ตุ่มใสขึ้นที่มือ ลูกมีตุ่มใสขึ้นที่มือคัน อันตรายไหม
อาการผื่นหรือตุ่มใส ตุ่มแดงตามร่างกายของเด็ก ๆ พบได้บ่อยมาก เนื่องจากเด็กเล็กยังมีผิวหนังที่บอบบาง อาจเกิดจากอาการผื่นแพ้ทั่วไปซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มใส ๆ หรือตุ่มแดงขึ้นตามใบหน้าและแขนขา หรือการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ อาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่าย หรือสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย รวมถึงน้ำจากตุ่มใสของเด็กคนที่ป่วยได้ คุณแม่ควรหมั่นเฝ้าสังเกตอาการ
สรุป
- อาการผื่นหรือตุ่มใส ตุ่มแดงตามร่างกายของเด็ก ๆ พบได้บ่อยมาก เนื่องจากเด็กเล็กยังมีผิวหนังที่บอบบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กก่อนอายุ 5 ขวบ ซึ่งอาจเกิดจากโครงสร้างผิวหนังที่ผิดปกติ โรคภูมิแพ้ หรือการได้รับเชื้อไวรัส
- โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จะมีอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ มีตุ่มใสที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ก้น และมีแผลในช่องปาก เด็กจะไม่อยากรับประทานอาหาร โดยการรักษาของแพทย์จะเป็นการรักษาตามอาการ และตุ่มใสจะหายเป็นปกติภายใน 5-10 วัน
- อาการตุ่มใสจากโรคมือเท้าปากเมื่อหายดีแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ ซึมลงชัดเจน ไม่อยากรับประทานอาหาร หรือปวดศีรษะ มาก ต้องรีบพบแพทย์โดยทันที
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ลูกมีตุ่มใสขึ้นที่มือคันยุบยิบ เกิดจากอะไรได้บ้าง
- ลูกมีตุ่มใสที่นิ้วและมือ อาจเกิดจากการนอนไม่พอ
- ตุ่มใสที่นิ้วและมือของลูก หายเองได้ไหม
- ตุ่มใสที่นิ้วลูก ใช่โรคมือเท้าปากไหม
- ตุ่มใสที่นิ้วทั่วไป vs โรคมือเท้าปาก สังเกตอย่างไร
- สัญญาณเตือนอาการร่วม ที่ต้องรีบไปพบแพทย์
- 7 วิธีรับมือได้ทันที เมื่อลูกมีตุ่มใสที่นิ้วและมือ
ลูกมีตุ่มใสขึ้นที่มือคันยุบยิบ เกิดจากอะไรได้บ้าง
- โรคภูมิแพ้ ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ ส่วนมากจะมีผื่นแดงคัน เป็นสะเก็ดหรือมีน้ำเหลืองไหลที่ผื่น บริเวณหน้า คอ แขน ขา และศอก เข่า โดยสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจพบได้ในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืด และการกระตุ้นจากขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น รวมไปถึงสบู่ น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม รวมถึงสภาพอากาศ ความเครียด และอาหารการกินได้อีกด้วย
- ผื่นแพ้ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ เกิดจากโครงสร้างผิวหนังที่ผิดปกติ ทำให้ผิวสูญเสียน้ำจนเกิดอาการผิวแห้งและอักเสบได้ง่าย พบมากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า แก้ม ลำคอของเด็กเล็ก และพบตามข้อพับในเด็กโต ซึ่งจะมีอาการคันร่วมด้วย อาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ส่วนมากพบได้จากประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากเด็กมีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ยังทำงานได้ไม่ดีนัก ทำให้เมื่อพบเจอสิ่งกระตุ้นหรือสารที่ทำให้เป็นภูมิแพ้ จึงมีอาการแสดงออกไวกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งอาจจะแสดงอาการเป็นลักษณะผื่นแดงคันบริเวณผิวหนัง ทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัวได้
- ความอับชื้น หากมีตุ่มหรือผื่นขึ้นบริเวณต้นขาด้านใน รวมถึงบริเวณก้น และอวัยวะเพศ อาจเกิดจากความอับชื้นในการสวมใส่ผ้าอ้อมเป็นระยะเวลานาน คุณแม่จึงควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยขึ้น และทาครีมหรือขี้ผึ้งที่ผิวหนังก่อนสวมใส่ผ้าอ้อมทุกครั้ง เพื่อช่วยป้องกันและเคลือบผิวหนังไว้
- อาการแพ้สารเคมีต่าง ๆ เป็นหนึ่งในสิ่งกระตุ้นให้เกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กได้ ซึ่งสารระคายเคือง เช่น น้ำหอม แอลกอฮอล์ เป็นต้น
ลูกมีตุ่มใสที่นิ้วและมือ อาจเกิดจากการนอนไม่พอ
การนอนของทารก ถือเป็นเรื่องสำคัญ หากเด็กได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือมีภาวะเครียด ก็อาจส่งผลต่อการกระตุ้นทำให้เกิดตุ่มน้ำใสบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้าได้ ซึ่งเป็นโรคผิวหนังอักเสบประเภทหนึ่งที่ไม่รุนแรง แต่อาจทำให้เกิดอาการคัน หรือปวด โดยทั่วไปตุ่มใสจะหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่อาจจะกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้น ควรให้ลูกได้รับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามไม่ให้ลูกเกิดภาวะเครียด
ตุ่มใสที่นิ้วและมือของลูก หายเองได้ไหม
โดยทั่วไป ตุ่มใส ๆ ที่มือหรือผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะหายได้เองหากคุณแม่หมั่นรักษาความสะอาด แต่คุณแม่ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกบ่อยเกินไปและน้ำไม่ควรร้อนจนเกินไป หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารที่อาจก่อให้เกิดการกระตุ้นการแพ้ รวมถึงทาครีมบริเวณผิวหนังเพื่อให้ผิวกักเก็บความชุ่มชื้นและแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ตุ่มใสหรือผื่นแดงต่าง ๆ ดีขึ้นจนเป็นปกติได้ในที่สุด
ลูกเป็นตุ่มใส ๆ ที่มือ ใช่โรคมือเท้าปากไหม
เมื่อลูกมีตุ่มใสเกิดขึ้นบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และก้น หรือแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน รวมถึงมีอาการไข้ต่ำ ๆ ก่อนขึ้นผื่นหรือตุ่มใส ประมาณ 12-24 ชั่วโมง ส่วนมากเด็กจะเริ่มไม่อยากรับประทานอาหารเนื่องจากเจ็บแผลในปาก และลิ้นแดงบวม หากพบอาการเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปากหรือไม่ โดยการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ และตุ่มใสจะหายเป็นปกติประมาณ 5-10 วัน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจภายหลังตุ่มใสหายดีแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงได้ จึงต้องคอยเฝ้าระวังสังเกตอาการจนหายเป็นปกติ
ตุ่มใสที่นิ้วทั่วไป vs โรคมือเท้าปาก สังเกตอย่างไร
ตุ่มใสที่นิ้วทั่วไปอาจเกิดจากอาการแพ้หรือผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง พบที่ใบหน้า แขน ขา โดยส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรมของคนในครอบครัวที่เป็นภูมิแพ้ หรือการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จะมีอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ มีตุ่มใสที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ก้น และมีแผลในช่องปาก
สัญญาณเตือนอาการร่วม ที่ต้องรีบไปพบแพทย์
หากลูกมีอาการตุ่มใสที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมถึงมีแผลในช่องปาก และมีอาการไข้ ปวดตามข้อ รับประทานอาหารได้น้อยลง อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ซึ่งโรคนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จนอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการของลูกว่ามีความผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที
- หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ หน้าซีด
- ซึมลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ยอมทานอาหาร ไม่เล่นซุกซนตามปกติ
- ปวดหัวมากจนทนไม่ไหว
- มีไข้ หรืออาจไม่มีไข้ร่วมด้วย
- มีอาการไอ และมีเสมหะมาก
- มีอาการเพ้อ พูดไม่รู้เรื่อง
- ตัวสั่น สะดุ้งผวาแขนหรือมือสั่น
7 วิธีรับมือได้ทันที เมื่อลูกมีตุ่มใสที่นิ้วและมือ
ปัญหาตุ่มใสหรือผื่นคันที่ผิวหนังของลูก เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งมีวิธีการดูแลและรักษาที่แตกต่างกันออกไป จึงควรพบแพทย์เฉพาะทางที่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของโรค และวางแผนการรักษาได้อย่างถูกวิธี โดยมีวิธีการดูแลในเบื้องต้นหากลูกมีตุ่มใสหรือผื่นคัน ดังนี้
- ให้ลูกนอนหลับให้เพียงพอ
- ล้างมือลูกให้สะอาด และเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี หรือสิ่งที่สงสัยว่าลูกแพ้ เพื่อลดการกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้
- อย่าให้ลูกเกาบริเวณที่คัน เพื่อหลีกเลี่ยงอาการที่หนักขึ้น และการเกิดแผลติดเชื้อจากเล็บหรือนิ้วมือที่เกาได้
- ทาครีมบำรุง เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นและให้ผิวหนังแข็งแรง
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อเยอะ ลดความอับชื้น
- ให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงความเครียด
เนื่องจากผิวหนังของเด็กยังบอบบางมาก อีกทั้งระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้เด็กอาจรับเชื้อโรคได้ง่าย รวมถึงอาการต่าง ๆ เมื่อได้รับการกระตุ้นจากสารเคมีหรือสภาพแวดล้อมภายนอกที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ อันเนื่องมาจากสาเหตุด้านพันธุกรรมของสมาชิกในครอบครัวมีประวัติภูมิแพ้ หรือการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ รวมถึงภาวะเครียดวิตกกังวล ทั้งหมดนี้คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และหมั่นสังเกตอาการภูมิแพ้ของลูก และควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุต่อไป
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- อาการภูมิแพ้ในเด็ก สาเหตุ อาการ พร้อมวิธีดูแลรักษาภูมิแพ้ในเด็ก
- ผื่นลมพิษในเด็ก เกิดจากอะไร พร้อมวิธีป้องกันลมพิษในเด็ก
- อาการแพ้แลคโตสทารก เกิดจากอะไร พร้อมวิธีป้องกันเมื่อลูกแพ้
- ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย
- ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกผื่นสาก
- ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี พร้อมวิธีแก้ผดผื่นบนใบหน้าทารก
- ลักษณะผื่นแพ้อาหารทารก พร้อมวิธีป้องกันผื่นแพ้อาหารทารก
- เด็กแพ้นมวัว จะรู้ได้อย่างไร อาการแบบไหนคือเด็กแพ้นมวัว
- ผดร้อนทารก ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน ดูแลลูกแบบไหนให้ถูกวิธี
- สังเกตภูมิแพ้ในเด็ก อาการภูมิแพ้อากาศ พร้อมวิธีให้ลูกห่างจากอาการแพ้
อ้างอิง:
- 5 ผื่นแพ้ของลูกน้อย พบบ่อย…แต่รับมือได้, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- โรคมือเท้าปาก, โรงพยาบาลวิภาวดี
- ผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก อย่ารอจนเรื้อรัง, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- โรคผิวหนังเด็ก และภูมิแพ้เด็ก, โรงพยาบาลเจ้าพระยา
- 4 โรคภูมิแพ้ในเด็ก เรื่องไม่เล็กที่พ่อแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
- สารพันปัญหาผื่นในเด็ก, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (DYSHIDROTIC ECZEMA), Pobpad
อ้างอิง ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567