ออมเงินให้ลูก ดอกเบี้ยสูง เปิดบัญชีให้ลูกธนาคารไหนดี
เลี้ยงลูกยุค Generation Z นอกจากใส่ใจเรื่องการดูแล ให้ความเข้าใจ ให้ความรักแล้ว เรื่องวางแผนการเงินให้ลูก ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม การสอนให้ลูกรู้จักเก็บ ออม วางแผนการเงินไว้ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ จะช่วยปลูกฝังให้ลูกมีวินัยในการใช้เงิน รู้จักคุณค่าของเงิน และสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับชีวิตของลูกในอนาคต การฝากออม เปิดบัญชีกับทางธนาคารก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งสำหรับการวางแผนออมเงินสำหรับลูก และครอบครัว
สรุป
- การฝึกให้ลูกออมเงินนั้น เป็นการฝึกให้ลูกวางแผนทางการเงิน มีวินัยที่ดีในการออม รู้จักเก็บเงิน ใช้จ่ายอย่างรอบคอบ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้ชีวิตของลูก เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
- เอกสารที่ใช้ประกอบในการเปิดบัญชีออมเงินแต่ละธนาคาร จะมีเงื่อนไขแตกต่างออกไป โดยจะมีเอกสารหลักพื้นฐาน ที่ใช้ในการเปิดบัญชีให้ลูก ได้แก่ บัตรประชาชนของพ่อแม่และลูก ถ้าในกรณีที่ลูกยังไม่มีบัตรประชาชน ก็ใช้เป็น สูติบัตรของลูก สำเนาทะเบียนบ้านของพ่อแม่และลูก ทะเบียนสมรสของพ่อแม่
- ก่อนจะเปิดบัญชีให้ลูก ควรคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ย ที่จะเป็นผลตอบแทนจากธนาคาร อัตราดอกเบี้ยมักอยู่ในลักษณะร้อยละต่อปี คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงผลตอบแทนที่จะได้รับก่อนตัดสินใจฝากเงินกับธนาคารนั้น ๆ
- ในการเปิดบัญชีให้ลูกในแต่ละธนาคาร จะมีเอกสารในการเปิดบัญชี ขั้นตอน เงื่อนไขต่าง ๆ ในการเปิดบัญชีที่แตกต่างกันออกไป คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษา ข้อมูลของธนาคารที่สนใจจะเปิดบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อป้องกันการผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในการเปิดบัญชี
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ก่อนเปิดบัญชีให้ลูก คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ออะไรบ้าง
- ข้อดีของการเปิดบัญชีให้ลูก มีอะไรบ้าง
- คุณพ่อคุณแม่ เปิดบัญชีให้ลูกได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่
- อยากเปิดบัญชีให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด ทำได้ไหม
- เปิดบัญชีให้ลูก ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
- ขั้นตอนการเปิดบัญชีให้ลูก ไม่ยากอย่างที่คิด
- เปิดบัญชีให้ลูกธนาคารไหนดี เงื่อนไขไม่เยอะและดอกเบี้ยสูง
- เปิดบัญชีให้ลูกยังไง ให้ได้ดอกเบี้ยสูง
ก่อนเปิดบัญชีให้ลูก คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ออะไรบ้าง
- อัตราดอกเบี้ย เป็นผลตอบแทนที่ธนาคารจะจ่ายให้ในการนำเงินมาฝาก อัตราดอกเบี้ยมักอยู่ในลักษณะร้อยละต่อปี คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ ก่อนตัดสินใจฝากเงินกับธนาคารนั้น ๆ
- ผลประโยชน์พ่วง บางธนาคารจะมีสิทธิประโยชน์ ผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับผู้เปิดบัญชีมากมาย ไม่ได้เป็นเพียงแค่บัญชีฝากเงินเท่านั้น บางธนาคารมีสิทธิประโยชน์คุ้มครองอุบัติเหตุให้ฟรี หรือ เมื่อเปิดบัญชีใช้คู่กับบัตรเดบิต จะสามารถใช้ได้ในประเทศ กด โอน เติม จ่าย ฟรีค่าธรรมเนียมทั่วประเทศ หรือใช้จ่ายที่ต่างประเทศ ฟรี
- ค่าใช้จ่ายในการเปิดบัญชี การเปิดบัญชีให้ลูกในแต่ละธนาคาร จะมีค่าใช้จ่ายในการเปิดบัญชีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอัตราของแต่ละธนาคารที่กำหนดไว้
- ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก หากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับ เกินจำนวน 20,000 บาท ธนาคารจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์ ของดอกเบี้ยที่เราได้รับ สำหรับดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท ธนาคารจะไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจปรึกษาทางธนาคารเพื่อเลือกฝากเงินในแบบปลอดภาษี
- ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เงินฝากนั้นจะมีค่าธรรมเนียมที่ต่างกันออกไป คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาเงื่อนไขของแต่ละธนาคารก่อนเปิดบัญชี เช่น ค่าธรรมเนียมการเบิก ถอน ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีหากจำนวนเงินไม่ถึงขั้นต่ำที่ธนาคารนั้น ๆ กำหนด
ข้อดีของการเปิดบัญชีให้ลูก มีอะไรบ้าง
การเปิดบัญชีให้ลูก ฝึกให้ลูกออมเงินนั้น มีประโยชน์มากมายกับอนาคตของลูก โดยเฉพาะ เป็นการฝึกให้ลูกมีวินัยที่ดีในการออม รู้จักเก็บเงินใช้จ่ายอย่างรอบคอบ มีการวางแผนทางการเงิน นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับชีวิตลูก เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญสถานการณ์ เมื่อชีวิตของลูกพบเจอความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต
- สร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้ลูก ช่วยให้ลูกมีวินัยในการเงิน มีสติ ใช้เงินอย่างรอบคอบ รู้จักวางแผน ปรับตัว ใช้เงินให้เหมาะสม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด
- สร้างพื้นฐานการเงินที่ดีให้กับอนาคตลูก เมื่อลูกรู้จักการออมเงินตั้งแต่เล็ก จะช่วยให้เป็นฐานที่แข็งแรงให้กับการเงินในอนาคตของลูกได้
- สร้างฐานะทางการเงินที่มั่นคงให้ลูก เมื่อเริ่มสร้างฐานการเงินที่แข็งแรง ลูกจะมีฐานะการเงินที่มั่นคงในอนาคต
- เอาตัวรอดในสถานการณ์ไม่คาดคิด เมื่อคุณพ่อคุณแม่เตรียมความพร้อมทางการเงิน ช่วยให้ลูกมีการเงินที่มั่นคงตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ลูกมีเงินสำรองที่สามารถเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ หรือใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น เจ็บป่วย หรือมีปัญหาทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์ภัยพิบัติ
- ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาตนเองและการศึกษา เมื่อคุณพ่อคุณแม่ออมเงินให้ลูกเพื่อการศึกษา ลูกมีการเงินที่มั่นคง การเงินนั้นจะช่วยต่อยอด สร้างโอกาสในการเรียนรู้ หรือพัฒนาทักษะต่าง ๆ ในชีวิตได้
คุณพ่อคุณแม่ เปิดบัญชีให้ลูกได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่
คุณพ่อคุณแม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากให้ลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด ทั้งนี้ในการเปิดบัญชีให้ลูกในแต่ละธนาคาร จะมีเอกสารในการเปิดบัญชี ขั้นตอน เงื่อนไขต่าง ๆ ในการเปิดบัญชีที่แตกต่างกันออกไป คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษา ข้อมูลของธนาคารที่สนใจจะเปิดบัญชีให้ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อป้องกันการผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในการเปิดบัญชี
อยากเปิดบัญชีให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด ทำได้ไหม
การเปิดบัญชีฝากเงินให้ลูกในบางธนาคาร จะสามารถเปิดบัญชีได้ตั้งแต่วัยแรกเกิด แต่ในบางธนาคาร จะต้องรอให้บุตรมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปก่อน หากคุณพ่อคุณแม่สนใจอยากเปิดบัญชีให้ลูก ควรศึกษาข้อมูลของแต่ละธนาคารให้ละเอียดเสียก่อนที่จะไปเปิดบัญชี
เปิดบัญชีให้ลูก ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
เอกสารที่ใช้ประกอบในการเปิดบัญชีออมเงินให้ลูกในแต่ละธนาคาร จะมีเงื่อนไขแตกต่างออกไปในแต่ละธนาคาร โดยจะมีเอกสารหลักพื้นฐาน ที่ใช้ในการเปิดบัญชีให้ลูก ได้แก่
- สูติบัตรของลูก ในกรณีที่ลูกยังไม่มีบัตรประชาชน
- บัตรประชาชนของลูก
- บัตรประชาชนของพ่อและแม่
- สำเนาทะเบียนบ้านของลูก
- สำเนาทะเบียนบ้านของพ่อและแม่
- ทะเบียนสมรสของพ่อแม่
- ใบรับรองบุตร ในกรณีที่พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
ขั้นตอนการเปิดบัญชีให้ลูก ไม่ยากอย่างที่คิด
วิธีการเปิดบัญชีให้ลูกไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่หาข้อมูลของธนาคารที่สนใจ เตรียมเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนของลูก หากลูกยังไม่มีบัตรประชาชน ใช้เป็นสูติบัตร และบัตรประชาชนของพ่อและแม่ สำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส และใบรับรองบุตรในกรณีที่พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส พร้อมกับเงินสำหรับเปิดบัญชี ไปที่ธนาคาร สาขาใกล้บ้านที่เดินทางสะดวก ก็สามารถเปิดบัญชีให้ลูกได้แล้ว
เปิดบัญชีให้ลูกธนาคารไหนดี เงื่อนไขไม่เยอะและดอกเบี้ยสูง
1. ธนาคารออมสิน
- เงินฝาก Youth Savings เป็นเงินฝากสำหรับนักเรียน นักศึกษา เก็บเงินไว้ใช้จ่าย เพื่อความสะดวกคล่องตัว ในการใช้เงิน
- เงื่อนไข ฝากได้ตั้งแต่อายุ 7 ปี ถึง 23 ปีบริบูรณ์
- เปิดบัญชีได้เพียง 1 คน ต่อ 1 บัญชี เปิดบัญชีขั้นต่ำ 100 บาท ฝากเพิ่มครั้งละไม่ต่ำกว่า 50 บาท
- ดอกเบี้ย ต่ำกว่า 1 แสนบาท เท่ากับ 0.55 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป เท่ากับ 0.30 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี
- ไม่กำหนดระยะเวลารับฝาก ถอนเงินวันละกี่ครั้งก็ได้ ถอนครั้งละเท่าไหร่ก็ได้ บุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี
- คำนวนดอกเบี้ยจากยอดคงเหลือเป็นรายวัน ปีละ 2 ครั้ง ทุกวันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ธันวาคม ของทุกปี
- เมื่อผู้ฝากมีอายุครบ 23 ปีบริบูรณ์ ยอดเงินฝากคงเหลือทั้งหมดจะได้รับดอกเบี้ย ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียก
2. ธนาคารกรุงเทพ
- เงินฝาก บัญชีเงินฝากสินมัธยะทรัพย์ทวี-บัวหลวงคิดส์
- เงื่อนไข เปิดบัญชีได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 14 ปี
- ฝากประจำเท่ากันทุกเดือน ตั้งแต่ 500-25,000 บาท มีจำนวนเงินฝากสูงสุดในบัญชีไม่เกิน 600,000 บาท
- เมื่อฝากเงินเป็นระยะเวลา 2 ปี จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากประจำแบบ 12 เดือน ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากดอกเบี้ย
- หากถอนเงินฝากก่อนกำหนด จะถือเป็นการปิดบัญชี และจะได้รับดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 60 ของดอกเบี้ยที่จะได้รับและจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี
3. ธนาคารกรุงไทย
- ออมเงินให้ลูกกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษสำหรับผู้เยาว์ เป็นบัญชีออมทรัพย์พิเศษ ไม่จำเป็นต้องฝากต่อเนื่องทุกเดือน
- เงื่อนไขฝากได้ตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 15 ปี เปิดได้คนละ 1 บัญชีเท่านั้น
- เปิดบัญชีขั้นต่ำ 2,000 บาท ฝากสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท
- สามารถโอน ฝาก ถอน ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่ต้องฝากต่อเนื่องทุกเดือนได้
- ดอกเบี้ยเท่ากับบัญชีออมทรัพย์ปกติ มีดอกเบี้ยพิเศษหากมีการฝากมากกว่าการถอน
4. ธนาคารกสิกรไทย
- บัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ ฝากเงินเท่า ๆ กันทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 24 เดือน
- เงื่อนไขฝากได้อายุ 12 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เปิดบัญชีได้ 1 คน ต่อ 1 บัญชีเท่านั้น ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 12 ปี พ่อหรือแม่เปิดบัญชีเพื่อบุตรได้
- เริ่มต้นฝากจำนวน 500-25,000 บาทต่อเดือน
- จะได้รับดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการฝาก ดอกเบี้ยที่ได้รับ จะได้รับการยกเว้นภาษี 15 เปอร์เซ็นต์
- ขาดการฝากได้ไม่เกิน 2 ครั้ง หากขาดการฝากตั้งแต่ครั้งที่ 3 ธนาคารจะไม่รับเงินฝากทวีทรัพย์งวดที่เหลือต่อไป
5. ธนาคารไทยพาณิชย์
ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ยังไม่มีบริการเงินฝากพิเศษสำหรับเด็ก หากคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจจะทำการออมเงินกับทางธนาคารไทยพาณิชย์ จะมีเป็นแบบฝากประจำ กับฝากออมทรัพย์ สามารถใช้ชื่อของคุณพ่อคุณแม่ฝากเป็นบัญชีร่วมได้บัญชีเงินฝากประจำ
- บัญชีเงินฝากประจำ เลือกระยะเวลาในการฝากได้ จะมีทั้งแบบฝากประจำระยะสั้น มีในแบบ 1, 3, 6, 9,12, 24 และ 36 เดือน
- เงินฝากประจำ 1 เดือน: เปิดบัญชีขั้นต่ำ 5,000,000 บาท
- เงินฝากประจำ 3, 6, 9, 12, 24 และ 36 เดือน เปิดบัญชีขั้นต่ำ 1,000 บาท
- หากฝากประจำตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป แต่ยังไม่ถึงเวลาที่กำหนดไว้ ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ย
- ให้สำหรับระยะเวลาที่ฝากไว้ตามจริงในอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดของเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่จ่ายให้กับ
- ลูกค้าในประเภทเดียวกัน ณ วันที่ฝาก โดยธนาคารจะหักภาษี ณ ที่จ่ายและไม่ทบต้น
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์
- เปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุดไม่จำกัด สามารถฝากเงิน หรือถอนเงินกี่ครั้งก็ได้
- สามารถเลือกเปิดบัญชีในนามบุคคลเดียว หรือบัญชีร่วมได้
- อัตราดอกเบี้ยต่อปี สำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ แบบมีสมุดคู่ฝาก 0.30 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี และสำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก (E Passbook) 0.65 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี
- ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง บุคคลธรรมดา ธนาคารจะทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ที่ได้รับรวมทุกธนาคารเกิน 20,000 บาทต่อปี
6. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
- เงินออมลูกรัก เปิดบัญชีได้ตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 15 ปี
- ฝากเงินขั้นต่ำ 1,000 บาท
- ฝากต่อเนื่องทุก ๆ เดือน เดือนละ 1,000 บาท
- ได้รับดอกเบี้ย เงินขวัญถุง เมื่อฝากครบติดต่อกัน 5 ปี
- รับผลประโยชน์ 3 ชั้น ฝากต่อเนื่องครบ 5 ปี ชั้นที่ 1 จะได้รับดอกเบี้ย 1.50 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี, ชั้นที่ 2 ได้เงินขวัญถุง 3,600 บาท, ชั้นที่ 3 ลุ้นรับทุนการศึกษาทุกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุก ๆ ปี
เปิดบัญชีให้ลูกยังไง ให้ได้ดอกเบี้ยสูง
การเปิดบัญชีฝากเงิน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ อัตราดอกเบี้ย เพราะอัตราดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนจากการที่นำเงินมาฝากไว้กับธนาคาร อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในลักษณะร้อยละต่อปี ธนาคารจะจ่ายให้กับผู้ฝากเงินเพื่อเป็นผลตอนแทนในการเปิดบัญชีและนำเงินมาฝาก ฉะนั้น ผู้ฝากควรเลือกเปิดบัญชีเงินฝากที่มีดอกเบี้ยสูง เพื่อการออมนั้นจะได้งอกเงย และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฝากเงิน อัตราดอกเบี้ยมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับระยะเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
อย่างไรก็ตาม การเลือกเปิดบัญชีออมเงินกับธนาคารนั้น ควรคำนึงถึงเป้าหมายหลักในการที่ฝากเงิน แล้วเลือกหาธนาคารที่ตรงกับใจของคุณพ่อคุณแม่มากที่สุด เงื่อนไขในการเปิดบัญชีเป็นอย่างไร อัตราดอกเบี้ยต่อปีได้เท่าไหร่ ความสะดวกในการใช้บริการ และผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับเป็นอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลของแต่ละธนาคารอย่างละเอียด เพื่อจะได้ผลลัพธ์ตามความต้องการ และสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- ไอเดียตั้งชื่อมงคล ตั้งชื่อลูกตามวันเกิด เสริมความเป็นสิริมงคล
- ไอเดียชื่อจริง ชื่อเล่นภาษาอังกฤษลูกสาว อัพเดทล่าสุด
- โปรแกรมคำนวณวันไข่ตก เช็กวันไข่ตกคุณแม่มือใหม่
- โปรแกรมคํานวณอายุครรภ์คุณแม่ คำนวณวันครบกำหนดคลอด
- โปรแกรมคำนวณน้ำหนักคนท้อง แต่ละไตรมาสน้ำหนักควรเพิ่มเท่าไหร่
- คุณแม่ตั้งครรภ์เบิกค่าฝากครรภ์ได้กี่บาท มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
- วิธีเช็คผลอนุมัติเงินค่าคลอดบุตร สมทบบุตร สิทธิประกันสังคมมาตรา 33
- เบิกค่าคลอดประกันสังคมได้เท่าไหร่ คุณแม่ท้องมีสิทธิเบิกอะไรได้บ้าง
- แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดมีอะไรบ้าง รวมทุกคำตอบที่ควรรู้
- ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐดีไหม แพงหรือเปล่า คุณแม่ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง
อ้างอิง:
- ดอกเบี้ยเงินฝาก, ธนาคารแห่งประเทศไทย
- บัญชีเงินฝาก ttb all free (ทีทีบี ออลล์ฟรี), ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต
- พ่อแม่ยุคใหม่ต้องรู้ ออมเงินให้ลูก ได้ดอกเบี้ยสูงธนาคารไหนดีที่สุด, MAKE by KBank
- ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร คืออะไร คิดภาษียังไงบ้าง, ธนาคารกรุงศรี
- 4 ข้อควรรู้ก่อนเลือกเปิดบัญชีเงินฝาก, KKP Advice Center
- เงินฝาก Youth Savings, ธนาคารออมสิน
- บัญชีเงินฝากสินมัธยะทรัพย์ทวี – บัวหลวงคิดส์, ธนาคารกรุงเทพ
- เปิดบัญชีให้ลูกด้วยบัญชีออมทรัพย์พิเศษสำหรับผู้เยาว์, ธนาคารกรุงไทย
- บัญชีเงินฝากทวีทรัพย์, ธนาคารกสิกรไทย
- บัญชีเงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงโดนใจ, ธนาคารไทยพาณิชย์
- เอกสารข้อมูลสำคัญของผลิตภัณฑ์ บัญชีเงินฝากประจำ, ธนาคารไทยพาณิชย์
- บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป, ธนาคารไทยพาณิชย์
- เอกสารข้อมูลสำคัญของผลิตภัณฑ์ บัญชีเงินออมทรัพย์, ธนาคารไทยพาณิชย์
- เงินออมลูกรัก, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- บัญชีออมทรัพย์มีข้อดีอย่างไร ควรฝากเงินธนาคารไหนดี, ธนาคารยูโอบี
อ้างอิง ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2567
แชร์ได้เลย
บทความแนะนำ
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2563 ทำยังไง ใครลงทะเบียนได้บ้าง อยากรู้อ่านเลย!
โครงการที่จะมาช่วยเหลือพ่อแม่เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เงินอุดหนุนทารกแรกเกิดล่าสุด ประจำปี 2563 มาแล้ว ใครที่อยากรู้ว่าใช้เอกสารอะไรประกอบการลงทะเบียนบ้าง ลงทะเบียนเริ่มต้นตั้งแต่วันไหน วันสุดท้ายลงลงทะเบียนได้คือเมื่อไหร่ เรารวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2563 มาให้ คุณแม่ คุณพ่อ เรียบร้อยแล้ว