ผื่นส่าไข้ คืออะไร วิธีสังเกตส่าไข้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

ผื่นส่าไข้ คืออะไร เป็นผื่นส่าไข้กี่วันหาย พร้อมวิธีสังเกตอาการ

11.09.2024

ส่าไข้ คืออะไร? พ่อแม่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินหรือรู้จักกับโรคนี้มาก่อนจนกระทั่งลูกป่วย โรคส่าไข้มีอาการคล้ายกับไข้หวัด มักทำให้ลูกน้อยตัวร้อน มีไข้ แถมยังมีตุ่มออกผื่นที่คล้ายกับโรคอีสุกอีใสอีก โรคส่าไข้เกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็นโรคยอดฮิตในเด็ก โรคส่าไข้ในเด็กรุนแรงแค่ไหน และมีวิธีดูแลลูกน้อยอย่างไรเมื่อเป็นไข้ เรามาหาคำตอบกันเลย 

headphones

PLAYING: ผื่นส่าไข้ คืออะไร เป็นผื่นส่าไข้กี่วันหาย พร้อมวิธีสังเกตอาการ

อ่าน 6 นาที


สรุป

  • โรคส่าไข้ หรือไข้ผื่นกุหลาบ เกิดจากเชื้อไวรัสมักเกิดขึ้นกับเด็กวัย 6 เดือน จนถึง 2 ปี ที่มักคลุกคลีหรือเล่นด้วยกัน ทำให้ลูกน้อยมีน้ำมูกไหล มีผื่นหรือตุ่มแดงขึ้น กำลังมีไข้หรือหายจากไข้แล้วก็ได้ โดยผื่นส่าไข้จะหายไปเองภายใน 3-4 วัน
  • โรคส่าไข้ ไม่ใช่โรคผิวหนังแต่เป็นโรคในกลุ่มไข้ออกผื่น เป็นโรคที่เด็กหายได้เอง อาการไม่รุนแรง หากลูกน้อยไม่มีไข้ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกน้อยกินยาใด ๆ เพียงให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ และให้ลูกนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด
  • หากลูกน้อยมีอาการตัวร้อน มีไข้ ให้คุณแม่สังเกตอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร ท้องเสียหลายครั้งต่อวัน หายใจลำบาก หรือชักเกร็ง ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

โรคส่าไข้ในเด็ก คืออะไร

ส่าไข้ หรือไข้ผื่นกุหลาบ (Roseola Infatum) คืออาการที่เด็กมีตุ่มแดง ๆ ขึ้นตามตัวหลังจากมีไข้หรือมีไข้อยู่ อาการจะคล้ายกับการเป็นหัด หรืออีสุกอีใส โรคนี้พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ลักษณะอาการ คือ เหมือนจะมีไข้พร้อมกับมีตุ่มแดง ๆ ขึ้นตามลำตัวด้วย คุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยเหมือนกับวิธีดูแลเมื่อลูกเป็นไข้ เพราะปกติแล้วอาการจะหายไปเองภายใน 3-4 วัน หากเด็กไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ส่าไข้ในเด็ก หากลูกน้อยหายแล้วจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยสาเหตุของการเกิดส่าไข้หรือผื่นกุหลาบมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งเด็กอาจได้รับจากการหายใจ หรือได้รับละอองเสมหะจากการจามรดกัน หรือมาจากการสัมผัสของเล่นของเด็กที่ป่วย ส่าไข้ในเด็ก มักเกิดขึ้นกับเด็กวัย 6 เดือน จนถึง 2 ปี

 

อาการของส่าไข้ในเด็ก จะทำให้ลูกน้อยมีน้ำมูกไหล เจ็บคอคล้ายอาการของไข้หวัด ในเด็กบางรายอาจรู้สึกเบื่ออาหาร มีผื่นหรือตุ่มแดงขึ้นบริเวณลำตัวแล้วลามไปยังบริเวณแขนและขาของลูกน้อยหลังจากลูกน้อยมีไข้ หรือกำลังมีไข้สูงอยู่ โดยเฉพาะใน 2 วันแรก และผื่นส่าไข้จะหายไปเองภายใน 3-4 วัน

 

โรคส่าไข้ คือโรคผิวหนังหรือไม่

โรคส่าไข้ หรือไข้ผื่นกุหลาบ ไม่ใช่โรคผิวหนังแต่เป็นโรคในกลุ่มไข้ออกผื่น คือมีไข้พร้อมกับมีตุ่มแดง ๆ ขึ้นตามตัวเช่นเดียวกับโรคอีสุกอีใส งูสวัด โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคอีดำอีแดง โรคมือเท้าปาก โรคฟิฟท์ หรืออีริทีมา อินเฟกทิโอซัม โรคคาวาซากิ และโรคไข้เลือดออก

 

ผื่นส่าไข้ในเด็ก ลูกน้อยหายเองได้ไหม

ส่าไข้ในเด็ก เป็นโรคที่เด็กหายเองได้ หากลูกน้อยไม่มีไข้ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกน้อยกินยาใด ๆ เนื่องจากเป็นระยะที่เด็กกำลังจะหายป่วยแล้ว ในกรณีที่เด็กมีไข้สูงแนะนำให้คุณแม่พาลูกน้อยไปพบแพทย์ พร้อมทั้งดูแลลูกน้อยด้วยการให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ พยายามเช็ดตัวให้ลูกจนกว่าไข้จะลดลง และให้ลูกน้อยกินยาลดไข้ตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่แนะนำให้คุณแม่ซื้อยามาให้ลูกกินเอง เพราะอาจทำให้ลูกเสี่ยงอันตรายยิ่งขึ้น

 

ผื่นส่าไข้ในเด็กหรือไข้ผื่นกุหลาบ ต้องดูแลอย่างไร

ส่าไข้ในเด็ก อาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการไข้สูงเฉียบพลันได้ คุณแม่ควรดูแลลูกน้อย ดังนี้

  • หากลูกน้อยตัวร้อนและมีไข้สูง แนะนำให้พาลูกไปพบแพทย์ หมั่นเช็ดตัวเพื่อลดอาการตัวร้อน โดยการเช็ดตัวเบา ๆ เพื่อไม่ให้ตุ่มผื่นเกิดการอักเสบ และให้ลูกกินยาลดไข้ตามคำแนะนำของแพทย์ทุก 4-6 ชั่วโมง
  • หากลูกน้อยมีผื่นขึ้นตามตัว หลังจากหายไข้ คุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องทาแป้งหรือทายาลดอาการผื่น เนื่องจากเป็นผื่นที่ไม่ทำให้เกิดอาการคัน และมักจะหายไปเองภายใน 3 วัน

 

ส่าไข้ คืออะไร ผื่นส่าไข้ในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้

 

โรคส่าไข้ในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ป้องกันได้ไหม

ส่าไข้ในเด็กป้องกันได้ยาก เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อผ่านทางการหายใจและการสัมผัสสิ่งของร่วมกับผู้อื่น หากคุณแม่ให้ลูกน้อยไปคลุกคลีกับเด็กที่ป่วย อาจทำให้เกิดโอกาสติดส่าไข้ได้ง่าย อีกทั้งโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่อย่างใด แต่คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคส่าไข้ในเด็กได้ คือ ระมัดระวังไม่ให้ลูกไปคลุกคลีกับเด็กที่มีอาการป่วย เมื่อลูกมีอาการป่วยให้แยกเด็กออกจากเด็กคนอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และควรเช็ดทำความสะอาดของเล่นของลูกน้อยเป็นประจำ

ผื่นส่าไข้ในเด็ก อาการร่วมแบบไหนที่พ่อแม่ควรระวัง

แม้ว่าผื่นส่าไข้ในเด็กเป็นโรคที่หายเองได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อย คือ

  • ท้องเสียหลายครั้งต่อวัน: หากลูกน้อยมีอาการท้องเสียร่วมด้วย หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน คุณแม่ต้องสังเกตว่าลูกเป็นบ่อยไหม เพราะถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้ร่างกายลูกน้อยขาดน้ำได้
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง: หากลูกมีไข้ตัวร้อน พร้อมมีอาการซึม อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ควรพาลูกไปพบหมอให้เร็วที่สุด
  • ไม่ยอมกินน้ำและอาหาร: เมื่อลูกน้อยไม่อยากทานข้าว หรือทานข้าวได้น้อย และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณแม่ควรพาลูกไปพบหมอ
  • หายใจลำบาก: เมื่อลูกไอมากจนทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรระวัง และควรรีบพาลูกน้อยไปพบหมอทันที
  • ชักเกร็ง: อาการชักเกร็งมักมาจากอาการไข้สูงในเด็ก การปล่อยให้ลูกชักนาน ๆ อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้

 

ผื่นส่าไข้ต่างกับผื่นอีสุกอีใสอย่างไร

ผื่นส่าไข้ กับอีสุกอีใส มีลักษณะอาการที่คล้ายกัน โดยจะมีความแตกต่างกันตรงที่ผื่นส่าไข้จะมีผื่นขึ้นบริเวณหน้าก่อนแล้วค่อยลามไปยังลำตัว อีกทั้งตุ่มผื่นจะไม่มีอาการคัน และไม่ทิ้งร่องรอยเมื่อผื่นหายแล้ว ส่วนโรคอีสุกอีใส (Varicella or chickenpox) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีกชนิดหนึ่ง ทำให้เด็กมีไข้ ปวดเมื่อย เบื่ออาหารคล้ายกับส่าไข้ หลังจากนั้นจะเกิดเป็นตุ่มนูนแดง มีอาการคัน แล้วกลายเป็นตุ่มใส ก่อนจะพัฒนาไปเป็นตุ่มมีหนอง และตุ่มจะแตกออกเป็นสะเก็ดแห้ง อาจทิ้งรอยแผลเป็นหรือรอยดำให้เห็นบ้าง

 

โรคส่าไข้ในเด็ก แม้ว่าเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่ถือว่าเป็นโรคที่ไม่รุนแรง เมื่อเด็กเป็นแล้วมักจะไม่เป็นซ้ำอีก ทำให้คุณแม่หายห่วงได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามโรคยอดฮิตในเด็กไม่ได้มีเพียงโรคส่าไข้เพียงโรคเดียว แต่ยังมีอีกหลายโรคที่เกิดขึ้นได้ง่ายในเด็ก คุณแม่จึงควรป้องกันลูกน้อยด้วยการให้ลูกรักษาสุขภาพ ล้างมือบ่อย ๆ และไม่คลุกคลีกับเด็กที่ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยติดเชื้อโรคจากการติดต่อ รวมถึงให้ลูกน้อยทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และดื่มนมสำหรับเด็ก เป็นประจำเพื่อให้ร่างกายของลูกน้อยแข็งแรงตามวัย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

 

อ้างอิง:

  1. ส่าไข้คืออะไร มีวิธีการดูแลอย่างไร, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. โรคส่าไข้ในเด็ก, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  3. ชนิดของไข้ออกผื่น, มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

อ้างอิง ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2567
 

บทความแนะนำ

กระหม่อมทารกปิดเมื่อไหร่ ทารกแรกเกิดกระหม่อมหลังปิดกี่เดือน

กระหม่อมทารกปิดเมื่อไหร่ ทารกแรกเกิดกระหม่อมหลังปิดกี่เดือน

กระหม่อมทารก คืออะไร เด็กทารกแรกเกิดกระหม่อมหลังปิดกี่เดือน กระหม่อมทารกบุ๋ม อันตรายไหม คุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัย พร้อมวิธีสังเกตกระหม่อมทารก

เด็กทารกผิวลอกปกติไหม พร้อมวิธีดูแลเด็กทารกผิวลอก

เด็กทารกผิวลอกปกติไหม พร้อมวิธีดูแลเด็กทารกผิวลอก

เด็กทารกผิวลอกปกติไหม ทารกผิวลอก เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง เด็กทารกผิวลอกสามารถหายเองได้ไหม ผิวทารกลอกแบบไหนอันตราย พร้อมวิธีดูแลผิวเด็กทารกให้ปลอดภัย

เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากอะไร ลูกนอนกัดฟัน อันตรายกับสุขภาพฟันไหม

เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากอะไร ลูกนอนกัดฟัน อันตรายกับสุขภาพฟันไหม

เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากอะไร ลูกนอนกัดฟันทุกคืน อันตรายต่อสุขภาพฟันของลูกน้อยไหม ลูกนอนกัดฟันบ่อย คุณแม่ดูแลลูกน้อยยังไงดี พร้อมวิธีป้องกันที่คุณแม่ควรรู้

ทารกแรกเกิดควรใส่เสื้อผ้าแบบไหน เลือกเสื้อผ้าเด็กทารกยังไงดี

ทารกแรกเกิดควรใส่เสื้อผ้าแบบไหน เลือกเสื้อผ้าเด็กทารกยังไงดี

ทารกแรกเกิดควรใส่เสื้อผ้าแบบไหน การเลือกเสื้อผ้าให้ทารกแรกเกิดสำคัญอย่างไร เลือกเสื้อผ้าแบบไหนให้ลูกรู้สึกสบายตัวและปลอดภัยกับผิวของเด็กทารก ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก