แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดมีอะไรบ้าง รวมทุกคำตอบที่ควรรู้

แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดมีอะไรบ้าง รวมทุกคำตอบที่ควรรู้

25.03.2024

เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด คุณพ่อคุณแม่ป้ายแดงเริ่มรู้สึกตื่นเต้นรอเวลาที่จะเจอหน้าลูกน้อยกันแล้ว นอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มเตรียมเก็บกระเป๋า สิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงเอกสารจำเป็นต่าง ๆ ที่พร้อมต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นของคุณพ่อคุณแม่ หรือเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการแจ้งเกิดหรือสูติบัตรของเจ้าตัวน้อย ต้องใช้อะไรบ้าง ควรแจ้งเกิดภายในกี่วัน เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้

headphones

PLAYING: แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดมีอะไรบ้าง รวมทุกคำตอบที่ควรรู้

อ่าน 8 นาที

 

สรุป

  • คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมหลักฐานเอกสารแจ้งเกิดให้พร้อม และควรแจ้งเกิดลูกตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 15 วันนับแต่วันที่ลูกเกิด
  • สามารถไปติดต่อยื่นหลักฐานการแจ้งเกิดได้ที่สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นในพื้นที่นั่น ๆ ที่เด็กเกิด
  • กรณีแจ้งเกิดช้ากว่ากำหนด จะมีการเปรียบเทียบค่าปรับไม่เกิน 1,000 พันบาท

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

นอกจากการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการคลอดแล้ว เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจจะยังไม่รู้นอกจากการเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นใส่กระเป๋าไปโรงพยาบาลแล้ว ควรที่จะเตรียมเอกสารต่าง ๆ และศึกษาข้อมูลเพื่อใช้สำหรับการแจ้งเกิดเจ้าตัวน้อยกันด้วย

 

แจ้งเกิดภายในกี่วัน แจ้งเกิดช้าจะโดนปรับไหม ต้องทำอย่างไร?

การแจ้งเกิดในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้นคือภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกเกิด ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทตามสถานที่แรกเกิด ได้แก่ โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน เกิดภายในบ้าน และเกิดภายนอกบ้าน ซึ่งแต่ละสถานที่ที่ทารกเกิดนั้นจะมีระยะเวลาที่ใช้แจ้งเกิด และขั้นตอนการแจ้งเกิด แตกต่างกัน ดังนี้

ทารกที่เกิดในสถานพยาบาลในประเทศไทยทั้งของรัฐและเอกชน

เช่น โรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุข เป็นต้น สถานพยาบาลนั้น ๆ จะออกหนังสือรับรองการเกิด หรือ ท.ร.1/1 ให้ และให้พ่อแม่หรือเจ้าบ้านไปแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น โดยไม่ต้องผ่านกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน เพื่อออกสูติบัตรสำหรับผู้ไปแจ้งเกิด

 

โดยมีระยะเวลาแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเกิด

ในกรณีที่แจ้งเกิดช้าเกินกำหนด นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานเอกสารต่าง ๆ และพยานบุคคล ได้แก่ พ่อ แม่ ผู้ทำคลอด หรือผู้รู้เห็นการเกิด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี) หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วว่าเด็กเกิดในประเทศไทยจริง ก็จะออกสูติบัตรให้แก่ผู้แจ้งเกิด ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน

 

ทารกที่เกิดภายในอาคารหรือบ้านที่มีบ้านเลขที่ พ่อหรือแม่ หรือเจ้าบ้าน

สามารถไปแจ้งเกิดต่อกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือนายทะเบียนประจำหมู่บ้านที่เด็กเกิด เพื่อออกหลักฐานรับแจ้งการเกิด หรือ ท.ร.1/1 ตอนหน้าให้ จากนั้นจึงนำเอกสารพร้อมพยานที่รู้เห็นการเกิดของเด็ก ไปแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการออกสูติบัตรให้

 

โดยมีระยะเวลาแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเกิด

ในกรณีที่แจ้งเกิดช้าเกินกำหนด นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานเอกสารต่าง ๆ และพยานบุคคล ได้แก่ พ่อ แม่ ผู้ทำคลอด หรือผู้รู้เห็นการเกิด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี) หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วว่าเด็กเกิดในประเทศไทยจริง ก็จะออกสูติบัตรให้แก่ผู้แจ้งเกิด ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน

 

ทารกที่เกิดภายนอกบ้าน ไม่มีอาคารหรือเลขที่บ้าน

เช่น บนรถแท็กซี่ ป้ายรถเมล์ ศาลา เป็นต้น พ่อหรือแม่สามารถไปแจ้งเกิดต่อกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือนายทะเบียนประจำหมู่บ้านที่เด็กเกิดได้ จากนั้นออกหลักฐานรับแจ้งการเกิด หรือ ท.ร.1/1 ตอนหน้าให้แล้วจึงนำเอกสารพร้อมพยานที่รู้เห็นการเกิดของเด็ก ไปแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการออกสูติบัตรให้

 

โดยมีระยะเวลาแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเกิด ยกเว้นกรณีมีเหตุจำเป็นสามารถแจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันเกิด

ในกรณีที่แจ้งเกิดช้าเกินกำหนด นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานเอกสารต่าง ๆ และพยานบุคคล ได้แก่ พ่อ แม่ ผู้ทำคลอด หรือผู้รู้เห็นการเกิด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี) หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วว่าเด็กเกิดในประเทศไทยจริง ก็จะออกสูติบัตรให้แก่ผู้แจ้งเกิด ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน

 

หมายเหตุ:

  • การพิจารณาการได้สัญชาติของเด็ก กรณีที่แม่เป็นคนต่างด้าวและพ่อเป็นคนไทย ต้องดำเนินการสอบสวนพยานบุคคลเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าพ่อเป็นบุคคลสัญชาติไทย โดยใช้เวลา 1 วัน
  • กรณีการแจ้งมีความน่าสงสัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีข้อผิดจากความเป็นจริง นายทะเบียนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสอบสวนจากพยานบุคคล พยานแวดล้อม และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
  • กรณีที่มีความซับซ้อนหรือข้อสงสัยในแนวทางปฏิบัติ ข้อกฎหมาย หรือการตรวจสอบเอกสารสำคัญต้องดำเนินการหารือ โดยส่งผ่านสำนักทะเบียนจังหวัด เพื่อส่งมายังสำนักทะเบียนกลาง (ภายใน 30 วันนับจากวันที่รับเรื่อง) และใช้เวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
  • ในกรณีที่ไม่มีหนังสือรับรองการเกิดมายื่น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้แจ้งเกิดอาจใช้ผลตรวจทางวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจสารพันธุกรรมหรือ DNA มีการตรวจพิสูจน์จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูก

 

กรณีที่คุณพ่อคุณแม่มาแจ้งเกิดลูกเกินกำหนด

ช้ากว่า 15 วันตามกฎหมายดังกล่าว จะต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 1,000 พันบาท และต้องนำเอกสารมายื่นดังนี้

  1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
  2. บัตรประจำตัวประชาชนของคุณพ่อคุณแม่ หรือบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง (ถ้ามี)
  3. พยานบุคคลที่ให้การรับรอง และบัตรประจำตัวประชาชน
  4. รูปถ่ายของบุคคลที่มาขอแจ้งการเกิด 1 รูป (กรณีที่มีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์)
  5. หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)

 

โดยจะต้องนำเอกสารและหลักฐานมาติดต่อกับนายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิด หลังจากตรวจสอบหลักฐานและเปรียบเทียบค่าปรับแล้ว นายทะเบียนจะสอบถามคุณพ่อคุณแม่หรือผู้แจ้งถึงสาเหตุที่ไม่แจ้งเกิดลูกตามกำหนด หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อาจมาให้ถ้อยคำในการสอบสวน ไม่ว่ากรณีใด นายทะเบียนจะทำการบันทึกสาเหตุดังกล่าวไว้ จากนั้นจะพิจารณาอนุมัติออกสูติบัตร และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามลำดับ

 

การแจ้งเกิดต้องไปทำที่ไหน

หากลูกเกิดในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่วนใหญ่ จะทำการออกหนังสือรับรองการเกิดให้ จากนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถนำหลักฐานเอกสารต่าง ๆ ไปยื่นในพื้นที่สำนักงานเขตที่เด็กเกิด ในต่างจังหวัดสามารถยื่นได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เด็กเกิดเช่นกัน เพื่อดำเนินการออกสูติบัตรให้ต่อไป

 

เช็กลิสต์เอกสารแจ้งเกิด ควรเตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด

ก่อนถึงวันกำหนดคลอดนอกจากคุณพ่อคุณแม่กำลังเตรียมตัวที่จะได้เห็นลูกน้อยในอีกไม่กี่วันแล้ว อย่าลืมที่จะจัดกระเป๋าเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ในช่วงเวลาพักฟื้นตัวหลังคลอดที่โรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน และเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการแจ้งเกิดเจ้าตัวน้อยด้วย ต้องเตรียมอะไรไปบ้างมาเช็กกัน

 

เอกสารแจ้งเกิดสำหรับลูกน้อย

  • สำเนาบัตรประชาชน คุณพ่อและคุณแม่ จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้าน คุณพ่อและคุณแม่ จำนวน 1 ชุด
  • ในกรณีทะเบียนบ้านเล่มจริงหากคุณพ่อหรือคุณแม่ไม่ได้เป็นเจ้าบ้าน จะต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าบ้าน จำนวน 1 ชุด เซ็นชื่อพร้อมระบุว่า “ข้าพเจ้ายินยอมให้ ด.ช./ด.ญ ย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านเลขที่ ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็น”
  • สำเนาใบทะเบียนสมรส (ถ้ามี) จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อของคุณพ่อหรือคุณแม่ (ถ้ามี) จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาพาสปอร์ต ในกรณีที่คุณพ่อหรือคุณแม่เป็นชาวต่างชาติ

 

 

การแจ้งเกิดลูกน้อยแรกเกิด ควรเตรียมเอกสารอะไรบ้าง

 

ของใช้จำเป็นสำหรับคุณแม่

  • เอกสารสำคัญสำหรับใช้เป็นหลักฐานเพื่อให้โรงพยาบาลดำเนินการแจ้งเกิดลูก รวมถึงสมุดฝากครรภ์ ใบนัดแพทย์ หรือเอกสารอื่น ๆ ที่คุณหมอแจ้งให้เตรียมมาในวันคลอด
  • ของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ชุดเสื้อผ้า เสื้อชั้นในสำหรับใส่วันกลับบ้าน อุปกรณ์ทำความสะอาดผิวพรรณบำรุงผิว
  • ผ้าคลุมสำหรับให้นมลูก ผ้าห่มสำหรับใช้ห่อตัวทารกให้อุ่นขณะออกจากโรงพยาบาล หรือหมวก ถุงมือ และถุงเท้า เป็นต้น

 

ของใช้จำเป็นสำหรับคุณพ่อหรือคนเฝ้าไข้

  • เอกสารสำคัญ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เพื่อใช้ในการแจ้งเกิดลูก
  • ของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เสื้อผ้า สำหรับการนอนค้างเฝ้าคุณแม่ที่โรงพยาบาล ประมาณ 2-3 ชุด

 

ขั้นตอนการแจ้งเกิด ฉบับเข้าใจง่าย

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เตรียมเอกสารเพื่อเตรียมแจ้งเกิดสำหรับลูกน้อยแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้อีกหนึ่งเรื่องคือ การตั้งชื่อลูกน้อยสำหรับการแจ้งชื่อคนเกิดให้ถูกต้องตามหลักการตั้งชื่อ พร้อมกับขั้นตอนการแจ้งเกิด ดังนี้

1. กรณีแจ้งเกิดในโรงพยาบาล

สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทำหน้าที่ออกหนังสือรับรองแจ้งเกิด (ท.ร.1/1)

 

2. การแจ้งการเกิด กรณีเกิดในบ้าน และเกิดนอกบ้าน

คุณพ่อคุณแม่หรือเจ้าบ้าน สามารถไปแจ้งเกิดต่อกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน เพื่อรับใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร.1/1 ตอนหน้า)

 

เอกสารแจ้งเกิดที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้

  • สำเนาบัตรประจำประชาชนของพ่อและแม่ 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาทะเบียนประวัติของพ่อและแม่ 1 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่เป็นฉบับจริง 1 ฉบับ
  • หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 1/1) ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่เด็กเกิดเป็นผู้ออกให้ ฉบับจริง 1 ฉบับ
  • ใบรับแจ้งการเกิด ( ท.ร. 1 ตอนหน้า) ที่แจ้งเกิดกับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ฉบับจริง 1 ฉบับ
  • หนังสือมอบฉันทะ ในกรณีที่มอบให้บุคคลอื่นเป็นผู้แจ้งเกิดเด็กแทนคุณพ่อคุณแม่ ฉบับจริง 1 ฉบับ รวมทั้งสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและบัตรประชาชนตัวจริงและสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจด้วย

 

หมายเหตุ:

  • กรณีพ่อหรือแม่เป็นชาวต่างชาติต้องแสดงพาสปอร์ตหรือเอกสารที่ทางราชการออกให้

 

ขั้นตอนการติดต่อ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้รับเอกสารรับรองการแจ้งเกิดของลูกแล้ว สามารถนำเอกสารและหลักฐานไปยื่นแจ้งเกิดภายใน 15 วัน (ยกเว้นกรณีเด็กที่เกิดนอกบ้าน ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งตามกำหนดได้ สามารถแจ้งภายหลังได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เกิด ได้ที่

  • กรุงเทพฯ และปริมาณฑล: สำนักงานเขตพื้นที่ที่เด็กเกิด
  • ต่างจังหวัด: สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น

 

จากนั้นนายทะเบียนจะทำการตรวจสอบหลักฐานกับทะเบียนบ้าน เพื่อลงรายการในสูติบัตรแล้วเพิ่มชื่อเด็กลงในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน แล้วมอบสูติบัตรตอนที่ 1 และสำเนาทะเบียนบ้านคืนให้กับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้แจ้ง

 

การแจ้งเกิดทำทางออนไลน์ได้ไหม ต้องแจ้งเกิดภายในกี่วัน?

การแจ้งเกิดลูกยังไม่สามารถทำการแจ้งเกิดทางออนไลน์ได้ หลังทารกเกิดคุณพ่อคุณแม่สามารถนำเอกสารและหลักฐานไปยื่นแจ้งเกิดภายใน 15 วันได้ที่สำนักงานเขต สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นพื้นที่ที่เด็กเกิด

ใครเป็นผู้ไปทำเรื่องแจ้งเกิดได้บ้าง

ผู้ที่สามารถแจ้งเกิดเด็ก ได้แก่ คุณพ่อ คุณแม่ หรือเจ้าบ้านที่เด็กเกิด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากพ่อแม่ หรือเจ้าบ้าน ที่มีใบมอบฉันทะมาทำการแจ้งเกิดเด็ก โดยมีระยะเวลา 15 วัน นับจากวันที่เด็กเกิด

 

จะเห็นได้ว่าการเตรียมเอกสารที่จำเป็นต่าง ๆ ก่อนคลอดก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรจัดเตรียมไว้ก่อนไปโรงพยาบาลล่วงหน้าเพื่อจะไม่ได้ฉุกละหุก รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นด้วย หากคุณแม่มีข้อสงสัยอื่น ๆ ว่าต้องใช้อะไรเพิ่มเติมอีกบ้างก็สามารถสอบถามไปยังโรงพยาบาลที่คุณแม่เข้ารับการคลอดได้

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. คู่มือจดทะเบียนการเกิดและกระบวนการพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทย, unicef
  2. การรับแจ้งการเกิด กรณีเกิดในบ้าน และเกิดนอกบ้าน, กรมการปกครอง
  3. การเกิด, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
  4. เช็คลิสต์ สำหรับคุณแม่ใกล้คลอดต้องจัดเตรียมอะไรบ้าง, โรงพยาบาลนครธน
  5. การแจ้งเกิด, โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
  6. เช็คลิสต์ของเตรียมคลอด สิ่งที่ต้องเตรียมไปโรงพยาบาลเมื่อคลอดลูก, pobpad

อ้างอิง ณ วันที่ 17 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

Overfeeding คืออะไร ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป อันตรายแค่ไหน

Overfeeding คืออะไร ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป อันตรายแค่ไหน

Overfeeding คืออะไร คุณแม่ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป จะเป็นอันตรายกับลูกน้อยไหม ลูกน้อยจะมีอาการอย่างไร เมื่อให้นมลูกเยอะเกิน พร้อมวิธีให้นมลูกน้อยที่ถูกต้อง

ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง

ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง

ไขบนหัวทารก เกิดจากสาเหตุอะไร ไขที่หัวทารกอันตรายไหมกับลูกน้อยไหม ไขที่หัวทารกกี่วันถึงหายไป ต้องพาลูกน้อยไปพบแพทย์ไหม พร้อมวิธีดูแลและทำความสะอาดไขบนหัวลูก

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ลูกกัดหัวนมทำยังไงดี พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ลูกกัดหัวนมทำยังไงดี พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ทำยังไงดี ลูกกัดเต้าจนหัวนมแม่เป็นแผล คุณแม่ให้นมลูกต่อได้ไหม ทำไมลูกถึงชอบกัดหัวนมแม่ พร้อมวิธีรับมือเมื่อลูกกัดเต้าเป็นแผล

วิธีไล่ลมในท้องทารก เมื่อลูกน้อยมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง

วิธีไล่ลมในท้องทารก เมื่อลูกน้อยมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง

วิธีไล่ลมในท้องทารก คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง เมื่อลูกน้อยรู้สึกท้องอืด ไม่สบายท้อง การไล่ลมในท้องทารกต้องทำยังไง ไปดูวิธีไล่ลมในท้องทารก ช่วยให้ลูกสบายท้องกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก