น้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด ลูกเป็นหวัดน้ำมูกไหลไม่หายสักที
ลูกมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด ทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลใจกันมาก ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงการมีน้ำมูกของลูก เบื้องต้นต้องทราบก่อนว่ามีน้ำมูกเพราะอะไร เพื่อที่จะได้รับการดูแลเบื้องต้นและรับการรักษาจากแพทย์ได้ตรงกับโรคที่เป็นต่อไป โดยปกติคุณพ่อคุณแม่จะเข้าใจกันว่าการที่ลูกมีน้ำมูกก็เพราะเป็นหวัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการที่ลูกมีน้ำมูกสามารถบอกได้อีกหลายโรคที่อาจกำลังป่วยอยู่ก็ได้
PLAYING: น้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด ลูกเป็นหวัดน้ำมูกไหลไม่หายสักที
สรุป
- น้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุดอาจเกิดจากจมูกเกิดการระคายเคือง ที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล กลิ่น ควัน ฝุ่น รวมทั้งการอักเสบของไซนัส และภูมิแพ้
- ลูกมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด อาจมาจากการป่วยด้วยโรค เช่น ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ โรคจมูกอักเสบ และโรคไซนัสอักเสบ
- ลูกมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด อาจมาจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ทำให้มีน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมามากจนสามารถทำให้มีน้ำมูกไหลลงคอ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- สาเหตุของการเกิดน้ำมูก
- ลูกน้อยมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด เป็นอะไรได้บ้าง
- สีของน้ำมูกบ่งบอกถึงอะไร
- ลูกเป็นหวัดน้ำมูกไหลไม่หายสักที อันตรายไหม
- ลูกมีน้ำมูกแต่ไม่มีไข้ แบบไหนคือโรคภูมิแพ้
- วิธีล้างจมูกอย่างถูกวิธี
- วิธีป้องกันลูกน้อย เวลาที่ลูกมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด
- ลูกมีน้ำมูกแบบไหน ต้องรีบพบแพทย์
สาเหตุของการเกิดน้ำมูก
- ในทางการแพทย์อธิบายถึงการเกิด “น้ำมูก” ขึ้นนั้นมาจากการที่เยื่อบุของระบบทางเดินหายใจ และเยื่อบุของระบบทางเดินอาหารบางส่วนภายในร่างกาย เช่น จมูก ไซนัส โพรงหลังจมูก ช่องปาก ช่องคอ หลอดลม และกล่องเสียง จะมีต่อมเพื่อสร้างน้ำมูก เมือก และเสมหะขึ้นมา เพื่อปกป้องอวัยวะที่อยู่ภายใต้เยื่อบุทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร ให้มีความปลอดภัยจากสารระคายเคือง หรือสารพิษ
- สารก่อภูมิแพ้ (เช่น ละอองเกสร ไรฝุ่น), ฝุ่น, เชื้อโรค ฯลฯ ที่ลอยมาปะปนกับอากาศเข้ามาติดอยู่ในลมหายใจ จะถูกน้ำมูกในระบบทางเดินหายใจ คอยดักจับป้องกันไว้อย่างดี โดยน้ำมูกจะมีสารต่อต้านเชื้อโรค เช่น เอนไซม์ และแอนติบอดี ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
- เวลาที่มีน้ำมูกไหล อาจเกิดเพราะจมูกเกิดการระคายเคือง ที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล กลิ่น ควัน ฝุ่น รวมทั้งการอักเสบของไซนัส และภูมิแพ้ เป็นต้น
ลูกน้อยมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด เป็นอะไรได้บ้าง
การที่ลูกน้อยมีน้ำมูกบอกให้ทราบถึงโรคที่กำลังป่วยอยู่ได้หลายโรค
อาการหวัดธรรมดา (Common Cold)
- สาเหตุ: เกิดจากระบบทางเดินหายใจเกิดการติดเชื้อไวรัส
- อาการ: มีน้ำมูกไหล อาจมีไข้ต่ำ มีการไอ และจาม
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- สาเหตุ: เกิดจากระบบทางเดินหายใจเกิดการติดเชื้อไวรัส
- อาการ: มีน้ำมูกไหล มีไข้สูง มีอาการอาเจียน ท้องเสีย และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือแพ้อากาศ (Allergic rhinitis)
- สาเหตุ: เกิดจากเยื่อบุจมูกได้รับสารก่อภูมิแพ้
- อาการ: มีน้ำมูกไหล คันจมูก คันเพดาน และมีการจาม
โรคไซนัสอักเสบ (Acute sinusitis)
- สาเหตุ: เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา
- อาการ: มีน้ำมูกมากจนไหลลงคอ คันจมูก และไอ บางครั้งลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
สีของน้ำมูกบ่งบอกถึงอะไร
ลูกมีน้ำมูกไหล คุณพ่อคุณแม่ควรต้องสังเกตสีของน้ำมูกที่ออกมาจากจมูกลูกด้วย เพราะแต่ละสีมีสาเหตุที่เกิดต่างกัน ได้แก่
1. น้ำมูกสีขาวขุ่น
สาเหตุ: มาจากการที่โพรงจมูกมีน้ำมูกขังมาเป็นเวลาหลายวัน จากเยื่อบุจมูกที่บวม น้ำมูกที่ไหลออกมาจะมีสีขาวขุ่น เหนียวและหนา
2. น้ำมูกสีใส
สาเหตุ: อาจเกิดขึ้นได้จากหวัด เยื่อบุจมูกอักเสบ หรือมาจากการติดเชื้อขึ้นในระบบทางเดินหายใจ
3. น้ำมูกสีเขียว
สาเหตุ: ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่างเม็ดเลือดขาว กำลังทำงานเพื่อต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งน้ำมูกสีเขียว เกิดจากการติดเชื้อขึ้นภายในโพรงจมูก หรือไซนัสอักเสบ
4. น้ำมูกสีเหลือง
สาเหตุ: มาจากด้านในโพรงจมูก หรือไซนัส มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมาต่อต้านและทำลายเชื้อแบคทีเรีย เซลล์เม็ดเลือดขาว กับเชื้อแบคทีเรียที่ตายแล้ว จะมีทั้งเมือกและหนอง จนทำให้น้ำมูกมีสีเหลือง
5. น้ำมูกสีแดง
สาเหตุ: มาจากการระคายเคือง หรือเกิดการบาดเจ็บขึ้นที่จมูก จนทำให้เส้นเลือดในโพรงจมูกแตก
6. น้ำมูกสีเทา
สาเหตุ: เนื่องจากเป็นริดสีดวงจมูก ที่เกิดจากเยื่อบุจมูก หรือไซนัสมีอาการบวมมากจนเกิดเป็นก้อนอยู่ด้านในโพรงจมูก
ลูกเป็นหวัดน้ำมูกไหลไม่หายสักที อันตรายไหม
หลังจากลูกเป็นหวัดมีน้ำมูกไหลได้ 3-4 วัน อาการหวัดมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ แต่หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีอาการหวัดเป็นนานมากกว่า 10 วันขึ้นไป แนะนำให้พาไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและได้รับการรักษาในทันที เนื่องจากการเป็นไข้หวัดเรื้อรังนานอาจมีภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่
- โรคหูน้ำหนวก
- โรคไซนัสอักเสบ
- โรคปอดอักเสบ
- โรคภูมิแพ้จมูก
ลูกมีน้ำมูกแต่ไม่มีไข้ แบบไหนคือโรคภูมิแพ้
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีน้ำมูกแต่ไม่มีอาการของการเป็นไข้ อาจเป็นไปได้ว่าลูกมีภาวะของโรคภูมิแพ้จมูก สำหรับอาการของโรคภูมิแพ้จมูก (Allergic rhinitis) เด็กที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้จมูกมักมีอาการเกิดของโรคที่เดี๋ยวหายไป เดี๋ยวเป็นขึ้นมาใหม่สลับกันไปมา โดยจะมีอาการแตกต่างจากโรคหวัด ดังนี้
โรคภูมิแพ้จมูก
- มีน้ำมูกใส
- มีคันจมูก คัดจมูก และจาม
- ไม่มีไข้
โรคหวัด
- มีน้ำมูกใส
- อาจมีไข้ต่ำ ๆ และปวดศีรษะเล็กน้อยขึ้นได้
- ไอมีเสมหะ และเจ็บคอ
- จาม และเสียงแหบ
ปัจจัยที่ส่งผลทำให้ลูกเป็นโรคภูมิแพ้จมูก
- กรรมพันธุ์จากพ่อแม่
- สารก่อภูมิแพ้ที่บ้าน เช่น รังแคหรือขนสัตว์เลี้ยง ฝุ่น ควันบุหรี่ เป็นต้น
- สารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่น ควันต่าง ๆ เป็นต้น
- ตั้งแต่แรกเกิดไม่ได้กินนมแม่ โดยทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว ทารกจะไม่ได้รับโปรตีนจากนมวัว ซึ่งเป็นโปรตีนที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของทารก และทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ดังนั้นทารกที่กินนมแม่ จึงมีอัตราการเกิดโรคภูมิแพ้น้อยกว่า
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคภูมิแพ้จมูก
- ไซนัสอักเสบ
- หูชั้นกลางอักเสบ
- นอนกรน
วิธีล้างจมูกอย่างถูกวิธี
- คุณแม่ล้างมือให้สะอาด
- เทน้ำเกลือลงในถ้วยใส่น้ำเกลือที่สะอาด
- ใช้กระบอกฉีดขนาด 5-10 ซีซี ดูดน้ำเกลือประมาณ 5-10 มิลลิลิตร
- จัดให้ลูกอยู่ในท่าโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
- ให้ลูกกลั้นหายใจ ก้มหน้า และอ้าปาก
- จากนั้นคุณแม่ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าในรูจมูกลูกทีละข้าง โดยให้น้ำเกลือไหลผ่านเข้าโพรงจมูกของข้างที่สอดกระบอกฉีด จะต้องให้น้ำเกลือไหลผ่านออกมาทางรูจมูกของอีกข้าง
- เปลี่ยนสลับมาฉีดน้ำเกลือเข้าจมูกอีกข้าง วิธีการทำเหมือนกับล้างจมูกข้างก่อนหน้า
วิธีป้องกันลูกน้อย เวลาที่ลูกมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด
- เพื่อช่วยให้ลูกหายใจได้สะดวก ช่วยลดอาการคัดแน่นจมูกขณะนอน ในเด็กเล็ก แนะนำคุณแม่จัดให้ลูกนอนในท่าตะแคง ส่วนในเด็กโตให้นอนหนุนหมอนสูงขึ้นเล็กน้อย
- จัดห้องนอนให้อากาศถ่ายเท หากหน้าต่างติดมุ้งลวดกันยุง อาจเปิดหน้าต่างบานกระจกออกเพื่อให้อากาศภายในห้องนอนถ่ายเทได้ดีขึ้น และปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อุณหภูมิอุ่นขึ้น
- งดพาออกไปเล่นนอกบ้านชั่วคราว เพื่อให้ลูกดีขึ้นจากการมีน้ำมูกและการไอ ควรงดพาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น การออกกำลังกาย
- ดูแลบำรุงร่างกายลูกให้แข็งแรงขึ้น ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แนะนำให้รับประทานอาหารรสชาติอ่อน ๆ มากกว่าอาหารรสจัด
- ให้ลูกดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ หรือน้ำอุณหภูมิห้องธรรมดา การดื่มน้ำอุ่นจะช่วยให้อาการไข้และอาการไอบรรเทาลง
- ล้างจมูกอย่างถูกวิธี การล้างจมูกจะช่วยให้หายใจได้โล่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถล้างจมูกลูกด้วยน้ำเกลือ ตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์
ลูกมีน้ำมูกแบบไหน ต้องรีบพบแพทย์
หากลูกมีน้ำมูกนาน 1-2 สัปดาห์ และมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย แนะนำให้พาไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นอาการของไข้หวัดใหญ่ไม่ควรปล่อยอาการไว้นานเพราะเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบได้
- มีไข้สูง เป็นไข้นานร่วมสัปดาห์
- คัดจมูก มีน้ำมูกใส
- ปวดศีรษะ
- ไอหนัก
- ท้องเสีย
- เบื่ออาหาร
- ปวดกล้ามเนื้อ
เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากหวัด เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้จมูก ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตหากลูกมีน้ำมูกใส ๆ ไหลมากกว่า 3-4 วันขึ้นไปแล้วยังไม่หาย ควรพาลูกไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของลูกน้อยให้แข็งแรงตั้งแต่แรกเกิด ช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยต่าง ๆ แนะนำคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การที่ลูกกินนมแม่จะช่วยเสริมพัฒนาการสมองการเรียนรู้ และช่วยปกป้องร่างกายของลูกจากการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ นมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด มีสารอาหารสำคัญอย่างสฟิงโกไมอีลินและดีเอชเอ ที่เป็นสารอาหารเพื่อพัฒนาสมองให้มีการเรียนรู้ได้เร็ว และมีจุลินทรีย์สุขภาพหลายสายพันธุ์ เช่น B. lactis ที่ช่วยกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันในลำไส้ให้แข็งแรง
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกี่วันหาย อาการแบบไหนเรียกรุนแรง
- ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกปวดท้อง
อ้างอิง:
- ทายสุขภาพจากสีน้ำมูก, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- น้ำมูกบอกความผิดปกติของร่างกายได้นะ, โรงพยาบาลเปาโล
- ภาวะน้ำมูกไหลมาก เกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ไข้หวัดในเด็กอย่าปล่อยให้เรื้อรัง, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์
- ไข้หวัดใหญ่ Vs ไข้หวัดธรรมดา ต่างกันอย่างไร?, โรงพยาบาลพิษณุโลก
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, โรงพยาบาลศิครินทร์
- โรคระบบทางเดินหายใจในเด็กที่ควรต้องรู้, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- COVID-19 VS ไข้หวัดใหญ่ อาการต่างกันอย่างไร?, โรงพยาบาลขอนแก่น ราม
- โรคภูมิแพ้จมูกในเด็ก (Allergic rhinitis), โรงพยาบาลเวชธานี
- ลูกเป็นหวัดบ่อยดูแลอย่างไรให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- ล้างจมูกเด็กด้วยน้ำเกลืออย่างถูกวิธี บรรเทาหวัด ขจัดเชื้อโรค, โรงพยาบาลพญาไท
- ไข้หวัดใหญ่ โรคควรระวังของเด็กในช่วงฤดูฝน, โรงพยาบาลสมิติเวช
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด: อะไรเวิร์ก อะไรไม่เวิร์ก?, UNICEF
- ภูมิแพ้ VS ไข้หวัด VS ไข้หวัดใหญ่ VS โควิด-19 แยกให้เป็นไม่ตื่นตระหนก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- สร้างภูมิคุ้มกันลูกน้อยด้วย ‘นมแม่’, สถาบันราชานุกูล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
อ้างอิง ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2567
แชร์ได้เลย
บทความแนะนำ
15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่แม่มือใหม่อยากรู้
ทารกเป็นวัยที่มีความบอบบาง ต้องการการปกป้องดูแลมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้เบบี๋ตัวน้อย ๆ ยังไม่สามารถสื่อสารความต้องการ หรือความเจ็บปวดออกมาเป็นคำพูดได้ ดังนั้น คุณแม่มือใหม่จึงมีเรื่องมากมายที่สงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ เราจึงรวบรวม 15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่คุณแม่มือใหม่อยากรู้ มาฝากดังนี้