วิธีฝึกลูกนอนยาว ฝึกลูกนอนเอง ช่วยให้หลับสบายตลอดคืน
คุณแม่ลูกอ่อนในช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ อาจจะเหนื่อยล้ากับการดูแลทารกที่ต้องตื่นมากินนมบ่อย ทำให้คุณแม่พักผ่อนไม่เพียงพอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลูกน้อยเริ่มนอนได้นานขึ้น จึงเป็นเวลาเหมาะที่คุณแม่จะเริ่มฝึกให้ลูกนอนยาว เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อน การฝึกลูกนอนยาว คืออะไร มีข้อดีอย่างไร คุณแม่จะเริ่มฝึกลูกนอนยาวตอนอายุเท่าไหร่ดี และมีวิธีการฝึกลูกนอนเองอย่างไรให้สำเร็จภายใน 7 วัน ไปดูพร้อมกันเลย
สรุป
- ฝึกลูกนอนยาว คือ การฝึกให้ลูกน้อยเรียนรู้ที่จะนอนหลับได้เองโดยไม่ต้องอาศัยการปลอบโยนหรืออุ้มกล่อมจากพ่อแม่
- การฝึกลูกนอนยาว ทำให้ลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ส่งผลดีต่อพัฒนาการของร่างกายและสมอง เสริมสร้างนิสัยการนอนที่ดีติดตัวลูก และยังช่วยให้พ่อแม่มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ลดความเครียดในการดูแลลูกอีกด้วย
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝึกลูกนอนยาว คือเมื่อลูกน้อยมีอายุประมาณ 4-6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยเริ่มพัฒนาความสามารถในการนอนหลับต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีวงจรการนอนหลับ-ตื่นที่เป็นปกติมากขึ้น
- การฝึกลูกนอนเองอาจทำให้ลูกน้อยร้องไห้งอแงได้ในช่วงแรก ๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะลูกน้อยกำลังปรับตัวเข้ากับวิธีการนอนแบบใหม่ แต่โดยทั่วไปแล้ว ลูกน้อยมักจะนอนได้เองสำเร็จภายใน 7 วัน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ฝึกลูกนอนยาว คืออะไร มีข้อดีอย่างไร
- เริ่มฝึกลูกนอนยาว ตอนอายุเท่าไรดี
- การจัดห้องนอน ช่วยสร้างบรรยากาศให้ลูกน้อย
- วิธีฝึกลูกนอนยาว ให้ลูกนอนได้นานด้วยตัวเอง
- ฝึกลูกนอนเอง แต่ลูกร้องไห้งอแง ทำยังไงดี
ฝึกลูกนอนยาว คืออะไร มีข้อดีอย่างไร
การฝึกลูกนอนยาวเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ที่จะนอนหลับได้เองโดยไม่ต้องอาศัยการปลอบโยนหรืออุ้มกล่อมจากพ่อแม่ เป้าหมายหลักคือการสร้างนิสัยการนอนหลับที่ดีให้กับลูกน้อย ทำให้ลูกหลับได้นานขึ้น ตื่นน้อยลงในเวลากลางคืน และช่วยให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ประโยชน์ต่อพ่อแม่ การที่มีลูกน้อยที่นอนหลับง่ายและหลับได้นาน ทำให้พ่อแม่มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ลดความเครียด และมีพลังงานในการดูแลลูก
- ลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เมื่อลูกน้อยสามารถนอนหลับได้เองและหลับได้นานขึ้น จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายและสมอง
- เสริมสร้างนิสัยการนอนที่ดีติดตัวลูก การฝึกลูกนอนยาวจะช่วยให้ลูกน้อยมีวินัยในการนอนหลับ ทำให้ลูกรู้จักแยกแยะช่วงเวลาการนอนและการตื่น
เริ่มฝึกลูกนอนยาว ตอนอายุเท่าไรดี
โดยทั่วไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เริ่มฝึกลูกนอนยาว เมื่อลูกน้อยมีอายุประมาณ 4-6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยเริ่มพัฒนาความสามารถในการนอนหลับต่อเนื่องยาวนาน และมีวงจรการนอนหลับและการตื่นที่เป็นปกติมากขึ้น การที่ลูกได้นอนหลับยาว มีประโยชน์ ดังนี้
- พัฒนาการของสมอง: สมองของลูกน้อยเริ่มพัฒนาความสามารถในการควบคุมวงจรการนอนหลับได้ดีขึ้น
- ไม่ต้องการนมกลางคืน: ลูกน้อยหลายคนในช่วงอายุนี้สามารถหลับยาวไปได้โดยไม่ต้องกินนมกลางดึก
- พร้อมที่จะเรียนรู้: ลูกน้อยเริ่มมีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจที่พร้อมจะเรียนรู้ทักษะการนอนหลับใหม่ ๆ
ถึงแม้ว่า 4-6 เดือนจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ใช่กฎตายตัว ลูกน้อยแต่ละคนจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน บางคนอาจพร้อมที่จะฝึกลูกนอนยาวเร็วกว่านี้ ในขณะที่บางคนอาจต้องใช้เวลามากกว่านี้ หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกน้อยพร้อมสำหรับการฝึกนอนหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์
การจัดห้องนอน ช่วยสร้างบรรยากาศให้ลูกน้อย
การจัดห้องนอนให้เหมาะสมเป็นก้าวสำคัญในการฝึกลูกนอนยาว ลองปรับเปลี่ยนห้องนอนของลูกน้อยตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้ลูกน้อยหลับสบาย
1. เครื่องนอนสะอาด นุ่มสบาย
เลือกผ้าปูที่นอน หมอน และผ้าห่มที่ทำจากวัสดุที่นุ่มสบาย ระบายอากาศได้ดี และเหมาะกับอากาศในห้อง เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัวขณะนอนหลับ
2. ห้องมืด เงียบสงบ
ปิดไฟให้มืดสนิทหรือเปิดไฟนวล ๆ เพื่อสื่อให้ลูกน้อยรู้ว่าถึงเวลาเข้านอนแล้ว ลดเสียงรบกวนต่าง ๆ เช่น เสียงโทรศัพท์ เสียงทีวี หรือเสียงคนคุย
3. อุณหภูมิกำลังพอดี
ควบคุมอุณหภูมิในห้องให้อยู่ในระดับที่ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป อุณหภูมิที่พอดีจะช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับได้สบายตลอดคืน
วิธีฝึกลูกนอนยาว ให้ลูกนอนได้นานด้วยตัวเอง
การฝึกลูกนอนยาวและฝึกลูกนอนเองไม่ใช่เรื่องยาก เพียงทำตามขั้นตอนอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้ลูกน้อยหลับสบายและคุณพ่อคุณแม่ก็ได้พักผ่อนเต็มที่ มาดูวิธีฝึกลูกนอนยาวที่สามารถทำได้ภายใน 7 วันกัน
1. เริ่มแยกเตียงนอนกับลูก ให้ลูกชินกับการนอนคนเดียว
ก่อนเริ่มฝึกลูกนอนเอง ควรแยกเตียงนอนของลูกน้อยออกจากเตียงของคุณพ่อคุณแม่ก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกน้อยชินกับการนอนในสภาพแวดล้อมใหม่
2. ให้เข้านอนตรงเวลาทุกวัน คอยปลอบลูกเมื่อร้องไห้
การฝึกลูกนอนยาว กำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้ชัดเจน และพยายามให้ลูกน้อยปฏิบัติตามตารางเวลาทุกวัน เมื่อลูกน้อยร้องไห้ ให้เข้าไปปลอบโยนได้ แต่ไม่ต้องอุ้มขึ้นมา ค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการเข้าไปปลอบให้ห่างขึ้นทีละน้อย
3. แยกห้องนอนกับลูก และเข้าไปดูเป็นระยะ
ในช่วงแรกที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มฝึกลูกนอนยาว อาจเข้าไปตรวจสอบลูกน้อยเป็นระยะ ๆ ทุก 15 นาที เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัย
4. ยืดระยะห่างในการเข้าไปดูลูกมากขึ้น
เมื่อลูกน้อยเริ่มคุ้นเคย ให้ค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการเข้าไปตรวจสอบทีละน้อย เช่น ทุก 30 นาที
5. ปล่อยให้ลูกหลับยาว ไม่ต้องแวะเข้าไปกวน
ทารกหลายคนเรียนรู้ที่จะนอนหลับได้เองโดยไม่ร้องไห้ภายในเวลาไม่กี่คืน ทารกบางคนใช้เวลานานกว่านั้น เช่น ประมาณหนึ่งสัปดาห์ แต่การร้องไห้จะค่อย ๆ น้อยลงในแต่ละคืน
6. บอกให้ลูกรู้เวลาเข้านอนและตื่นนอน เพื่อความเคยชิน
พยายามปลุกลูกน้อยให้ตื่นในเวลาเดิมทุกเช้า และเข้านอนในเวลาเดียวกันทุกวัน ความสม่ำเสมอและการคาดเดาได้นี้ จะช่วยให้ลูกน้อยผ่อนคลาย รู้สึกปลอดภัย และนอนหลับได้ง่ายขึ้น
7. พ่อแม่ต้องหลับสนิทเหมือนกับลูก
เมื่อลูกน้อยเข้านอนแล้ว พ่อแม่ก็ควรพยายามหลับสนิทเช่นกัน พยายามรักษาความสงบในห้องนอน เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลายและหลับได้นาน
หากการฝึกลูกนอนยาว ฝึกลูกนอนเอง ไม่สำเร็จใน 7 วัน แสดงว่าลูกน้อยอาจยังไม่พร้อมที่จะนอนเอง ควรลองวิธีอื่น และพูดคุยกับกุมารแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ หากการฝึกให้ลูกนอนยาวไม่ได้ผลหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์
ฝึกลูกนอนเอง แต่ลูกร้องไห้งอแง ทำยังไงดี
การฝึกลูกนอนเอง อาจทำให้ลูกน้อยร้องไห้งอแงได้ในช่วงแรก ๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะลูกน้อยกำลังปรับตัวเข้ากับวิธีการนอนแบบใหม่ ลองทำตามวิธีเหล่านี้เพื่อช่วยให้ลูกน้อยของคุณนอนหลับได้ง่ายขึ้น
1. สร้างกิจวัตรก่อนนอนให้ลูกรู้ตัวว่าใกล้ถึงเวลาเข้านอน
ก่อนนอนประมาณ 30 นาที ควรทำกิจกรรมที่สงบ เช่น อ่านนิทานให้ลูกฟัง หรือฟังเพลงกล่อมเด็ก พยายามให้ลูกเข้านอนในเวลาที่ใกล้เคียงกันทุกวัน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวเข้ากับวงจรการนอนหลับ ปรับแสงในห้องให้มืดและเงียบ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการนอนหลับ
2. อดทนให้ลูกร้องจนหลับไปเอง
การฝึกลูกนอนเองต้องใช้เวลาและความอดทน เมื่อลูกน้อยร้องไห้ ให้เข้าไปปลอบโยน เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยได้ แต่ไม่ต้องอุ้มลูกขึ้นมา จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการเข้าไปดูลูกน้อยให้ห่างขึ้น การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะนอนหลับตลอดคืนได้เร็วขึ้น
3. พูดคุยให้กำลังใจ หรือกำหนดรางวัลจูงใจ
การฝึกลูกนอนยาวด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยกับลูกน้อยเบา ๆ สั้น ๆ ด้วยการโต้ตอบกันให้น้อยที่สุด การตบหลังเบา ๆ หรือลูบหลังลูกน้อยเป็นสิ่งที่ทำได้เพื่อให้กำลังใจ แต่ควรหลีกเลี่ยงการอุ้มหรือป้อนนมลูกน้อย เพราะจะทำให้ลูกน้อยเข้าใจผิดว่าการร้องไห้จะได้รับการอุ้มหรือได้รับอาหาร
4. ใช้ตุ๊กตา หรือผ้าห่มที่ชอบ ให้อยู่กับลูก
ของเล่นบนเตียงหลาย ๆ ชิ้นอาจไม่ดีเท่ากับของเล่นชิ้นโปรดสักชิ้น ให้ลูกน้อยนอนกอดตุ๊กตาหรือผ้าห่มที่ชอบ เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยและปลอบประโลมให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจ
5. เลี่ยงการให้ลูกกินช็อกโกแลต หรือขนมที่มีคาเฟอีน
เด็กเล็กไม่ควรดื่มคาเฟอีน อาจทำให้ลูกนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท แม้ว่าจะดื่มก่อนเข้านอนหลายชั่วโมงก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน ระยะเวลาในการฝึกลูกนอนยาวของแต่ละคนจะแตกต่างกันด้วย ขอให้คุณพ่อคุณแม่อย่าท้อแท้ การฝึกลูกนอนเองอาจใช้เวลาและความอดทน แต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่าแน่นอน นอกจากนี้ การดูแลลูกน้อยให้นอนหลับได้เองอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยล้าไปบ้าง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขภาพของตัวเองด้วย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
- กลากน้ำนม เกิดจากอะไร โรคผิวหนังในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนม
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน อันตรายไหม พ่อแม่รับมืออย่างไรดี
- วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่
- โรคซางในเด็กเล็กมีจริงไหม เกิดจากอะไร ดูแลและป้องกันได้หรือเปล่า
- ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น
- วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน
- จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง
- วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
- นิทานเด็กทารกสำคัญกับลูกไหม คุณแม่ควรอ่านเรื่องอะไรให้ลูกน้อยฟังดี
อ้างอิง:
- Baby sleep training: When and how to start, Babycenter
- How to Sleep Train Your Baby, Parents
- How to Sleep Train Your Baby, The New York Times
- How to try the Ferber method of sleep training for your baby, Babycenter
- Sleep Training Guide: When and how to start, โรงพยาบาลสมิติเวช
- Sleep Tips for Kids of All Ages, WebMD
อ้างอิง ณ วันที่ 7 กันยายน 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง