ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม ลูกถ่ายกะปริบกะปรอย อันตรายหรือเปล่า

ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม ลูกถ่ายบ่อย อันตรายแค่ไหน

21.08.2024

การขับถ่ายอุจจาระ ลักษณะที่เปลี่ยนไปของอุจจาระนั้น สามารถบ่งบอกสุขภาพของลูกได้ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ลูกผิดปกติ หรือมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้น การสังเกตการขับถ่ายของลูกน้อย สีของอุจจาระ การจดจำลักษณะของอุจจาระของลูกนั้นเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อาจละเลย ทำให้ทราบว่าร่างกายของลูกนั้นมีปัญหาสุขภาพอื่นหรือไม่

headphones

PLAYING: ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม ลูกถ่ายบ่อย อันตรายแค่ไหน

อ่าน 9 นาที

 

สรุป

  • สำหรับเด็กวัยทารก จนกระทั่งเด็กโต (ซึ่งไม่รวมเด็กเล็กที่กินนมแม่) หากมีความถี่ของการถ่ายอุจจาระ 3 ครั้งขึ้นไป ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก 1 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง การถ่ายอุจจาระของเด็กในลักษณะนี้ ตามความหมายขององค์การอนามัยโลกแล้ว คืออาการท้องเสีย ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์
  • ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจขับถ่ายอุจจาระหลายวันครั้ง หรือวันละหลาย ๆ ครั้ง ทารกบางรายอาจไม่ขับถ่ายอุจจาระนาน 5-10 วัน โดยทารกไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ดูดนมได้ดี น้ำหนักขึ้นตามปกติ
  • ลูกขับถ่ายบ่อย ถ่ายกะปริบกะปรอย อาจพิจารณาจากลักษณะของอุจจาระว่ามีเนื้อดี หรือเหลว เป็นน้ำออกมากกว่ากากอุจจาระ มีมูก เลือด มากกว่า 1 ครั้งหรือไม่ ลูกมีอาการ ปวดท้อง ไม่ร่าเริง งอแง ซึม มีไข้ ร่วมด้วยไหม หากลูกถ่ายกะปริบกะปรอย มีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ไม่ควรชะล่าใจ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์
  • นอกจากการขับถ่ายบ่อยแล้ว สีของอุจจาระนั้นยังบ่งบอกสุขภาพของลูกได้ อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเกิดความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหารของลูก หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม

สำหรับทารกแรกคลอด จะถ่ายอุจจาระวันละ 3-6 ครั้ง อาจถ่ายเกือบทุกครั้งที่กินนม ในช่วงหลังคลอดภายใน 24 ชั่งโมง จะถ่ายอุจจาระสีเทาปนดำที่เรียกว่า ขี้เทา ต่อมาเมื่อกินนมแล้วขี้เทาจะเปลี่ยนเป็นสีอุจจาระปกติภายใน 4-5 วัน โดยสีของขี้เทาจะเปลี่ยนสีจากสีเทาเข้มเป็นสีเขียว เขียวเหลือง และเป็นสีเหลืองในที่สุด

 

สำหรับเด็กวัยทารก จนกระทั่งถึงวัยเด็กโต (ซึ่งไม่รวมเด็กเล็กที่กินนมแม่ เด็กเล็กที่กินนมแม่มักจะถ่ายบ่อย แต่อุจจาระจะเป็นลักษณะเป็นเนื้อดี) หากมีความถี่ของการถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะถ่ายเหลวไปจากเดิม ถ่ายอุจจาระถี่ 3 ครั้งขึ้นไป ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก 1 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง การถ่ายอุจจาระของเด็กในลักษณะนี้ ตามความหมายขององค์การอนามัยโลกแล้ว คือ อาการลูกท้องเสีย ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์

 

ลูกน้อยแต่ละช่วงวัย ควรถ่ายวันละกี่ครั้ง

การขับถ่ายอุจจาระในเด็กเล็ก เป็นปัญหาสุขภาพที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจและสังเกตเป็นพิเศษ ทารกแต่ละคนก็มีความถี่ในการขับถ่ายแตกต่างกันไป ซึ่งการขับถ่ายของทารกจะมีการขับถ่ายตามช่วงวัย ดังนี้

  1. วัยแรกเกิดถึง 6 สัปดาห์ เด็กทารกแรกคลอดบางคนอาจมีการขับถ่ายมากถึง วันละ 8-10 ครั้ง ในบางคนอาจมีการขับถ่ายวันเว้นวัน
  2. ทารกวัยแรกเกิดถึง 3 เดือน จะขับถ่ายอุจจาระวันละ 2-3 ครั้ง ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจอุจจาระหลายวันครั้ง หรือวันละหลายครั้ง แต่ในบางรายอาจไม่อุจจาระนาน 5-10 วัน โดยทารกไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ น้ำหนักขึ้นตามปกติ ดูดนมได้ดี
  3. วัย 3 เดือนขึ้นไป ถึง 6 เดือน อาจขับถ่ายอุจจาระวันละ 2-4 ครั้ง
  4. วัย 6 เดือนขึ้นไป อาจขับถ่ายวันละ 1-2 ครั้ง หรือ 5-28 ครั้งต่อสัปดาห์

 

ลูกถ่ายกะปริบกะปรอยวันละ 3-4 ครั้ง เพราะอะไร

โดยปกติเด็กแรกเกิดจะถ่ายอุจจาระเกือบทุกครั้งที่กินนม เด็กทารกแรกเกิดถึง 3 เดือน อาจขับถ่ายวันละ 2-3 ครั้ง หรือ 5-40 ครั้งต่อสัปดาห์ อายุ 3-6 เดือน อาจขับถ่ายวันละ 2-4 ครั้ง และอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจขับถ่ายวันละ 1-2 ครั้ง หรือ 5-28 ครั้งต่อสัปดาห์ เด็กทารกอาจจะไม่ได้ขับถ่ายทุกวัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นอาการท้องผูกเสมอไป ให้สังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หากลูกน้อยขับถ่ายบ่อย 3-4 ครั้ง ถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้งขึ้นไป หรือทารกถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง การอุจจาระของเด็กในลักษณะนี้ อาจทำให้มีอาการท้องเสียได้ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์

 

ลูกถ่ายกะปริบกะปรอยแบบไหน เริ่มเป็นอันตราย

การที่ลูกถ่ายบ่อย ๆ ถ่ายกะปริบกะปรอย คุณพ่อคุณแม่อาจพิจารณาจากลักษณะของอุจจาระว่ามีเนื้อดี หรือเหลวเป็นน้ำออกมากกว่ากาก อุจจาระมีมูกเลือดมากกว่า 1 ครั้ง หรือมีลักษณะต่างไปจากเดิมจากที่เคยขับถ่ายเป็นประจำไหม ลูกงอแง ปวดท้อง ไม่ร่าเริง ซึม มีไข้ อาเจียนร่วมหรือเปล่า หากลูกถ่ายกะปริบกะปรอย มีอาการร่วมเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์

 

สีของอุจจาระ บ่งบอกถึงความผิดปกติของลูกได้

สีอุจจาระของทารกเปลี่ยนไปจากชนิดอาหารที่ลูกทาน และอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเกิดความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหารของลูก หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า สีอุจจาระของลูกเปลี่ยนไป มีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์

  1. อุจจาระสีเหลือง เป็นสีอุจจาระปกติ แต่หากอุจจาระเป็นสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น มีความมัน อาจเป็นสัญญาณของภาวะการดูดซึมสารอาหารของร่างกายผิดปกติได้
  2. อุจจาระสีน้ำตาล เป็นสีอุจจาระปกติ อุจจาระที่มีสีค่อนไปทางสีน้ำตาลเกิดจากน้ำดีในตับทำหน้าที่ระหว่างการย่อยอาหาร อุจจาระสีน้ำตาลนี้ บ่งบอกถึงการทำงานระบบทางเดินอาหาร และระบบย่อยอาหารที่เป็นปกติ มีสุขภาพที่ดี
  3. อุจจาระสีเขียว อาจเกิดจากการทานยา หรืออาหารบางชนิด เช่น ธาตุเหล็กที่ผสมในนม, ผักโขม, อาหารที่ใส่สีผสมอาหารสีเขียว นอกจากนี้ อุจจาระสีเขียว ของลูกน้อย อาจเกิดจากการที่เด็กมีภาวะท้องร่วง ซึ่งอุจจาระสีเขียวนี้เกิดจากภาวะที่อาหารผ่านลำไส้ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้แบคทีเรียในลำไส้ไม่สามารถทำปฏิกิริยากับบิลิรูบินในน้ำดี และดูดซึมกลับได้
  4. อุจจาระสีเหลืองซีด หรือสีขาว เกิดจากการอุดตันในท่อน้ำดี ทำให้ไม่มีน้ำดีในอุจจาระ มักพบได้ในเด็กที่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตัน ทารกจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีขาว เหลืองซีด พบได้ในทารกอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไป หากไม่ได้รับการผ่าตัดก่อนอายุ 2 เดือน อาจทำให้ตับที่มีน้ำดีคั่งอยู่มีการอักเสบ ทำให้ทารกตับแข็ง เสี่ยงเสียชีวิตได้ อีกสาเหตุที่ทำให้อุจจาระสีเหลืองซีด อาจเกิดจากการทานยาบางชนิด จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุ
  5. อุจจาระสีแดง เกิดจากการมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง คือ ลำไส้เล็กส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก อุจจาระเป็นเลือดสีแดง มีสาเหตุหลายอย่าง เช่น ภาวะลำไส้กลืนกัน แผลในลำไส้ หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หากอุจจาระมีมูกเลือดปนด้วย อาจเกิดจากการอักเสบของผนังลำไส้ การติดเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจเกิดจากการทานยาและอาหารที่ทำให้อุจจาระมีสีแดง เช่น ยาปฏิชีวนะ cefdinir หรือทานมะเขือเทศ แก้วมังกรสีแดง บีทรูท
  6. อุจจาระสีดำ อาจเป็นเพราะทานยา หรือทานอาหารที่ทำให้อุจจาระมีสีดำ เช่น ธาตุเหล็ก องุ่นดำ บลูเบอร์รี่ แต่หากสีอุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอย มีกลิ่นเหม็นคาว อาจส่งสัญญาณว่า เกิดแผลในทางเดินอาหาร มีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน ซึ่งทั้งนี้อาจเกิดจากเนื้องอก การอักเสบ หรือภาวะหลอดเลือดโป่งพอง

 

ระวังอาการร่วมเหล่านี้ เมื่อลูกถ่ายกะปริบกะปรอย

 

อาการร่วม เมื่อลูกถ่ายกะปริบกะปรอย

เด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจและดูแลเป็นพิศษ เพราะเป็นช่วงวัยที่เปราะบาง อาการร่วมต่าง ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตลูก หากลูกถ่ายกะปริบกะปรอย มีดังนี้

  • มีไข้ ปวดศีรษะ ลูกอาเจียน หรือชัก
  • กินนมและอาหารได้น้อยลงไม่เหมือนเดิม
  • อ่อนเพลีย ซึม ไม่ร่าเริง
  • ปวดท้อง งอแง
  • น้ำหนักลดลง ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม
  • มีภาวะขาดน้ำ เบ้าตาลึก กระหม่อมบุ๋ม
  • เหนื่อยหอบ ริมฝีปากแห้ง
  • ถ่ายอุจจาระเหลว มีน้ำออกมามากกว่ากาก 3 ครั้งขึ้นไป ต่อวัน
  • ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 10 ครั้ง ต่อวัน

 

วิธีดูแลลูกน้อยอย่างถูกต้อง ป้องกันลูกถ่ายกะปริบกะปรอย

การป้องกันดูแลหากลูกขับถ่ายกะปริบกะปรอย มีวิธีดูแลดังนี้

  1. สร้างภูมิต้านทานให้ลูก ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  2. ให้วัคซีนป้องกันโรคท้องเสียจากเชื้อโรต้า ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
  3. ถ่ายอุจจาระในที่ที่ถูกสุขลักษณะ
  4. คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูแลควรล้างมือก่อนหยิบจับอาหาร ปรุงอาหารให้ลูก หรือล้างมือหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือหลังการเข้าห้องน้ำ
  5. ให้ลูกทานอาหารที่สุกสะอาดไม่มีแมลงวันตอม
  6. ล้างผัก ผลไม้ ที่ประกอบอาหารให้ลูกให้สะอาด
  7. หากจะเก็บอาหารควรเก็บไว้ในตู้เย็น ก่อนให้ลูกทานควรอุ่นให้ร้อนเสมอ
  8. ทำความสะอาดของใช้ลูกทุกอย่างให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคสะสม
  9. สอนให้เด็ก ๆ ล้างมือให้เป็นนิสัย เช่น ก่อนทานอาหาร หรือ หลังเข้าห้องน้ำ
  10. กำจัดขยะเพื่อไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน

 

การสังเกตการขับถ่ายอุจจาระ ลักษณะหรือสีอุจจาระทารก มีความสำคัญมาก ๆ กับการดูแลสุขภาพของลูก นอกจากจะบ่งบอกโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรละเลยที่จะหมั่นสังเกตการขับถ่ายของลูก เพื่อจะได้ทราบถึงภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และจะได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันเวลา

 

นอกจากนี้คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด มีจุลินทรีย์สุขภาพ บีแล็กทิส (B. lactis) และ 2’FL ซึ่งเป็น HMO (โอลิโกแซกคาไรด์ที่พบในนมแม่) ซึ่งจุลินทรีย์สุขภาพ บีแล็กทิส (B. lactis) เป็นหนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และยังเป็นโพรไบโอติก ที่สามารถส่งต่อเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ลูกน้อย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

 

อ้างอิง:

  1. “ลักษณะทั่วไปของทารกแรกเกิด” สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้..เพื่อดูความผิดปกติ, โรงพยาบาลพญาไท
  2. โรคท้องเสียในเด็ก, แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข
  3. ท้องผูกในเด็ก เรื่อง (ไม่) เล็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้!, โรงพยาบาลศิครินทร์
  4. ทารกท้องผูก คุณแม่ควรทำอย่างไร, pobpad
  5. ท้องผูกในเด็ก, โรงพยาบาลขอนแก่น ราม
  6. สีอุจจาระ บอกสุขภาพ, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  7. สีของอุจจาระสำคัญอย่างไร, สมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับแห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
  8. ลูกน้อยท้องเสียบ่อย ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
  9. 4 อาการสำคัญของโรคท้องเสียในเด็กที่ต้องรีบมาพบแพทย์, โรงพยาบาลนครธน
  10. 6 วิธีรับมือเมื่อลูกท้องเสีย, โรงพยาบาลบางปะกอก
  11. อุจจาระบอก(โรค)อะไรได้บ้าง, โรงพยาบาลสมิติเวช

อ้างอิง ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567
 

บทความแนะนำ

เหาเกิดจากอะไร คุณแม่มีวิธีกำจัดเหาในเด็กเล็กได้อย่างไรบ้าง

เหาเกิดจากอะไร คุณแม่มีวิธีกำจัดเหาในเด็กเล็กได้อย่างไรบ้าง

เหาเกิดจากอะไร ลูกเป็นเหา คันหนังศีรษะ คุณแม่มีวิธีกำจัดเหาอย่างไร หากปล่อยไว้นาน ไม่กำจัดเหา จะเป็นอันตรายกับลูกน้อยไหม พร้อมวิธีป้องกันเหาในเด็ก

ใบเกิดหาย สูติบัตรหาย ทำอย่างไรดี พร้อมขั้นตอนขอสูติบัตรใหม่

ใบเกิดหาย สูติบัตรหาย ทำอย่างไรดี พร้อมขั้นตอนขอสูติบัตรใหม่

ใบเกิดหาย สูติบัตรหาย ทำอย่างไรได้บ้าง อยากขอใบเกิดและสูติบัตรใหม่ต้องแจ้งที่ไหน มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง คัดลอกสำเนานานไหม พร้อมขั้นตอนการขอสูติบัตรใหม่

ออมเงินให้ลูก ดอกเบี้ยสูง เปิดบัญชีให้ลูกธนาคารไหนดี

ออมเงินให้ลูก ดอกเบี้ยสูง เปิดบัญชีให้ลูกธนาคารไหนดี

พ่อแม่ยุคใหม่ อยากเปิดบัญชีให้ลูกทำยังไงได้บ้าง เปิดบัญชีให้ลูกได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ต้องเตรียมเอกสารและมีขั้นตอนอย่างไร เปิดบัญชีให้ลูกธนาคารไหนดี

ย้ายทะเบียนบ้านลูกใช้อะไรบ้าง พร้อมขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้านลูก

ย้ายทะเบียนบ้านลูกใช้อะไรบ้าง พร้อมขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้านลูก

ย้ายทะเบียนบ้านลูกใช้อะไรบ้าง คุณพ่อคุณแม่อยากย้ายทะเบียนบ้านลูกต้องเตรียมเอกสารอะไร สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ไหม พร้อมขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้านลูกที่ถูกต้อง

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก