ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน เด็กฟันน้ำนมขึ้นตอนไหน คุณแม่ควรสังเกต

ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน ฟันน้ำนมเด็กขึ้นตอนไหน พร้อมวิธีดูแล

12.04.2024

เรื่องฟันลูกก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะฟันน้ำนมซี่แรกนั้นคือความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่เรื่องของอาหารการกิน ไปจนถึงการออกเสียงคำพูด ที่จำเป็นต้องใช้ฟันในการออกเสียงให้ชัด การดูแลฟันซี่แรกจึงสำคัญมาก แล้วถ้าฟันลูกขึ้นช้า จะส่งผลเสียอะไรไหม? การแปรงฟันซี่แรกนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง ? เรามีคำตอบในบทความนี้มาบอกกันค่ะ 

headphones

PLAYING: ทารกฟันขึ้นตอนกี่เดือน ฟันน้ำนมเด็กขึ้นตอนไหน พร้อมวิธีดูแล

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • ปกติแล้วเด็กจะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นซี่แรกเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน โดยส่วนใหญ่ฟันหน้าซี่ล่างอาจจะงอกขึ้นมาก่อน
  • อาการของลูกเมื่อฟันซี่แรกจะงอกนั้น เรามักเรียกว่าอาการ “คันเหงือก” สังเกตได้จากเจ้าตัวเล็กจะเริ่มมีน้ำลายเยอะ และบางครั้งชอบเอามือยัดเข้าปาก งอแงมากขึ้น ลูกอาจเป็นไข้ ปวดหัว และตัวร้อนได้
  • การที่ฟันขึ้นช้า ส่งผลต่อการออกเสียงคำต่าง ๆ และการรับประทานอาหารของลูก

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ปกติแล้วเด็กจะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นซี่แรกเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน โดยส่วนใหญ่ฟันหน้าซี่ล่างอาจจะงอกขึ้นมาก่อน ส่วนอาการของลูกเมื่อฟันซี่แรกจะงอกนั้น เรามักเรียกว่าอาการ “คันเหงือก” สังเกตได้จากเจ้าตัวเล็กจะเริ่มมีน้ำลายเยอะ และบางครั้งชอบเอามือยัดเข้าปาก งอแงมากขึ้น เมื่อมีอาการแบบนี้บ่อยครั้งให้คุณแม่ลองเช็กดูว่าเหงือกมีสีซีด ๆ หรือจับที่เหงือกของลูกแล้วรู้สึกมีตุ่มแข็ง ๆ ไหม ถ้ามีแสดงว่าลูกงอแงเพราะฟันกำลังขึ้นนั่นเอง

 

เจ้าตัวเล็กของคุณแม่ฟันขึ้นตอนกี่เดือน

ฟันน้ำนมซี่แรกของเด็กจะขึ้นเมื่อเด็กอายุประมาณ 6 เดือน จากนั้นฟันซี่อื่น ๆ จะทยอยขึ้นจนครบ 20 ซี่ โดยมีฟันบน 10 ซี่ และฟันล่าง 10 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 2 ปีครึ่ง ถึง 7 ปี จากนั้นฟันแท้ จะมารับช่วงต่อ

 

แบบไหนที่เรียกว่าลูกฟันขึ้นช้า

โดยเฉลี่ยฟันน้ำนมขึ้นมาตั้งแต่ลูกอายุ 6 เดือน (อายุ 3-4 เดือนในเด็กที่ฟันขึ้นเร็วหรือ 14-16 เดือนในเด็กที่ฟันขึ้นช้า) เด็กบางคนอาจมีการงอกของฟันที่ช้ามาก จึงทำให้ไม่มีฟันเกิดขึ้นเลยในช่วงขวบปีแรก ซึ่งหากคุณแม่กังวล ก็ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เด็ก เพื่อหาสาเหตุต่อไป

 

ฟันขึ้นช้า ส่งผลอะไรกับลูกน้อยบ้าง

ฟันทำให้เด็กพูดออกเสียงได้ชัดเจนมากขึ้น ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าการที่เด็กพูดไม่ชัดดูเหมือนจะน่ารักดี แต่เมื่อถึงวัยเรียนหากโดนเพื่อนล้อ ก็ทำให้หมดความมั่นใจในตัวเองได้ อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือ ฟันน้ำนมเป็นอวัยวะสำคัญในการรับประทานอาหารของเด็ก ๆ ฟันที่แข็งแรงช่วยให้เด็กทานอาหารได้ดี การที่ฟันขึ้นช้า อาจส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหารของเด็กและอาจนำไปสู่ปัญหาในระบบย่อยอาหารได้

 

อาการแบบนี้ แปลว่าลูกของคุณแม่ฟันกำลังจะขึ้น

  • แก้มมีสีแดง รวมถึงเหงือกบวมแดง และเจ็บปวดบริเวณเหงือกที่มีฟันงอก บางคนอาจมีผื่นขึ้นบนใบหน้า
  • หงุดหงิดง่าย ร้องไห้งอแง เนื่องจากช่วงนี้ลูกจะมีอาการเจ็บเหงือก
  • ลูกนอนไม่หลับ เพราะความเจ็บปวดในช่องปาก
  • มีไข้ต่ำหรือตัวอุ่น ๆ ลูกอาจจะตัวร้อนได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวให้ลูก หรือประคบเย็นเพื่อคลายอาการเจ็บปวด หากไข้ยังไม่ลด ควรพาลูกไปพบแพทย์
  • ไม่ยอมดูดนม เนื่องจากปวดเหงือก จึงอาจทำให้ลูกไม่อยากดูดนมไปด้วย ให้คุณแม่ลองใช้ผ้าเย็นประคบเบา ๆ เพื่อลดอาการปวดได้

 

ดูแลทำความสะอาดฟันให้เจ้าตัวเล็กแบบไหนดี

 

ดูแลทำความสะอาดฟันให้เจ้าตัวเล็กแบบไหนดี

ฟันซี่แรกของลูกนั้นสำคัญมาก เรามาเริ่มดูแลฟันซี่น้อยนี้ให้เจ้าตัวเล็กกันค่ะ

  • ควรให้ลูกเลิกนมมื้อดึก เพราะน้ำตาลในนมอาจส่งผลให้ฟันผุได้ และควรแปรงฟันให้ลูกอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน
  • ควรเลือกแปรงสำหรับเด็ก ที่เป็นแปรงหน้าตัดตรง มีจำนวนขนแปรง 3x4-6 แถว และเลือกขนแปรงชนิดอ่อนนุ่ม
  • ใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กที่มีฟลูออไรด์ ใส่ยาสีฟันแค่พอเปียกบนขนแปรง หรือปริมาณเท่าเมล็ดข้าวสาร แล้วแปรงฟันให้ครบทุกซี่ จากนั้นจึงใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดฟองออก
  • หากลูกไม่ชอบรสชาติของยาสีฟัน อาจเริ่มแปรงฟันด้วยแปรงเปล่าชุบน้ำแทนการใช้ยาสีฟัน เมื่อลูกเริ่มปรับตัวได้ จึงค่อยเริ่มใช้ยาสีฟัน
  • สำหรับท่าการแปรงฟันในเด็ก ให้ลูกนอนหงายบนตัก ซึ่งท่านี้จะทำให้ลูกอยู่นิ่ง ทำให้คุณพ่อคุณแม่มองเห็นช่องปากของลูกได้สะดวก และแปรงฟันได้ง่ายขึ้น
  • แปรงในแนวนอน โดยให้ถูสั้น ๆ ประมาณ 10 ครั้ง จากซ้ายไปขวา และต้องแปรงทั้งด้านนอกและด้านใน

 

ลูกฟันขึ้นช่วงแรกทำให้ลูกเป็นไข้ได้ไหม

ลูกอาจเป็นไข้ ปวดหัว และตัวร้อนได้จากอาการปวดเหงือกเนื่องจากฟันขึ้น ให้คุณแม่ลองเช็ดตัวเพื่อลดอาการไข้ หรือพาไปพบคุณหมอหากลูกยังอาการไม่ดีขึ้น คุณหมออาจให้ยาแก้ปวดสำหรับเด็กมา เพื่อช่วยลดอาการเจ็บเหงือกของลูกได้

 

ลูกฟันขึ้นแล้วเหงือกบวม ทำยังไงได้บ้าง

การที่ฟันลูกค่อย ๆ งอกขึ้น อาจจะทำให้เหงือกเกิดอาการอักเสบ บวมแดง และมีอาการปวดได้ ลูกจึงมักจะมีอาการงอแงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอาการปวดเหงือกเหล่านี้ เพื่อบรรเทาอาการนี้ควรประคบเย็นให้ลูก โดยอาจใช้ยางกัด จุกหลอก หรือผ้าสะอาดชุบน้ำเย็น มานวดประคบบริเวณเหงือกของลูก ระวังอย่าให้เย็นจัดจนเกินไป หรือช่วยนวดเหงือกด้วยการใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำ ค่อย ๆ กดนวดวนเบา ๆ ตามบริเวณเหงือกของลูก

 

พัฒนาการตามช่วงวัยของลูกน้อย ฟันซี่แรกนั้นสำคัญมาก เพราะฟันน้ำนมเป็นรากฐานที่ดีของฟันแท้ เพราะหากฟันน้ำนมมีสุขภาพดี ไม่ผุกร่อนหรือติดเชื้อ ก็จะส่งเสริมพัฒนาการของฟันแท้ที่จะงอกตามมาให้สมบูรณ์แข็งแรงไปด้วย แต่ฟันน้ำนมนั้นผุง่าย เพราะชั้นเคลือบฟันน้ำนมบางกว่าชั้นเคลือบฟันของฟันแท้ รวมทั้งมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบน้อยกว่า จึงควรสอนให้ลูกรู้จักดูแลรักษาช่องปากของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ และคุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำด้วยเช่นกัน

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 

อ้างอิง:

  1. ดูแลฟันซี่แรก เริ่มต้นได้ตั้งแต่แรกกเกิด, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
  2. เทคนิคแปรงฟันเด็ก เพื่อสุขภาพช่องปากของลูกน้อย, Pobpad
  3. ฟันน้ำนม ฟันชุดแรกของเด็กที่ควรดูแลอย่างถูกต้อง, Pobpad
  4. ลูกฟันขึ้น สัญญาณ และวิธีการดูแลที่ควรรู้, Hellokhunmor
  5. ลูกไม่ยอมแปรงฟันทำยังไงดี และการดูแลสุขภาพฟันให้ลูกน้อย ควรเริ่มตั้งเเต่ตอนไหน, โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
  6. ความสำคัญของฟันน้ำนม, โรงพยาบาลสมิติเวช
  7. ฟันขึ้นตอนกี่เดือน และวิธีดูแลสุขภาพฟันของเด็ก, Hellokhunmor
  8. ฟันลูกจะขึ้น…ต้องทำยังไง, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

อ้างอิง ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567

บทความแนะนำ

พัฒนาการเด็ก 3 เดือน ทารก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการเด็ก 3 เดือน ทารก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการทารก 3 เดือน ลูกน้อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการทารก 3 เดือน และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 3 เดือน ได้อย่างไร ไปดูกัน

การมองเห็นของทารก ในแต่ละช่วงวัยลูกน้อยมองเห็นอะไรบ้าง

การมองเห็นของทารก ในแต่ละช่วงวัยลูกน้อยมองเห็นอะไรบ้าง

การมองเห็นของทารกแรกเกิดจนถึง 1 ขวบ มีพัฒนาการในด้านการมองเห็นที่แตกต่างกัน คุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นการมองเห็นของทารกได้ด้วยวิธีง่ายๆ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก

ตารางน้ำหนักตามเกณฑ์ อายุ 0-12 ปี น้ำหนักเด็ก-ส่วนสูงเด็ก ลูกโตแค่ไหน

เกณฑ์น้ำหนักส่วนสูงทารก 0-12 ปี ส่วนสูงเด็ก-น้ำหนักเด็ก ลูกโตแค่ไหน

ตารางเกณฑ์น้ำหนักส่วนสูงทารก น้ำหนักเด็ก-ส่วนสูงเด็กตามเกณฑ์ อายุ 0-12 ปี ควรอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อสุขภาพที่ดีและพัฒนาการของลูกน้อยในช่วงขวบปีแรก

วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน

วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน

ลูกไอไม่หยุด ลูกไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ไม่มีไข้ เป็นการตอบสนองของร่างกายตามธรรมชาติ ในบางครั้งอาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่ไม่ควรมองข้าม ไปดูวิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อยกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก