พัฒนาการลูกน้อย อายุ 6-7 เดือน พัฒนาสมองและการสื่อสาร
พัฒนาการลูกน้อย อายุ 6 - 7 เดือน อาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัย คุณพ่อ คุณแม่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการอะไรลูกได้บ้าง
พัฒนาการลูกน้อย อายุ 6 - 7 เดือน
ลูกเป็นอย่างไรในวัยนี้
โดยเฉลี่ยฟันน้ำนมซี่แรกจะขึ้นเมื่อเด็กอายุ 6 เดือน แต่ในทางปฏิบัติ เด็กบางคนอาจเริ่มมีฟันขึ้นเมื่ออายุ 9-12 เดือน ซึ่งยังถือว่าเป็นภาวะฟันขึ้นตามปกติ แม้ว่าฟันของเด็กบางคนจะยังไม่ขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเริ่มดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของลูกโดยการงดนมมื้อดึก และเมื่อลูกมีฟันขึ้นให้ทำความสะอาดฟันด้วยการใช้แปรงสีฟันร่วมกับยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็ก เมื่อแปรงแล้วให้รีบเช็ดยาสีฟันออกเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลืนยาสีฟัน รวมทั้งควรพบทันตแพทย์เด็กเมื่อฟันซี่แรกขึ้น เพื่อคุณหมอจะช่วยเคลือบฟลูออไรด์ที่ผิวฟัน รวมทั้งให้คำแนะนำเพิ่มเติมในเรื่องการทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี ซึ่งจะช่วยป้องกันฟันผุในอนาคต
กระตุ้นพัฒนาการลูกได้อย่างไร
เด็กวัยนี้สามารถนั่งทรงตัวได้ดี สามารถเอี้ยวตัวได้เล็กน้อยโดยไม่ล้ม ใช้มือเล่นของเล่นได้เก่งขึ้น สามารถสลับมือส่งของจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่งได้ การกระตุ้นพัฒนาการสำหรับเด็กวัยนี้ทำโดยเมื่อเด็กนั่งเล่นของเล่น คุณพ่อคุณแม่อาจส่งของเล่นให้เขาถือในมือทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้เขาฝึกนั่งทรงตัวโดยไม่ต้องใช้มือช่วยยันพื้นประคองตัว หรือในขณะที่เขานั่งโดยยังไม่ได้ถือของเล่น ให้คุณพ่อคุณแม่ส่งของเล่นให้เขาจากทางด้านข้างในระยะที่เขาเอื้อมถึงเพื่อฝึกให้เขาเอี้ยวตัวไปหยิบของ ซึ่งเป็นการช่วยฝึกทรงตัวได้เช่นกัน และในขณะที่เขาถือของเล่นในมือข้างหนึ่ง ให้คุณพ่อคุณแม่ส่งของเล่นชิ้นใหม่ให้เขาที่มือข้างเดิม เพื่อกระตุ้นให้เขาถ่ายของเล่นจากมือข้างเดิมไปยังมืออีกข้างหนึ่ง เพื่อหยิบของเล่นชิ้นใหม่ ส่งเสียงเป็นเสียงพยัญชนะพยางค์เดียวให้เขาทำรูปปากและออกเสียงตาม เช่น ปา มา ตา
อาหารอะไรเหมาะกับลูก
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดของลูกตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งเมื่อถึงวัย 6 เดือน แม้ว่าน้ำนมแม่ยังคงเป็นอาหารหลักที่ดีที่สุดเช่นเดิม แต่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกกินอาหารเสริมด้วย โดยในวัยนี้ควรให้อาหารเสริมแทนนม 1 มื้อต่อวัน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กหัดเคี้ยวอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากการดูดนมซึ่งเป็นของเหลว ประกอบกับในช่วงวัยนี้ปริมาณธาตุเหล็กในน้ำนมของคุณแม่จะเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็ก ดังนั้น อาหารเสริมที่กุมารแพทย์มักแนะนำจึงได้แก่ ไข่แดงต้มสุกบด หรือตับบด ซึ่งเป็นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงที่กินง่ายเหมาะกับเด็กวัยนี้ การให้อาหารเสริมควรเริ่มทีละน้อยก่อน ในช่วงแรกเด็กอาจปฏิเสธก็ไม่เป็นไร ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ นำเสนออาหารชนิดนั้นอีกครั้งในวันถัดไป ในที่สุดเด็กจะค่อย ๆ ปรับตัวยอมรับอาหารเสริมได้ นอกจากนี้ควรให้อาหารเสริมทีละอย่าง ครั้งละประมาณ 1 สัปดาห์ โดยสังเกตว่าลูกไม่มีอาการแพ้ จึงค่อยเปลี่ยนชนิดของอาหาร
เคล็ดลับคุณแม่
ในช่วงที่คุณแม่เริ่มให้อาหารเสริมกับลูก การที่ลูกได้รับสารอาหารที่มีสฟิงโกไมอีลินในปริมาณที่เหมาะสม จำพวกไขมันที่พบในนมแม่และอาหารเสริมที่มีคุณค่า อันเป็นแหล่งของไขมันหลากหลายชนิดที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองและการสร้างปลอกไมอีลิน ดังนั้นคุณแม่ที่ให้นมบุตรเป็นหลักก็ควรที่จะได้รับอาหารประเภท นม ชีส โยเกิร์ต รวมไปถึงเนื้อสัตว์ ไข่ ผัก เป็นต้นอย่างเหมาะสม เพื่อให้บุตรได้รับสารอาหารสำหรับจะนำไปสร้างปลอกไมอีลินได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และส่งผลให้การพัฒนาและการทำงานของสมองเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
พัฒนาการลูกน้อย อายุ 5-6 เดือน
พัฒนาการลูกน้อย อายุ 3-4 เดือน
อ้างอิง
บทความโดย แพทย์หญิงพัฎ โรจน์มหามงคล
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลศิริราช