การดูแลของแพทย์จะช่วยควบคุมอาการโรคภูมิแพ้ได้ดีในระดับหนึ่ง โดยหากไม่ได้รับการรักษาให้ดีขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของลูก
- การได้รับนมแม่จึงช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่แข็งแกร่งให้กับร่างกายลูก เพราะโปรตีนในนมแม่บางส่วน ได้ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กลง หรือที่เรียกว่า โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน [PHP (Partially Hydrolyzed Proteins)] ซึ่งง่ายต่อการดูดซึมเข้าร่างกายของลูกน้อย และมีพรีไบโอติกช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่าง ๆ รวมถึงโพรไบโอติก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- สิ่งแวดล้อม พันธุกรรม ปัจจัยที่ส่งผลให้ลูกเป็นภูมิแพ้
- 5 โรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่อาจพบได้ในเด็กเล็ก
- วิธีดูแลและป้องกันลูกน้อยจากโรคภูมิแพ้
- นมแม่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ในเด็กได้
- เสริมภูมิคุ้มกันด้วยจุลินทรีย์สุขภาพ
- ภูมิแพ้ในเด็ก รู้ก่อนแพ้ แม่ป้องกันได้
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ในเด็ก
- คุณแม่รับมืออย่างไร เมื่อลูกเป็นโรคภูมิแพ้
สิ่งแวดล้อม พันธุกรรม ปัจจัยที่ส่งผลให้ลูกเป็นภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน และมีอัตราการเกิดภูมิแพ้ที่แตกต่างกัน ซึ่งโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในเด็ก เช่น แพ้อาหาร ผื่นแพ้ผิวหนัง โรคหืด และโรคจมูกอักเสบ โดยมีปัจจัยการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็ก ดังต่อไปนี้
1. มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว
หรือกรรมพันธุ์ โดยพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่มีประวัติภูมิแพ้อัตราเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
2. สิ่งแวดล้อมโดยรอบสามารถก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้
เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้มีอยู่ทั้งในอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ควันบุหรี่ ควันจากการ เผาไหม้ ไรฝุ่น ขนสัตว์ และในอาหาร เช่น นมวัว แป้งสาลี อาหารทะเล ไข่แดง และถั่วเหลือง เป็นต้น โดยอาการแพ้มีได้หลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของสารก่อภูมิแพ้ และลักษณะจำเพาะของแต่ละบุคคล
3. พฤติกรรมการทานอาหาร
การทานอาหารของคุณแม่ อาจส่งผลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ของลูกได้ได้ เนื่องจากเด็กมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่แล้วโดยมีสาเหตุมาจาก
- คุณแม่ทานอาหารกลุ่มเสี่ยงมากกว่าปกติในช่วงตั้งครรภ์ หากคุณแม่ทานนมวัวมากกว่าปกติ อาจทำให้โปรตีนนมวัว ไปกระตุ้นให้ทารกเกิดอาการแพ้ขึ้นได้ หรือการที่คุณแม่ทานอาหาร จำพวกชีส เค้ก พิซซ่า ซึ่งมีส่วนประกอบของนมวัวแป้งสาลี และ ไข่ ซึ่งส่วนผสมประเภทนี้จัดว่าเป็นอาหารกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้ อย่างไรก็ตามแนะนำให้คุณแม่ทานอาหารให้ ครบถ้วน หลากหลาย เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการใน แต่ละวัน
- แม่ให้นมทานอาหารกลุ่มเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพ้ เมื่อคุณแม่ทานอาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้ เช่น นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิลง แป้งสาลี และอาหารทะเล ให้สังเกตว่าทารกมีอาการแพ้หรือไม่ เช่น มีผื่นขึ้น กระสับกระส่าย อาเจียนและท้องเสีย ควรรีบพาไปพบแพทย์ และควรหยุดอาหารที่ก่อให้อาการแพ้
5 โรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่อาจพบได้ในเด็กเล็ก
1. ภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy)
ภูมิแพ้อาหารในเด็ก เป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์ที่ร่างกายแสดงออกมาหลังจากทานอาหาร โดยเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันจำเพาะเจาะจง และสามารถเกิดซ้ำได้หากได้รับอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และมักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีแนวโน้มเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว
ดังนั้น การเริ่มให้อาหารทารก หรือเปลี่ยนอาหารให้กับเด็กเล็กต้องค่อยๆ เริ่มให้ลูกลองทานทีละน้อยเป็นอย่าง ๆ และควรเว้นระยะเวลา ก่อนจะเปลี่ยนให้ลูกน้อยลองอาหารชนิดอื่น จากนั้นคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากลูกน้อยมีอาการแพ้อาหาร เช่น เกิดผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง ตาบวม คัดจมูก อาเจียน ท้องเสีย มีเสียงหวีดในลำคอ หรือหายใจไม่ออก เป็นต้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อหาแนวทางในการรักษาและป้องกันอาการโรคภูมิแพ้ในอนาคต
2. แพ้โปรตีนนมวัว (Cow milk protein allergy: CMPA)
ลูกแพ้นมวัว เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นหลังทานนมวัว เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ในโปรตีนนมวัว พบมากในทารก เนื่องจากระบบทางเดินอาหารของทารกไม่สมบูรณ์ ทำให้ย่อยโปรตีนได้ไม่ดี อีกทั้งเยื่อบุลำไส้ยังยอมให้โมเลกุลของโปรตีนซึม เข้าไปยังกระแสเลือด จนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อโปรตีนในนมวัว ทำให้เกิดอาการแพ้
โดยอาการแพ้โปรตีนนมวัวที่มักพบ ได้แก่ ลูกท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียน ไม่ยอมกินนม คัดจมูก หายใจไม่สะดวก มีผื่นขึ้นตามตัวหลังจากทานนม และมักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็กในช่วงขวบปีแรก แต่จะเริ่มแสดงอาการให้เห็นหลังจากคุณแม่หลังคลอดลูกน้อยได้ประมาณ 2-3 เดือน เมื่อเด็กได้รับนมวัวเข้าไป
3. ภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic eczema dermatitis)
ผื่นแพ้ในเด็ก เป็นโรคภูมิแพ้อีกชนิดที่พบมากในเด็กเล็ก มีลักษณะอาการผื่นแดงคันขึ้นบนแก้ม ผื่นขึ้นหน้าทารก ลำคอ แขน ขา เหมือนกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย มักเริ่มแสดงอาการเมื่อเด็กอายุ 3-4 เดือน และอาจอยู่ไปจนถึงอายุ 4-5 ขวบ
โดยผื่นจะมีสีแดงจัดและอาจมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มเวลาที่ผื่นลุกลามรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งผื่นในลักษณะนี้ในบางคนจะมีอาการกำเริบ เวลาอากาศแห้ง บางรายอาจมีอาการแพ้ไรฝุ่น อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของผื่นจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อโตขึ้น และมักพบในเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีคนมีประวัติโรคภูมิแพ้ที่มีประวัติภูมิแพ้
4. ภูมิแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis)
จะปรากฏชัดขึ้นเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 2-5 ขวบ มีลักษณะอาการคล้ายหวัด คันจมูก จามหลายครั้งในตอนเช้าเกือบทุกเดือน บางคนอาจมีไซนัสอักเสบเรื้อรังและมีอาการคันตาร่วมด้วย นอกจากนี้ อาจมีอาการหายใจลำบาก เสียงดัง นอนหลับไม่สนิท และอาจมีอาการหยุดหายใจหากเกิดอาการแพ้นาน ๆ รวมถึงผลกระทบต่อหัวใจและปอดในระยะยาว
5. โรคหอบหืด (Asthma)
เป็นโรคภูมิแพ้อีกกลุ่มที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ทำให้เกิดการระคายเคืองเข้าไปภายในหลอดลม ในเด็กบางคนอาจมีอาการมากขึ้นหลังจากเป็นหวัด ทำให้เกิดอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด มีรอยบุ๋มตรงคอหรือชายโครงเวลาที่หายใจ
การรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการของคุณแม่ ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด ช่วยให้แม่มีปริมาณน้ำนมที่เพียงพอ หลังการคลอดบุตร การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นสิ่งที่สุดสำหรับทารก เนื่องจาก นมแม่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุด และช่วยปกป้องลูกน้อยจากภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆหลังจาก 6 เดือน สามารถเริ่มให้อาหารเสริมตามวัยที่มีคุณค่าโภชนาการเพียงพอร่วมกับนมแม่จนครบ 2 ปีหรือนานกว่านั้น
วิธีดูแลและป้องกันลูกน้อยจากโรคภูมิแพ้
หากลูกน้อยมีอาการภูมิแพ้คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัย พร้อมทั้งแนวทางการรักษา ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตัว ดังนี้
- สำหรับคุณแม่ที่ต้องให้นมลูก ควรให้ลูกดื่มนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ควรปรึกษาแพทย์
- เมื่อลูกน้อยอายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณแม่สามารถให้ลูกน้อยเริ่มทานอาหารเสริมตามวัยได้ แต่ควรเริ่มทีละ 1 มื้อ ในปริมาณที่น้อย ๆ และเริ่มทีละชนิดก่อน เพื่อดูว่าลูกมีอาการแพ้หรือไม่
- การทานอาหารของลูกน้อย ในกรณีที่ต้องการเริ่มให้ลูกทานอาหารกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแพ้ได้บ่อย เช่น ถั่วเหลือง แป้งสาลี ควรเริ่มหลังจากอายุ 6 เดือน
- ลูกมีอาการแพ้นมวัว หากลูกมีอาการแพ้นมวัว ควรหยุดอาหารหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัวทันที และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้
- ทำความสะอาดภายในบ้าน พยายามดูแลทำความสะอาดภายในตัวบ้านโดยเฉพาะห้องนอนเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ภายในบ้านจากไรฝุ่น ขนสัตว์เลี้ยง เชื้อรา หรือซากแมลงสาบ
- สารเคมีอาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ ระวังอย่าให้ลูกน้อยได้รับสารก่อภูมิแพ้จากควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย ควันไฟ หรือฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ เพราะจะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจได้
- ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ในกรณีที่คุณแม่ต้องการทาครีมบำรุงผิวให้กับลูกสามารถทำได้ แต่ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสารเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิวหนังที่ปราศจากส่วนผสมของน้ำหอม รวมถึงผลิตภัณฑ์จำพวก นม ข้าว แป้งสาลี เป็นต้นเพราะอาจทำให้เด็กเกิดอาการแพ้ได้
นมแม่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ในเด็กได้
นมแม่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย เพราะมีเคซีนโปรตีน เวย์โปรตีน รวมถึงอิมมูโนโกลบูลิน (Ig) ไลโซไซม์ แลคโตเฟอร์ริน รวมถึงสารอื่น ๆ ที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้ โดยในระยะหัวน้ำนม (Colostrums) จะพบเวย์โปรตีนในปริมาณที่สูงมาก คิดเป็นสัดส่วนเวย์โปรตีน:เคซีนโปรตีน เท่ากับ 90:10 หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง พอถึงระยะระยะน้ำนมแม่ (Mature Milk) สัดส่วนเวย์โปรตีน: เคซี โปรตีน จะมีสัดส่วน เท่ากับ 60:40
เคซีนโปรตีนเมื่อถูกกรดในกระเพาะอาหารจะจับตัวเป็นก้อน ในขณะที่เวย์โปรตีนสามารถละลายได้ดี ทำให้ถูกดูดซึมและนำไปใช้ได้ง่าย ทั้งยังมีไลโซไซม์ แลคโตเฟอร์ริน และ Ig รวมถึงจุลินทรีย์สุขภาพหลายชนิด เช่น โพรไบโอติกกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม และแลคโตบาซิลลัสจึงช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้และลดอาการแพ้ลงได้จะมีสัดส่วน เท่ากับ 60:40
ในขณะที่ครอบครัวที่มีประวัติภูมิแพ้ เด็กควรทานนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และทานอย่างต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่า ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้อาจต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์สำหรับแนวทางการป้องกันโรคภูมิแพ้ในเด็กควบคู่ไปกับการส่งเสริมสุขภาพของลูกน้อยให้เหมาะสมกับวัย
เสริมภูมิคุ้มกันด้วยจุลินทรีย์สุขภาพ
ทารก จะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพหรือที่เรียกว่าโพรไบโอติก (Probiotic) ผ่านทางช่องคลอดของคุณแม่ หลังจากนั้นจะได้รับผ่านน้ำนมแม่ และผ่านทางอาหารเมื่อโตขึ้น ในช่วงที่ทารกกินนมแม่จะได้รับโพรไบโอติก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และ บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ การอักเสบ การเกิดผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง ภูมิแพ้อากาศ และลดความเสี่ยงต่อการแพ้อาหารลงได้
นอกจากนี้ในนมแม่ยังมีบิฟิโดแบคทีเรียม แล็กทิส (B. lactis) ที่ช่วยส่งเสิรมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลดโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และลดโอกาสการเกิดผื่นแพ้ได้ ลูกเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่ คุณแม่สังเกตได้จากการแสดงอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ผื่นแดงน้ำมูกไหล จาม ไอเรื้อรัง หรือ มีอาการท้องเสีย อาเจียน เป็นต้น หลังจากทานอาหารกลุ่มเสี่ยงหรือนม หรือมีการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้อย่างฝุ่น หรือขนสัตว์อยู่บ่อย ๆ
หากลูกมีอาการแพ้ คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ เพื่อขอรับคำแนะนำในการรักษาอาการแพ้ให้ดีขึ้น ควบคู่กับการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการแพ้
ภูมิแพ้ในเด็ก รู้ก่อนแพ้ แม่ป้องกันได้
คันตา มีน้ำตาไหล จาม หอบหืด คัน ผิวหนังอักเสบ ลมพิษ อาการของโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในทารกหรือเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจคิดว่าเพราะลูกยังเล็กจึงเป็นโรคภูมิแพ้ เมื่อโตขึ้นไปอาการของโรคอาจจะหายไปเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภูมิแพ้ในเด็ก เรื่องไม่เล็กอย่างที่คิดนะคะ คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่จึงควรใส่ใจ และทำความเข้าใจถึง 3 ข้อเท็จจริงของโรคภูมิแพ้ในเด็ก เพื่อปกป้องและดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคภูมิแพ้ได้อย่างเหมาะสม
ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ในเด็ก
1. โรคภูมิแพ้ รักษาให้ดีขึ้น แต่ไม่หายขาด
ในปัจจุบันโรคภูมิแพ้ในเด็กหรือในผู้ใหญ่ยังไม่มีวิธีที่รักษาให้อาการของโรคภูมิแพ้หายขาดได้ แต่แพทย์สามารถช่วยควบคุมอาการโรคภูมิแพ้ได้ดีในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ อาการแพ้ก็อาจจะกลับมาอีกได้ถ้าไม่ได้ปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ สรุปก็คือยาช่วยบรรเทาอาการแต่ไม่ได้หายขาด
2. โรคภูมิแพ้ตัวการขัดขวางพัฒนาการลูกน้อย
โรคภูมิแพ้บางชนิด อาจจะดูไม่รุนแรง และสามารถรับมือได้ง่าย แต่หากไม่ได้รับการรักษาให้ดีขึ้น ก็อาจทำให้ลูกน้อยที่ปกติร่าเริงแจ่มใส กลายเป็นเด็กขี้หงุดหงิด งอแงง่าย เก็บตัว ไม่กล้าออกไปสัมผัสโลกกว้าง อีกทั้งอาจทำให้ลูกน้อยสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง และไม่กล้าคบหาสมาคมกับเด็กคนอื่น ๆ และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของลูกอีกด้วย
3. ภูมิแพ้ในเด็กปล่อยไว้อันตรายถึงชีวิต
แม้จะฟังดูน่ากลัว แต่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้ว่า ปฏิกิริยาของอาการของโรคภูมิแพ้ในเด็กมีหลายระดับ ตั้งแต่ความรุนแรงเพียงเล็กน้อย เช่น ผื่นคัน จาม ไอ แค่เพียงให้รู้สึกรำคาญ ไปจนถึงอาการแพ้ขั้นรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ด้วย ขึ้นอยู่กับว่า อาการภูมิแพ้ในเด็กนั้นมีระดับความรุนแรงมากแค่ไหน อาการโรคภูมิแพ้ระดับรุนแรงสูงมีชื่อว่า “แอนาฟิแล็กซิส” (Anaphylaxis) เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และมีผลต่อระบบต่าง ๆ ทั่วร่างกาย มักเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่วินาที หรือไม่กี่นาทีหลังจากสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งการเกิดแอนาฟิแล็กซิสอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สาเหตุของการเกิดแอนาฟิแล็กซิสส่วนใหญ่มาจากอาหาร แมลงสัตว์กัดต่อย การแพ้ยา และอาการที่พบเมื่อเกิดแอนาฟิแล็กซิส
- อาการบวมที่ช่องคอและปาก
- กลืนหรือพูดลำบาก
- ทารกไอ หายใจลำบาก จากอาการหลอดลมตีบ หรืออาการบวมที่ช่องคอ
- เกิดลมพิษที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
- ผิวหนังทารกมีผื่นแดงทั้งตัว
- ปวดเกร็งที่ท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน
- รู้สึกอ่อนแรงลงทันที (เนื่องจากความดันเลือดลดลง)
คุณแม่รับมืออย่างไร เมื่อลูกเป็นโรคภูมิแพ้
อันที่จริงโรคภูมิแพ้ในเด็กหรือในวัยผู้ใหญ่สามารถป้องกัน หรือลดอาการภูมิแพ้ได้ ซึ่งจะได้ผลดีที่สุดหากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยคุณสามารถประเมินเบื้องต้นได้ ดังนี้
ประวัติครอบครัวมีความสำคัญมากในการประเมินความเสี่ยงโรคภูมิแพ้ สิ่งแรกที่ควรพิจารณาคือ ประวัติของพ่อแม่ การใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ สามารถช่วยป้องกันหรือวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้นของการเกิดโรคภูมิแพ้ได้
' นมแม่ ' มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด และยังมีคุณสมบัติเป็น Hypo-Allergenic หรือ H.A. ที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ได้ เพราะ
- โปรตีนบางส่วนในนมแม่ เป็นโปรตีนที่ผ่านการย่อยมาบางส่วน หรือที่เรียกว่า PHP (Partially Hydrolyzed Proteins ) ซึ่งง่ายต่อการดูดซึมเข้าร่างกายของลูกน้อย และมีเวย์โปรตีนสูงซึ่งย่อยง่าย จึงทำให้ดูดซึมได้ดีกว่า เนื่องจากลูกในช่วง 6 เดือนแรก เยื่อบุทางเดินอาหารยังไม่แข็งแรง รวมถึงน้ำย่อยอาหารยังมีไม่มาก และสารภูมิคุ้มกันที่จะคอยดักจับสิ่งแปลกปลอมยังมีไม่มากพออีกด้วย ดังนั้นการได้รับนมแม่จึงช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่แข็งแกร่งให้กับร่างกายลูกด้วยค่ะ
- โปรตีนนมแม่เป็นชนิดที่ไม่แปลกปลอม มักไม่ก่อให้เกิดการแพ้ เมื่อลูกกินนมแม่ก็จะทำให้ได้รับโปรตีนชนิดดี ย่อยง่าย และมีสารภูมิคุ้มกันไปสู่ลำไส้ เปรียบเหมือนเป็นการสร้างเกราะป้องกันลำไส้ให้กับลูกน้อยเพื่อลดอาการแพ้ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
- นอกจากนี้ยังพบว่าในนมแม่มีพรีไบโอติกโอลิโกแซคคาไรด์ใยอาหารหลักที่สำคัญ ที่ช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งโอลิโกแซคคาไรด ประกอบด้วยใยอาหารหลากหลายชนิด ซึ่ง 5 ใยอาหารหลัก (5 Oligosaccharide หรือ 5 HMO เช่น 2’FL, DFL, LNT, 6’SL และ 3’SL) ช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นพรีไบโอติกส์ชนิดที่พบมากในนมแม่ และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายสายพันธุ์ หรือโพรไบโอติก เช่น B. lactis (บีแล็กทิส) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ โดยสังเกตได้จากทารกที่ได้รับนมแม่จะมีการเกิดภูมิแพ้น้อยกว่า และมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า
ดังนั้นหากในครอบครัวมีประวัติภูมิแพ้ ควรให้นมแม่อย่างน้อยที่สุด 6 เดือนหรือนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อการดูแลที่เหมาะสมต่อไป ระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้หรืออาการแพ้อาหารในเด็ก เช่น แป้งสาลี ถั่ว ไข่ และอาหารทะเล โดยให้รับประทานอาหารเหล่านี้ทีละชนิดติดต่อกันสัก 2-3 วัน แล้วคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อหาแนวทางในการรักษาและป้องกันอาการโรคภูมิแพ้ต่อไป
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- ผื่นทารก ลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว ปัญหาผิวผื่นทารกในเด็ก
- ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี พร้อมวิธีแก้ผดผื่นบนใบหน้าทารก
- ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน ลูกเป็นผื่น ดูแลลูกแบบไหนให้ถูกวิธี
- ผื่นคันในเด็ก ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ พร้อมวิธีดูแลลูก
- ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกมีผื่นสาก
- ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ผื่นแพ้ในเด็กเกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแล
- ผื่นลมพิษในเด็ก เกิดจากอะไร ทำไมพ่อแม่ยุคใหม่ ควรใส่ใจเป็นพิเศษ
- ผื่นแพ้อาหารทารก พร้อมวิธีป้องกันลักษณะผื่นแพ้อาหารทารก
เอกสารอ้างอิง
- วรวิชญ์ เหลืองเวชการ. จะสังเกตได้อย่างไรว่า ลูกเป็นภูมิแพ้. โรงพยาบาลเจ้าพระยา
- จรุงจิตร์ งามไพบูลย์. โรคแพ้นมวัว (Cow Milk Protein Allergy). ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่ง
ประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย - โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- กุลพรภัสร์ เบญญาจิราพัชร์, ภาวะแพ้อาหารคืออะไร?. โรงพยาบาลสินแพทย์
- ศวิตา จิวจินดา. อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่ายโรคแพ้โปรตีนนมวัว. ภาควิชาอาหารเคมี คณะ
เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: กรุงเทพฯ - วราลี ผดุงพรรค. รู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้นมวัว. โรงพยาบาลนครธน
- พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์. โรคภูมิแพ้ในเด็ก. ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรง
พยาบาลนวเวช - มณีรัตน์ ภูวนันท์. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. โภชนาการลูกรัก สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
- ผศ.พญ.มณีรัตน์ ภูวนันท์. สารอาหารในนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ - F.Lara-Villoslada, M.OlivaresJ.Xaus. The Balance Between Caseins and Whey Proteins in
Cow's Milk Determines its Allergenicity. Journal of Dairy Science. 2005; 88(5):1654-1660 - จินตกร คูวัฒนสุชาติ. โพรไบโอติกส์คืออะไร?. วารสารทันตจุฬาฯ 2550;30
- อรวรรณ ละอองคำ โพรไบโอติก: จุลินทรีย์คัดสรรเพื่อสุขภาพ 2562;49(4):29-38
อ้างอิง ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564