เด็กเรียนรู้ช้า ไอคิวต่ำ มีลักษณะอย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูก

เด็กเรียนรู้ช้า ไอคิวต่ำ มีลักษณะอย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูก

30.09.2024

เด็กเป็นช่วงวัยที่กำลังเรียนรู้ สมองจึงมีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก พ่อแม่จึงต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมและเอาใจใส่ ทั้งเรื่องของอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง และเสริมกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านสมอง เพื่อให้ลูกน้อยได้เรียนรู้และจดจำ ป้องกันไม่ให้เด็กมีไอคิวต่ำ และเกิดการเรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน

headphones

PLAYING: เด็กเรียนรู้ช้า ไอคิวต่ำ มีลักษณะอย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูก

อ่าน 8 นาที

 

สรุป

  • ไอคิว คือ ระดับความสามารถทางเชาว์ปัญญา หรือ ระดับความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจมากกว่าเด็กทั่วไปที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 90-109 เด็กที่มีไอคิวต่ำมักจะเกิดขึ้นในเด็กที่มีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย หรือต่ำกว่า 90
  • เด็กไอคิวต่ำ จะมีอาการคล้ายกับเด็กปกติทั่วไป แต่อาจมีวิธีการเรียรรู้ที่ช้ากว่าเพื่อน ในเด็กบางคนอาจมีปัญหาการเข้าสังคม การปรับตัวเข้ากับเพื่อน และการควบคุมอารมณ์ด้วย
  • สาเหตุที่ทำให้เด็กมีไอคิวต่ำ เกิดจากความผิดปกติของสมองหรือโรคทางระบบประสาท หรืออาจเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่แบบไม่เหมาะสม เช่น พ่อแม่ปกป้องลูกมากเกินไป ไม่เอาใจใส่ลูก หรือการปล่อยให้ลูกอยู่ลำพัง ทำให้ลูกไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการตามวัยจนทำให้กลายเป็นเด็กเรียนรู้ช้า

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เด็กเรียนรู้ช้า ลูกไอคิวต่ำ เกิดจากสาเหตุอะไร

ไอคิว (Intelligence Quotient: IQ) คือ ระดับความสามารถทางเชาว์ปัญญา หรือ ระดับความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจ หรือความสามารถในการตอบสนองอย่างรวดเร็วและถูกต้องในสถานการณ์ใหม่ ๆ เด็กที่มีไอคิวต่ำหมายถึงเด็กที่มีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย (ต่ำกว่า 90) ทำให้เด็กมีการเรียนรู้ช้าและต้องใช้เวลามากกว่าเด็กทั่วไปที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย (90-109) โดยมีสาเหตุมาจาก

1. ความผิดปกติของสมอง

หากสมองของลูกน้อยได้รับการกระทบกระเทือน หรือมีโรคทางระบบประสาท เช่น สมองพิการ โรคลมชัก โรคไข้สมองอักเสบ ภาวะกล้ามเนื้อกระตุก ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้ลูกเป็นเด็กเรียนรู้ช้าหรือมีไอคิวต่ำได้

 

2. สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

สภาพแวดล้อมช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้และสามารถพัฒนาระดับความสามารถทางเชาว์ปัญหาหรือไอคิวได้ โดยเด็กที่มีไอคิวต่ำส่วนใหญ่เกิดจากการขาดการสนับสนุนการเรียนรู้หรือขาดการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม พ่อแม่ปกป้องลูกมากเกินไป ไม่เอาใจใส่ลูก หรือการปล่อยให้ลูกอยู่ลำพัง ทำให้สมองไม่ถูกกระตุ้นให้คิด แก้ปัญหา จินตนาการ จนทำให้ลูกเป็นเด็กที่เรียนรู้ช้า

 

เด็กเรียนรู้ช้า ไอคิวต่ำ เกี่ยวกับพันธุกรรมไหม

ไอคิว เป็นสิ่งที่ติดตัวลูกน้อยมาตั้งแต่เกิดและมีการพัฒนาขึ้นตามอายุ เด็กที่มีไอคิวต่ำส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ระดับไอคิวของลูกน้อยสามารถเพิ่มหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูอีก 20 เปอร์เซ็นต์ พ่อแม่จึงต้องเลี้ยงดูลูกน้อยด้วยความรัก ความเอาใจใส่ และต้องคอยกระตุ้นพัฒนาการตามวัยอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มระดับความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถทางปัญญาหรือไอคิวให้สูงขึ้น

 

เด็กไอคิวต่ำ ลูกน้อยจะมีอาการอย่างไร

อาการของเด็กไอคิวต่ำ จะมีอาการคล้ายกับเด็กปกติทั่วไป แต่อาจมีวิธีการเรียรรู้ที่ช้ากว่าเพื่อน ในเด็กบางคนอาจมีปัญหาการเข้าสังคม การปรับตัวเข้ากับเพื่อน และการควบคุมอารมณ์ด้วย สำหรับระดับของการเรียนรู้ในเด็กที่มีไอคิวต่ำ จะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันตามระดับไอคิว ดังนี้

  • เด็กที่มีไอคิวต่ำระหว่าง 80-89: เด็กจะเรียนรู้ได้ตามปกติแต่ช้า ยิ่งการเรียนรู้ด้านวิชาการก็มักช้ากว่าเพื่อน ทำให้ผลสอบอยู่อันดับท้าย ๆ ของห้อง
  • เด็กที่มีไอคิวต่ำระหว่าง 70-79: สติปัญญาจะอยู่ในเกณฑ์คาบเส้น จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษจึงจะสามารถเรียนรู้ได้ และมักมีผลสอบที่อยู่อันดับรั้งท้ายของห้องมากกว่ากลุ่มก่อนหน้านี้
  • เด็กที่มีไอคิวต่ำระหว่าง 50-69: เพราะมีความบกพร่องทางสติปัญญาในระดับน้อย เด็กจะสามารถเรียนรู้ระดับวิชาการได้ในระดับหนึ่งและเรียนรู้ได้ช้า สามารถอ่านออกเขียนได้แต่ใช้เวลานานกว่าเด็กในวัยเดียวกัน และจำเป็นต้องมีคนสอนประกบแบบต่อตัวตัว

 

แม้เด็กทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะเป็นเด็กที่เรียนรู้ด้านวิชาการได้ช้ากว่าเด็กรุ่นเดียวกัน แต่อาจมีความสามารถทางด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ หรือกิจกรรมอื่น ๆ และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองในอนาคตได้

 

ลูกไอคิวต่ำ มีพัฒนาการช้า ดูได้จากอะไรบ้าง

ลูกไอคิวต่ำ คุณแม่สามารถสังเกตลูกด้วยตัวเอง หรืออาจสอบถามกับคุณครูผู้สอน หากสงสัยว่าลูกมีความสามารถในการเรียนรู้ที่ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน สามารถพาลูกเข้ารับการประเมินจากแพทย์ โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ซักประวัติ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เด็กมีปัญหาด้านการเรียนรู้ ประเมินพฤติกรรมและอารมณ์ จากนั้นจะส่งต่อให้นักจิตวิทยาเด็กเพื่อประเมินระดับไอคิวให้กับลูก ลูกไอคิวต่ำอาจเกิดได้จากปัญหาสุขภาพ เช่น สายตาสั้น ภาวะโลหิตจาง ที่อาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาในเรื่องการเรียน

 

เด็กเรียนรู้ช้า ไอคิวต่ำ แก้ไขยังไงดี

 

เด็กเรียนรู้ช้า ไอคิวต่ำ แก้ไขยังไงดี

เมื่อลูกเป็นเด็กมีพัฒนาการช้าและไอคิวต่ำ คุณแม่ควรช่วยเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้กับลูก เพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถทางการเรียนรู้ ดังนี้

1. ส่งเสริมให้ลูกเล่นดนตรีและกีฬา

การเล่นกีฬาช่วยเพิ่มการเรียนรู้ให้ลูก ร่างกายและสมองเกิดการตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า และอารมณ์ดี พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา รวมถึงการเล่นดนตรีสามารถช่วยส่งเสริมจินตนาการ ให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ ลูกน้อยจึงมีการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น

 

2. ให้ลูกเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน

พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อให้ลูกได้ฝึกทักษะการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น รู้จักการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง

 

3. อ่านหนังสือทุกวัน

คุณแม่ควรฝึกให้ลูกได้อ่านหนังสือซ้ำ ๆ หลายครั้ง เพื่อให้เกิดการจดจำ เช่น ฝึกลูกให้สะกดคำ 5 คำ ซ้ำ 5 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที โดยช่วงแรกคุณแม่อาจใช้รูปภาพในการช่วยอ่าน เพื่อช่วยให้ลูกน้อยจดจำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้น

 

4. ให้ลูกเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว

คุณแม่สามารถเสริมการเรียนรู้ให้ลูกด้วยการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ให้ลูกลองนับเงินทอนที่เหลือจากการไปซื้อของ หรือตัดแบ่งชิ้นเค้กตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว การอ่านป้ายโฆษณา ซึ่งสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เด็กสามารถนำความรู้มาแก้ไขปัญหาในชีวิตของตัวเองได้อย่างถูกวิธี

 

5. หมั่นพูดคุยโต้ตอบกับลูก

พ่อแม่ควรเสริมพัฒนาการด้านการพูดด้วยการพูดคุยโต้ตอบกับลูกอย่างช้า ๆ และควรออกเสียงให้ชัดเพื่อเป็นการกระตุ้นทักษะการพูด ควบคู่ไปกับการอ่านนิทานให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอ

 

6. ให้ลูกได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ

เด็กที่เรียนรู้ช้ามักจะขาดความมั่นใจ คุณแม่ควรสนับสนุนให้ลูกได้ทดลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ จากสิ่งง่าย ๆ ก่อน อาจคอยแนะนำ ชื่นชมลูก และให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับลูก เมื่อลูกทำพลาดต้องไม่ตำหนิ เพื่อให้ลูกได้ค้นหาความสามารถอื่น ๆ ที่เด็กชื่นชอบและเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

 

7. สอนให้ลูกรู้จักการควบคุมอารมณ์ตัวเอง

หากลูกมีปัญหาด้านการเข้าสังคม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ เช่น โมโหง่ายหรือเด็กสมาธิสั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถขอคำแนะนำ เลือกกิจกรรมบำบัดจากนักจิตวิทยาหรือแพทย์เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการให้ลูก และความร่วมมือของทุกคนในครอบครัวก็สำคัญเหมือนกัน เพื่อให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ หรือผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

 

แหล่งสารอาหาร บำรุงสมองให้ลูกน้อย

ในแต่ละวัน เด็กต้องการสารอาหารมากมายเพื่อเสริมสร้างร่างกายและสมองให้เติบโตอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง โดยเฉพาะอาหารสมองสำหรับเด็กที่มาจากแหล่งโภชนาการสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างประสาทและสมองให้แก่ลูกน้อย ได้แก่

  • นมแม่: นมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม วิตามิน โคลีน และสฟิงโกไมอีลินที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบประสาทและสมองที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของลูกน้อย
  • พืชตระกูลถั่ว: ในอาหารจำพวกถั่วและธัญพืช อุดมไปด้วยสังกะสี เหล็ก วิตามินอี วิตามินบีรวม ที่มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง ทั้งยังอุดมไปด้วยโปรตีนและกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายของเด็กอีกด้วย ทั้งนี้ ควรระมัดระวังการรับประทานพืชตระกูลถั่วในเด็กเล็ก และเด็กกลุ่มที่แพ้ถั่ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอข้อมูลทางโภชนาการ ในกรณีไม่มั่นใจ
  • ปลาทะเล: ปลาทะเล เช่น แซลมอน ทูน่า หรือปลาซาดีน เป็นแหล่งของกรดไขมันที่จำเป็น มีดีเอชเอที่ช่วยในการสร้างและพัฒนาสมองของเด็กที่ส่งผลต่อพัฒนาการและไอคิวของลูกน้อย
  • เนื้อสัตว์: ในเนื้อสัตว์เป็นแหล่งของแร่ธาตุที่สำคัญอย่างสังกะสีและธาตุเหล็ก ช่วยเรื่องของระบบประสาทและสมอง ทำให้ลูกน้อยมีสมาธิที่ดี และยังส่งผลต่อกระบวนทางความคิดของเด็กอีกด้วย

 

กิจกรรมเพิ่มพัฒนาการ ป้องกันลูกไอคิวต่ำ

เมื่อลูกยังเล็กคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดการเรียนรู้ การจดจำ จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำ ดังนี้

  1. ชวนลูกเล่น: การเล่นช่วยเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกน้อยได้ดี อย่างเช่น การเล่นต่อบล็อกไม้ จะช่วยให้ลูกมีไหวพริบ รู้จักคิด วางแผน และแก้ปัญหาให้สำเร็จตามเป้าหมายได้ หรือเกมจับคู่เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยได้รู้จักสังเกตแยกแยะรูปทรงของสิ่งของหรือสีสันต่าง ๆ หรือการวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ เพื่อให้ลูกน้อยได้ออกกำลังกาย ฝึกการเข้าสังคม และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น
  2. ระบายสีเสริมจินตนาการ: การวาดภาพระบายสีเป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กได้ทำตามจินตนาการของตัวเอง ทำให้เด็กรู้จักคิด และกล้าแสดงออก ผ่านผลงานที่ทำได้เป็นอย่างดี
  3. เล่านิทานให้ลูกฟัง: เด็กจะรับรู้และเข้าใจในเรื่องราวผ่านการเล่านิทาน ช่วยเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา ทำให้สมองส่วนต่าง ๆ เชื่อมโยงกันได้ดีมากขึ้น เด็กจะเรียนรู้ได้ไว นำไปสู่การพัฒนาสมองให้ดียิ่งขึ้น

 

เด็กเป็นวัยที่ต้องการความรักและการเอาใจใส่มากที่สุด การละเลยไม่สนใจลูก ทำให้พ่อแม่พลาดช่วงเวลาสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดการพัฒนาการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เมื่อปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนาน อาจทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีไอคิวต่ำ เรียนไม่ทันเพื่อน หากไม่แน่ใจว่าลูกเป็นเด็กเรียนรู้ช้าหรือไม่ มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า สามารถปรึกษากุมารแพทย์เพื่อขอทดสอบพัฒนาการและไอคิวของลูกได้

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 


อ้างอิง:

  1. เด็กเรียนรู้ช้า คู่มือสำหรับพ่อแม่/ผู้ปกครอง, สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
  2. เชาวน์ปัญญาคืออะไร ?, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ไอคิว (IQ), โรงพยาบาลพระราม 9
  4. IQ และ EQ กับพัฒนาการความฉลาดของลูกน้อย, โรงพยาบาลเปาโล
  5. เทคนิคพัฒนา IQ & EQ เพื่อพัฒนาการลูกน้อย, โรงพยาบาลเปาโล
  6. วิธีกระตุ้นพัฒนาการ แก้ปัญหาพัฒนาการล่าช้าในเด็ก, โรงพยาบาลสินแพทย์
  7. สารอาหารสำคัญ เพิ่มพัฒนาการทางสมองให้ลูกรัก, โรงพยาบาลศิครินทร์
  8. อาหารเด็กบำรุงสมองที่พ่อแม่ควรรู้, Pobpad

อ้างอิง ณ วันที่  9 สิงหาคม 2567
 

บทความแนะนำ

อาการออทิสติกเทียม ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน เสี่ยงออทิสติกหรือเปล่า

อาการออทิสติกเทียม ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน เสี่ยงออทิสติกหรือเปล่า

ออทิสติกเทียม คืออะไร ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน อาการแบบนี้เสี่ยงเป็นออทิสติกเทียมหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยอย่างไร พร้อมวิธีรับมือเบื้องต้น

เด็กสมาธิสั้น ลูกอยู่ไม่นิ่ง พร้อมวิธีรับมือที่พ่อแม่ควรรู้

เด็กสมาธิสั้น ลูกอยู่ไม่นิ่ง พร้อมวิธีรับมือที่พ่อแม่ควรรู้

เด็กสมาธิสั้น เกิดจากสาเหตุอะไร ลูกอยู่ไม่นิ่งและซนมาก คืออาการของเด็กสมาธิสั้นหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่มีวิธีสังเกตอาการของลูกได้อย่างไร พร้อมวิธีรับมือ

ลูกพูดติดอ่าง ลูกพูดไม่ชัด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือปัญหาลูกพูดติดอ่าง

ลูกพูดติดอ่าง ลูกพูดไม่ชัด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือลูกน้อย

เด็กพูดติดอ่าง เกิดจากสาเหตุอะไร อาการลูกพูดไม่ชัดเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมไหม คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร เมื่อลูกพูดไม่ชัด พร้อมวิธีรับมือปัญหา อาการลูกพูดติดอ่าง

ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

ลูกพูดช้า ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยไหม ลูกไม่พูดสักที จะเป็นอันตรายหรือเปล่า เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีฝึกลูกพูดตามช่วงวัย เสริมพัฒนาการลูกน้อย

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก