15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่แม่มือใหม่อยากรู้

คู่มือคุณแม่มือใหม่ 15 คำถามเรื่องลูกน้อย ที่คุณแม่ควรรู้

03.07.2020

ทารกเป็นวัยที่มีความบอบบาง ต้องการการปกป้องดูแลมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้เบบี๋ตัวน้อย ๆ ยังไม่สามารถสื่อสารความต้องการ หรือความเจ็บปวดออกมาเป็นคำพูดได้ ดังนั้น คุณแม่มือใหม่จึงมีเรื่องมากมายที่สงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ เราจึงรวบรวม 15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่คุณแม่มือใหม่อยากรู้ มาฝากดังนี้

headphones

PLAYING: คู่มือคุณแม่มือใหม่ 15 คำถามเรื่องลูกน้อย ที่คุณแม่ควรรู้

อ่าน 6 นาที

15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่แม่มือใหม่อยากรู้


•    สะดือลูกจะหลุดเมื่อไหร่ ควรทำความสะอาดสะดือลูกอย่างไร ?
สะดือของทารกแรกเกิด จะค่อย ๆ แห้งภายในเวลา 2 – 3 วัน และหลุดออกภายใน 1 – 3 สัปดาห์ ในระหว่างนั้น คุณแม่ควรเช็ดสายสะดือให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำ และทำความสะอาดสายสะดือ ด้วยสำลีชุบแอลกอฮอลล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเช็ดบริเวณรอบสะดือจากโคนด้านในออกมาด้านนอกอย่างเบามือ ไม่ควรโรยแป้งฝุ่น เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ หากหลังจากสะดือยังไม่แห้งภายใน 2 – 3 วัน มีกลิ่นเหม็น ควรพาลูกไปพบแพทย์


•    ลูกเป็นโคลิค ดูแลอย่างไร ?
เมื่อลูกมีอาการโคลิค ให้คุณแม่คอยสังเกตุว่าลูกต้องการอะไร เช่น หิว ร้อน หนาว แล้วให้ตอบสนองตามความต้องการนั้น การอุ้มลูกในท่าที่ลูกรู้สึกสบายตัวก็ช่วยบรรเทาอาการโคลิคได้ โดยอาการโคลิคจะเกิดขึ้นเมื่อทารกอายุ 2 – 3 สัปดาห์ และจะหายไปเองเมื่ออายุ 3 เดือน หากคุณแม่รู้สึกเหนื่อยจากการดูแลลูกน้อยที่มีอาการโคลิค แนะนำให้หาคนมาช่วยดูแล


•    ลูกนอนคว่ำ อันตรายไหม ?
ท่านอนที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับเด็กวัยทารก โดยเฉพาะวัยแรกเกิด – 4 เดือน คือ ท่านอนหงาย หากต้องการให้ลูกนอนคว่ำเพื่อฝึกชันคอให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง ควรทำขณะที่ลูกตื่น 

15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่แม่มือใหม่อยากรู้


•    ลูกอายุ 2 เดือน ยังต้องคอยปลุกให้กินนมหรือไม่ ?
อาจยังต้องปลุกให้ลูกดูดนมเป็นครั้งคราว ในกรณีที่ลูกหลับยาวมากกว่า 4 ชั่วโมง เนื่องจากทารกส่วนใหญ่จำเป็นต้องกินนม 8 – 12 ครั้งต่อวัน หรือทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง สำหรับเด็กอายุ 2 เดือน อาจสามารถหลับยาวได้ตลอดคืน ดังนั้นให้คุณแม่สังเกตการเจริญเติบโตของลูกน้อย หากลูกหลับยาวในช่วงกลางคืน แต่มีการเจริญเติบโตดี ก็ไม่จำเป็นต้องปลุกขึ้นมากินนมกลางดึก


•    ลูกน้ำตาไหลข้างเดียว ผิดปกติหรือไม่ ?
ลูกน้ำตาไหลข้างเดียว เกิดจาก ท่อน้ำตาอุดตัน แนะนำให้คุณแม่ใช้นิ้วที่สะอาด นวดบริเวณหัวตาของลูกน้อยเบา ๆ แล้วลากนิ้วลงมาตามแนวจมูก ทำบ่อย ๆ ทุกวัน หากอาการยังไม่ดีขึ้น รอบหัวตาเริ่มบวมแดง หรือตาแดง ควรปรึกษาแพทย์


•    ลูกหายใจครืดคราด เกิดจากอะไร ?
ลูกหายใจมีเสียงครืดคราด เกิดจากการที่ลูกมีน้ำมูก และไม่สามารถสั่งน้ำมูกออกมาเองได้ คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกหายใจสะดวกขึ้นได้ โดยใช้น้ำเกลือหยอดจมูก 1 – 2 หยด แล้วใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกลูกออกมา แต่ถ้าลูกยังไม่หาย หรือแม่ไม่แน่ใจ แนะนำให้พาไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินหาสาเหตุ


•    ลูกสะอึก ทำอย่างไร ?
สาเหตุที่ลูกสะอึก เกิดจากการกระตุกเป็นจังหวะของกล้ามเนื้อกระบังลม ที่ทำงานไม่ประสานกันกับการหายใจ ซึ่งอาการสะอึกนี้สามารถหายเองได้ 


•    ลูกแหวะนมบ่อย ผิดปกติหรือไม่ ?
การแหวะนมหลังดูดนมพบบ่อยในทารกแรกเกิด เนื่องจากหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารของทารกยังปิดไม่สนิท แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อลูกโตขึ้น ระหว่างนี้คุณแม่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ด้วยการอุ้มเรอทุกครั้งหลังอิ่มนม ด้วยการอุ้มพาดบ่า ประมาณ 15 – 20 นาที ก่อนวางลูกลงในท่านอนราบ อย่างไรก็ตาม หากลูกมีอาการบ่อย ๆ ไม่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรือน้ำหนักลูกไม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ ควรปรึกษาแพทย์


•    ลูกมีตุ่มพองที่ริมฝีปากบน ริมฝีปากลอก แต่ยังกินนมได้ ต้องดูแลอย่างไร ?
การมีตุ่มพอง หรือริมฝีปากลอก เป็นภาวะที่พบได้ปกติในเด็กแรกเกิด เกิดจากการที่เด็กวัยนี้ดูดนมบ่อย ทำให้จุกนมเสียดสีกับริมฝีปาก จนเกิดเป็นตุ่มพองแห้ง ๆ และริมฝีปากลอก โดยที่ลูกไม่รู้สึกเจ็บ และสามารถกินนมได้ตามปกติ เจ้าตุ่มพองนี้จะค่อย ๆ แห้งและหลุดลอกเป็นแผ่น และหายไปเองในที่สุด


•    ลูกลิ้นเป็นฝ้าขาว ควรดูแลอย่างไร ?
ลิ้นเป็นฝ้าขาว เกิดจากคราบนม แม่สามารถใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดทำความสะอาดหลังลูกกินนมทุกมื้อ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากเชื้อราหรือไม่


•    อุจจาระสีไหน ไม่ผิดปกติ ?
ช่วง 3 วันแรกหลังคลอด อุจจาระของทารกจะเป็นสีเขียว มีลักษณะมัน ๆ เรียกว่า ขี้เทา หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็น สีเหลือง ไม่มีมูกเลือดปน มีลักษณะเป็นก้อน เป็นเนื้อปนน้ำ หรือก้อนเล็ก ๆ คล้ายเม็ดมะเขือ หากมีลักษณะดังนี้ถือว่าไม่ผิดปกติ


•    ลูกมีไข้ ทำอย่างไรดี ?
เมื่อทารกมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์ทันที เพราะยิ่งลูกอายุน้อยเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงได้


•    ทารกเพศหญิง มีตกขาว มีเลือกออกจากอวัยวะเพศ ผิดปกติหรือไม่ ?
ทารกเพศหญิง มีตกขาว หรือมีเลือดออกคล้ายประจำเดือน เป็นภาวะที่พบได้ในเด็กแรกเกิด เนื่องจากลูกน้อยได้รับฮอร์โมนจากแม่ ส่วนใหญ่จากหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ คุณแม่สามารถทำความสะอาดอวัยวะเพศของลูกด้วยน้ำเปล่าตามปกติ แต่ถ้าตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือเลือดไหลจากอวัยวะเพศไม่หยุดภายใน 1 สัปดาห์ ควรพาไปพบแพทย์


•    ลูกชายมีถุงอัณฑะไม่เท่ากัน อันตรายหรือไม่ ?
ขนาดอัณฑะของทารกทั้งสองข้าง อาจแตกต่างกันได้เล็กน้อย แต่ในกรณีที่มีถุงอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งใหญ่ใหญ่กว่าปกติ อาจเกิดจาก มีน้ำในถุงอัณฑะ หรือมีภาวะไส้เลื่อน ส่วนข้างที่เล็กปกติ อาจเกิดจาก อัณฑะไม่ลงถุง ดังนั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์


•    ลูกชอบเล่นอวัยวะเพศ ควรปรับพฤติกรรมอย่างไร ?
คุณแม่ควรหาของเล่นอย่างอื่นมาให้ลูกเล่นแทน เช่น ของเล่นที่บีบหรือเขย่าแล้วเกิดเสียง ชวนลูกพูดคุยหรือร้องเพลง จับลูกนอนคว่ำแล้ววางของเล่นไว้ไกลจากตัวเพื่อให้ลูกหัดคืบ เป็นต้น
 
ทั้งนี้ หากคุณแม่สังเกตุว่าลูกมีอาการผิดปกติ หรือรู้สึกไม่แน่ใจว่าใช่อาการผิดปกติหรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอาการต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของลูกรัก
 


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

15 เรื่องชวนสงสัย ที่แม่ให้นมอยากรู้

อ้างอิง

โดย แพทย์หญิงพัฎ  โรจน์มหามงคล 
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม  

บทความแนะนำ

ตุ่มใสที่นิ้วอันตรายไหม ลูกมีตุ่มใสขึ้นที่มือคัน คุณแม่รับมือยังไงดี

ตุ่มใสที่นิ้วอันตรายไหม ลูกมีตุ่มใสขึ้นที่มือคัน คุณแม่รับมือยังไงดี

ตุ่มใสที่นิ้วลูก เกิดจากอะไร ลูกมีตุ่มใสที่มือคัน อันตรายไหม คุณพ่อคุณแม่จะรับมืออย่างไร หากลูกมีตุ่มใส ๆ ที่มือ พร้อมวิธีบรรเทาตุ่ม ใสที่นิ้ว

ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม ลูกถ่ายกะปริบกะปรอย อันตรายหรือเปล่า

ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม ลูกถ่ายกะปริบกะปรอย อันตรายหรือเปล่า

ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม หากลูกถ่ายกะปริบกะปรอยบ่อย ๆ ทุกวัน อันตรายกับลูกน้อยหรือเปล่า อาการถ่ายบ่อยของลูกแบบไหนที่คุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์

เปลี่ยนชื่อลูกทำยังไง เปลี่ยนชื่อลูกในสูติบัตร มีขั้นตอนอย่างไร

เปลี่ยนชื่อลูกทำยังไง เปลี่ยนชื่อลูกในสูติบัตร มีขั้นตอนอย่างไร

อยากเปลี่ยนชื่อลูกทำยังไง เปลี่ยนชื่อลูกในสูติบัตรต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง มีขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อลูกยังไง ไปดูเอกสารที่ต้องเตรียมและขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อกัน

ลูกหายใจครืดคราดแต่ไม่มีน้ำมูก เป็นเพราะอะไร เป็นสัญญาณอันตรายไหม

ลูกหายใจครืดคราดแต่ไม่มีน้ำมูก เกิดจากอะไร อันตรายกับลูกน้อยไหม

อาการลูกหายใจครืดคราดแต่ไม่มีน้ำมูก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยให้ดี เมื่อลูกหายใจครืดคราดแต่ไม่มีน้ำมูก