ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง
คุณแม่เคยสงสัยไหม ว่าทำไมลูกน้อยวัยแบเบาะถึงมีไขเหลือง ๆ บนหัว มาทำความรู้จักกับ "ไขบนหัวทารก" ภาวะที่คุณแม่หลายคนต้องเจอ! แม้ไขที่หัวทารกจะดูน่ากลัว แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวล บทความนี้จะพาคุณแม่ไปรู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดไขบนหัวลูกน้อย ลักษณะอาการแบบไหนที่น่ากังวล วิธีดูแลที่ถูกต้องและเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยให้ลูกน้อยหายเร็วขึ้น
สรุป
- ไขบนหัวทารก คือ ผื่นแดงหรือสะเก็ดสีเหลืองที่เกิดขึ้นบนหนังศีรษะ และอาจลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทำให้ผิวหนังดูมันและเป็นขุย
- ไขบนหัวทารกจะหายไปเอง ภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน แต่ในบางรายอาจใช้เวลานานถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และการดูแลที่ถูกวิธี
- ควรดูแลทำความสะอาดไขบนหัวทารก โดยใช้แชมพูสำหรับเด็กอ่อน ช่วยลดความมันและขจัดสะเก็ด อย่าพยายามแกะสะเก็ดออกเอง อาจทำให้ผิวหนังอักเสบมากขึ้นและติดเชื้อได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ไขบนหัวทารก คืออะไร
- ไขบนหัวทารกเกิดจากอะไรได้บ้าง
- ไขบนหัวทารก ลักษณะเป็นยังไง
- ไขที่หัวทารกหายเองได้ในกี่วัน
- ลูกมีไขบนหัว จำเป็นต้องพาไปพบแพทย์ไหม
- วิธีทำความสะอาดไขบนหัวทารก
ไขบนหัวทารก คืออะไร
ไขบนหัวทารก หรือ Seborrheic Dermatitis เป็นภาวะผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ที่พบบ่อยในทารกแรกเกิด มักเกิดจากการที่ต่อมไขมันทำงานมากเกินไป ทำให้เกิดผื่นแดงและสะเก็ดเหลืองบริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก และบริเวณอื่น ๆ
ไขบนหัวทารกเกิดจากอะไรได้บ้าง
ถึงแม้ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่า ไขบนหัวทารกเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดไขที่หัวทารก ได้แก่
- สภาพอากาศ สภาพอากาศที่แห้งหรือชื้นเกินไป อาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ไขบนหัวทารกแย่ลง
- เชื้อรา เชื้อราชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Malassezia อาจมีส่วนทำให้เกิดการเร่งผลัดเซลลส์ผิวเร็วกว่าปกติ จึงเกิดเป็นขุยขาวสะสมอยู่บนหนังศีรษะและเส้นผมเป็นจำนวนมาก
- ต่อมไขมันอักเสบ ต่อมไขมันของทารกยังทำงานไม่สมดุล อาจผลิตน้ำมันออกมาเยอะเกินไป ทำให้เซลล์ผิวหนังเกาะกันเป็นขุย
- ฮอร์โมนจากคุณแม่ ฮอร์โมนบางชนิดที่ได้รับมาจากคุณแม่ก่อนคลอด อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันของลูกน้อยผลิตน้ำมันมากเกินไป ทำให้เกิดไขบนหัว
สิ่งที่สำคัญคือ ไขบนหัวทารกไม่ได้เกิดจากความสกปรก หรือการที่คุณแม่ดูแลลูกไม่ดี แต่เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทารกหลายคน
ไขบนหัวทารก ลักษณะเป็นยังไง
ไขบนหัวทารกมักจะมีลักษณะที่สังเกตได้ง่าย ดังนี้
- สะเก็ดสีเหลือง บริเวณหนังศีรษะ คิ้ว หรือแม้แต่ใบหน้า จะมีสะเก็ดสีเหลืองติดอยู่ อาจเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ หรือใหญ่ก็ได้
- ผิวหนังมันและเป็นขุย หนังศีรษะจะดูมันเยิ้มและมีขุยเล็ก ๆ หลุดออกมาได้ง่าย
- รอยแดง อาจพบรอยแดงบริเวณรอบ ๆ สะเก็ด หรือบริเวณที่ผิวหนังอักเสบ
- ผื่น นอกจากหนังศีรษะแล้ว อาจพบผื่นแดงที่หน้าทารก หรือสะเก็ดคล้ายกันที่ใบหน้า หลังหู บริเวณผ้าอ้อม หรือรอยพับของผิวหนัง
- ไม่คัน แม้ว่าไขที่หัวทารกดูเหมือนจะทำให้ทารกรู้สึกคัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วทารกจะไม่คัน
ไขที่หัวทารกหายเองได้ในกี่วัน
ไขบนหัวทารก หรือที่เรียกว่า Cradle cap นั้นเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในทารก โดยพบว่าทารกอายุ 3 เดือน ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จะมีไขที่หัวทารก โดยทั่วไปแล้ว ไขบนหัวทารกจะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน แต่ในบางรายอาจใช้เวลานานถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และการดูแลที่ถูกวิธี
ลูกมีไขบนหัว จำเป็นต้องพาไปพบแพทย์ไหม
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เมื่อสังเกตเห็นอาการต่อไปนี้
- ผื่นลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ใบหน้า ผื่นที่ลำตัวทารก โดยเฉพาะถ้ามีอาการรุนแรง
- ผื่นมีกลิ่นเหม็น อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ลูกน้อยร้องไห้มากขึ้น ดูไม่สบาย หรือเจ็บปวด
- มีของเหลว น้ำเหลือง หรือเลือดไหลซึมออกมาจากสะเก็ด อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นบวม หรือมีตุ่มหนอง อาจเป็นอาการของการติดเชื้อแบคทีเรีย
วิธีทำความสะอาดไขบนหัวทารก
ไขบนหัวทารกอาจดูน่ากังวล แต่สามารถดูแลได้ง่าย ๆ ที่บ้าน โดยลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้
1. สระผมให้ลูกน้อยเป็นประจำ
ใช้แชมพูสำหรับเด็กอ่อนโดยเฉพาะ จะช่วยลดการระคายเคืองผิวหนัง สระผมเบา ๆ ในช่วงที่มีไขบนหัว อาจต้องสระผมให้ลูกน้อยบ่อยขึ้นเล็กน้อย เช่น วันละครั้ง หรือวันเว้นวัน
2. ใช้แปรงขนนุ่ม
หลังจากสระผมแล้ว ให้ใช้แปรงขนนุ่มสำหรับเด็ก แปรงผมเบา ๆ เพื่อช่วยให้สะเก็ดหลุดออก ระวังอย่าแปรงแรง เพราะการแปรงแรง ๆ อาจทำให้หนังศีรษะระคายเคือง
3. นวดหนังศีรษะเบา ๆ ด้วยน้ำมันมะพร้าว
ก่อนสระผม ทาน้ำมันมะพร้าวเล็กน้อยลงบนสะเก็ด ทิ้งไว้ข้ามคืน น้ำมันมะพร้าวจะช่วยให้สะเก็ดนิ่มและหลุดออกง่ายขึ้น หลังจากนั้นจึงสระผมตามปกติ
4. หลีกเลี่ยงการแกะสะเก็ด
การแกะสะเก็ด อาจทำให้หนังศีรษะอักเสบ และอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ คุณแม่ต้องใจเย็น ๆ ใช้เวลาในการดูแลอย่างสม่ำเสมอ สะเก็ดจะค่อย ๆ หลุดออกไปเอง
ไขบนหัวทารก เป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด สามารถหายไปเองได้ ด้วยการดูแลรักษาที่ถูกวิธีและสม่ำเสมอ จะช่วยให้ไขบนหัวทารกหายเร็วขึ้น และทำให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัวมากขึ้น แต่ในกรณีที่ลูกมีอาการรุนแรง จนทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ ไม่สบายใจ ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เพื่อปรึกษาแพทย์และขอคำแนะนำเพิ่มเติม
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
- กลากน้ำนม เกิดจากอะไร โรคผิวหนังในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนม
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน อันตรายไหม พ่อแม่รับมืออย่างไรดี
- วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่
- โรคซางในเด็กเล็กมีจริงไหม เกิดจากอะไร ดูแลและป้องกันได้หรือเปล่า
- ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น
- วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน
- จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง
- วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
- นิทานเด็กทารกสำคัญกับลูกไหม คุณแม่ควรอ่านเรื่องอะไรให้ลูกน้อยฟังดี
อ้างอิง:
- What is Cradle Cap?, Healthychildren
- Cradle Cap, WedMD
อ้างอิง ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง