วิธีทำสไลม์ สูตรทำสไลม์สำหรับเด็ก พร้อมส่วนผสมที่ปลอดภัย
สไลม์ เป็นของเล่นที่ใช้มือปั้น จับยืด ควบคุม เล่นได้อย่างสนุก ลักษณะเด้งดึ๋ง เหนียวหนืด ยืด ๆ ที่ทำให้เด็ก ๆ ได้เล่นแล้วถูกใจ นอกจากสไลม์จะมีข้อดีแล้ว ก็อาจส่งผลเสียได้เหมือนกัน ฉะนั้นก่อนให้ลูกเล่นสไลม์คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาข้อมูล ส่วนประกอบของสไลม์ให้ดี เลือกสไลม์ให้ลูกเล่นอย่างถูกวิธี ไม่มีสารพิษเป็นส่วนประกอบ ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้คลาดสายตาเวลาเล่น จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อการสัมผัสสารพิษจากการเล่นสไลม์ได้
สรุป
- ก่อนที่สไลม์จะมาเป็นของเล่นยอดฮิต สไลม์ถูกนำมาทำความสะอาดฝุ่นละอองที่ติดตามซอกเล็ก ๆ เพราะมีความเหนียว ความยืดหยุ่นของสไลม์นี้เองที่ทำให้จับฝุ่น เก็บสิ่งสกปรกได้ดี
- ต่อมาสไลม์ เป็นของเล่นที่ได้รับความนิยม สไลม์ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า น้ำลายเอเลี่ยน เป็นของเล่นสำหรับให้เด็ก ๆ ปั้น คล้ายดินน้ำมัน แต่สไลม์นั้นจะมีลักษณะเด้งดึ๋ง เหนียว นุ่ม เมื่อจับยืดหรือดึง สไลม์ก็จะคืนสภาพเดิมได้
- เนื้อสัมผัสที่ยืดหยุ่นของสไลม์ ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส และช่วยให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ การเล่น ยืดสไลม์เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ใจจดจ่อ และเกิดสมาธิ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- สไลม์ คืออะไร
- สไลม์ เหมาะกับเด็กวัยไหน
- สไลม์ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้ไหม
- รวมสูตรทำสไลม์ สำหรับลูกน้อย
- ทำสไลม์ยังไง ให้ทั้งสวยและน่าเล่น
- ทำสไลม์ให้ปลอดภัยกับผิวลูก ต้องเลือกส่วนผสมแบบไหน
- ข้อดี-ข้อเสียของการเล่นสไลม์สำหรับเด็ก
- ให้ลูกเล่นสไลม์แบบไหน ปลอดภัยสำหรับลูกที่สุด
- เคล็ดลับเก็บสไลม์ให้อยู่ได้นาน ไม่เลอะบ้าน
- สไลม์ติดผมลูก เอาออกยังไงดี
สไลม์ คืออะไร
สไลม์ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า น้ำลายเอเลี่ยน เป็นของเล่นสำหรับให้เด็ก ๆ ปั้น คล้ายดินน้ำมัน แต่สไลม์นั้นจะเด้ง ๆ เหนียวหนืด เมื่อจับยืด ดึง สไลม์จะคืนสภาพเดิมได้ เมื่อก่อนนั้นสไลม์ถูกนำมาใช้ทำความสะอาดฝุ่นละอองที่ติดตามซอกเล็ก ๆ หรือตามคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ ความยืดหยุ่น เหนียวหนืดของสไลม์ทำให้จับฝุ่นได้ดี ปัจจุบัน สไลม์ เป็นของเล่นที่ได้รับความนิยมมาก ทั้งในวัยเด็ก วัยรุ่น จนถึงวัยผู้ใหญ่ เมื่อได้เล่นสไลม์มีการสัมผัส ดึง บีบ ช่วยให้คนเล่นผ่อนคลาย มีสมาธิ และช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส
สไลม์ เหมาะกับเด็กวัยไหน
เนื้อสัมผัสที่ยืดหยุ่น เด้งนุ่มของสไลม์ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส เมื่อออกแรงกด บีบ หรือจับยืด ประสาทสัมผัสจะถูกกระตุ้น เป็นของเล่นส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ผ่านการเล่น ให้เด็กได้ใช้เวลาเล่นกับเพื่อน ๆ ส่งเสริมให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมือให้คล่อง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเขียน เหมาะสำหรับเป็นกิจกรรมสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี เพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือมัดเล็ก กล้ามเนื้อนิ้วมือ เป็นการฝึกหยิบจับ ช่วยประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา
สไลม์ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้ไหม
สไลม์ ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส ทั้งเนื้อสัมผัสที่ยืดหยุ่น และนุ่ม เมื่อสัมผัส บีบ กด ออกแรง จะเพลินเพลิน เสียงที่เกิดจากการบีบ กดนั้น จะช่วยส่งเสริมการใช้ประสาทสัมผัส ช่วยให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนั้นแล้ว การบีบ ยืดสไลม์โดยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นการช่วยทำให้ผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด รู้สึกสงบและเกิดสมาธิ หากเด็กมุ่งความสนใจไปที่การเล่นสไลม์เป็นประจำ จะช่วยฝึกทักษะความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมือ และเกิดความคิดสร้างสรรค์ตามมา
รวมสูตรทำสไลม์ สำหรับลูกน้อย
1. สูตรทำสไลม์ด้วยแป้งข้าวโพดและแชมพู
ส่วนผสม
- แป้งข้าวโพด ½ ถ้วย
- แชมพูแบบครีมข้น ¼ ถ้วย
- สีผสมอาหาร
วิธีทำ
- เทแชมพู และสีผสมอาหารลงในชาม คนให้เข้ากัน
- ค่อย ๆ เทแป้งข้าวโพด ½ ถ้วย ลงในชามแชมพูที่ผสมสีแล้ว
- คนแป้งกับแชมพูให้เข้ากัน จนจับตัวเป็นก้อน นวดจนยืดหยุ่นดี
2. สูตรทำสไลม์ด้วยแป้งข้าวโพดและน้ำยาล้างจาน
ส่วนผสม
- แป้งข้าวโพด 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำยาล้างจานสูตรอ่อนโยน หรือน้ำยาล้างจานสำหรับเด็ก 1 ½ ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- เทแป้งข้าวโพดลงในชาม
- เติมน้ำยาล้างจาน 1 ½ ช้อนโต๊ะ ลงในชาม
- คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน แล้วพักไว้ 2 นาที ก็จะได้สไลม์ตามที่ต้องการ
3. สูตรทำสไลม์ด้วยน้ำยาล้างจานและน้ำตาล
ส่วนผสม
- น้ำยาล้างจานสูตรอ่อนโยน หรือน้ำยาล้างจานสำหรับเด็ก ¼ ถ้วย
- น้ำตาลทราย 3 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- เทน้ำยาล้างจาน และน้ำตาลลงในชาม คนผสมให้เข้ากัน
- นำส่วนผสมที่คนเข้ากันแล้ว เข้าไมโครเวฟ 10 วินาที และนำชามออกมาคนอีกครั้งให้เนื้อข้นขึ้น
- ทำซ้ำขั้นตอนที่ 2 จนกว่าส่วนผสมจะข้นขึ้น และมีลักษณะเหมือนสไลม์
ทำสไลม์ยังไง ให้ทั้งสวยและน่าเล่น
- ใส่สีผสมอาหาร เพื่อให้มีสีสันสดใสตามที่ต้องการ
- ผสมกลิตเตอร์ให้มีความแวววาว มีหลากหลายรูปแบบและขนาด เลือกได้ตามชอบใจ เพื่อเพิ่มความสวยงา
- ใส่เม็ดโฟมลงไปในสไลม์ เพื่อเปลี่ยนเนื้อสัมผัสของสไลม์ให้แตกต่างไปจากเดิม
ทำสไลม์ให้ปลอดภัยกับผิวลูก ต้องเลือกส่วนผสมแบบไหน
เลือกส่วนผสมที่ปลอดภัยปราศจากสารเคมี สารหนู โลหะหนัก สไลม์ที่ปลอดภัยกับผิวลูกไม่ควรมีสารบอแรกซ์ การที่เด็กสูดดม และจับ สัมผัสสารเคมีเข้าไป เป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ หรืออาจส่งผลต่อระบบประสาทได้ อีกทั้งสไลม์ยังมีความหนืด เป็นตัวดูดซับฝุ่นสะสมจนเกิดเชื้อโรค ควรอ่านฉลาก เลือกส่วนประกอบที่ปลอดภัยเหมาะสำหรับเด็ก และปฏิบัติตามคำแนะนำก่อนให้เด็กเล่น
ข้อดี-ข้อเสียของการเล่นสไลม์สำหรับเด็ก
ข้อดีของการเล่นสไลม์
- สไลม์มีเนื้อสัมผัสที่นุ่ม เหนียว ยืดหยุ่น สีสันสดใส ทำให้เด็ก ๆ สัมผัสสไลม์ได้อย่างสนุกเพลิดเพลิน ช่วยในการกระตุ้นประสาทสัมผัส และเกิดความคิดสร้างสรรค์
- เสียงที่เกิดขึ้นจากแรงยืด กด บีบ เวลาเล่นสไลม์ ช่วยในการสร้างการตอบสนองทางประสาทสัมผัสอัตโนมัติ ทำให้ลดความวิตกกังวล ผ่อนคลาย
- การเล่นสไลม์ เป็นประจำช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และทักษะการแก้ปัญหาของเด็ก
- เมื่อเล่นสไลม์ แล้วจับบีบ ยืด สไลม์บนฝ่ามือ และปล่อยสไลม์ด้วยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อข้อมือ หรือกำปั้น จะช่วยให้ผ่อนคลาย เป็นการสร้างสมาธิและรู้สึกสงบ
- สไลม์ใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการศึกษา เช่น งานศิลปะ เคมีฟิสิกส์ เพราะสไลม์สามารถปรับแต่งด้วยสี พื้นผิว และยังสามารถสร้างสไลม์แบบกำหนดเองได้
ข้อเสียของการเล่นสไลม์
- สไลม์มักมีส่วนผสมของ บอแรกซ์ น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน ซึ่งต้องเล่นด้วยความระมัดระวังและเหมาะสมกับวัย หากสัมผัสเป็นเวลานาน ๆ อาจเกิดการระคายเคือง ผิวหนังแดง ลอก ผิวหนังไหม้ได้
- บอแรกซ์ที่เป็นส่วนผสมของสไลม์ ดูดซึมได้ง่ายทางกระเพาะอาหาร ไม่ว่าจะกลืนกินหรือดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป จะทำให้คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน ปวดศีรษะ
- สไลม์ที่มีขายทั่วไปอาจมีส่วนผสมของสารเคมี เช่น โลหะหนักหรือสารหนู สารโทลูอีนที่ใช้ในอุตสาหกรรม เมื่อสัมผัสเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ ส่งผลต่อระบบประสาท
- ความเหนียวหนืดของสไลม์จะดูดซับสิ่งสกปรก ฝุ่น จากพื้นผิวต่าง ๆ สะสมจนก่อเป็นเชื้อโรค หากลูกเล่นจะมีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
ให้ลูกเล่นสไลม์แบบไหน ปลอดภัยสำหรับลูกที่สุด
- เพื่อลดการรับเชื้อเข้าร่างกาย ระหว่างเล่นควรสอนให้ลูกอย่าเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา เพราะลักษณะของสไลม์จะสะสมเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี สามารถรับเชื้อเข้าร่างกายได้สูงมาก
- ให้ลูกล้างมือทุกครั้งหลังเล่นเสร็จ เพื่อลดโอกาสรับเชื้อเข้าร่างกาย
- ในระหว่างลูกเล่นสไลม์คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังไม่ให้ลูกเอาสไลม์เข้าปาก
- ควรอ่านฉลาก ปฏิบัติตามคำแนะนำ และตรวจสอบให้ดีว่า สไลม์มีส่วนผสมของสารเคมีใด ๆ บ้าง
- เก็บอุปกรณ์และส่วนผสมในการทำสไลม์ โดยเฉพาะ กลิตเตอร์ ลูกปัดชิ้นเล็ก ๆ ให้พ้นมือเด็ก เพราะเมื่อเด็กนำเข้าปาก อาจทำให้สำลัก ติดคอ จนเกิดอันตรายได้
เคล็ดลับเก็บสไลม์ให้อยู่ได้นาน ไม่เลอะบ้าน
ล้างมือให้สะอาดก่อนเล่นสไลม์ เพื่อลดความสกปรกที่เกิดขึ้นกับสไลม์ จัดเก็บสไลม์ใส่ในภาชนะพลาสติกที่ใช้ใส่อาหารถุงพลาสติกถนอมอาหาร หรือที่เรียกว่า ถุงซิปล็อค เพื่อเก็บสไลม์ไม่ให้โดนลม ปิดกล่องพลาสติก หรือถุงซิปล็อค ให้สนิทไม่ให้อากาศเข้าไปได้
สไลม์ติดผมลูก เอาออกยังไงดี
หากลูกเล่นสไลม์แล้วเผลอเอาไปติดผม คุณแม่สามารถเอาสไลม์ออกจากผมลูก ด้วยการสระผมให้ลูกด้วยน้ำอุ่น สระผมตามปกติ ใช้แชมพูชโลมบนศีรษะแล้วขยี้เบา ๆ ล้างออกด้วยน้ำอุ่น สไลม์จะค่อย ๆ หลุดออกจากเส้นผม
นอกจากการเล่นสไลม์จะให้ประโยชน์กับผู้เล่นแล้ว แต่ก็ยังส่งผลเสียให้ผู้เล่นได้ไม่น้อย หากซื้อสไลม์ให้ลูกเล่น คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านฉลาก ปฏิบัติตามคำแนะนำ และสอนให้ลูกเล่นสไลม์อย่างถูกวิธีและปลอดภัย ไม่เอาเข้าปาก ไม่กินหรือกลืนเข้าไป ระมัดระวังดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อลูกเล่นสไลม์ เน้นเลือกสไลม์ที่ปลอดภัย ปราศจากการผสมสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือสารบอแรกซ์ หากลูกเล่นสไลม์แล้วเกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง หรือคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- 7 วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด ฝึกลูกพูดช้าให้พูดเร็วตามช่วงวัย
- 10 กิจกรรมฝึกสมองวัยซน เสริมพัฒนาการให้ลูกสมองไว
- EF คืออะไร สำคัญต่อพัฒนาการสมองของเด็กในแต่ละช่วงวัยอย่างไร
- พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิด - 1 ปี พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการเด็กอายุ 1 ขวบ
- พัฒนาการเด็ก 2 ขวบ พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการ 2 ขวบลูกน้อย
- พัฒนาการเด็ก 3 ขวบ พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย
- พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน ลูกน้อยมีพัฒนาการไปถึงไหนแล้ว
- วัยทอง 2 ขวบ ลูกเอาแต่ใจ พ่อแม่มือใหม่รับมือวัยทองเด็กแบบไหนดี
อ้างอิง:
- “สไลม์ (Slime)” ของเล่นเด็กกับความรู้ทางเคมี, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- จาก “ของเล่น” สู่ “ของคลายเครียด” เพลิดเพลินไปกับสภาวะลื่นไหลที่ครองใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
- พัฒนาการเด็ก แต่ละช่วงวัย (เด็กแรกเกิด - 6 ปี), โรงพยาบาลสมิติเวช
- การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก(Fine-Motor Skills), โรงเรียนศรีสุวิช
- 4 WAYS TO MAKE SLIME WITHOUT BORAX, TheTechEdvocate
- How To Make Slime with Baking Soda, Mcstemacdemy
- Non-Stick Slime with Only 2 Ingredients, Glazer Children’s Museum
- The Joys and Dangers of Slime, Nationwidechildrens
- สไลม์ น้ำลายเอเลี่ยน ของเล่นยอดฮิต...แต่สุดอันตราย, โรงพยาบาลยันฮี
- IS HOMEMADE SLIME SAFE OR TOXIC?, Missouri poison center
- Slime Making Tips | How to Fix Slime, playandgo
- THE BEST NON STICKY SLIME RECIPE (PERFECT FOR TODDLER ACTIVITIES), kidactivitieswithalexa
- คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 2560 สำหรับเด็กอายุ 3-6-ปี, สำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
- Floam Slime, The Best Ideas for Kids
อ้างอิง ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง