ลูกน้อยเป็นผื่นผ้าอ้อมทำยังไงดี พร้อมวิธีดูแลเมื่อลูกมีผื่นแพ้ผ้าอ้อม

ผื่นแพ้ผ้าอ้อมในเด็ก เรื่องใกล้ตัวที่คุณแม่ควรสังเกต พร้อมวิธีดูแล

07.09.2024

ผิวที่อ่อนโยนบอบบาง แพ้ง่ายของลูก มักต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะเรื่องผื่นผ้าอ้อม ที่พบได้มากในวัยทารกแรกเกิดถึง 4 ปี เมื่อเกิดการระคายเคืองจากผดผื่น ลูกอาจร้องไห้ งอแง ทำให้ไม่สบายได้ คุณพ่อคุณแม่ที่กังวลใจในผื่นแพ้ผ้าอ้อมของลูก ควรศึกษาวิธีดูแลผื่นแพ้ผ้าอ้อมของลูกให้ถูกวิธีและเหมาะสม เพื่อป้องกันการอักเสบลุกลาม  ของผิวหนัง การเกิดผื่นแพ้ผ้าอ้อมซ้ำ ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนขึ้นได้

headphones

PLAYING: ผื่นแพ้ผ้าอ้อมในเด็ก เรื่องใกล้ตัวที่คุณแม่ควรสังเกต พร้อมวิธีดูแล

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • ผื่นผ้าอ้อม จะพบได้มากในวัยแรกเกิดถึง 4 ปี ที่ยังใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หรือผ้าอ้อมอื่น ๆ อยู่ โดยเฉพาะช่วงวัยทารกที่อายุ 9-12 เดือน
  • ผื่นผ้าอ้อม เกิดจากการที่ผิวหนังของลูกนั้นสัมผัสกับอุจจาระ ปัสสาวะ ที่อยู่ในผ้าอ้อมเป็นเวลานาน ๆ จนเกิดความอับชื้น เกิดการอักเสบ เอนไซม์ในปัสสาวะ อุจจาระ จะทำให้ผิวของลูกระคายเคืองและอับชื้น เมื่อผ้าอ้อมเสียดสีกับผิวของลูกจะทำให้เกิดผื่นแดง เป็นแผล
  • ผื่นผ้าอ้อม จะเป็นลักษณะผื่นแดง เกิดที่บริเวณผิวหนังในส่วนที่นูน เช่น ก้น อวัยวะเพศ ต้นขาด้านใน หรือท้องน้อย  ที่เกิดการเสียดสีกับผ้าอ้อม ทำให้ผิวหนังเกิดผื่นแดงนูน เมื่อผิวหนังมีการอักเสบมากขึ้น ผื่นแดงจะเริ่มมีวงกว้างมากขึ้น จนเกิดรอยถลอกและสะเก็ด หรืออาจทำให้ผิวเกิดตุ่มหนอง ตุ่มน้ำได้
  • ผื่นผ้าอ้อม ที่ลูกเคยเป็นแล้ว สามารถกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้อีก เมื่อเป็นผื่นผ้าอ้อม คุณพ่อคุณแม่ควรหาสาเหตุที่ทำให้ลูกเกิดผื่นผ้าอ้อม อาจลองเปลี่ยนยี่ห้อผ้าอ้อม เลือกผ้าอ้อมที่ระบายอากาศได้ดี และทำความสะอาดผิวลูกทุกครั้งหลังการปัสสาวะ อุจจาระ เป็นต้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ผื่นผ้าอ้อม เกิดจากอะไร

ผื่นผ้าอ้อมในเด็ก เกิดจากการที่ผิวหนังของลูกสัมผัสกับอุจจาระ ปัสสาวะ ที่อยู่ในผ้าอ้อมเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดการอับชื้น จนน้ำย่อยในอุจจาระและปัสสาวะย่อยเซลล์ผิว ทำให้ผิวของเด็กเป็นผื่น เกิดการอักเสบ เมื่อผ้าอ้อมเสียดสีกับผิวของลูกจะทำให้เกิดการระคายเคือง มีผื่นแดง เป็นแผล หรืออาจทำให้เกิดเชื้อรา หรือติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ผื่นผ้าอ้อมพบมากในเด็กวัยแรกเกิดถึง 4 ปี ที่ยังใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หรือผ้าอ้อมอื่น ๆ อยู่ โดยเฉพาะช่วงวัยทารกอายุ 9-12 เดือน

 

ผื่นผ้าอ้อม อาการเป็นอย่างไร

  • เมื่อผิวหนังในส่วนที่นูนของลูก เช่น ท้องน้อย ต้นขาด้านใน ก้น อวัยวะเพศ เกิดการเสียดสี กดทับกับผ้าอ้อม บริเวณนั้นจะเกิดผื่นแดงนูน
  • ในช่วงแรกอาจมีผื่นแดงเพียงเล็กน้อย เมื่อมีการอักเสบมากขึ้น ผื่นแดงจะเริ่มมีวงกว้างมากขึ้น จนเกิดสะเก็ด มีรอยถลอก ในเด็กบางรายอาจมีรอยถลอกที่ผิวลึกลงไป
  • หากผื่นผ้าอ้อมรุนแรงมากขึ้น จะทำให้มีผื่นแดงจัด ตุ่มหนอง ตุ่มน้ำได้
  • ลูกจะไม่สบายตัว เจ็บแผล คัน แสบ และร้องไห้งอแง

 

ผื่นแพ้ผ้าอ้อม เกิดขึ้นกับเด็กวัยไหน

ผื่นผ้าอ้อมหรือผื่นในเด็กเล็ก  จะพบได้มากในวัยแรกเกิดถึง 4 ปี ที่ยังใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หรือผ้าอ้อมอื่น ๆ อยู่ โดยเฉพาะช่วงวัยทารกที่อายุ 9-12 เดือน เนื่องจากทารกวัยนี้เริ่มเปลี่ยนมาทานอาหารเด็กอ่อนแล้ว ทำให้อุจจาระมีความเป็นกรดมากขึ้น

 

ลูกน้อยเป็นผื่นผ้าอ้อม หายเองได้ไหม

ผื่นผ้าอ้อมสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กวัยทารกที่ยังใส่ผ้าอ้อมอยู่ หากลูกมีผื่นแพ้ผ้าอ้อม คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลผื่นแพ้ผ้าอ้อมเบื้องต้นได้เองที่บ้าน ด้วยวิธีการเปลี่ยนผ้าอ้อมเป็นประจำ ดูแลการสวมใส่ผ้าอ้อม เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ถูกสุขลักษณะ ทำความสะอาดในทุกขั้นตอนให้แห้งและสะอาด ไม่เปียกชื้น หลีกเลี่ยงการเช็ดถูด้วยความรุนแรง หากดูแลผื่นแพ้ผ้าอ้อมแล้วอาการไม่ดีขึ้น ยังมีผดผื่นเม็ดเล็ก ๆ  มาก ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาผื่นผ้าอ้อมอย่างถูกวิธี

 

ลูกน้อยเป็นผื่นผ้าอ้อม ดูแลลูกยังไงดี

 

ลูกน้อยเป็นผื่นผ้าอ้อม ดูแลลูกยังไงดี

  • หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้ลูกบ่อย ๆ ทุก 3 ชั่วโมง หากลูกถ่ายอุจจาระ ให้รีบเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปทันที
  • ในกรณีที่ลูกใส่ผ้าอ้อมผ้า ให้เปลี่ยนผ้าอ้อมผ้าทันทีทุกครั้งเมื่อมีการปัสสาวะ หรืออุจจาระ
  • ก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้ง ให้ล้างก้นด้วยน้ำเปล่า หากอุจจาระให้ล้างด้วยสบู่สูตรอ่อนโยนให้สะอาด
  • ใช้ผ้าซับ เช็ดให้แห้ง แล้วผึ่งก้นให้แห้งสนิท อย่างน้อย 3-5 นาทีก่อนใส่ผ้าอ้อมให้ลูก
  • ก่อนใส่ผ้าอ้อม ทาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เคลือบผิวหนังเพื่อป้องกันภาวะผิวแห้งตามแพทย์แนะนำ
  • ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และน้ำหอม
  • ไม่ใช้แป้งเพื่อลดการเสียดสี
  • ใช้ผ้าอ้อมที่ดูดซับความเปียกชื้น และระบายอากาศได้ดี
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนหรือหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • หากดูแลผื่นผ้าอ้อมให้ลูกเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการและรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

 

ผื่นแพ้ผ้าอ้อมกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม

ผื่นผ้าอ้อม สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ เมื่อเป็นผื่นผ้าอ้อม คุณพ่อคุณแม่ควรหาสาเหตุที่ทำให้ลูกเกิดผื่นผ้าอ้อม อาจลองเปลี่ยนยี่ห้อผ้าอ้อม เลือกผ้าอ้อมที่ระบายอากาศได้ดี ทำความสะอาดผิวลูกทุกครั้งหลังการปัสสาวะ อุจจาระ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นผื่นแพ้ผ้าอ้อมซ้ำอีกครั้ง

 

ป้องกันไม่ให้ลูกกลับมาเป็นผื่นผ้าอ้อมซ้ำได้ไหม

  • ไม่ควรปล่อยให้ลูกใส่ผ้าอ้อมตลอดเวลา ควรถอดออกบ้าง ให้ผิวลูกได้มีการพักการใส่ผ้าอ้อมเพื่อลดความอับชื้น
  • หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ ไม่ให้หมักหมม เพราะเอนไซม์ในปัสสาวะ อุจจาระ จะทำให้ผิวลูกระคายเคืองและเกิดความอับชื้นขึ้นได้
  • ทุกครั้งที่ถึงเวลาต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม ควรทำความสะอาดผิวลูกด้วยน้ำสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวเด็ก
  • หากลูกใช้ผ้าอ้อมผ้า ควรซักด้วยน้ำยาซักผ้า และน้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรธรรมชาติ อ่อนโยนต่อผิวลูก ซักผ้าที่เปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ ให้สะอาดและตากให้แห้ง
  • เปลี่ยนผ้าอ้อม เลือกชนิด หรือยี่ห้อผ้าอ้อม แบบระบายอากาศได้ดี และซึมซับได้ดี
  • หากผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ลูกใส่รัดแน่นเกินไป ควรเปลี่ยนขนาดผ้าอ้อมให้เหมาะสมกับสัดส่วนของลูก
  • ก่อนการเปลี่ยน หรือหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

 

ลูกเป็นผื่นผ้าอ้อม ซื้อยาทาเองได้ไหม

หากดูแลผื่นผ้าอ้อมของลูกแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เพื่อการรักษาอย่างถูกวิธี และปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรซื้อยามาทาให้ลูกเองเพราะอาจมีอันตรายได้ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดว่าลูกเป็นผื่นแพ้ผ้าอ้อมจริงไหม จะได้รักษาอย่างถูกวิธี

 

ผื่นผ้าอ้อม ผื่นแดงที่เกิดขึ้นจากการเสียดสีของผิวหนังกับผ้าอ้อมนั้น มักเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ กับเด็ก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรศึกษา วิธีการดูแลรับมือกับผื่นผ้าอ้อมเบื้องต้นให้ลูกอย่างถูกวิธี แต่หากดูแลผื่นผ้าอ้อมของลูกแล้วไม่หาย อาการไม่ดีขึ้น เพื่อป้องกันการลุกลาม หรือติดเชื้อแทรกซ้อน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรซื้อยามาทาให้ลูกเอง ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและรักษาอย่างถูกวิธี

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

 

อ้างอิง:

  1. การดูแลรักษาผื่นผ้าอ้อม, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  
  2. ผื่นผ้าอ้อมในเด็ก เรื่องเล็กที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ, โรงพยาบาลพญาไท
  3. ผื่นผ้าอ้อม (Nappy rash), haarmor
  4. ผื่นผ้าอ้อม ดูแลและป้องกันอย่างไรให้ปลอดภัยต่อลูก, pobpad
  5. ผื่นผ้าอ้อม, กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณะสุข
  6. ผื่นผ้าอ้อม, โรงพยาบาลกรุงเทพ

อ้างอิง ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2567
 

บทความแนะนำ

ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น คุณแม่รับมืออย่างไรดี

ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น คุณแม่รับมืออย่างไรดี

ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็นผิดปกติไหม ลูกตัวร้อนแต่มือเท้าเย็นเกิดจากสาเหตุอะไร อันตรายไหม ลูกตัวร้อนมือเท้าเย็นพ่อแม่ควรดูแลลูกแบบไหนให้ดีที่สุด

เด็กเดินได้กี่เดือน ลูกเดินช้า มีผลต่อพัฒนาการสมองไหม

เด็กเดินได้กี่เดือน ลูกเดินช้า มีผลต่อพัฒนาการสมองไหม

เด็กเดินได้กี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าลูกเริ่มเดินได้แล้ว ลูกเดินช้ามีผลต่อพัฒนาการสมองไหม พร้อมวิธีฝึกลูกเดิน ช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อย

เด็กเริ่มคลานกี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าเด็กเริ่มคลานได้แล้ว

เด็กเริ่มคลานกี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าเด็กเริ่มคลานได้แล้ว

เด็กเริ่มคลานกี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าลูกเริ่มคลานได้แล้ว ลูกคลานช้ากี่เดือนถึงเรียกว่าพัฒนาการช้าเกินไป พร้อมวิธีฝึกลูกคลาน ช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อย

ผื่นส่าไข้ คืออะไร วิธีสังเกตส่าไข้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

ผื่นส่าไข้ คืออะไร วิธีสังเกตส่าไข้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

ผื่นส่าไข้ คืออะไร อันตรายกับลูกไหม ผื่นส่าไข้ในเด็ก มีวิธีสังเกตอาการอย่างไร คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันผื่นส่าไข้ในเด็กได้หรือเปล่า พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก