รับมือยังไง เมื่อลูกมีอาการวัยทอง 1 ขวบ ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ

รับมือยังไง เมื่อลูกมีอาการวัยทอง 1 ขวบ ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ

30.09.2024

รับมือยังไง เมื่อลูกมีอาการวัยทอง 1 ขวบ ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ พอโตขึ้นพฤติกรรมก็เปลี่ยนไป จากที่น่ารักว่าง่าย 
ก็เริ่มเอาแต่ใจไร้เหตุผล เป็นตัวของตัวเอง จนควบคุมอารมณ์ไม่ได้ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ ซึ่งทุกบ้านอาจพบเจอได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเข้าใจ และช่วยปรับแก้พฤติกรรมของลูกอย่างเหมาะสม เพื่อลูกจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

headphones

PLAYING: รับมือยังไง เมื่อลูกมีอาการวัยทอง 1 ขวบ ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ

อ่าน 13 นาที

 

สรุป

  • วัยทองของเด็ก จะเริ่มในช่วงอายุ 18 เดือน หรือ 1 ขวบครึ่ง ไปจนถึงเข้าวัย 3 ขวบ เป็นช่วงพัฒนาการปกติของเด็กเล็กวัยเตาะแตะ ที่มักมีอาการงอแง ดื้อรั้น เอาแต่ใจ อารมณ์แปรปรวน ใช้อารมณ์ไม่มีเหตุผล อยากทำอะไรด้วยตัวเอง อยากเป็นตัวของตัวเอง เมื่อไม่ได้ดั่งใจที่ต้องการ ก็มักจะเกิดความหงุดหงิด อาละวาด แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมออกมา การแสดงพฤติกรรมนี้อาจพบได้ทั้งเด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชาย
  • คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาพัฒนาการทุกด้าน ทุกช่วงอายุของลูก เพื่อทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง หากพบว่าลูกมีพัฒนาการที่ผิดปกติ มีพฤติกรรมที่แย่ลงหลังอายุ 4 ปี ทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตนเอง ร้องอาละวาด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางจิตใจ หรือกายภาพอื่น ๆ แฝงหรือเปล่า
  • วัยทอง 1 ขวบ เป็นวัยที่ต่อต้านพ่อแม่ อาจแสดงออกทางพฤติกรรมไม่เหมาะสม ลูกจะดื้อมากขึ้นเพราะอยากเป็นตัวของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่จึงต้องใจเย็น ตั้งสติ สอนลูกให้รับมือแก้ปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์ เมื่อลูกทำตัวไม่ดี ก้าวร้าว ดื้อ ควรเพิกเฉยต่อพฤติกรรม คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยสันติวิธี
  • ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรให้เวลาลูกในการปรับแก้ไขพฤติกรรม พูดคุยกับลูก สอนลูกด้วยความเมตตา ด้วยภาษาเข้าใจง่าย ไม่ดุด่า ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ทำโทษลูก ตีลูก เพราะจะทำให้ลูกเก็บกดมีปัญหาทางอารมณ์

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

วัยทอง 1 ขวบมีจริงไหม ลูกจะมีอาการยังไง

เมื่อพูดถึงวัยทอง พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะรู้ว่า วัยทองนี้ เป็นช่วงพัฒนาการปกติของเด็กเล็กวัยเตาะแตะ ที่มักมีอาการงอแง ดื้อรั้น เอาแต่ใจ ใช้อารมณ์ไม่มีเหตุผล วัยทองนี้จะเริ่มในช่วงอายุประมาณ 18 เดือน หรือ 1 ขวบครึ่ง ไปจนถึงเข้าวัย 3 ขวบ เด็กวัยนี้อยากทำในสิ่งที่ต้องการ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง เมื่อไม่ได้ดั่งใจ ก็มักจะเกิดความหงุดหงิด อาละวาด แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมออกมา รวมไปถึงการตี เตะ กัด ขว้างปาสิ่งของ การแสดงพฤติกรรมนี้อาจพบได้ทั้งเด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชาย บางครั้งก็มีอารมณ์แปรปรวน เมื่อมีความรัก ดีใจ ก็แสดงออกถึงความสุข แต่เมื่อไม่พอใจก็แสดงออกชัดเจน กรี๊ด ร้องไห้ออกมา ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากอยากทำสิ่งต่าง ๆ แต่ตนเองยังอายุน้อย ขาดทักษะต่าง ๆ ในการทำความเข้าใจ รับมือกับพัฒนาการทางอารมณ์ได้ไม่ดีพอ คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลของพัฒนาการในเด็กวัยเตาะแตะ ช่วงอายุ 1-3 ขวบนี้อย่างเข้าใจ และเตรียมพร้อมรับมือ ช่วยปรับพฤติกรรมให้ลูกอย่างถูกวิธี เพื่อที่ลูกจะค่อย ๆ ปรับตัว และมีพัฒนาการที่ดีสมวัยในอนาคตได้

 

วัยทอง 1 ขวบเกิดจากสาเหตุอะไร

เด็กวัยทอง หรือ เด็กที่อยู่ในช่วงวัย 1 ขวบกว่า ไปจนถึงเข้าวัย 3 ขวบ ซึ่งเด็กอายุในวัย 1-3 ขวบ หรือวัยเตาะแตะนี้ จะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง เริ่มมีพฤติกรรมที่ดื้อ ต่อต้าน ปฏิเสธในสิ่งที่พ่อแม่ให้ทำ เพื่อดูว่าตนเองนั้นมีอิสระ และความสามารถทำอะไร มากน้อยเท่าไหร่ และบางครั้งก็อยากทดสอบปฏิกิริยาจากพ่อแม่ และเกิดการเรียนรู้ว่า ตนเองนั้นจะรับมือกับพ่อแม่ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไร

 

เด็กวัยนี้ อยากทำสิ่งต่าง ๆ แต่ตนเองยังอายุน้อย ขาดทักษะในการทำความเข้าใจ และเกิดการรับมือกับพัฒนาการทางอารมณ์ ร่างกาย และการสื่อสารได้ไม่ดีพอ จึงไม่สามารถสื่อสารหรือบอกความต้องการได้อย่างชัดเจน เมื่อไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการได้ ก็จะเกรี้ยวกราด อาละวาด และแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักออกมา บางครั้งอารมณ์ก็แปรปรวน เมื่อมีความรัก ดีใจ ก็จะสุข เมื่อไม่พอใจก็อาละวาด กรี๊ด ร้องไห้

 

พัฒนาการของเด็ก 1 ขวบ ที่พ่อแม่ควรเข้าใจ

พอลูกเริ่มโตขึ้นจากวัยทารกเป็นเด็กวัย 1 ขวบ ก็จะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ นั้น แตกต่างออกไปจากเดิม สามารถแสดงความต้องการ ความรู้สึก อารมณ์ของตัวเองได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาพฤติกรรมพัฒนาการทุกด้านของลูก ทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง เพื่อรับมือ จัดการกับความเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ช่วงอายุของลูกได้ หากพบว่าลูกมีพัฒนาการที่ล่าช้า พัฒนาการผิดปกติ ควรรีบพาลูกปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย การแก้ไขฝึกฝน พัฒนาอย่างถูกวิธี พัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กวัย 1 ขวบ มีดังนี้

  • พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ ลูกจะเริ่มเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับคนรอบตัว แม้จะพูดไม่ได้เยอะ แต่ลูกจะเริ่มเรียนรู้แสดงออกสื่อสารให้คนรอบข้างได้เข้าใจ เช่น ยื่นนิทานให้เมื่ออยากให้พ่อแม่อ่าน ร้องไห้เมื่อพ่อแม่ขัดใจ รู้สึกอายเมื่อเจอคนแปลกหน้า ส่งเสียงซ้ำ ๆ เมื่ออยากให้พ่อแม่สนใจ
  • พัฒนาการด้านสมอง สมองของลูกวัย 1 ขวบกำลังเติบโต เรียนรู้ที่จะใช้สิ่งของให้ถูกกับการใช้งาน หาของที่ซ่อนไว้เจอ เลียนแบบท่าทางการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของผู้ใหญ่ พูดชื่อสิ่งรอบตัวได้อย่างถูกต้อง ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ของพ่อแม่ด้วยตัวเอง
  • พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและร่างกาย ลูกสามารถขยับตัวไปมาได้ มีความเคลื่อนไหวมากขึ้น ทรงตัวได้ ลุก-นั่งเองได้ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องช่วย ก้าวเดินได้ 2-3 ก้าว หรือเดินโดยเกาะตามโต๊ะ เฟอร์นิเจอร์และอื่น ๆ ในบ้าน
  • พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร เด็กในวัยนี้จะเริ่มแสดงความต้องการของตัวเองกับพ่อแม่ และคนในบ้านมากขึ้น เสียงพูดจะอ้อแอ้ เป็นภาษามากขึ้น พูดคำง่าย ๆ ได้ เช่น พ่อ แม่ หรือสามารถพูดคำที่พ่อแม่พูด ใช้ภาษากายง่าย ๆ ได้ เช่น โบกมือบ๊ายบาย สามารถตอบสนองคำของ่าย ๆ ได้

 

วัยทอง 1 ขวบ พ่อแม่ต้องมีสติและใจเย็น

 

วัยทอง 1 ขวบ พ่อแม่ต้องมีสติและใจเย็น

เมื่อลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ แสดงออกทางพฤติกรรมไม่เหมาะสม ต่อต้านพ่อแม่ ก้าวร้าวมากขึ้น จากที่ยอมก็จะไม่ยอม ในเด็กบางคนอาจลงไปนอนดิ้นกับพื้น ลูกจะดื้อมากขึ้นเพราะอยากเป็นตัวของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่จึงต้องใจเย็น ตั้งสติ สอนลูกให้รับมือแก้ปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์ เพราะความก้าวร้าวที่ลูกแสดงออกมา อาจมาจากความเครียด ความรุนแรงรอบ ๆ ตัว ที่ซึมซับมา หากลูกได้สิ่งที่อยากได้จากการแสดงออกซึ่งความก้าวร้าวแล้ว ลูกก็จะเรียนรู้และจะก้าวร้าวขึ้นเรื่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง เมื่อลูกทำตัวไม่ดี ก้าวร้าว ดื้อ ที่ไม่รุนแรงจนเกินไป ควรเพิกเฉยต่อพฤติกรรมนั้น ๆ แต่หากลูกไม่พอใจ ทุบตี ทำร้ายคนอื่น ต้องจับมือลูกไว้ แล้วกอดลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ใช้อารมณ์ด่า ต่อว่าลูก ไม่ใช้อารมณ์ในแง่ลบ ลงโทษในสิ่งที่ลูกทำ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจว่า พฤติกรรมไม่ดีที่ลูกแสดงออกมา เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของลูก เพื่อให้ลูกได้รับมือและเรียนรู้ในการควบคุมตัวเอง

 

รับมือพฤติกรรมวัยทอง 1 ขวบยังไงกันดี

แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถป้องกันการร้องอาละวาดได้ทุกครั้ง แต่ก็สามารถรับมือ และลดโอกาสการเกิดพฤติกรรมไม่น่ารักของวัยทอง 1 ขวบได้ คือ

  • เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกในการแสดงออกทางอารมณ์ ไม่ใช้อารมณ์แก้ไขปัญหา
  • ตั้งกฎของบ้านอย่างเหมาะสม เป็นกฎที่ลูกและคนในบ้านสามารถปฏิบัติได้ และพยายามไม่เปลี่ยนกฎบ่อย ๆ
  • คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความสม่ำเสมอกับกฎและคำสั่ง อะไรที่ทำได้ หรือไม่ได้ ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ลูกสับสน
  • คุณพ่อคุณแม่ และผู้ใหญ่ในบ้าน ควรปฏิบัติกับลูกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น เมื่อลูกโมโห ผู้ใหญ่คนหนึ่งห้ามไม่ให้แสดงความโกรธ แต่ผู้ใหญ่อีกคนให้เวลาลูกสงบเอง การทำแบบนี้จะทำให้ลูกสับสนว่า ควรจะทำอย่างไรถึงจะดี
  • กระตุ้นให้ลูกได้พูดบอกอารมณ์ บอกความต้องการของตนเองอย่างสุภาพ เช่น หนูร้อน หนูง่วงนอน
  • หลีกเลี่ยงการพาลูกไปนอกสถานที่ที่ต้องอยู่ในระเบียบ หรือต้องใช้เวลานาน ๆ เช่น พาลูกไปงานพิธีต่าง ๆ ที่ต้องให้ลูกนิ่ง ไม่ซน ไม่ให้ส่งเสียงดัง
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้ลูกอาละวาด หรืองอแง เช่น ให้เล่นของเล่นที่ยากเกินกว่าที่วัยของลูกจะเล่นได้
  • เบี่ยงเบนความสนใจ ชวนลูกเปลี่ยนกิจกรรมหากลูกงอแง เพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
  • เมื่อต้องออกนอกบ้าน เตรียมอาหารเพื่อไม่ให้ลูกหิว
  • พยายามไม่ให้ลูกตึงเครียด หรือทำพฤติกรรมก้าวร้าวต่อหน้าลูก
  • ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ ทำพฤติกรรมไม่ดีที่ไม่ได้รุนแรงจนเกินไป เพื่อเรียกร้องความสนใจ ให้เพิกเฉย ไม่สนใจในสิ่งที่ลูกทำ
  • จัดการกับพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกอย่างมีสติ และเข้าใจ ด้วยท่าทีที่สงบ ไม่ใช้อารมณ์ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ถึงวิธีการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง
  • ใช้เทคนิคการอ่านหนังสือ อ่านนิทาน คำกลอนสอนใจ ใช้คำพูดค่อย ๆ บอกสอนให้ลูกประทับใจ และทำตาม
  • อธิบายเหตุผลง่าย ๆ ด้วยคำที่ทำให้ลูกเข้าใจง่าย ๆ ว่าไม่ได้เพราะอะไร เช่น ไม่จับหม้อเพราะมันร้อน
  • เมื่อลูกปรับพฤติกรรมตัวเอง แม้ว่าจะดี หรือยังไม่ดีมากนัก คุณพ่อคุณแม่ควรชื่นชม ให้กำลังใจ มองเห็นถึงความพยายามของลูก

 

ลูก 1 ขวบร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ไหม

ลูก 1 ขวบร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ อาจยังไม่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ แต่หากลูกมีพฤติกรรมที่แย่ลงหลังอายุ 4 ปี ร้องอาละวาด ทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตนเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางจิตใจหรือกายภาพอื่น ๆ แฝงอยู่ไหม พฤติกรรมร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ เป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการในช่วงแรก หากคุณพ่อคุณแม่ศึกษาข้อมูลและสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยความรัก และเอาใจใส่ ปรับแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม อาการเหล่านี้อาจจะค่อย ๆ หายไปและไม่ต้องปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน

 

วิธีปรับพฤติกรรมลูกน้อย เมื่อลูกทำตัวไม่น่ารัก

ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทำตัวไม่น่ารัก คุณพ่อคุณแม่ควรมีวิธีรับมือที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้อาการวัยทอง 1 ขวบ ของลูกนั้นลดลง และมีพฤติกรรมเปลี่ยนจากเดิม เป็นดีขึ้นตามลำดับ ดังนี้

  • คุณพ่อคุณแม่ต้องมีสติ ใจเย็น ไม่โมโห เพราะความโมโห จะทำให้สถานการณ์นั้นแย่ลงกว่าเดิม
  • คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างและแบบฉบับที่ดี พูดดี ประพฤติดี เพื่อให้ลูกได้เห็นเป็นแบบอย่าง
  • พยายามไม่ให้ลูกตึงเครียด หรือทำพฤติกรรมก้าวร้าวใส่กัน ทะเลาะกันต่อหน้าลูก
  • เพิกเฉย ไม่สนใจ ต่อพฤติกรรมไม่ดีที่ลูกทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ
  • เมื่อลูกอาละวาด ให้เบี่ยงเบนความสนใจลูก เช่น ชวนไปเล่นของเล่น
  • เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่ดี ควรพูดคุยกับลูก สอนลูกด้วยน้ำเสียงจริงจัง เรียบ ๆ ด้วยภาษาเข้าใจง่าย ไม่ตวาด ดุด่า และพูดให้ลูกรู้สึกผิด
  • ไม่ทำโทษลูก ตีลูก ขณะที่อาละวาด เกรี้ยวกราด เพราะจะทำให้ลูกเก็บกดมีปัญหาทางอารมณ์ คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดการอย่างมีสติ ท่าทีสงบ และเข้าใจ ลูกจะได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง
  • ไม่มองว่าการตี เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องลงโทษลูก ไม่ลงโทษลูกด้วยอารมณ์
  • ไม่ควรให้ลูกดูทีวี ดูโซเชียลมีเดีย เพราะลูกอาจยังไม่เข้าใจเหตุผล ทำให้เกิดการเลียนแบบ ซึมซับเอาสิ่งไม่ดีจากภาพที่เห็น
  • สอนให้ลูก นับ 1-10 หรือชวนพูดคุย เพื่อลดอารมณ์โกรธ ควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้
  • เมื่อลูกหายโกรธ อารมณ์เย็นลงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรไปพูดซ้ำเรื่องเดิมที่ลูกทำ ควรชวนทำกิจกรรมอื่นแทน
  • ไม่ใช้รางวัลมาติดสินบน เพื่อทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมไม่ดี เพราะจะทำให้ลูกคิดว่า ถ้าอยากได้สิ่งที่ต้องการจะต้องทำวิธีนี้
  • ควรให้เวลาลูกในการปรับแก้ไขพฤติกรรม

 

กิจกรรมฝึกสมาธิง่าย ๆ เอาไว้เล่นกับลูกวัย 1 ขวบ

การชักชวนลูกเล่น หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างสมาธินั้น เป็นวิธีการรับมือที่ดีกับอาการวัยทอง 1 ขวบ การฝึกให้เด็กมีสมาธิจะช่วยสร้างความอดทน มุ่งมั่นให้ลูกจดจ่อ ทำในสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จ โดยมีวิธีแนะนำ ดังนี้  

  1. ซ่อนของเล่น คุณพ่อคุณแม่เอาของไปซ่อน แล้วบอกสื่อสารกับลูก ให้ลูกช่วยหาของ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับ คุณพ่อคุณแม่ และช่วยเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม
  2. ฝึกแต่งตัว ให้ลูกช่วยเวลาคุณแม่แต่งตัวให้ เช่น ยกแขนให้แม่ กางขาเมื่อใส่กางเกง เป็นการเสริมพัฒนาการและทักษะของลูก เพื่อให้ลูกเตรียมพร้อมที่จะทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองแบบค่อยเป็นค่อยไป
  3. ของเล่นเสริมพัฒนาการต่าง ๆ ลูกวัย 1 ขวบ เหมาะกับของเล่นเสริมพัฒนาการด้านภาษา พัฒนาการทางกล้ามเนื้อและการทรงตัว เช่น ของเล่นไขลาน รถลากจูง หนังสือนิทาน สมุดภาพรูปสัตว์ต่าง ๆ

 

ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ดเอาแต่ใจ ดื้อ ก้าวร้าว ต่อต้านพ่อแม่ อาจเป็นเรื่องไม่ง่ายที่พ่อแม่จะรับมือและจัดการได้ แต่ก็ไม่ยากนัก หากพ่อแม่และคนในบ้าน ให้ความเข้าใจกับพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกวัย 1 ขวบ รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ด้วยความรัก ไม่ใช้อารมณ์ ก็จะช่วยให้เด็กกลับมามีพฤติกรรมที่ดีได้ในอนาคต

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 

อ้างอิง:

  1. รับมือหนูน้อยวัยเตาะแตะ (วัย Toddler), โรงพยาบาลสมิติเวช
  2. การร้องอาละวาด ส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ, โรงพยาบาลเวชธานี
  3. พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ และการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม, HelloKhunmor
  4. พัฒนาการของลูกน้อยเมื่ออายุ 1 ปี, UNICEF Thailand
  5. การรับมือกับพฤติกรรมไม่เหมาะสม, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. ลูกกรี๊ด เอาแต่ใจ คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร, โรงพยาบาลสมิติเวช
  7. เมื่อลูกก้าวร้าว พ่อแม่อย่างเราควรรับมือกับพฤติกรรมนี้อย่างไร?, โรงพยาบาลพญาไท
  8. ฝึกให้ลูกใส่เสื้อผ้าด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ทำได้อย่างไรบ้าง, HelloKhunmor
  9. เลือก “ของเล่น” เป็น “ของขวัญ” ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย, โรงพยาบาลสมิติเวช
  10. What to Expect from the Terrible Twos, Healthline

อ้างอิง ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2567
 

บทความแนะนำ

เด็กเดินได้กี่เดือน ลูกเดินช้า มีผลต่อพัฒนาการสมองไหม

เด็กเดินได้กี่เดือน ลูกเดินช้า มีผลต่อพัฒนาการสมองไหม

เด็กเดินได้กี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าลูกเริ่มเดินได้แล้ว ลูกเดินช้ามีผลต่อพัฒนาการสมองไหม พร้อมวิธีฝึกลูกเดิน ช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อย

เด็กเริ่มคลานกี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าเด็กเริ่มคลานได้แล้ว

เด็กเริ่มคลานกี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าเด็กเริ่มคลานได้แล้ว

เด็กเริ่มคลานกี่เดือน สัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าลูกเริ่มคลานได้แล้ว ลูกคลานช้ากี่เดือนถึงเรียกว่าพัฒนาการช้าเกินไป พร้อมวิธีฝึกลูกคลาน ช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อย

ผื่นส่าไข้ คืออะไร วิธีสังเกตส่าไข้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

ผื่นส่าไข้ คืออะไร วิธีสังเกตส่าไข้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

ผื่นส่าไข้ คืออะไร อันตรายกับลูกไหม ผื่นส่าไข้ในเด็ก มีวิธีสังเกตอาการอย่างไร คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันผื่นส่าไข้ในเด็กได้หรือเปล่า พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย

อาการไข้ในเด็ก ลูกมีอาการหนาวสั่นมีไข้ เช็ดตัวยังไงให้ไข้ลด

อาการไข้ในเด็ก ลูกมีอาการหนาวสั่นมีไข้ เช็ดตัวยังไงให้ไข้ลด

ลูกมีอาการหนาวสั่นมีไข้ ดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ถูกวิธี อาการไข้ในเด็กอันตรายไหม อาการแบบไหนที่คุณแม่ควรสังเกตเมื่อลูกมีไข้หนาวสั่น พร้อมวิธีดูแลลูกน้อยเบื้องต้น

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก