ตารางการนอนของทารก 0-1 ปี ทารกควรนอนวันละกี่ชั่วโมง
การนอนของทารก เป็นอีกหนึ่งกิจวัตรที่มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กทารก ซึ่งในแต่ละช่วงวัยของลูกน้อยก็จะมีชั่วโมงของการนอนหลับที่เพียงพอแตกต่างกันไป ในวันนี้เราอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มารู้จัก และเช็กตารางการนอนของทารก 0-1 ปี มาดูกันว่าควรให้เด็กทารกนอนหลับเป็นเวลาเท่าไรจึงจะดี และช่วยให้ลูกรักเติบโตอย่างเต็มที่
สรุป
- การนอนหลับ เป็นกิจวัตรที่สำคัญต่อเด็กวัยทารกเป็นอย่างมาก เพราะการนอนนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็ก
- เด็กทารกอายุ 0-1 ปี จะมีชั่วโมงในการนอนต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 12-16 ชั่วโมงเลยทีเดียว โดยจะแบ่งออกเป็น การนอนหลับในช่วงกลางวัน และการนอนหลับในช่วงเวลากลางคืน
- การฝึกลูกให้นอนเป็นเวลานั้น สามารถเริ่มทำได้ และควรเริ่ม ตั้งแต่ลูกมีอายุ 4-6 เดือนขึ้นไป เพราะเป็นช่วงวัยที่ลูกเริ่มที่จะมีพฤติกรรมการนอนที่เป็นรูปแบบมากขึ้นแล้ว
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- การนอนสำคัญอย่างไร ทำไมถึงควรให้ลูกนอนหลับตามตารางการนอนของทารก
- ตารางเวลานอน ของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปีแรก
- ทารกควรนอนกี่ชั่วโมง
- แบ่งการนอนทารกอย่างไร
- คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มฝึกลูกน้อยให้นอนหลับเป็นเวลาเมื่อไหร่ดี
- เริ่มฝึกให้ลูกน้อยแรกเกิดเริ่มนอนเป็นเวลายังไงดี
- แนะนำวิธีพาลูกน้อยเข้านอน หลับยาว นอนอิ่ม
- ลูกไม่ยอมนอนในลักษณะนี้ คุณพ่อคุณแม่ ควรปรึกษาแพทย์
การนอนสำคัญอย่างไร ทำไมถึงควรให้ลูกนอนหลับตามตารางการนอนของทารก
การนอนหลับเป็นหนึ่งในกิจวัตรหลักที่สำคัญของมนุษย์ทุกคน และยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีกสำหรับเด็กทารก เพราะเป็นช่วงวัยที่กำลังเติบโต และควรที่จะนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละช่วงวัย เพราะการนอนหลับที่เพียงพอของทารก จะทำให้ทารกมีพัฒนาการที่ดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง สมวัย ลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในรอบด้าน ทั้งการเติบโตของร่างกาย และภูมิคุ้มกันของลูก
ตารางเวลานอน ของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปีแรก
อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่าการนอนของทารกนั้น จะมีชั่วโมงในการนอนหลับแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ซึ่งเราได้จัดทำออกมาเป็นตารางเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าใจได้ง่าย ดังนี้
อายุ | ชั่วโมงการนอนต่อวัน | ชั่วโมงการนอนในตอนกลางคืน | ชั่วโมงการนอนในตอนกลางวัน | ชั่วโมงที่ควรนอนต่อวัน |
แรกเกิด | 16 ชั่วโมง | 8 – 9 ชั่วโมง | 8 ชั่วโมง | 16-18 |
1 เดือน | 15.5 ชั่วโมง | 8 – 9 ชั่วโมง | 7 ชั่วโมง | 15-16 |
3 เดือน | 15 ชั่วโมง | 9 – 10 ชั่วโมง | 4 – 5 ชั่วโมง | 15 |
6 เดือน | 14 ชั่วโมง | 10 ชั่วโมง | 4 ชั่วโมง | 14-15 |
9 เดือน | 14 ชั่วโมง | 11 ชั่วโมง | 3 ชั่วโมง | 15-16 |
1 ปี | 14 ชั่วโมง | 11 ชั่วโมง | 3 ชั่วโมง | 15-16 |
ทารกควรนอนกี่ชั่วโมง
ชั่วโมงการนอนของทารกนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 14 – 16 ชั่วโมงต่อวัน และจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ซึ่งพ่อแม่จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า ในช่วงแรกเกิดนั้น ลูกน้อยจะใช้เวลาในการนอนตลอดทั้งวัน หลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นระยะ ๆ ตามแต่ว่าทารกหิวนมเมื่อไร หรือมีการขับถ่ายก็จะตื่นขึ้นมาร้องไห้งอแงบ้าง หลังจากเสร็จกิจก็จะผลอยหลับไปนั่นเอง
แบ่งการนอนทารกอย่างไร
ชั่วโมงการนอนของทารกแม้จะฟังดูเยอะมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกจะหลับต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานถึง 16 ชั่วโมงรวด แต่ทารกนั้นจะมีการแบ่งช่วงเวลาในการนอนเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ การนอนหลับในตอนกลางคืน และการนอนหลับในช่วงกลางวัน หรือระหว่างวันนั่นเอง ซึ่งชั่วโมงการนอนในแต่ละช่วงเวลาของลูกก็จะแตกต่างไปตามช่วงวัย ในช่วงแรกเกิดนั้นก็จะมีการนอนหลับในทั้ง 2 ช่วงเวลาในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้น ก็จะค่อย ๆ ขยับไปนอนหลับในช่วงกลางคืนมากขึ้น และลืมตาตื่นมาเรียนรู้ เล่น และทำสิ่งต่าง ๆ ในช่วงเวลากลางวันมากขึ้นเช่นกัน
1. ตารางการนอนของเด็กแรกเกิด – 6 สัปดาห์แรก
สำหรับเด็กวัย 1 เดือน ในช่วงอายุแรกเกิด ประมาณ 6 สัปดาห์ หรือประมาณ 1 เดือนครึ่งหลังจากลูกได้ออกมาอยู่ในอ้อมอกคุณแม่แล้ว ในช่วงนี้ลูกจะนอนไม่เป็นเวลานัก ไม่มีระยะเวลาที่ตายตัว สามารถนอนได้นานทั้งช่วงเวลากลางวัน และกลางคืน โดยลูกจะมีเวลานอนเฉลี่ยแล้วประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว
2. ตารางการนอนของเด็กอายุ 2 เดือน
สำหรับเด็กวัย 2 เดือน ก็ยังคงใช้เวลาไปกับการนอนเยอะเช่นเคย โดยลูกน้อยควรนอนให้ได้เป็นเวลาประมาณ 15.5 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น นอนตอนกลางวัน 4-8 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนอีก 8 ชั่วโมง
3. ตารางการนอนของเด็กอายุ 3 เดือน
สำหรับเด็กวัย 3 เดือน ควรนอนหลับให้ได้เป็นเวลาประมาณ 15 ชั่วโมงต่อวัน โดยแบ่งเป็น นอนกลางวัน 4 – 5 ชั่วโมง และนอนหลับตอนกลางคืน 9-10 ชั่วโมง
4. ตารางการนอนของเด็กอายุ 6 เดือน
สำหรับเด็กวัย 6 เดือน ลูกจะมีระยะเวลาในการนอนเฉลี่ยอยู่ที่ 14 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งออกเป็นนอนตอนกลางคืน 10 ชั่วโมง และนอนในตอนกลางวัน 4 ชั่วโมง โดยประมาณ
5. ตารางการนอนของเด็กอายุ 9 - 12 เดือน
ในวัยนี้ ลูกควรจะได้นอนเป็นเวลา 14 ชั่วโมงต่อวันเช่นกัน แต่จะแบ่งออกเป็น นอนตอนกลางวัน 3 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืน 11 ชั่วโมง
คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มฝึกลูกน้อยให้นอนหลับเป็นเวลาเมื่อไหร่ดี
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนน่าจะอยากฝึกให้ลูกนอนหลับเป็นเวลาให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการต้องตื่นตามลูกในช่วงหลังคลอด ไม่น่าจะใช่เรื่องที่สนุกสักเท่าไรนัก เพราะเด็กนอนและตื่นไม่เป็นเวลาตลอดทั้งวัน เพราะในช่วงแรกครึ่งหนึ่งของการนอนหลับของทารกนั้นจะเป็น การนอนหลับแบบที่มีการกรอกลูกตาแบบเร็ว หรือที่เรียกว่า REM Sleep และจะมีพฤติกรรมการนอนหลับที่มีรูปแบบที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงอายุ 6 เดือน และนั่นคือช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถเริ่มฝึกการนอนเป็นเวลาให้แก่ลูกได้
เริ่มฝึกให้ลูกน้อยแรกเกิดเริ่มนอนเป็นเวลายังไงดี
การฝึกลูกน้อยให้เริ่มนอนเป็นเวลานั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มได้ด้วยวิธีดังนี้
- ให้ลูกสงบช่วง 10-30 นาทีก่อนนอน จะช่วยให้ลูกหลับง่ายกว่าการชวนลูกทำกิจกรรมโลดโผน เช่น ชวนเล่น ทำให้รู้สึกตื่นเต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นจะทำให้ลูกตื่นตัว และเตรียมตัวเข้านอนค่อนข้างนาน แนะนำให้หากิจกรรมที่ชวนผ่อนคลาย สงบ จะทำให้ลูกหลับได้ไวกว่า เช่น การอ่านนิทานให้ลูกฟัง เป็นต้น
- เริ่มฝึกให้ลูกนอนตั้งแต่เนิ่น ๆ ให้ลูกเริ่มนอนเป็นเวลามากขึ้นตั้งแต่ช่วงที่สามารถเริ่มฝึกเขาได้ นั่นก็คือช่วงอายุ 4 – 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การนอนของลูกจะมีรูปแบบที่ชัดเจน เป็นกิจวัตรมากขึ้นแล้ว
- กำหนดเวลานอนที่ชัดเจน เพื่อให้ลูกคุ้นชินกับการนอนเป็นเวลา
- หลีกเลี่ยงการให้ลูกกินขนมก่อนนอน แม้เด็กจะไม่ได้กินกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนแบบผู้ใหญ่ แต่ขนมบางอย่างเช่น ช็อกโกแลตก็มีส่วนผสมของคาเฟอีน ซึ่งเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไปที่สามารถกินอาหารอย่างอื่นนอกจากนมแม่แล้ว ก็อาจจะกินเข้าไปแล้วทำให้หลับได้ยาก
แนะนำวิธีพาลูกน้อยเข้านอน หลับยาว นอนอิ่ม
การจะให้ลูกหลับยาวอย่างมีคุณภาพ นอนหลับเต็มอิ่มในทุกวัน มีเคล็ดลับง่าย ๆ ดังนี้
- ไม่ให้ลูกหิว หรืออิ่มเกินไปก่อนนอน โดยคุณแม่อาจเตรียมนมแก้วเล็ก ๆ ให้ลูกดื่มก่อนนอน ไม่แนะนำให้รับประทานมื้อหนัก เพราะท้องที่แน่นเกินไปจะทำให้นอนไม่หลับ
- ห้องนอนควรมืดและสงบ เพื่อให้ลูกสามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าลูกน้อยกลัวความมืด อาจเปิดไฟสลัว ๆ ไว้ให้ลูกไม่รู้สึกกลัวได้
- ห้องนอนต้องไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ควรปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะ ให้ลูกหลับสบายตลอดคืน ไม่ตื่นเพราะว่าร้อนหรือหนาว
- ไม่ให้ลูกดูโทรทัศน์ก่อนนอน เพราะอาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น ต้องดูโทรทัศน์ก่อนนอนถึงจะหลับได้
- ไม่ทำโทษลูก ห้ามทำให้ลูกรู้สึกว่าการนอนเป็นสิ่งที่ถูกบังคับ ขู่เข็ญ หากไม่ทำตามจะโดนลงโทษ ควรให้ลูกได้รับรู้ว่าการนอนหลับคือช่วงเวลาแห่งความสุข
ลูกไม่ยอมนอนในลักษณะนี้ คุณพ่อคุณแม่ ควรปรึกษาแพทย์
แม้ลูกน้อยวัยทารกจะมีการนอนที่อาจดูไม่เป็นเวลาเท่าไรนัก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกให้ดี อย่าลืมว่าทารกนั้นยังพูดไม่ได้ ไม่สามารถสื่อสารเพื่อบอกความต้องการออกมาให้เราเข้าใจผ่านคำพูดได้ ดังนั้นหากลูกมีอาการนอนไม่หลับเนื่องจากสาเหตุ หรือมีความผิดปกติระหว่างหลับ เช่น ร้องตกใจในตอนกลางคืนมากผิดปกติ หรือมีปัญหาเรื่องการหายใจในขณะนอนหลับ ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำ และรับการรักษาที่เหมาะสม
เพราะการนอนคือเรื่องสำคัญของทารก เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็ก คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจ และควรให้ความร่วมมือกับการฝึกลูกให้มีกิจวัตร และมีพฤติกรรมการนอนหลับเป็นเวลา เพื่อให้ลูกรักได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ มีพัฒนาการที่ดี และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 5 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
อ้างอิง:
- การนอนในวัยต่างๆ, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- อยากให้ลูกนอนเป็นเวลา, โรงพยาบาลเปาโล
- เมื่อหนูไม่ยอมนอน, Bangkok Health Research Center
- นิทราวิทยาในเด็ก (Sleep Science in Children), ศูนย์ศรีพัฒน์
- นอนหลับกี่ชั่วโมงถึงจะเพียงพอ, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (bumrungrad.com)
- Infant Sleep, Stanford Medicine Children's Health
อ้างอิง ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566