เด็กร้องไห้ไม่หยุด ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือ

เด็กร้องไห้ไม่หยุด ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ

03.04.2024

เสียงเด็กร้องไห้อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เป็นกังวล เพราะไม่รู้ว่าที่ลูกร้องไห้มีสาเหตุมาจากอะไร หรือลูกร้องไห้ต้องการอะไร โดยเฉพาะในเด็กทารกการร้องไห้ในบางครั้งก็ไม่มีสาเหตุ ดังนั้นเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความต้องการของลูกน้อย มาสำรวจสาเหตุกันค่ะว่าแท้จริงแล้วที่เด็กร้องไห้ เพราะอะไร เพื่อจะได้ช่วยให้สงบและหยุดร้องไห้ค่ะ 

headphones

PLAYING: เด็กร้องไห้ไม่หยุด ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • เด็กร้องไห้ ในเด็กทารกช่วงตั้งแต่แรกเกิดจะไม่ร้องกวนมากนัก เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการนอนหลับ จากนั้นเมื่อทารกอายุได้ 2 สัปดาห์ขึ้นไป มักจะร้องไห้มากขึ้นโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน
  • เด็กร้องไห้อาจมาได้จากหลายสาเหตุ เช่น หิว ปวดท้อง ท้องอืด เจ็บปวด ผ้าอ้อมเปียกแฉะ ง่วงนอน และมีอาการไม่สบายตัวเพราะเป็นไข้
  • การเขย่าตัวเพื่อให้หยุดร้องไห้ ไม่ได้ช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ หรือสงบลง การเขย่าตัว (Shaken Baby Syndrome) โดยเฉพาะในเด็กทารก หรือเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะเป็นอันตรายต่อสมอง บาดเจ็บถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เด็กทารกเกิดมาพร้อมกับเสียงร้องไห้ค่ะ การร้องไห้เป็นวิธีสื่อสารในการบอกคุณพ่อคุณแม่ให้ทราบว่าลูกต้องการอะไรหรือรู้สึกอย่างไร ลูกจะร้องไห้เมื่อรู้สึกหิว ผ้าอ้อมเปียกปัสสาวะ เลอะอุจจาระ ไม่สบาย หรือบางครั้งก็ร้องไห้เพราะต้องการอยากให้คุณพ่อคุณแม่อุ้ม เป็นต้น เมื่อเด็กร้องไห้ควรปลอบโยนอย่างนุ่มนวล แต่ไม่ควรเขย่าตัวเพื่อให้หยุดร้องไห้ ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ก่อนว่า การเขย่าตัวลูกเพื่อให้หยุดร้องไห้ ไม่ได้ช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ หรือสงบลง การเขย่าตัว (Shaken Baby Syndrome) โดยเฉพาะในเด็กทารก หรือเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะเป็นอันตรายต่อสมอง บาดเจ็บถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้

 

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ เป็นแบบไหน

ในเด็กทารกช่วงตั้งแต่แรกเกิดจะไม่ร้องไห้กวนมากนัก เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการนอนหลับ จากนั้นเมื่อทารกอายุได้ 2 สัปดาห์ขึ้นไป มักจะร้องไห้มากขึ้นโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน เมื่อเด็กทารกอายุได้ 6-8 สัปดาห์ขึ้นไป จะร้องไห้เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน และพออายุได้ 10-12 สัปดาห์ เด็กทารกจะร้องไห้ลดลงเหลือแค่ 1 ชั่วโมงต่อวัน การร้องไห้ของทารกไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย หรือพัฒนาการแต่อย่างใด

 

เด็กร้องไห้ไม่หยุด หรือร้องไห้บ่อย เกิดจากอะไรได้บ้าง

การร้องไห้ของเด็กทารกมีได้จากหลายสาเหตุ การที่ลูกร้องไห้ออกมาก็เพื่อสื่อสารให้ได้ทราบว่าช่วงเวลา ณ ขณะนั้นลูกมีความต้องการอะไร หรือเป็นอะไร คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตเวลาที่ลูกร้องไห้

1. หิว

อย่าปล่อยให้ลูกหิว ในเด็กทารกจะต้องกินนมทุก 2-3 ชั่วโมง เด็กทารกที่กินนมแม่จะหิวบ่อย เนื่องจากนมแม่ย่อยง่าย การให้ลูกกินนมแม่มีประโยชน์มาก เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูก รวมทั้งยังมีจุลินทรีย์สุขภาพ บีแล็กทิส (B. lactis) หนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และยังเป็นโพรไบโอติกส์ ที่สามารถส่งต่อเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยได้อีกด้วย

 

2. ปวดท้อง ท้องอืด

เด็กทารกระบบย่อยอาหารยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ปวดท้องขึ้นได้ ฉะนั้นเพื่อช่วยให้ลูกสบายท้อง ทุกครั้งหลังกินนมอิ่มให้อุ้มลูกเรอเอาลมออกมา

 

3. เจ็บปวด

เด็กร้องไห้เพราะรู้สึกเจ็บปวด อาจมาได้จากหลายปัจจัย ได้แก่ หูเกิดการอักเสบ จนทำให้รู้สึกปวดภายในหู (ควรรีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที) หรือรู้สึกเจ็บ ปวด และคันจากการถูกมด แมลงกัด เป็นต้น

 

4. ผ้าอ้อมแฉะเกินไป

ผ้าอ้อมที่เปียกแฉะ หรือทุกครั้งที่มีการอุจจาระ ปัสสาวะ ทารกมักจะร้องไห้เสมอ เนื่องจากรู้สึกไม่สบายตัว คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นเช็กดูผ้าอ้อมลูกว่าเต็มแล้วหรือไม่ เพื่อจะได้ถอดเปลี่ยนผ้าอ้อมผืนใหม่ให้ลูก ก่อนใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่เพื่อสุขอนามัยที่ดีควรทำความสะอาดผิวก้นลูกก่อน

 

5. ง่วงนอน

เวลาลูกง่วงนอน อาจมีร้องไห้กวน งอแง ซึ่งในเด็กบางคนเวลาง่วงนอนจะยังไม่ยอมหลับง่าย ๆ อาจด้วยเพราะสภาพแวดล้อมภายในห้องนอน หรือในบ้านไม่เอื้อต่อการนอนหลับ พอง่วงมาก ๆ แล้วไม่หลับ จะทำให้รู้สึกเหนื่อย และร้องไห้งอแง

 

6. อาการไม่สบายตัว เพราะมีไข้

ลูกจะร้องไห้กวน งอแงมาก เวลาที่มีไข้เพราะรู้สึกไม่สบายตัว คุณพ่อคุณแม่สามารถเช็กเบื้องต้นว่าลูกตัวร้อนมาก มีไข้ได้หรือไม่จากการใช้ปรอทวัดไข้ หากพบว่าลูกมีไข้ ควรพาไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที

  • เด็กแรกเกิดถึง 1 เดือน หากวัดอุณหภูมิร่างกายได้ 37.5 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า คือมีไข้
  • เด็กอายุมากกว่า 1 เดือน หากวัดอุณหภูมิร่างกายได้ 37.8 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า คือมีไข้

 

คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อเด็กร้องไห้ไม่หยุด ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ

 

คุณพ่อคุณแม่จะรับมือกับเด็กร้องไห้ไม่หยุด ด้วยวิธีไหนดี

เมื่อลูกร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติและไม่หงุดหงิดใส่ลูก แต่ควรหาสาเหตุว่าที่ลูกร้องไห้เพราะอะไร เพื่อจะได้ช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ และสงบลง

  1. การอุ้มและสัมผัสลูกอย่างสม่ำเสมอระหว่างวัน โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน สามารถช่วยให้ลูกร้องไห้ลดลงได้
  2. สร้างบรรยากาศในการเลี้ยงลูก เริ่มที่ตัวของคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความผ่อนคลาย ระหว่างที่เลี้ยงลูกสามารถเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย หรือถ้าลูกร้องไห้จนเหงื่อออก อาจจะเช็ดตัวหรืออาบน้ำให้ลูกเพื่อจะได้สดชื่นขึ้น
  3. ปรับอุณหภูมิภายในบ้าน หรือห้องนอนลูก ให้ไม่ร้อนหรือหนาวเย็นเกินไป
  4. ตรวจดูผ้าอ้อมลูกว่าสกปรกจากปัสสาวะ หรืออุจจาระหรือไม่ หากผ้าอ้อมเปียกแฉะ เลอะอุจจาระให้เปลี่ยนผ้าอ้อมผืนใหม่
  5. ลูกหิวหรือไม่ หากถึงเวลากินนม ควรให้นมลูกทันที
  6. หลังกินนมอิ่มควรจับลูกเรอ ต้องอุ้มจับลูกเรอทุกครั้ง

 

เด็กร้องไห้เพราะเป็นโคลิก (Colic) หรือเปล่า

อาการร้องโคลิกเกิดขึ้นได้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด และพบมากที่สุดในเด็กอายุช่วง 4-6 สัปดาห์ มักจะร้องเป็นช่วงเวลา เช่น ช่วงเย็น หรือช่วงหัวค่ำ การร้องโคลิกจะร้องแบบไม่ทราบสาเหตุ และปลอบให้ลูกหยุดร้องไห้ได้ยาก ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการร้องไห้มาก พร้อมกับมีอาการ เช่น มีไข้ อาเจียน ท้องเสีย ไม่กินนม ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อพบกุมารแพทย์ทันที

 

การห่อตัวทารก ช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ได้จริงไหม

ในทางการแพทย์การห่อตัวทารกก็เพื่อช่วยลดอาการตื่นตกใจ สะดุ้งขณะนอนหลับ ช่วยปลอบประโลมทำให้ทารกอบอุ่นและปลอดภัยเหมือนกำลังอยู่ในครรภ์คุณแม่ การห่อตัวทารกจะรู้สึกเหมือนกำลังถูกคุณแม่กอด จึงทำให้สงบนอนหลับสบาย และร้องไห้น้อยลง การห่อตัวมีประโยชน์ แต่ก็มีความเสี่ยงในเรื่องการเสียชีวิตจากโรคไหลตายในทารก ที่เรียกว่าภาวะ SIDS เนื่องจากการห่อตัวอาจทำให้นอนหลับยาว ไม่ค่อยตื่น ลดการตื่นตัวในทารก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรห่อตัวลูกด้วยความระมัดระวัง แนะนำให้ใช้ผ้าฝ้ายผืนบาง เช่น ผ้ามัสลินในการห่อตัว เวลาห่อตัวลูกควรกระชับพอดีกับตัว ไม่รัดแน่นมาก โดยเฉพาะตรงรอบสะโพก เพื่อให้ลูกสามารถขยับขาได้ และควรจัดให้นอนหงายอยู่เสมอ

 

ลูกร้องไห้ไม่หยุดแบบไหน ควรไปปรึกษาแพทย์

เมื่อลูกร้องไห้คุณพ่อคุณแม่ตรวจดูแล้วว่าที่ลูกร้องไห้ไม่ได้มาจากผ้าอ้อมเปียก ความหิว หรือง่วงนอน เป็นต้น แต่ลูกก็ยังคงร้องไห้ไม่หยุด ร้องไห้นานมากกว่าปกติ ร้องไห้จนเสียงแหบ แล้วมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ตัวร้อน หายใจผิดปกติ อาเจียน หรืออุจจาระผิดปกติ อาจเป็นไปได้ว่าเกิดปัญหาขึ้นที่ระบบย่อยอาหารหรือระบบลำไส้ของลูก แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่รีบพาลูกไปโรงพยาบาลพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดและให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง

 

หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและรู้สาเหตุว่าลูกร้องไห้เพราะอะไร ก็จะสามารถรับมือและช่วยให้ลูกสงบลงและหยุดร้องไห้ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อลูกร้องไห้ ต้องดูให้แน่ใจว่าที่ลูกร้องไห้ไม่ใช่เพราะไม่สบาย ซึ่งถ้าหากลูกร้องไห้มีสาเหตุมาจากไม่สบาย ลูกมีไข้ตัวร้อน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เนื่องจากลูกอาจมีอาการชักจากไข้ได้ ดังนั้นแนะนำให้รีบพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

 

 

อ้างอิง:

  1. เขย่าทารก อันตรายต่อสมอง บาดเจ็บถึงขั้นพิการ เสียชีวิต, MedPark Hospital
  2. ลูกร้องไห้แบบไหน ไม่ปกติ, โรงพยาบาลสมิติเวช
  3. Calming Techniques for a Crying Baby, Children’s Hospital Colorado
  4. ลูกร้องโคลิค, โรงพยาบาลสมิติเวช
  5. วิธีห่อตัวทารก ประโยชน์ และความเสี่ยงของการห่อตัวทารก, helloคุณหมอ
  6. ลูกร้องเวลาเดิมทุกวัน เป็น “โคลิก” หรือเปล่านะ, โรงพยาบาลพญาไท

อ้างอิง ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567

บทความแนะนำ

เด็กคว่ำกี่เดือน เด็กนอนคว่ำได้ตอนไหน พร้อมวิธีฝึกเด็กนอนคว่ำ

เด็กคว่ำกี่เดือน เด็กนอนคว่ำได้ตอนไหน พร้อมวิธีฝึกเด็กนอนคว่ำ

เด็กคว่ำกี่เดือน เด็กนอนคว่ำได้ตอนไหน ลูกนอนคว่ำช้าจะเป็นอะไรหรือเปล่า ส่งผลกับพัฒนาการลูกอย่างไรบ้าง พร้อมวิธีฝึกเด็กนอนคว่ำที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

ตุ่มใสที่นิ้วอันตรายไหม ลูกมีตุ่มใสขึ้นที่มือคัน คุณแม่รับมือยังไงดี

ตุ่มใสที่นิ้วอันตรายไหม ลูกมีตุ่มใสขึ้นที่มือคัน คุณแม่รับมือยังไงดี

ตุ่มใสที่นิ้วลูก เกิดจากอะไร ลูกมีตุ่มใสที่มือคัน อันตรายไหม คุณพ่อคุณแม่จะรับมืออย่างไร หากลูกมีตุ่มใส ๆ ที่มือ พร้อมวิธีบรรเทาตุ่ม ใสที่นิ้ว

ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม ลูกถ่ายกะปริบกะปรอย อันตรายหรือเปล่า

ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม ลูกถ่ายกะปริบกะปรอย อันตรายหรือเปล่า

ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม หากลูกถ่ายกะปริบกะปรอยบ่อย ๆ ทุกวัน อันตรายกับลูกน้อยหรือเปล่า อาการถ่ายบ่อยของลูกแบบไหนที่คุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์

เปลี่ยนชื่อลูกทำยังไง เปลี่ยนชื่อลูกในสูติบัตร มีขั้นตอนอย่างไร

เปลี่ยนชื่อลูกทำยังไง เปลี่ยนชื่อลูกในสูติบัตร มีขั้นตอนอย่างไร

อยากเปลี่ยนชื่อลูกทำยังไง เปลี่ยนชื่อลูกในสูติบัตรต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง มีขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อลูกยังไง ไปดูเอกสารที่ต้องเตรียมและขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก