เด็กทารกควรนอนท่าไหน ท่านอนทารกที่ถูกต้องควรเป็นยังไง
การจัดตำแหน่ง ท่านอน และสภาพแวดล้อมในการนอนให้ลูกทารกอย่างถูกต้องเหมาะสมกับอายุ เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังเอาใจใส่ การจัดท่านอนที่ไม่ถูกต้องตามกายภาพ หรืออายุของลูกน้อย อาจทำให้ไม่ปลอดภัย เสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรหาข้อมูล ศึกษา ท่านอนที่ถูกต้อง เพื่อจัดท่านอนที่เหมาะสมปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต และลดอุบัติเหตุให้แก่ลูกน้อย
สรุป
- การจัดท่านอนที่ปลอดภัยสำหรับทารก มีความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมในการนอนที่ปลอดภัย และช่วยป้องกันความเสี่ยงภาวะไหลตายทารก หรือ SIDS ทำให้ลูกนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ร่างกายเจริญเติบโต มีพัฒนาการทางด้านร่างกายและสมองดี
- การจัดท่านอนทารก สามารถจัดท่านอนให้ได้ตั้งแต่แรกเกิด การจัดท่านอนทารกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย หากจัดท่านอนที่ไม่ถูกต้องตามกายภาพ หรืออายุของลูกน้อย เสี่ยงทำให้มีการกดทับ ทำให้อากาศเข้าปอดไม่ดี อาจทำให้เสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- นอกจากการจัดท่านอนที่ถูกต้องเหมาะสมกับวัยของทารกแล้ว สิ่งที่จะทำให้ทารกนอนหลับได้สบาย นอนหลับสนิทตลอดคืน ได้แก่ การจัดห้องให้สะอาด โปร่งสบาย อยู่ในอุณภูมิที่พอเหมาะ ไม่ร้อน หรือหนาวเกินไป หมั่นเช็กผ้าอ้อมของลูกให้แห้งสบาย ไม่อับชื้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ท่านอนทารกที่ถูกต้อง สำคัญแค่ไหน
- จัดท่านอนทารก เริ่มทำได้ตั้งแต่แรกเกิด
- ท่านอนเด็กทารก ให้นอนตะแคงได้ไหม
- ท่านอนทารกที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
- ท่านอนทารกไม่ถูกต้อง เสี่ยงลูกไหลตายไหม
- หมอนสำหรับทารก ต้องไม่อ่อนยวบเกินไป
- ท่านอนทารก คุณแม่ทำยังไงให้ลูกนอนหลับสบาย
ท่านอนทารกที่ถูกต้อง สำคัญแค่ไหน
การจัดท่านอนทารกที่ไม่ถูกต้องตามสรีระ กายภาพ และอายุของลูกนั้น อาจทำให้เสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ การจัดท่านอนที่ปลอดภัยสำหรับทารกมีความสำคัญต่อการนอนที่ปลอดภัย และช่วยป้องกันความเสี่ยงภาวะไหลตายทารก หรือ SIDS ช่วยป้องกันสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด
- ทำให้ลูกนอนหลับยาว มีพัฒนาการสมวัย: ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและสมอง ทำให้เจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
- ลูกนอนหลับอย่างปลอดภัย หายใจสะดวก: ช่วยลดความเสี่ยงภาวะไหลตายในทารก หรือ ภาวะ SIDS
- ช่วยให้พ่อแม่นอนหลับอย่างสบายใจพร้อมกับลูก: พ่อแม่ควรนอนในห้องเดียวกันกับลูกน้อย เพื่อให้ลูกอยู่ในสายตา เมื่อเกิดเหตุใด ๆ จะได้ช่วยลูกได้ทันท่วงที แต่ไม่ควรนอนเตียงเดียวกันกับลูก เพราะเตียงผู้ใหญ่นั้นไม่ปลอดภัยสำหรับทารก
จัดท่านอนทารก เริ่มทำได้ตั้งแต่แรกเกิด
การจัดท่านอนทารกคุณพ่อคุณแม่สามารถจัดท่านอนให้ได้ตั้งแต่แรกเกิด การจัดท่านอนทารกนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเอาใจใส่ เพราะหากจัดท่านอนที่ไม่ถูกต้องตามกายภาพ หรืออายุของลูกน้อย อาจทำให้เสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การจัดท่านอนที่ปลอดภัยสำหรับทารกมีความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมในการนอนที่ปลอดภัย และช่วยป้องกันความเสี่ยงภาวะไหลตายทารก หรือ SIDS ช่วยป้องกันสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด แนวทางการป้องกัน ภาวะไหลตายทารก คือควรจัดท่านอนทารกให้นอนหงายเท่านั้น ที่นอนที่ให้ทารกนอนต้องแข็ง ไม่อ่อนนิ่มยวบจนเกินไป ใส่ชุดนอนให้ลูกแค่พออบอุ่น ไม่วางของเล่น ตุ๊กตา ไว้บนที่นอนของทารก ไม่วางสิ่งของที่จะพลิกคว่ำทับทารกได้
ท่านอนเด็กทารก ให้นอนตะแคงได้ไหม
ท่านอนตะแคง อาจเป็นท่านอนไม่ปลอดภัยสำหรับทารก เนื่องจากอาจทำให้ทารกคว่ำหน้าโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้หายใจลำบาก อาจทำให้ไม่ปลอดภัย เพราะทารกยังเล็กเกินกว่าที่จะยกศีรษะขึ้น หรือเปลี่ยนท่านอน ทารกจะสามารถนอนตะแคงได้ หากทารกแข็งแรงขึ้น มีทักษะการเคลื่อนไหวดีขึ้น พลิกตัวได้คล่อง อย่างไรก็ตามหากลูกนอนตะแคง คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจดูสภาพแวดล้อมรอบตัวลูกขณะที่นอน ดูแลขณะลูกนอนตะแคงอย่างใกล้ชิด
ท่านอนทารกที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
การจัดท่านอนของทารกให้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย เช่น ท่านอนของทารกวัยแรกเกิด ถึง 4 เดือน, วัย 5-6 เดือน และวัย 7-12 เดือน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทารกนั้นมีการนอนที่ปลอดภัย และป้องกันภาวะไหลตายในทารก หรือ SIDS ท่านอนที่เหมาะสมสำหรับทารกในแต่ละช่วงวัย คือ
1. ท่านอนทารก แรกเกิด ถึง 4 เดือน
ท่านอนหงาย เป็นท่าที่เหมาะกับพัฒนาการของทารก ที่มีกล้ามเนื้อคอที่ยังไม่แข็งแรง ซึ่งทารกวัยนี้จะมองเห็นสิ่งรอบตัว หันได้เพียงด้านซ้ายและขวา ช่วยฝึกกระตุ้นการมองเห็นให้ทารก ไม่ควรให้ทารกวัยนี้นอนคว่ำ เพราะอาจเสี่ยงกับภาวะไหลตายในทารก หรือ SIDS ได้
2. ท่านอนทารก อายุ 5-6 เดือน
ท่านอนคว่ำ ซึ่งท่านอนคว่ำ ไม่ควรให้เด็กนอนเพียงลำพัง คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าดูใกล้ชิดตลอดเวลา เลือกใช้ที่นอนที่ไม่นุ่ม หรือยวบเกินไป เพื่อป้องกันการปิดกั้นทางเดินหายใจ
3. ท่านอนทารก อายุ 7-12 เดือน
ทารกช่วงวัยนี้นอนได้ทุกท่า ไม่ว่าจะเป็นท่านอนหงาย ท่านอนตะแคง เพราะทารกจะสามารถพลิกตัวด้วยตัวเองได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสภาพแวดล้อมบริเวณที่นอนให้ปลอดภัย เหมาะสม เพื่อลดอาการบาดเจ็บ มุมเสาของที่นอนต้องไม่แหลม ขอบบนที่นอนควรสูงไม่ต่ำกว่า 65 เซนติเมตร ที่นอนควรมีที่กั้นป้องกันลูกตก
ท่านอนทารกไม่ถูกต้อง เสี่ยงลูกไหลตายไหม
โรคไหลตายในทารก หรือ SIDS เป็นภาวะที่ทารกเสียชีวิตจากการนอนหลับแบบเฉียบพลันขณะนอนหลับ เกิดขึ้นได้กับทารกในขวบปีแรก ตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 12 เดือน แม้ว่าทารกนั้นจะมีสุขภาพแข็งแรงก็ตาม ซึ่งพบได้บ่อยในทารกอายุ 2-4 เดือน จากสถิติแล้ว โรคนี้มักเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยไม่แสดงอาการล่วงหน้าใด ๆ ให้ทราบ
คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไหลตายในทารกเกิดจากการจัดท่านอนที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมกับช่วงอายุของลูก ให้ลูกทารกนอนคว่ำ หรือนอนตะแคง ทำให้มีการกดทับ ทำให้อากาศเข้าปอดไม่ดี การนอนคว่ำนั้นอาจทำให้กีดขวางการหายใจของทารกขณะนอนหลับ อีกทั้งทารกในวัยนี้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวศีรษะ ขยับศีรษะ หรือพลิกตัวได้ รวมไปถึง มีผ้าห่ม ตุ๊กตา หมอน วัตถุต่าง ๆ ที่ใกล้ตัวทารกขณะที่กำลังนอนหลับ หรือมีที่นอนที่นิ่ม ยวบ จะทำให้ปิดหน้า ปิดจมูกทารกขณะที่นอนหลับ
หมอนสำหรับทารก จำเป็นต้องใช้ไหม
การสร้างสภาพแวดล้อมในการนอนหลับที่ปลอดภัยสำหรับลูกน้อย เป็นเรื่องสำคัญในการลดความเสี่ยงอุบัติเหตุ หรือ ภาวะไหลตายในทารก โดยเฉพาะการจัดเตียง ที่นอน อุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการนอนของทารก หมอนไม่ปลอดภัยสำหรับทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับทารกอายุระหว่าง 4 ถึง 12 เดือน การปล่อยให้ทารกนอนหลับบนหมอนอาจเป็นอันตราย ทารกอาจพลิกตัวนอนคว่ำและหันศีรษะไปบนหมอน อาจทำให้หมอนปิดกั้นทางเดินหายใจได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ผู้ปกครองรอจนกว่าทารกจะอายุมากกว่า 2 ปี จึงค่อยใช้หมอน
ท่านอนทารก คุณแม่ทำยังไงให้ลูกนอนหลับสบาย
นอกจากการจัดท่านอนให้ทารกได้นอนหลับสบาย ปลอดภัย ลดเสี่ยงอุบัติเหตุแล้ว การจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ดี จะช่วยให้ลูกนอนสบายได้อีกด้วย เช่น จัดห้องให้อากาศถ่ายเทสะดวก สำรวจผ้าอ้อมก่อนนอนว่าเปียกอับชื้นหรือไม่ ทำให้ลูกผ่อนคลายด้วยการใช้จุกนมหลอก ซึ่งวิธีช่วยให้ลูกนอนสบาย ไม่สะดุ้งตื่นง่าย สามารถทำได้อีกหลายวิธี ได้แก่
1. จัดห้องให้อากาศถ่ายเทสะดวก
อุณหภูมิกำลังพอดี ในห้องต้องไม่มีอากาศที่หนาว หรือร้อนจนเกินไป เก็บที่นอนให้โล่ง ไม่ควรมีของเล่นบนเตียงเพื่อลดการกระตุ้นให้ทารกตื่น และลดการเสี่ยงต่อการอุดกั้นทางเดินหายใจ
2. เปลี่ยนผ้าอ้อมก่อนนอน
การเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก นอกจากช่วยป้องกันลูกเป็นผื่นแพ้ผ้าอ้อมจากการใส่แพมเพิสในระยะยาวแล้ว การเปลี่ยนบ่อย ๆ จะช่วยให้ลูกสบายตัว หากมีการขับถ่าย เปียกไม่สบายตัว ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ใหม่
3. ใช้จุกนมหลอก
การใช้จุกหลอก ช่วยทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าการให้ลูกดูดจุกนมหลอกอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายในทารกได้
หากจัดการนอนที่ไม่ถูกท่า ไม่เหมาะสมกับอายุของทารก อาจทำให้ทารกเสี่ยงภาวะไหลตายในทารก หรือ SIDS ส่งผลให้เกิดการปิดกั้นทางเดินหายใจ จนทำให้ทารกเสียชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ช่วยให้ลูกน้อยหลับสนิทตลอดคืน ลดความเสี่ยงภาวะไหลตายในทารก คุณพ่อคุณแม่ควรจัดท่านอนของทารกให้อยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย เป็นท่านอนที่เหมาะสมกับวัยของทารก
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- โกนผมไฟให้ลูก ใช้อะไรบ้าง พิธีโกนผมไฟ มีขั้นตอนอย่างไร
- การมองเห็นของทารก ในแต่ละช่วงวัย ลูกน้อยมองเห็นอะไรบ้าง
- ท่านั่ง w-sitting ทำไมเด็กเล็กชอบนั่ง เรื่องอันตรายควรรู้
- ล้างจมูกทารก แบบไหนปลอดภัย ล้างยังไงไม่ให้ลูกกลัว
- ทารกตัวเหลือง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกตัวเหลือง
- ทารกอุจจาระมีมูก ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด แบบไหนที่ต้องระวัง
- ทารกเป็นหวัดหายใจครืดคราด ลูกเป็นหวัดหายใจไม่สะดวกทําไงดี
- ลูกอ้วกไม่มีไข้ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- ลูกหายใจครืดคราดแต่ไม่มีน้ำมูก เกิดจากอะไร อันตรายกับลูกน้อยไหม
- วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน
อ้างอิง:
- ผลของการจัดท่านอนต่อค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดในทารกเกิดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
- สา'สุข ชัวร์ : ท่านอนที่พ่อแม่ต้องรู้ สำหรับเด็กขวบปีแรก, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- จัดท่านอนลูก อย่างไรให้ปลอดภัย?, WORLDMED CENTER
- Why Is Sleeping On Back Considered Best For Babies?, Momjunction
- Is Side Sleeping Safe for My Baby?, Healthline
- โรค SIDS หรือโรคไหลตายในทารก ภัยเงียบที่ควรรู้, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
- โรค “SIDS”...โรคไหลตายนี้อาจเกิดได้กับลูกน้อย, โรงพยาบาลพญาไท
- กล่อมลูกน้อยอย่างไรให้นอนหลับ, pobpad
- คุณพ่อคุณแม่มีส่วนช่วยให้ลูกน้อยหลับสบายขึ้น, Thaibf
- Is It Safe to Let a Baby Sleep With a Pillow?, Webmd
- ไหลตายในเด็กทารก หรือ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome), HelloKhunmor
อ้างอิง ณ วันที่ 13 กันยายน 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง