วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
เมื่อลูกน้อยมีอาการตัวรุมคล้ายมีไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรวัดไข้ทันที หากวัดอุณหภูมิทางปาก รักแร้ หู ได้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส หรือวัด ทางทวารหนัก เกิน 38 องศาเซลเซียส ก็จะถือว่ามีไข้ แต่คุณแม่ต้องมั่นใจว่าการวัดไข้ถูกวิธี และใช้ปรอทหรืออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน โดยถ้าใช้ปรอทต้องหนีบให้อยู่ตรงกึ่งกลางรักแร้ หากเด็กโตแล้วควรวัดทางปาก และวัดนานประมาณ 1 นาที และหากลูกมีไข้ควรหมั่นเช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อช่วยระบายความร้อน และควรอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเท ถ้าเปิดแอร์ ควรปิดแอร์ก่อนเช็ดตัวลูก ใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนา ผ้าโปร่ง และควรระวังเป็นพิเศษสำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี และมีไข้สูง เพราะอาจเกิดการชักจากไข้สูงได้
PLAYING: วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
สรุป
- หากวัดอุณหภูมิทางปาก รักแร้ หู ได้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส หรือวัด ทางทวารหนัก เกิน 38 องศาเซลเซียส ก็จะถือว่ามีไข้
- ก่อนเริ่มวัดไข้ให้ลูก ควรสลัดปรอทให้แสดงอุณหภูมิต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส เด็กแรกเกิดสามารถวัดไข้ได้จากปรอทวัดไข้ทางทวารหนัก เด็กเล็กวัดไข้ตำแหน่งกึ่งกลางรักแร้ และเด็กโตหรืออายุมากกว่า 6 ปี ให้วางปรอทที่ตำแหน่งใต้ลิ้น
- การลดไข้เบื้องต้นที่ได้ผลมีหลายวิธี เช่น การเช็ดตัวระบายความร้อนออกจากร่างกายผ่านน้ำ ตามปริมาณที่เหมาะสม ดื่มน้ำมาก ๆ ชดเชยการสูญเสียน้ำ และสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งเบาสบาย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เด็กทารกเป็นไข้ จะมีอาการอะไรให้เห็นบ้าง
- วิธีวัดไข้ให้ทารกตัวร้อน ให้ได้ผลชัวร์
- ทารกตัวร้อนอุณหภูมิเท่าไหร่ ถือว่าเป็นไข้สูง
- วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด ทำวิธีไหนได้บ้าง
- เช็ดตัวลดไข้ให้ทารก ต้องทำซ้ำกี่ครั้ง
- ทารกตัวร้อน เป็นไข้ กี่วันถึงควรพาไปหาหมอ
- อาการทารกเป็นไข้แบบไหน เข้าข่ายอันตราย
เด็กทารกเป็นไข้ จะมีอาการอะไรให้เห็นบ้าง
ในเบื้องต้น แบ่งอาการตัวร้อนและมีไข้เป็นกลุ่มอาการที่ควรไปพบแพทย์ และไม่ต้องไปพบแพทย์ ดังนี้
- หากเด็กเป็นไข้แต่ยังสามารถรับประทานอาหารได้ ไม่ซึม เล่นสนุกตามปกติ คุณแม่ก็อาจยังไม่จำเป็นต้องพาไปพบคุณหมอ แต่ควรเช็ดตัวเด็กด้วยน้ำอุณหภูมิธรรมดา โดยเช็ดย้อนขึ้น เช่น เช็ดจากปลายมือไปต้นแขนและลำตัว ตามลำดับ เป็นต้น หมั่นพักผ้าชุบน้ำบริเวณข้อพับ หน้าผาก รักแร้ และซอกคอ ห้ามอาบน้ำเย็นเพราะอาจเกิดอันตรายได้ รวมถึงให้เด็กดื่มน้ำเยอะขึ้น เพื่อป้องกันการขาดน้ำ สวมใส่เสื้อผ้าที่ถ่ายเทได้ดี และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูกบ่อย ๆ
- กรณีที่ควรต้องพาไปพบแพทย์โดยทันที คือ เด็กมีอายุน้อยกว่า 3 เดือน และวัดอุณหภูมิทางทวารหนักได้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือลูกรับประทานอาหารได้น้อย ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ ปวดหู มีผื่นขึ้น หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดท้อง น้ำลายไหล รวมถึงระวังไข้สูงจนมีอาการชักได้ด้วย
วิธีวัดไข้ให้ทารกตัวร้อน ให้ได้ผลชัวร์
- ก่อนเริ่มวัดไข้ให้ลูก ควรสลัดปรอทให้แสดงอุณหภูมิต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส ทุกครั้ง
- ถ้าเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี อาจวัดปรอททางรักแร้ โดยวางให้กึ่งกลางรักแร้ และให้หนีบแน่นอย่างน้อย 3-5 นาที
ซึ่งหากวัดไข้ทางรักแร้ต้องเพิ่มอุณหภูมิจากที่วัดได้อีก 0.5 องศาเซลเซียส เช่น หากวัดไข้ได้ 38 องศาเซลเซียส เมื่อบวกอีก 0.5 จะได้อุณหภูมิร่างกายจริง คือ 38.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นไข้สูง ยกเว้นปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล ไม่ต้องบวกเพิ่มอีก 0.5 ให้ยึดตามตัวเลขที่แสดงบนปรอทได้เลย - กรณีเด็กอายุมากกว่า 6 ปี หรือเด็กสามารถอมปรอทได้แล้ว ให้วางปรอทที่ตำแหน่งใต้ลิ้นนานประมาณ 1 นาที และห้ามดื่มน้ำเย็นหรือน้ำร้อนก่อนวัดไข้อย่างน้อย 15 นาที
- กรณีเด็กแรกเกิด สามารถวัดไข้ได้จากปรอทวัดไข้ทางทวารหนัก โดยใส่เข้าไปที่ก้นประมาณ 1-2 เซนติเมตร นาน 1 นาที แต่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีอาการถ่ายเหลวร่วมด้วย
ทารกตัวร้อนอุณหภูมิเท่าไหร่ ถือว่าเป็นไข้สูง
อาการไข้สูงในเด็ก (High fever in Children) คือเมื่อเด็กมีไข้สูงอุณหภูมิตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลและทำการเช็ดตัวให้ดีจนไข้ลด เพราะเด็กอาจเกิดอาการชักได้ โดยเฉพาะกับเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี เพราะหากเคยมีอาการชักแล้ว เด็กมีโอกาสที่จะชักซ้ำได้อีก มากกว่าเด็กปกติถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาการชักจากไข้สูง จะมีลักษณะ ตาค้าง ไม่รู้สึกตัว ชักเกร็งทั้งตัว และชักไม่เกิน 5 นาที เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบอาการชักดังกล่าว ควรรีบให้เด็กนอนตะแคง เพื่อป้องกันเศษอาหารอุดกั้นทางเดินหายใจ และรีบพาไปพบแพทย์โดยทันที ห้ามนำของแข็งหรือช้อนเข้าปากเด็กโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้ แต่ให้ใช้ผ้านุ่มใส่ปากกรณีที่เด็กมีการกัดลิ้น
วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด ทำวิธีไหนได้บ้าง
- เช็ดตัว เป็นการลดไข้ด้วยการระบายความร้อนออกจากร่างกายผ่านน้ำ ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและระบายความร้อนได้ดี ซึ่งควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิประมาณ 27-37 องศาเซลเซียส และไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส
- ให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และชดเชยการสูญเสียน้ำจากร่างกายในขณะที่มีไข้
- ให้ใส่เสื้อผ้าที่เย็นสบาย ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนา หรือห่มผ้าหนาจนเกินไป เพราะร่างกายอาจระบายความร้อนได้ไม่ดีเท่าที่ควร
เช็ดตัวลดไข้ให้ทารก ต้องทำซ้ำกี่ครั้ง
การเช็ดตัวลดไข้ให้ได้ผลที่ดี ควรถอดเสื้อผ้าเด็กออก และอยู่ในอุณหภูมิห้องที่ปกติ จากนั้นนำผ้าขนหนูชุบน้ำอุณหภูมิปกติ บิดหมาด ๆ และเช็ดบริเวณหน้า คอ หลังหู แขนขา หลัง และลำตัว โดยเช็ดนาน 2-3 นาทีในแต่ละจุด มีการพักผ้าที่หน้าผาก รักแร้ หน้าอก ขาหนีบหรือข้อพับที่เข่า จุดละ 2-3 นาที โดยการเช็ดตัวแต่ละรอบไม่ควรน้อยกว่า 15-20 นาที หรือจนรู้สึกว่าเด็กอุณหภูมิลดลง จากนั้นใช้ผ้าแห้งซับน้ำและสวมเสื้อผ้าที่ถ่ายเทได้ดี และควรวัดไข้ทุก ๆ 30 นาที และเช็ดตัวซ้ำหากมีไข้สูง
ทารกตัวร้อน เป็นไข้ กี่วันถึงควรพาไปหาหมอ
หากลูกตัวร้อนมีไข้ และไข้ไม่ลดลงเลยภายหลังเช็ดตัว และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน คุณแม่ควรพาไปปรึกษาแพทย์ โดยหากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรืออาการที่รุนแรงควรรีบพบแพทย์ทันที เช่น อาเจียนและท้องเสียอย่างต่อเนื่อง ปวดศีรษะ เจ็บคอ เจ็บหู เจ็บขณะปัสสาวะ ตื่นยาก ริมฝีปากหรือเล็บเปลี่ยนสีเป็นเขียวคล้ำ ขยับคอลำบาก เป็นต้น
อาการทารกเป็นไข้แบบไหน เข้าข่ายอันตราย
- อาเจียน และมีอาการท้องเสียร่วมด้วยอย่างต่อเนื่อง
- ร้องไห้งอแงไม่หยุด ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ถึงจะเบี่ยงเบนความสนใจแล้วก็ตาม
- ซึม อ่อนเพลียมาก รวมถึงเฉื่อยชา และนอนมาก ตื่นยาก
- ปัสสาวะน้อยลง อาจเป็นผลจากภาวะขาดน้ำ และมีอาการปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา
- มีผื่นขึ้นที่ลำตัว หรือแขนขา
- ไข้ไม่ลดลง หลังจากเช็ดตัวแล้ว และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
- มีอาการชักเกร็ง ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนที่อันตราย พบได้ในเด็ก 6 เดือน ถึง 6 ปี ซึ่งหากมีประวัติของคนในครอบครัวเคยชัก ต้องคอยเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
เด็กบางรายอาจมีไข้แต่ไม่มีน้ำมูก แต่เมื่อลูกน้อยมีไข้ คุณพ่อและคุณแม่ควรรีบวัดไข้โดยทันที เพื่อประเมินความรุนแรงของไข้ และทำการเช็ดตัวให้ถูกวิธีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดไข้ด้วยการระบายความร้อนผ่านน้ำ และหากลูกมีไข้สูงหรือเกิน 38.5 องซาเซลเซียสขึ้นไป ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หมั่นวัดไข้และเช็ดตัวทุก ๆ 30 นาทีด้วย หากอาการไม่ดีขึ้นหรือคุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจให้รีบพาไปพบแพทย์ และอย่าลืมดูแลสุขภาพของคุณพ่อและคุณแม่เองด้วย เพราะอาจติดอาการป่วยไข้จากลูกได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- ลูกเป็นโรคภูมิแพ้ คุณแม่รับมือภูมิแพ้ในเด็กได้อย่างไร
- ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- อาการทารกท้องอืด พร้อมวิธีป้องกันและวิธีดูแลทารกท้องอืด
- สีอุจจาระทารก สีแบบไหนปกติ สีแบบไหนที่คุณแม่ต้องระวัง
- ลูกอุจจาระสีเขียวอันตรายไหม อึทารกสีเขียวบ่งบอกอะไรได้บ้าง
- ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกี่วันหาย อาการแบบไหนเรียกรุนแรง
- ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย ลูกน้อยควรกินอะไรให้ขับถ่ายง่าย
- ทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือ อุจจาระเป็นเม็ด พร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้น
- ทารกอุจจาระมีมูก ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด แบบไหนที่ต้องระวัง
- วิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย สำหรับลูกน้อยที่ท้องผูก ไม่ยอมถ่ายหลายวัน
- ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกปวดท้อง
อ้างอิง:
- ไข้สูงในเด็ก คุณพ่อคุณแม่รับมืออย่างไรดี?, โรงพยาบาลศิครินทร์
- ลูกตัวร้อน พ่อแม่ควรดูแลอย่างไร?, PobPad
- เมื่อลูกไม่สบาย ลดไข้อย่างไรให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
- การวัดไข้อย่างไรให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567
บทความแนะนำ
15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่แม่มือใหม่อยากรู้
ทารกเป็นวัยที่มีความบอบบาง ต้องการการปกป้องดูแลมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้เบบี๋ตัวน้อย ๆ ยังไม่สามารถสื่อสารความต้องการ หรือความเจ็บปวดออกมาเป็นคำพูดได้ ดังนั้น คุณแม่มือใหม่จึงมีเรื่องมากมายที่สงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ เราจึงรวบรวม 15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่คุณแม่มือใหม่อยากรู้ มาฝากดังนี้