สิวทารกแรกเกิด เป็นแบบไหน พร้อมวิธีดูแลทารกเป็นสิวที่หน้า
สิวในทารกหรือสิวทารก เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์หลังคลอดจนถึงอายุ 3-6 เดือน ถือเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากฮอร์โมนจากคุณแม่ถูกถ่ายทอดสู่ลูกน้อย รวมถึงฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไตหรืออัณฑะของเด็กผู้ชาย ไปกระตุ้นต่อมไขมันจนเกิดเป็นสิวขึ้นได้ อีกทั้งยังพบว่าโอกาสที่เด็กผู้ชายจะเป็นสิวในทารกมีมากกว่าเด็กผู้หญิง และส่วนใหญ่สิวทารกจะหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษาเป็นพิเศษ
สรุป
- สิวทารก มีลักษณะเป็นตุ่มนูน สีแดงหรือสีเดียวกับผิวหนัง หรืออาจเป็นตุ่มหนอง ส่วนใหญ่พบได้บริเวณผิวหนังที่เป็นต่อมไขมัน และพบในทารกเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- สิวในทารก เกิดจากฮอร์โมนจากคุณแม่ส่งผ่านรกสู่ลูกน้อย และส่งผลต่อการกระตุ้นต่อมไขมันให้เกิดสิว
- สิวทารกสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ ภายใน 2 เดือนแรกหลังคลอด โดยเพียงหมั่นดูแลความสะอาดตามความเหมาะสมเท่านั้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- สิวทารก คืออะไร
- สิวทารก เกิดจากอะไร
- อาการของสิวทารกแรกเกิด
- สิวทารกอักเสบ บวม มีหนอง อันตรายไหม
- สิวทารกหายเองได้ไหม ต้องทายาหรือเปล่า
- วิธีดูแลสิวทารกแรกเกิด อย่างถูกวิธี
สิวทารก คืออะไร
ทารกอาจเกิดสิวตามผิวหนังได้ เรียกว่า สิวทารก มีลักษณะเป็นตุ่มนูน สีแดงหรือสีเดียวกับผิวหนัง หรืออาจเป็นตุ่มหนอง ส่วนใหญ่พบได้บริเวณผิวหนังที่เป็นต่อมไขมัน เช่น แก้มหรือใบหน้า ลำคอ แผ่นหลัง หรือหน้าอก และยังพบในทารกเพศชายมากกว่าเพศหญิง เพราะถุงอัณฑะสามารถผลิตฮอร์โมนเพศไปกระตุ้นต่อมไขมันจนเกิดเป็นสิว
สิวทารก เกิดจากอะไร
สิวทารก ที่ขึ้นบริเวณใบหน้าหรือลำตัวของลูกในช่วงแรกเกิด อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้
1. ฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์
ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน, ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อการกระตุ้นต่อมไขมันให้เกิดสิว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังของคุณแม่เอง จนบางครั้งอาจส่งต่อสู่ลูกน้อยหลังคลอดได้ผ่านทางรกได้
2. ยาบางชนิดที่แม่กิน ส่งผลผ่านน้ำนม
การรับประทานยาในระหว่างที่คุณแม่ให้นมลูก อาจถูกถ่ายทอดส่งต่อลูกน้อยผ่านทางน้ำนมได้ ซึ่งหากจำเป็นต้องมีการใช้ยา คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยาและไม่ซื้อยามารับประทานเอง รวมถึงยาบางประเภทอาจส่งผลไปกระตุ้นฮอร์โมนในร่างกายแล้วส่งผ่านน้ำนมไปสู่ลูกจนอาจมีผลต่อการเกิดสิวทารกได้
3. แพ้แป้งหรือครีมบำรุงผิว
คุณแม่ควรใส่ใจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและปลอดภัยต่อลูกน้อย ปราศจากน้ำหอมและสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ตั้งแต่สบู่เหลวอาบน้ำจนถึงครีมบำรุงผิว และควรหลีกเลี่ยงการใช้แป้งกับเด็กเล็ก เพราะมีแร่หินทัลค์ (Talc) หรือผง Talcum ซึ่งอาจฟุ้งกระจายและสูดหายใจเข้าไปได้ เพื่อป้องกันการเกิดสิวทารกแรกเกิด
อาการของสิวทารกแรกเกิด
สิวในทารก อาจพบได้ในลักษณะของสิวหัวปิด หรือมีลักษณะตุ่มนู่นสีขาวหรือสีเดียวกับผิวหนัง หรือพบในลักษณะสิวหัวเปิด คือ มีจุดสีดำตรงกลาง และบางครั้งอาจเป็นตุ่มหนองขนาดใหญ่ และมีน้ำใส ๆ พบบ่อยในบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก และแผ่นหลังของลูก เพราะเป็นบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก
สิวทารกอักเสบ บวม มีหนอง อันตรายไหม
โดยทั่วไปสิวในทารก เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมน ซึ่งเมื่อฮอร์โมนลดลงก็จะมีอาการดีขึ้นเองได้ แต่หากลูกมีตุ่มนูนขึ้นเป็นจำนวนมากจนดูผิดปกติ และมีลักษณะเป็นหนอง บวม ดูรุนแรง คุณแม่อาจควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของสิวหรือตุ่มนูนที่พบ ด้วยการสอบถามอาการ ประวัติการเกิดสิว จนถึงการตรวจหาการติดเชื้อผ่านห้องปฏิบัติการ เพราะสิวที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการติดเชื้อได้
สิวทารกหายเองได้ไหม ต้องทายาหรือเปล่า
สิวทารกแรกเกิด คือ อาการที่อาจพบได้ทั่วไปในเด็กแรกเกิด ซึ่งไม่มีอันตรายรุนแรงจนถึงขั้นเป็นโรคผิวหนัง แต่คุณพ่อคุณแม่มักมีความกังวลหลังคลอดเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มากมาย ยิ่งผิวหนังที่บอบบางอ่อนโยนของลูกมีตุ่มนูนแดง หรือตุ่มหนอง แต่ในความเป็นจริง สิวทารกสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ ภายใน 2 เดือนแรกหลังคลอด โดยเพียงหมั่นดูแลความสะอาด ตามความเหมาะสมเท่านั้น
วิธีดูแลสิวทารกแรกเกิด อย่างถูกวิธี
1. ทำความสะอาดผิวหน้าด้วยสำลีและปล่อยให้แห้ง
ส่วนมากสิวทารกแรกเกิดจะสามารถหายได้เอง โดยใช้เพียงน้ำเกลือหรือน้ำสะอาดเช็ดทำความสะอาดใบหน้าด้วยสำลีหรือผ้าอ้อมก็เพียงพอแล้ว
2. ห้ามบีบหรือแกะสิวให้ลูก
คุณแม่ไม่ควรแกะสิวให้ลูก เพราะการแกะสิวอาจทำให้เกิดบาดแผลจนเกิดการติดเชื้อขึ้นได้
3. ใช้ครีมบำรุงผิวสูตรอ่อนโยนกับผิวลูก ไม่อุดตัน
คุณแม่ต้องเลือกครีมบำรุงที่มีความอ่อนโยนและไม่ทำให้เกิดการอุดตันเพิ่มขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์ หรือบางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องทาครีมหรือโลชั่น โดยหมั่นเช็ดทำความสะอาดให้เพียงพอ และอาการจะดีขึ้นจนหายไปภายใน 2 เดือนหลังคลอด
สิวทารก มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ หรือตุ่มหนองบนใบหน้า ลำคอ แผ่นหลัง ไม่มีอาการเจ็บหรือคัน ซึ่งเกิดได้จากต่อมไขมันถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนแอนโดรเจน หรืออาจเกิดได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยจะสามารถพบได้ตั้งแต่ลูกอายุ 2-4 อาทิตย์หลังคลอด และสามารถหายเองได้ภายใน 2-3 เดือนหลังคลอด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจเมื่อพบอาการดังกล่าวเกิดขึ้นกับลูกน้อย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- อาการมโนว่าท้อง กังวลไปเองว่าท้อง พร้อมวิธีเช็กอาการตัวเอง
- ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือน พุงคนท้องแต่ละเดือน บอกอะไรได้บ้าง
- ที่ตรวจครรภ์แบบไหนดี ชุดตรวจครรภ์ ใช้งานง่าย รู้ผลเร็ว
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ อาการครรภ์เป็นพิษเริ่มแรก อันตรายไหม
- อาการตกเลือดหลังคลอดเป็นยังไง ตกเลือดหลังคลอดอันตรายไหม
- มดลูกหย่อน อันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเองเมื่อมดลูกต่ำ
- คนท้องเท้าบวม เพราะอะไร ปกติไหม พร้อมวิธีลดบวม
- คนท้องเท้าบวมหลังคลอด คุณแม่มือเท้าบวม รับมือยังไงดี
- อาการเจ็บท้องคลอด สัญญาณอาการใกล้คลอดที่สังเกตได้
- คุณแม่ปวดท้องข้างขวาจี๊ด ๆ หน่วง ๆ บอกอะไรได้บ้าง
อ้างอิง:
- สิวในเด็ก, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- ทางแก้ปัญหาสิว ผิวหมองคล้ำ ระหว่างตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
- ใช้ยาอย่างไรให้ลูกปลอดภัยในช่วงให้นมบุตร, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- 8 เทคนิคอาบน้ำและดูแลผิวทารกแรกเกิดให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- ทาแป้งฝุ่นให้ลูกน้อยให้ระวัง “ภูมิแพ้ ปอดอักเสบ และมะเร็งรังไข่”, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- สิวในทารก (Infantile acne), Haamor
- สิวในเด็กแรกเกิด ถึง วัยรุ่น Acne in Newborn to Teenage (นาทีที่ 6.56 เป็นต้นไป), @drpanthitaphuketpediatric YouTube หมอปัณฑิตา หมอเด็กภูเก็ต
อ้างอิง ณ วันที่ 9 กันยายน 2567