ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น คุณแม่รับมืออย่างไรดี

ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น คุณแม่รับมืออย่างไรดี

12.09.2024

เด็กเล็กมักมีอาการป่วยอยู่บ่อย ๆ เพราะภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ทำให้คุณแม่หลายคนเกิดอาการกระวนกระวายใจทุกครั้งที่ลูกมีไข้จนคุณแม่แทบจะป่วยตาม ปกติลูกเป็นไข้ตัวร้อนเพียงอย่างเดียว แต่ครั้งนี้ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็นด้วย เกิดจากอะไร เป็นอาการป่วยที่ผิดปกติไหม และมีวิธีการดูแลลูกน้อยอย่างไร เรามาดูคำแนะนำกันเลย

headphones

PLAYING: ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น คุณแม่รับมืออย่างไรดี

อ่าน 5 นาที

 

สรุป

  • ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย คือ ภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การดูแลรักษาความสะอาดที่ไม่ดีพอ ทำให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการเป็นไข้
  • อาการลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น เป็นอาการที่พบได้ปกติของเด็ก เกิดจากกลไกของร่างกายที่ตอบสนองต่อเชื้อโรค ลูกน้อยจึงมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ และอาจมีอาการมือเท้าเย็นร่วมด้วย
  • เมื่อลูกน้อยมีอาการเป็นไข้ตัวร้อนควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด คุณแม่ควรให้ลูกกินยาลดไข้ตามคำแนะนำของแพทย์ควบคู่กับการเช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อให้อาการตัวร้อนเป็นไข้บรรเทาลง

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ลูกเป็นไข้ตัวร้อน เกิดจากสาเหตุอะไร

สาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยเป็นไข้ไม่สบายเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่

1. ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังอ่อนแอไม่แข็งแรงเหมือนของผู้ใหญ่ ทำให้ลูกน้อยเสี่ยงจากการติดเชื้อที่มีเชื้อโรคแพร่กระจายอยู่ในอากาศเต็มไปหมด

 

2. การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

สภาพอากาศที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงบ่อย เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น คุณแม่จึงต้องดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด

 

3. การดูแลรักษาความสะอาดที่ไม่ดีพอ

เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยไม่สบายมักกระจายอยู่รอบตัวของลูกน้อย คุณแม่จึงต้องหมั่นดูแลสุขอนามัยของลูกน้อยให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคจนทำให้เสี่ยง ต่อการติดเชื้อจนเป็นไข้ตัวร้อนได้

 

ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น ผิดปกติไหม

อาการลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น เป็นอาการที่พบได้ปกติในเด็ก เกิดจากกลไกของสารเคมีในเม็ดเลือดขาวในร่างกายที่ตอบสนองต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่รุกล้ำเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายผลิตความร้อนออกมาเพื่อกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกาย ลูกน้อยจึงมีอาการตัวร้อนเป็นไข้ เด็กบางคนอาจมีอาการมือเท้าเย็นและซีดร่วมด้วย

 

ลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น เป็นนานแค่ไหนอันตราย

เมื่อลูกเป็นไข้ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็นคุณแม่อย่านิ่งนอนใจ ควรวัดอุณหภูมิของลูกน้อยเพื่อดูว่าลูกมีไข้สูงหรือไม่ และควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หมั่นวัดอุณหภูมิบ่อย ๆ ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยมีคำแนะนำดังนี้

  • ลูกน้อยมีอุณหภูมิอยู่ที่ 37.5 - 38.4 องศาเซลเซียส แสดงว่า ลูกมีอาการไข้ต่ำ คุณแม่ควรเช็ดตัวให้ลูกน้อยบ่อย ๆ เน้นช่วงข้อพับของร่างกาย ครั้งละประมาณ 15-20 นาที หรือจนกว่าไข้จะลด หากไข้ไม่ลดลงควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์
  • ลูกน้อยมีไข้สูงอยู่ที่ 38.5 - 39.4 องศาเซลเซียส แสดงว่า ลูกมีอาการไข้สูง ถ้าลูกน้อยมียาลดไข้อยู่แล้วคุณแม่ควรให้ลูกกินยาลดไข้ตามคำแนะนำของแพทย์ควบคู่กับการเช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อให้ไข้ลดลง หากลูกน้อยกินยาแล้วแต่ไข้ไม่ลดลงภายใน 48 ชั่วโมง ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที ในกรณีที่ลูกน้อยมีไข้สูงและมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียน กินข้าวไม่ได้ เหงื่อออกเยอะ และมีอาการซึม และไข้ยังไม่ลดลงหลังจากกินยาลดไข้และเช็ดตัวภายใน 24 ชม. ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที
  • ลูกน้อยมีไข้สูงมากกว่า 41.5 องศาเซลเซียส แสดงว่า ลูกมีไข้สูงมากเข้าขั้นวิกฤต คุณแม่ต้องพาลูกไปพบแพทย์ ทันที เพราะถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้ลูกชัก และถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ลูกตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น ต้องเช็ดตัวบ่อยแค่ไหน

ถ้าคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการตัวร้อนแต่มือเท้าเย็นควรเช็ดตัวให้ลูกน้อยบ่อย ๆ ทุก 4-6 ชั่วโมง ควบคู่กับการกินยาลดไข้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร และควรวัดอุณหภูมิของลูกน้อยหลังจากเช็ดตัวแล้ว 30 นาที หรือหลังจากให้ลูกน้อยกินยาลดไข้ 1 ชั่วโมง หากไข้ยังขึ้น ๆ ลง ๆ ภายใน 48 ชั่วโมง ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์

 

ลูกตัวร้อนมือเท้าเย็น กินยาลดไข้ได้ไหม

เมื่อลูกน้อยมีอาการเป็นไข้ตัวร้อน ไม่แนะนำให้คุณแม่เลือกยาให้ลูกกินเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อย ดังนั้น เมื่อลูกมีไข้คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปหาหมอจะดีที่สุด โดยคุณแม่สามารถขอคำแนะนำในการใช้ยาลดไข้ที่เหมาะสมกับขนาดตัวของลูกน้อย เพื่อความปลอดภัยของเด็ก

 

ลูกตัวร้อนมือเท้าเย็น กินยาลดไข้ได้ไหม

 

ลูกตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น ใช้แผ่นเจลลดไข้ได้ไหม

คุณแม่สามารถให้ลูกใช้แผ่นเจลลดไข้ได้หากลูกน้อยมีอายุ 2 ปีขึ้นไป เพราะความเย็นที่ออกมาจากตัวเจลจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกสบายมากขึ้นและยังช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ดี โดยแผ่นเจลที่ใช้แล้วคุณแม่ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ และไม่ควรนำแผ่นเจลลดไข้ไปแช่แข็งเพราะอาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังที่บอบบางของลูกน้อยได้ หากคุณแม่ต้องการใช้เจลลดไข้ให้ลูกน้อยสามารถขอคำแนะนำการใช้งานและวิธีใช้แผ่นเจลลดไข้สำหรับเด็กได้จากเภสัชกรได้เลย ควบคู่กับการเช็ดตัวให้ลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ

 

ลูกตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น คุณแม่ช่วยลดไข้ลูกได้ยังไงบ้าง

เมื่อลูกตัวร้อนเป็นไข้ไม่สบาย คุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยได้ ดังนี้

1. เช็ดตัวให้ลูกน้อยบ่อย ๆ

วิธีลดไข้เด็กทารก คุณแม่ควรเช็ดตัวให้ลูกน้อย โดยเลือกใช้น้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาแทนน้ำเย็น เพื่อให้หลอดเลือดได้ขยาย และให้น้ำอุ่นนำความร้อนภายในร่างกายออกมาสู่ผิวได้มากขึ้น โดยให้คุณแม่นำผ้าชุบน้ำอุ่น บิดหมาดก่อนจะเริ่มเช็ดตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาบริเวณลำตัวในลักษณะย้อนรูขุมขน เน้นประคบผ้าบริเวณหน้าผาก และข้อพับต่าง ๆ เช่น หลังหู รักแร้ ขาหนีบ และก้นกบ เพื่อให้ความร้อนถ่ายเทได้มากขึ้น นานครั้งละ 10-15 นาที หากลูกมีอาการหนาวสั่น ขณะเช็ดตัวให้หยุดทันที

 

2. ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ

การดื่มน้ำจะช่วยให้ร่างกายได้ชดเชยน้ำที่สูญเสียไปจากเหงื่อเพราะพิษไข้ เพิ่มความชุ่มชื้น และลดการก่อเชื้อโรคในช่องปาก อีกทั้งการดื่มน้ำอุ่นยังช่วยให้ร่างกายของลูกน้อยเย็นลง ช่วยให้ร่างกายขับความร้อนออกมาในรูปแบบของปัสสาวะได้มากขึ้นด้วย

 

3. สวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย

หลังจากเช็ดตัวให้ลูกน้อยแล้วคุณแม่ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ลูกน้อยเป็นชุดที่โปร่งสบาย ไม่หนา เพราะยิ่งให้ลูกน้อยสวมเสื้อหนา ๆ จะยิ่งทำให้ร่างกายขับความร้อนได้ยากขึ้น

 

4.  จัดห้องนอนให้เหมาะสม

คุณแม่ควรจัดที่นอนของลูกให้อยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรปรับอุณหภูมิของห้องให้เหมาะสมไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเปิดเครื่องปรับอากาศ และพยายามไม่เปิดพัดลมโดนตัวลูกน้อยตรง ๆ

 

5. เน้นอาหารที่ย่อยง่าย

เมื่อลูกตัวร้อนเป็นไข้ คุณแม่ควรทำอาหารที่ย่อยง่ายหรือมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ข้าวต้ม หรือซุป หลีกเลี่ยงอาหารมันเพราะทำให้ย่อยได้ยาก รวมถึงอาหารรสเค็มจัด หรือหวานจัดด้วย

 

6. ปรับท่านอนให้ลูกน้อย

หากลูกมีอาการคัดจมูก ร่วมด้วย แนะนำให้คุณแม่จัดท่าให้ลูกน้อยนอนตะแคง และหนุนหมอนให้สูงขึ้น เพื่อช่วยให้ลูกน้อยหายใจได้สะดวกมากขึ้น

 

การดูแลลูกน้อยเมื่อมีอาการเป็นไข้ตัวร้อนมือเท้าเย็น มีขั้นตอนดูแลเหมือนกับอาการลูกมีไข้ตัวร้อน สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรทำเมื่อลูกมีไข้ควรเช็กอุณหภูมิของลูกน้อยก่อนว่าลูกมีไข้สูงหรือไม่ และควรลดความร้อนหรือลดไข้ให้ลูกน้อยให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยให้ลูกมีไข้สูงเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ลูกเกิดอาการชักจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ อีกทั้งควรกินยาลดไข้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร ไม่ควรเลือกซื้อยาให้ลูกกินเองเพราะอาจยิ่งเพิ่มอันตรายให้กับลูกน้อยได้

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

 

อ้างอิง:

  1. ลูกป่วยเป็นไข้บ่อย อย่าปล่อยไว้จนป่วยเรื้อรัง, โรงพยาบาลพญาไท
  2. เมื่อลูกน้อยมีไข้สูงตอนกลางคืน ต้องทำอย่างไร, โรงพยาบาลเปาโล
  3. เมื่อลูกเป็นหวัด มีไข้ ดูแลอย่างไรให้หายดี?, โรงพยาบาลพญาไท
  4. ไข้ในเด็ก อันตรายอย่างไร ?, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. วิธีเช็ดตัว “ลดไข้” ที่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร ?, โรงพยาบาลศิครินทร์

อ้างอิง ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2567
 

บทความแนะนำ

แพ้แลคโตส คืออะไร อาการแพ้แลคโตสทารก ที่แม่ต้องรู้

แพ้แลคโตส คืออะไร อาการแพ้แลคโตสทารก ที่แม่ต้องรู้

ลูกแพ้แลคโตส คืออะไร อาการแพ้แลคโตสทารก เกิดจากอะไรได้บ้าง คุณแม่มีวิธีรับมือกับอาการแพ้แลคโตสทารกอย่างไร พร้อมวิธีป้องกันเมื่อลูกแพ้แลคโตสในนม

 เด็กแพ้นมวัว มีอาการอย่างไร พร้อมวิธีสังเกตลูกน้อย

เด็กแพ้นมวัว มีอาการอย่างไร พร้อมวิธีสังเกตลูกน้อย

เด็กแพ้นมวัว เกิดจากอะไร อาการเด็กแพ้นมวัวเป็นแบบไหน ลูกแพ้นมวัวจะมีผื่นแพ้นมวัวหรือเปล่า พร้อมวิธีสังเกตว่าเด็กแพ้อาหารทั่วไปหรือเด็กแพ้นมวัว

ผื่นแพ้อาหารทารก พร้อมวิธีป้องกันผื่นแพ้อาหารทารก

ลักษณะผื่นแพ้อาหารทารก พร้อมวิธีป้องกันผื่นแพ้ในเด็ก

ลักษณะผื่นแพ้อาหารทารกเป็นอย่างไร ผื่นแพ้อาหารทารก หนึ่งในอาการของภูมิแพ้ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม ไปดูวิธีสังเกตทารกแพ้อาหาร พร้อมวิธีป้องกันผื่นแพ้

ผื่นลมพิษในเด็ก ผื่นลมพิษเด็ก พร้อมวิธีป้องกัน

ผื่นลมพิษในเด็ก ผื่นลมพิษเด็ก พร้อมวิธีป้องกัน

ลมพิษในเด็ก อาการผื่นนูนแดงที่เกิดขึ้นตามร่างกายของลูก ผื่นลมพิษในเด็ก คืออะไร ลูกน้อยจะมีอาการอย่างไร หากเป็นผื่นลมพิษ พร้อมวิธีป้องกันลมพิษในเด็ก

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก