
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน มีอะไรบ้าง ลูกน้อยมีพัฒนาการอย่างไร
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน เป็นวัยที่เติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในหลากหลายด้าน การสังเกต การส่งเสริมพัฒนาการและการเล่นของเล่นที่ถูกต้องตามวัย จะช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสม เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้ถึงแนวทางการส่งเสริมพัฒนาการเด็กว่าแต่ละวัยนั้นต้องดูแลอย่างไรบ้าง
สรุป
- เด็กวัย 1 ขวบ 3 เดือน เป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่วัยเตาะแตะ มีพัฒนาการที่รวดเร็ว เริ่มแสดงความรักต่อคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น และมีความกังวลเมื่อต้องแยกจากกัน ลูกชอบเลียนแบบกิจกรรมของคุณพ่อคุณแม่ ชอบเล่นกับของที่เหมือนจริง เช่น โทรศัพท์ของเล่น นอกจากนั้นแล้ว ลูกแสดงท่าทีอยากช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ เช่น ช่วยถือของเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งการให้ลูกได้ช่วยเหลืองานบ้าน เป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองให้ลูกได้
- หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์ อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพาลูกไปพบแพย์เพื่อรับการประเมินพัฒนาการและการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน เพื่อที่จะได้รักษาและรับการกระตุ้นพัฒนาการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
- คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยส่งเสริม กระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น ฝึกให้ลูกหยิบ ตักอาหาร และ ดื่มนมจากถ้วยด้วยตัวเอง ให้ดูภาพและเล่าเรื่องแบบสั้น ๆ ให้ลูกฟัง พูดคุย ชี้บอกส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย บอกชื่อสิ่งของ สอนลูกให้รู้จักสิ่งของต่าง ๆ รอบตัว หรือใช้คำสั่งง่าย ๆ ให้ลูกลองทำตาม เป็นต้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน ด้านร่างกาย
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน ด้านสติปัญญา
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน ด้านภาษาและการสื่อสาร
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน ด้านอารมณ์และสังคม
- เด็ก 1 ปี 3 เดือน พัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์
- วิธีเสริมพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน มีอะไรบ้าง
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
เด็ก 1 ขวบ 3 เดือน เริ่มแสดงพฤติกรรมและความคิดที่ต่างจากวัยทารก เป็นช่วงวัยที่กำลังเข้าสู่วัยเตาะแตะ มีพัฒนาการที่รวดเร็ว แพทย์มองว่าวัยนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิต เนื่องจากส่วนใหญ่จะเริ่มเดินได้ด้วยตัวเอง และอาจพูดคำแรกที่เป็นคำง่าย ๆ เช่น “แม่” หรือ “พ่อ” อีกทั้งเด็กวัยนี้จะเริ่มแสดงความรักต่อคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น และมีความกังวลเมื่อต้องแยกจากกัน ลูกแสดงท่าทีอยากช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ เช่น ช่วยถือของเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยทิ้งขยะ ซึ่งการให้ลูกได้ช่วยเหลืองานบ้าน เป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองให้ลูกได้
นอกจากนั้น ลูกยังชอบเลียนแบบกิจกรรมของคุณพ่อคุณแม่ ชอบเล่นกับของที่เหมือนจริง เช่น โทรศัพท์ของเล่น คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมจินตนาการของลูกด้วยการเล่นบทบาทสมมติไปพร้อมกันกับเขา เด็กวัยนี้ต้องการความสนใจและกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นอย่าลืมแสดงความชื่นชม เมื่อลูกทำในสิ่งที่ดี
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน ด้านร่างกาย
พัฒนาการทางร่างกายที่สำคัญของเด็กวัย 1 ขวบ 3 เดือน คือการเคลื่อนไหวที่อิสระมากขึ้น เมื่อเด็กเริ่มเดินได้ด้วยตัวเอง เขาก็อยากขยับตัวเคลื่อนไหวมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สามารถเดินลากของเล่นหรือสิ่งของได้ อยากลองเคลื่อนไหวด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น วิ่งเหยาะ ๆ ปีนป่าย กระโดด สามารถขีดเขียนบนเส้นกระดาษ ใช้นิ้วสองนิ้วหยิบอาหารเข้าปากได้ และใช้ช้อนตักอาหาร แม้จะยังมีหกเลอะบ้าง เรียงของซ้อนกัน เริ่มเคลื่อนย้ายสิ่งของตามใจตัวเอง พยายามถือของในขณะที่เดินไปมา เพื่อเป็นการทดสอบทักษะทางร่างกาย

พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน ด้านสติปัญญา
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน ด้านสติปัญญา ลูกจะรู้จักจดจำสิ่งของรอบตัวได้ หากคุณพ่อคุณแม่ให้หยิบสิ่งของ ก็จะหยิบจับได้ถูกต้อง นอกจากนั้นแล้วยังจดจำ บอกอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้า เมื่อลูกถูกถามถึงบุคคลหรือสิ่งของที่เขารู้จักหรือจดจำได้ เขาก็จะสามารถชี้บอกได้อย่างถูกต้อง สามารถเล่นโดยใช้สิ่งของตามบทบาทได้ซับซ้อนขึ้น เช่น เล่นเป็นคนป้อนอาหารให้ตุ๊กตา
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน ด้านภาษาและการสื่อสาร
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน ส่วนใหญ่จะสามารถพูดคำพื้นฐานบางคำได้ เช่น แม่ พ่อ และคำอื่น ๆ ที่ใช้เรียกสิ่งของที่เขาใช้หรือเห็นตลอดเวลา อย่างเช่น หมา ลูกบอล ไม่ นอกจากทักษะด้านภาษาที่พัฒนาขึ้นแล้ว ลูกยังเรียนรู้วิธีการสื่อสารอื่น ๆ โดยจะสามารถเข้าใจคำสั่งง่าย ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ได้ดีขึ้น แม้ว่าลูกจะพูดคำเหล่านั้นไม่ได้ก็ตาม เช่น ลูกมองดูสิ่งของเมื่อคุณแม่เรียกชื่อ และสามารถชี้สิ่งของต่าง ๆ เพื่อสื่อถึงความต้องการของตนเองได้ อาทิ ชี้ไปที่ของเล่น เมื่ออยากเล่น การพัฒนาด้านภาษาอย่างรวดเร็วในวัยนี้ จะทำให้สื่อสารกับลูกได้ง่ายขึ้น และคุณแม่ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ลูกสนใจอีกด้วย
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน ด้านอารมณ์และสังคม
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน เมื่อเข้าสู่วัยเตาะแตะ ลูกจะเริ่มพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมในหลาย ๆ ด้าน โดยเขาอาจแสดงความรักผ่านการกอดหรือหอมคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงอาจมีการแสดงอารมณ์ด้วยวิธีอื่นเช่น การปรบมือเมื่อรู้สึกตื่นเต้น หรือแสดงสีหน้าเพื่อสื่อถึงความรู้สึกต่าง ๆ ในวัยนี้ลูกยังไม่มีทักษะในการบอกความรู้สึกด้วยคำพูด จึงมักจะแสดงอารมณ์หงุดหงิดหรืออาการงอแง เพื่อบอกถึงความไม่พอใจและไม่สบายใจ อีกทั้งลูกอาจมีความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ และเริ่มติดผู้เลี้ยงดูมากขึ้น อาการนี้บ่งบอกถึงความใกล้ชิดผูกพันที่มั่นคงและปลอดภัยที่ลูกมีต่อคุณพ่อคุณแม่ ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้คนที่คุ้นเคย โดยพัฒนาการสำคัญที่จะสังเกตเห็นได้ คือ ลูกอาจเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมของคนรอบข้าง เช่น การเลียนแบบเด็กคนอื่นขณะเล่น หรือการเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ในบ้าน ยกตัวอย่างเช่น ลูกแกล้งทำอาหารด้วยหม้อและกระทะ แทนที่จะนำหม้อและกระทะมาทุบหรือเคาะเล่น

เด็ก 1 ปี 3 เดือน พัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์ ควรทำอย่างไร
เด็กพัฒนาการล่าช้า หมายถึงเด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งอาจมีปัญหาในด้านใดด้านหนึ่ง สาเหตุที่ทำให้พัฒนาการช้าอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การได้รับโภชนาการและการดูแลที่ไม่เหมาะสม หรือปัญหาสุขภาพหลังคลอด เป็นต้น หากสังเกตว่าลูกมีพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อประเมินพัฒนาการและตรวจคัดกรอง เพื่อให้ได้รับการรักษาและดูแลอย่างเหมาะสม
วิธีเสริมพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน มีอะไรบ้าง
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความใส่ใจ สังเกต และส่งเสริมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะช่วงวัยนี้ สมองของลูกจะรับรู้และพัฒนาเต็มที่ ซึ่งวิธีเสริมพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 3 เดือน ได้แก่
- ฝึกให้ลูกตักอาหาร และ ดื่มนมจากถ้วยด้วยตัวเอง
- ให้ดูภาพและเล่าเรื่องแบบสั้น ๆ ให้ลูกฟัง
- ชี้ชวนให้ลูกสังเกตสิ่งของ คนรอบข้าง ให้ลูกหาของที่ซ่อนไว้
- ให้ลูกจับดินสอสีแท่งใหญ่ แล้วคุณแม่แสดงวิธีขีดเขียนบนกระดาษให้ลูกดู
- พูดคุย ชี้บอกส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย บอกชื่อสิ่งของ สอนลูกให้รู้จักสิ่งของต่าง ๆ รอบตัว
- ใช้คำสั่งง่าย ๆ ให้ลูกลองทำตาม
- ให้ลูกเล่นของเล่นที่ต้องเรียนรู้ เช่น หยิบห่วงใส่แท่งไม้ หรือให้ลูกเล่นของเล่นที่ต้องลากดึง
- หยิบของเล่น หรือสิ่งของที่ลูกรู้จักชื่อ เช่น นม ลูกบอล ถามว่าของสิ่งนี้คืออะไร แล้วรอให้ลูกตอบ สอนให้ลูกชี้ หรือหยิบสิ่งของให้ ตัวอย่างเช่น มีของ 2 ชิ้น คือช้อนและแก้วน้ำ ให้ถามลูกว่า อันไหนช้อน แล้วให้ลูกชี้ หรือหยิบช้อนมาให้
- คุณแม่เล่นสมมติกับลูก เช่น หวีผมให้ตุ๊กตา แปรงฟันให้ตุ๊กตา ป้อนอาหารให้ตุ๊กตา แล้วให้ลูกทำตาม ถ้ายังทำไม่ได้ ให้จับมือลูกทำตาม จนลูกทำได้ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจว่า พัฒนาการของเด็กแต่ละคนอาจเร็วหรือช้าต่างกันไป ไม่จำเป็นต้องกังวลหากลูกยังมีพัฒนาการไม่เป็นไปตามเกณฑ์ คุณพ่อคุณแม่ควรมองภาพรวมของพัฒนาการของลูกเป็นหลัก หากกังวลว่าลูกอาจมีพัฒนาการล่าช้า ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
นอกจากให้ความสำคัญในเรื่องพัฒนาการของลูกแล้ว การดูแลเรื่องโภชนาการก็สำคัญไม่แพ้กัน ในการส่งเสริมพัฒนาการสมองและพัฒนาการทางร่างกายของลูก สำหรับเด็กวัย 1 ขวบ นอกเหนือจากสารอาหารที่มีคุณค่าในแต่ละมื้อแล้ว คุณแม่ควรคำนึงถึงสารอาหารสำคัญที่ควรมีในนมกล่องเด็ก เช่น โอเมก้า 3, 6, 9, ดีเอชเอ , วิตามินบี 12 และสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างไมอีลินในสมอง ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและสติปัญญาของลูกน้อย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- โปรแกรม Baby Development เช็คพัฒนาการลูกน้อยแต่ละช่วงวัย
- พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 5 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
อ้างอิง:
- 15 month old baby milestones: Development, growth, speech, language, and more, huckleberrycare
- Toddler Month by Month, thebump
- 15 Month Old: Milestones and development, babycenter
- 3 ปีแรกจังหวะทองของพัฒนาการ, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ตารางพัฒนาการเด็กปฐมวัย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
- คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 5ปี สำหรับผู้ปกครอง, สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่
- Development milestones – your child 12 to 18 months, pregnancybirthbaby
- พัฒนาการเด็ก แต่ละช่วงวัย (เด็กแรกเกิด - 6 ปี), โรงพยาบาลสมิติเวช
- 5 สัญญาณบ่งบอก ลูกน้อยพัฒนาการล่าช้า, โรงพยาบาลสินแพทย์
- ลูกมีพัฒนาการช้าหรือไม่? พ่อแม่สังเกตได้จากสัญญาณเหล่านี้, โรงพยาบาลพญาไท
- พัฒนาการเด็ก อายุ 15 เดือน, โรงพยาบาลสินแพทย์
อ้างอิง ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง