สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
ในทารกแรกเกิดนั้น คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีสายสะดือติดตัวมาด้วย ซึ่งมาจากการที่คุณหมอได้ตัดและผูกสายสะดือหลังทารกคลอดออกมา และเนื่องจากผิวหนังรอบ ๆ สะดือของทารกนั้นค่อนข้างเปราะบาง การดูแลสายสะดือทารกแรกเกิดจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่มือใหม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ทารกเกิดอาการสะดืออักเสบหรือติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้
สรุป
- ขั้วสะดือของทารกจะหลุดออกไปเองประมาณวันที่ 7-10 วันภายหลังคลอด แต่บางรายอาจจะหลุดก่อนหรือหลังกว่านี้ก็ได้ ไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ
- ความสำคัญของสะดือเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างสะดือลูกน้อยกับรกของคุณแม่ภายในครรภ์
- หลังสายสะดือหลุดโดยทั่วไปสะดือของทารกแรกเกิดจะแห้งสนิทและไม่มีกลิ่นเหม็น สะดือสกปรกหรือทำความสะอาดไม่ดี ก็อาจทำให้สะดือลูกน้อยเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ง่าย
- ควรเช็ดทำความสะอาดสะดือทารกด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ทุกครั้งหลังอาบน้ำให้ทารกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- สะดือทารกหลังคลอด เป็นแบบไหน
- ความสำคัญของสายสะดือทารก
- ขั้วสะดือจะหลุดออกไปเอง ภายในกี่วัน?
- คอยสังเกตให้ดี สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน
- สะดือทารกมีเลือดออก เป็นเพราะอะไร อันตรายไหม
- วิธีดูแลทำความสะอาดสะดือให้ลูกน้อย
- ทำไมจึงไม่ควรโรยแป้งที่บริเวณสะดือของลูก
- สายสะดือทารกไม่หลุดสักที นานแค่ไหนควรไปพบแพทย์
- สังเกตสะดือทารก แบบไหนบ่งบอกว่าติดเชื้อ
ทารกในวัยแรกเกิดถึง 1 เดือน นับเป็นช่วงระยะที่มีความสำคัญ การดูแลทารกแรกเกิด ในช่วงนี้คุณแม่จำเป็นต้องใส่ใจและใกล้ชิดเป็นพิเศษ เนื่องจากทารกกำลังปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกครรภ์แม่ ทารกหลังคลอดจะมีสายสะดือที่คุณหมอทำการตัดและผูกสายสะดือเอาไว้ สายสะดือมีความสำคัญต่อร่างกายลูกน้อยอย่างไร สายสะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน รวมทั้งวิธีการดูแลความสะอาดสะดือทารกต้องทำอย่างไร เรื่องที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้
สะดือทารกหลังคลอด เป็นแบบไหน
สายสะดือทารกแรกเกิดในช่วงแรกจะมีสีขาวขุ่นและมีเส้นเลือดดำแห้งอยู่ในสายสะดือ เมื่อสายสะดือใกล้หลุดจะมีลักษณะเหี่ยวแห้งและจะหลุดไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ ในระหว่างที่สายสะดือยังไม่หลุด คุณแม่สามารถสังเกตสายสะดือและบริเวณโคนสะดือของลูกน้อยได้ด้วยการจับสายสะดือขึ้นตั้งตรงหมุนซ้ายหรือขวา หมุนด้านหน้าหรือหลังอย่างเบา ๆ และทำความสะอาดดูแลรักษาบริเวณสะดือของทารกให้แห้ง เพราะหากสะดือสกปรกหรือทำความสะอาดไม่ดี ก็อาจทำให้สะดือลูกน้อยเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ง่าย โดยสังเกตได้จากอาการบวมแดงรอบสะดือ สะดือมีกลิ่นเหม็น หรือมีหนอง ถ้าพบอาการดังกล่าวคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปหาคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการทันที
ความสำคัญของสายสะดือทารก
สะดือของทารกเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างสะดือลูกน้อยกับรกของคุณแม่ภายในครรภ์ ทำหน้าที่เชื่อมโยงการไหลเวียนของเลือด และส่งผ่านเลือดของแม่ไปสู่ลูก รวมทั้งเป็นเส้นทางลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ที่คุณแม่รับประทานเข้าสู่ร่างกายลูกน้อย ในสายสะดือทารกจะประกอบไปด้วยเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดง ซึ่งสามารถเป็นเส้นทางของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ รวมถึงบริเวณผิวหนังรอบสะดือของทารกค่อนข้างเปราะบาง ในร่างกายของทารกแรกเกิดหากยังมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคไม่ดีพอ สะดือทารกไม่สะอาด ก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อได้ง่าย
ขั้วสะดือจะหลุดออกไปเอง ภายในกี่วัน?
ตามปกติแล้วหลังคุณแม่พาทารกกลับบ้าน ขั้วสะดือของทารกจะหลุดออกไปเองประมาณวันที่ 7-10 วันภายหลังคลอด แต่บางรายอาจจะหลุดก่อนหรือหลังกว่านี้ก็ได้ ไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ หากคุณแม่สังเกตเห็นว่าสายสะดือของลูกหลุดแล้ว สามารถเช็ดทำความสะอาดสะดือทารกในช่วงนี้ด้วยการใช้แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ไปอย่างน้อยประมาณ 1 สัปดาห์ จนสะดือแห้งสนิท
โดยทั่วไปสะดือของทารกแรกเกิดจะแห้งสนิทและไม่มีกลิ่นเหม็น กรณีที่พบว่าขั้วสะดือยังไม่แห้งหรือมีติ่งเนื้อที่ขั้วสะดือ ไม่ควรโรยแป้งทาตัวหรือยาผงชนิดอื่น ๆ ที่สะดือทารก ควรนำลูกน้อยไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาและได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
คอยสังเกตให้ดี สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน
เวลาทำความสะอาดร่างกายของลูกน้อย คุณแม่หมั่นคอยสังเกตสายสะดือทารกให้ดีว่าจะหลุดไปตอนไหน ซึ่งลักษณะสายสะดือทารกเมื่อใกล้หลุดจากขาวขุ่นในช่วงแรก ๆ จะค่อย ๆ แห้ง และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีดำในที่สุด หรือในทารกบางรายอาจจะมีเลือดออกเมื่อสายสะดือใกล้หลุด แต่ถ้าสะดือมีเลือดออกมาก มีอาการบวมแดงรอบสะดือ มีหนอง หรือสะดือส่งกลิ่นเหม็น อาจสงสัยได้ว่าสะดือทารกมีอาการติดเชื้อ ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที
สะดือทารกมีเลือดออก เป็นเพราะอะไร อันตรายไหม
ในร่างกายของทารกแรกเกิดที่เพิ่งจะออกจากครรภ์แม่ไม่นาน เมื่อมาเจอกับสภาวะภายนอกที่เปลี่ยนไปจากครรภ์แม่และภูมิต้านทานของทารกยังไม่เต็มที่ จึงมีโอกาสที่ทารกจะเจ็บป่วยและเกิดโรคได้ง่าย ระยะนี้คุณแม่จึงควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด รวมถึงสายสะดือทารกและบริเวณผิวหนังรอบสะดือทารกที่ค่อนข้างเปราะบาง หากดูแลหรือทำความสะอาดสะดือลูกน้อยไม่ดีพอ ก็มีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดความผิดปกติบริเวณสะดือทารกได้ เช่น อาการสะดืออักเสบ ที่มักพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด ส่งผลให้บริเวณรอบ ๆ สะดือมีอาการบวมแดง สะดือแฉะ หรือสะดืออักเสบเรื้อรัง
โดยมีลักษณะเป็นเนื้อแดง ๆ หรือเป็นก้อนกลางสะดือ สะดือจะแฉะอยู่ตลอดเวลา และอาจมีเลือดปนออกมาเล็กน้อย ทั้งนี้หากทารกมีอาการบวมแดงรอบสะดือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นอาการผิดปกติของสะดือลูกน้อย ควรรีบพาไปหาคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรักษาอาการได้ทันที
วิธีดูแลทำความสะอาดสะดือให้ลูกน้อย
คุณแม่สามารถอาบน้ำให้ลูกน้อยได้ทุกวัน แม้สายสะดือทารกยังไม่หลุด ยกเว้นในกรณีสะดือแฉะหรือมีกลิ่นเหม็น ควรระมัดระวังไม่ให้สะดือทารกโดนน้ำ หลังจากคุณแม่อาบน้ำและเช็ดตัวทารกให้แห้ง สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ก็คือการทำความสะอาดสะดือทารก เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรค ด้วยขั้นตอนดูแลและทำความสะอาดสะดือให้ลูกน้อย ดังนี้
- คุณพ่อคุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทำความสะอาดสะดือให้ทารก
- เช็ดทำความสะอาดบริเวณสายสะดือด้วยสำลีก้อนชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยเช็ดตั้งแต่โคนสะดือบริเวณที่สะดือติดกับผิวหน้าท้องขึ้นมาถึงปลายสะดือให้ครบทุกด้านจนสะอาด
- เช็ดทำความสะอาดบริเวณซอกโคนสะดือด้วยคัตตอนบัต (Cotton bud) ชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยจับสายสะดือเอียงด้านซ้ายและขวา และเช็ดทีละข้างไปในทิศทางเดียวกัน เช็ดจากด้านในไปด้านนอก และควรเปลี่ยนคัตตอนบัตอันใหม่เช็ดสะดือทารกจนกว่าจะสะอาด
- เช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบสะดือด้วยสำลีก้อนชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ บีบให้หมาดและเช็ดหมุนวนรอบสะดือไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณผิวหนังรอบสะดือ
การเช็ดทำความสะอาดสะดือทารกด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ควรเช็ดทุกครั้งหลังอาบน้ำให้ทารกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าสายสะดือทารกจะหลุดและโคนสะดือแห้ง หรือกรณีที่สะดือทารกมีเลือดออก เปื้อนคราบเลือด หรือสะดือแฉะ ก็สามารถนำแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ชุบสำลีมาเช็ดเบา ๆ เพื่อทำความสะอาดสะดือได้ แต่หากสะดือมีลักษณะผิดปกติ เช่น บวมแดง คุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบเเพทย์ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่สังเกตว่าลูกน้อยร้องไห้ขณะกำลังเช็ดทำความสะอาดสะดือด้วยแอลกอฮอล์ อย่าเพิ่งตกใจ อาจเป็นผลมาจากความเย็นของน้ำยาแอลกอฮอล์ที่ส่งผลให้ผิวหนังทารกรู้สึกเย็นหรือตึงบริเวณรอบสะดือ คุณแม่ควรรีบทำความสะอาดสะดือให้เร็วขึ้นใช้เวลาให้สั้นที่สุด เพื่อช่วยให้ทารกหยุดร้องไห้
ทำไมจึงไม่ควรโรยแป้งที่บริเวณสะดือของลูก
หลังอาบน้ำและเช็ดทำความสะอาดสะดือทุกครั้ง คุณแม่สามารถใช้ผ้าอ้อมนุ่งให้ลูกน้อยต่ำกว่าระดับสะดือเพื่อให้ลูกรู้สึกสบายตัวและป้องกันการระคายเคืองบริเวณสะดือ ไม่ควรใช้แป้งหรือยาผงโรยสะดือทารก เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค ที่จะส่งผลให้สะดือทารกติดเชื้อและอักเสบ การงดใช้แป้งทาตัวหรือโรยบริเวณสะดือในช่วงนี้จะทำให้ลูกน้อยมีความปลอดภัย
ทั้งนี้การใช้แป้งเด็กกับทารกในช่วงนี้ หากลูกน้อยสูดดมละอองแป้งเข้าไปบ่อยครั้ง เกิดการสะสมอยู่ภายในปอดก็อาจส่งผลต่ออาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น
- ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ โดยเฉพาะทารกที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจ เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อปอดของลูกน้อย
- ส่งผลให้เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ น้ำมูกไหล คัดจมูก ทำให้ลูกน้อยจามได้ตลอดเวลา
- ทำให้มีปัญหาเรื่องระบบการหายใจ ไอเรื้อรัง หรืออาการหืดหอบ
- ทารกมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปอดอักเสบและส่งผลทำให้เสียชีวิตได้
ทารกหลังคลอดเป็นระยะที่ลูกน้อยกำลังมีการปรับตัวจากสภาวะแวดล้อมภายนอกครรภ์แม่ ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำงานของระบบหายใจและหลอดเลือด เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทารกในช่วงนี้จึงต้องการการดูแลอย่างเป็นพิเศษ
สายสะดือทารกไม่หลุดสักที นานแค่ไหนควรไปพบแพทย์
โดยปกติแล้วสายสะดือทารกจะหลุดไปเองภายหลังคลอดประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรืออาจหลุดก่อนหรือหลังจากนี้ก็ได้ สาเหตุส่วนหนึ่งที่สายสะดือลูกน้อยยังไม่หลุดเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไม่กล้าที่จะเช็ดทำความสะอาดสะดือลูกน้อย กลัวลูกเจ็บ กังวลเมื่อลูกร้องไห้ จึงมีส่วนทำให้สะดือทารกไม่หลุดสักทีด้วย นอกจากนี้การทำความสะอาดสะดือทารกหลังอาบน้ำทุกครั้งจะมีส่วนช่วยป้องกันต่อการติดเชื้อและการอักเสบของสะดือด้วย
สังเกตสะดือทารก อาการแบบไหนบ่งบอกว่าติดเชื้อ
โดยปกติแล้วหลังจากที่สายสะดือทารกหลุด อาจมีน้ำหรือเลือดซึมออกมาเล็กน้อย ถือว่าเป็นภาวะที่ปกติหลังขั้วสะดือทารกหลุด แต่หากสังเกตว่า ลูกมีอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้สูงร่วมด้วย
- ลูกร้องไห้งอแงเมื่อถูกแตะที่สะดือ ไม่สบายตัว
- มีอาการบวมแดง หรือมีรอยแดงที่ฐานสะดือ
- สะดือมีกลิ่นเหม็น
- มีเลือดไหลออกมาเยอะ
- มีน้ำหนอง
หากพบว่าสะดือของลูกน้อยมีอาการติดเชื้อและมีอาการดังกล่าวร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจและพาลูกน้อยมาพบแพทย์โดยด่วนที่สุด และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสะดือทารกอักเสบหรือติดเชื้อ คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดทำความสะอาดสะดือด้วยสำลีก้อนหรือสำลีก้านชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ และเช็ดสะดือให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกน้อยด้วยการนุ่งต่ำกว่าสะดือและสายสะดือ ป้องกันกรณีที่ผ้าอ้อมที่เปียกชื้นไม่ให้โดนสะดือทารก ใส่เสื้อผ้าที่สวมสบายให้ลูกน้อย เช่น ผ้าฝ้ายที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติเพื่อลดการเกิดการเสียดสีระคายเคืองบริเวณสะดือ และไม่ควรโรยแป้งหรือทาครีมเพิ่มความชุ่มชื่นใด ๆ ในสะดือทารก
การดูแลความสะอาดร่างกายและสะดือของลูกน้อย เป็นหนึ่งในเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมที่จะรับมือหากพบอาการผิดปกติ นอกจากนี้การดูแลทารกแรกเกิดยังมีเรื่องที่ต้องเอาใจใส่อย่างมากมาย อาทิเช่น การดูแลสุขภาพร่างกาย โภชนาการอาหาร การให้ลูกน้อยได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ การดูแลระบบขับถ่าย สถานที่และสิ่งแวดล้อมรอบตัวทารก รวมถึงการดูแลทางด้านจิตใจที่ให้ได้รับความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เมื่อลูกน้อยได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ก็จะส่งผลดีต่อการเติบโต แข็งแรง อารมณ์ดี ฉลาดสมวัยของลูกน้อยได้ค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- ลูกเป็นโรคภูมิแพ้ คุณแม่รับมือภูมิแพ้ในเด็กได้อย่างไร
- ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- อาการทารกท้องอืด พร้อมวิธีป้องกันและวิธีดูแลทารกท้องอืด
- สีอุจจาระทารก สีแบบไหนปกติ สีแบบไหนที่คุณแม่ต้องระวัง
- ลูกอุจจาระสีเขียวอันตรายไหม อึทารกสีเขียวบ่งบอกอะไรได้บ้าง
- ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกี่วันหาย อาการแบบไหนเรียกรุนแรง
- ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย ลูกน้อยควรกินอะไรให้ขับถ่ายง่าย
- ทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือ อุจจาระเป็นเม็ด พร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้น
- ทารกอุจจาระมีมูก ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด แบบไหนที่ต้องระวัง
- วิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย สำหรับลูกน้อยที่ท้องผูก ไม่ยอมถ่ายหลายวัน
- ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกปวดท้อง
อ้างอิง:
- สะดือเด็กทารกทำความสะอาดอย่างไรให้ปลอดภัย?, โรงพยาบาลศิครินทร์
- คำแนะนำเรื่องการเช็ดสะดือ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- “ลักษณะทั่วไปของทารกแรกเกิด” สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้..เพื่อดูความผิดปกติ, โรงพยาบาลพญาไท
- ตัดสายสะดือช้าลงเพื่อสุขภาพที่ดีของทารก, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลราธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลทารก, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- Umbilicus and abdominal wall abnormalities, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ทารกรู้สึกเจ็บปวดเป็นด้วยเหรอ?, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- ทาแป้งฝุ่นให้ลูกน้อยให้ระวัง “ภูมิแพ้ ปอดอักเสบ และมะเร็งรังไข่”, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- แป้งเด็ก ปลอดภัยต่อลูกน้อยหรือไม่?, พบแพทย์
- การดูแลทารกแรกเกิด, โรงพยาบาลยันฮี
- การดูแลสะดือเด็กและการขับถ่าย, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
- สะดือเหม็น ทำอย่างไรและมีอะไรเป็นสาเหตุ, พบแพทย์
อ้างอิง ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567
บทความแนะนำ
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2563 ทำยังไง ใครลงทะเบียนได้บ้าง อยากรู้อ่านเลย!
โครงการที่จะมาช่วยเหลือพ่อแม่เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เงินอุดหนุนทารกแรกเกิดล่าสุด ประจำปี 2563 มาแล้ว ใครที่อยากรู้ว่าใช้เอกสารอะไรประกอบการลงทะเบียนบ้าง ลงทะเบียนเริ่มต้นตั้งแต่วันไหน วันสุดท้ายลงลงทะเบียนได้คือเมื่อไหร่ เรารวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2563 มาให้ คุณแม่ คุณพ่อ เรียบร้อยแล้ว