วัยทอง 2 ขวบ ลูกร้องไห้เอาแต่ใจ พร้อมวิธีรับมือวัยทองเด็ก 2 ขวบ

วัยทอง 2 ขวบ ลูกดื้อมาก รับมือวัยทองเด็ก 2 ขวบ ยังไงดี

16.02.2020

Terrible two หรือ วัยทอง 2 ขวบ ที่คุณพ่อคุณแม่คงได้ยินบ่อย ๆ ในการเตรียมรับมือกับอารมณ์ขึ้นลงสุด ๆ ดื้อแบบไม่มีเหตุผลของลูกน้อย จริง ๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์ที่ชัดเจนขึ้นมากสำหรับลูกน้อยในวัยนี้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องอาศัยการเลี้ยงดูที่มีความเข้าใจ หมั่นสังเกตพฤติกรรม และเตรียมศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้

headphones

PLAYING: วัยทอง 2 ขวบ ลูกดื้อมาก รับมือวัยทองเด็ก 2 ขวบ ยังไงดี

อ่าน 8 นาที

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

วัยทอง 2 ขวบ (Terrible two) คืออะไร

Terrible two หรือ วัยทอง 2 ขวบ ที่คุณพ่อคุณแม่คงได้ยินบ่อย ๆ ในการเตรียมรับมือกับอารมณ์ขึ้นลงสุด ๆ แบบไม่มีเหตุผลของลูกน้อย จริง ๆ แล้ว คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และพฤติกรรม ของเด็กวัยนี้ อย่างชัดเจน เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่จะพัฒนาความรู้สึกของตนเอง มีความเป็นตัวของตัวเองในการริเริ่มอยากทำอะไรต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งไม่ได้สอดคล้องกับความสามารถของตัวเอง ดังนั้น เด็กจะเกิดความไม่พอใจและแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยพฤติกรรมจะเป็นไปตามสรีรวิทยาของสมอง ในช่วงนี้สมองในด้านของอารมณ์จะเติบโตได้ดีกว่าสมองส่วนเหตุผล ทำให้ลูกน้อยจะแสดงออกทางอารมณ์ทันที ทั้ง ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ โดยที่ยังไม่มีเหตุผล

 

วัยทอง 2 ขวบ แค่เข้าใจก็รับมือได้

ในช่วงวัยนี้ปัจจัยที่มีผลต่ออุปนิสัยของลูกน้อยมี 2 ส่วนหลัก คือ

  1. พื้นอารมณ์ของเด็ก (Temperament) หรืออุปนิสัยตามธรรมชาติของเด็กแต่ละคนที่มีมาตั้งแต่เกิด ซึ่งเด็กที่มีอุปนิสัยพื้นฐานเป็นคนใจร้อน ย่อมแสดงออกชัดเจนกว่าเด็กอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจวัยทองเด็กในจุดนี้ และเตรียมพร้อมมือกับการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูก 2 ขวบ ดื้อมาก
  2. สภาพแวดล้อม หรือครอบครัวที่เลี้ยงดูเด็ก เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปรับพฤติกรรมของลูกน้อยที่มีนิสัย เหวี่ยงวีน เอาแต่ใจได้ โดยการเลี้ยงดูของคนในครอบครัวที่เข้าใจต่อพฤติกรรมในวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเลี้ยงลูกให้ฉลาด รู้จักจัดการอารมณ์ของตัวเอง โดยช่วยกันปรับเปลี่ยนนิสัยที่ก้าวร้าวให้ดีขึ้น เมื่อลูกน้อยโตขึ้น เด็กจะสามารถควบคุมอารมณ์ไปในทางที่ดีได้
    • การรับมือในช่วงวัยทองเด็กหรือเมื่อลูก 2 ขวบ ดื้อมากนี้ เด็กอาจจะยังไม่เข้าใจอารมณ์ของตนเอง คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้เค้ารู้ว่าตอนนี้เค้ารู้สึกอย่างไร เช่น บอกให้รู้ว่าเค้ากำลังอยู่ในอารมณ์โกรธ และบอกว่าอะไรที่สามารถทำได้หรือไม่ได้ โดยใช้คำพูดสั้น ๆ ไม่ต้องเป็นประโยคยาวมากนัก เช่น “แม่รู้ว่าหนูกำลังโกรธ แต่ตีแม่ไม่ได้ หรือปาของไม่ได้นะคะ”
    • ในเด็กบางคน การกอดหรือการปลอบประโลมเป็นตัวช่วยสำคัญที่ลดอารมณ์เกรี้ยวกราดลงได้ โดยในระหว่างกอดเค้า คุณแม่ควรจับมือไว้ด้วย เพื่อที่เค้าจะได้รู้ว่าทำแบบนั้นไม่ได้ ห้ามปาของหรือตีด้วยมือนี้ หรือห้ามทำร้ายตัวเอง รวมไปถึงคุณแม่ควรปล่อยให้เค้าร้องไห้ แล้วถึงพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนต่อลูกน้อย เพื่อช่วยปรับอารมณ์ให้เย็นลงได้ ที่สำคัญห้ามลงโทษด้วยความรุนแรงนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกควบคุมอารมณ์ของตนเองด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันพฤติกรรมการเลียนแบบ ที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมเชิงลบในอนาคตของลูกน้อยได้

 

วัยทอง 2 ขวบ ลูก 2 ขวบ ดื้อมาก แค่เข้าใจก็รับมือได้

 

สาเหตุที่ลูกวัยทอง 2 ขวบหงุดหงิดง่าย

  1. เมื่อเริ่มเข้าสู่วัย 2 ขวบหรือวัยทองเด็ก นอกจากพัฒนาการทางร่างกายที่เติบโตขึ้นอย่างมากแล้ว พัฒนาการทางอารมณ์ก็พัฒนาแบบก้าวกระโดดเช่นกัน ซึ่งเด็กวัยนี้จะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง รู้จักตัวเองมากขึ้น มีการแสดงอารมณ์และท่าทีไม่พอใจอย่างชัดเจน เมื่อถูกบังคับหรือห้ามไม่ให้ทำอะไร เพราะสมองที่ควบคุมด้านเหตุผลยังพัฒนาไม่ทันสมองที่ควบคุมอารมณ์ โดยในเด็กบางคนที่มีพื้นฐานอารมณ์ร้อน หรือถูกการเลี้ยงดูแบบเอาใจอาจจะแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน เรียกร้องความสนใจ อาจมีการกรีดร้อง หรืออาละวาด ทำร้ายตนเองและผู้อื่นเมื่อโกรธหรือไม่พอใจ
  2. ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กน้อยมีพฤติกรรมไม่น่ารัก อาละวาด หรือก้าวร้าวได้ เช่น ข้อจำกัดเรื่องพัฒนาการทางภาษาที่ยังไม่เข้าใจสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือถามได้ทั้งหมด ไม่รู้จะบอกความรู้สึกของตนเองอย่างไร หรือข้อจำกัดเรื่องสังคม การเรียกร้องความสนใจ ในครอบครัวที่มีพี่และน้อง พี่อาจมีความอิจฉาน้อง หรือข้อจำกัดทางกายภาพ การเคลื่อนไหวที่อาจจะยังไม่ดีพอต่อความต้องการที่จะลงมือกระทำบางสิ่ง ทำให้แสดงออกด้วยความไม่พอใจ เป็นต้น
  3. ปรับพฤติกรรมวัยทอง 2 ขวบด้วยความเข้าใจ คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับพฤติกรรมลูกน้อยได้ด้วยความเข้าใจ ใจเย็นให้มากที่สุด และหลีกเลี่ยงการออกคำสั่ง หรือเบี่ยงเบนความสนใจจนมากเกินไป แต่ควรให้เด็กค่อย ๆ เข้าใจอารมณ์ตนเอง รวมถึงอธิบายด้วยเหตุและผลทุกครั้ง

 

ทำไมลูกวัย 2 ขวบ ดื้อมากเฉพาะตอนอยู่กับพ่อแม่

ด้วยพฤติกรรมและอาการวัยทองเด็ก 2 ขวบ อาจทำให้เขาไม่เชื่อใจคนอื่น แต่จะออกฤทธิ์การทดสอบขีดจำกัดของตัวเองทันทีเมื่ออยู่กับพ่อแม่ เพราะรู้ว่า ยังไงพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดจะช่วยเขาทันทีเมื่อมีปัญหา เช่น เมื่อคุณต้องปล่อยให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยงเด็ก ลูกอาจโกรธและอาละวาดเมื่อต้องแยกกับคุณ หรือลูกอาจครวญครางหรือทําสะอึกสะอื้นเกาะคุณไม่ปล่อย หรือลูกอาจแค่ข่มอารมณ์และเงียบไป สำคัญที่สุด เมื่อลูก 2 ขวบ เอาแต่ใจร้องไห้หรือมีอาการวัยทอง 2 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็น ไม่ว่าพฤติกรรมของลูกเป็นอย่างไรก็ตาม ให้คุณพยายามไม่แสดงออกโดยการดุหรือลงโทษลูกนะคะ

 

7 วิธีรับมือลูก วัยทอง 2 ขวบ

การเลี้ยงลูกไม่ได้มีทฤษฎีหรือสูตรเฉพาะตายตัว แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกน้อย แล้วนำวิธีการต่าง ๆ มาปรับใช้อย่างเหมาะสม โดยมี 7 วิธีง่าย ๆ สำหรับรับมือกับลูกน้อยที่ย่างเข้าสู่วัยทอง 2 ขวบ ดังนี้ค่ะ

1. ใจเย็น เข้าใจความต้องการของลูก

ในช่วงวัยนี้ว่าเป็นวัยที่เริ่มมีความคิดเป็นของตนเอง อยากทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง แต่ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีมากพอ

 

2. เปลี่ยนจากคำสั่ง เป็นขอความร่วมมือ

เสนอทางเลือกให้กับลูก ลองให้เค้าได้เลือกเอง เวลาที่ไม่ถูกต้องจะได้ค่อย ๆ อธิบายถึงเหตุและผลต่อสิ่งที่เค้าได้เลือกเอง

 

3. เอาใจใส่ ชมเชยในสิ่งที่ลูกทำได้ดี

เป็นการสื่อสารในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกมากขึ้น

 

4. อ่านนิทาน สร้างเหตุการณ์สมมุติ

หากิจวัตรประจำวันที่ทำร่วมกันระหว่างลูกและคุณพ่อคุณแม่ เป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว

 

5. เข้าใจความต้องการของลูก

รับฟังทุกครั้งที่เค้ามาเล่าให้ฟัง ให้ความสำคัญกับทุก ๆ เรื่องราวที่ลูกต้องการสื่อสาร ถึงแม้บางครั้งลูกน้อยอาจจะยังสื่อสารไม่เป็นประโยคก็ตาม

 

6. ชวนลูกเล่น เบี่ยงเบนความสนใจ

คุณพ่อคุณแม่สามารถหาของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กและอาจจะต้องสังเกตว่าสิ่งไหนที่จะทำให้ลูกเริ่มหงุดหงิด อารมณ์เสีย เราอาจหลีกเลี่ยงก่อนเพื่อไม่ให้เค้าแสดงออกถึงพฤติกรรมเชิงลบ

 

7. การหากิจกรรมให้ลูกได้ปล่อยพลังอย่างเต็มที่

โดยอาจพาลูกออกไปนั่งรถเข็น เดินเล่น เล่นนอกบ้าน เพื่อให้เค้ารู้สึกผ่อนคลายและปรับอารมณ์ให้ดียิ่งขึ้น

 

ไขข้อข้องใจวัยทอง 2 ขวบ

คำถามยอดฮิตสำหรับการเตรียมตัวรับมือพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกน้อยวัยทอง 2 ขวบ สำหรับคุณพ่อคุณแม่

 

อารมณ์ จะมีผลกระทบหรือติดเป็นนิสัย ตอนเด็กโตขึ้นหรือไม่

การเลี้ยงดูและความใส่ใจในการปรับพฤติกรรมในทิศทางที่เหมาะสมของครอบครัว จะช่วยปรับพฤติกรรมเชิงลบ ในเด็กที่มีนิสัยใจร้อน เอาแต่ใจได้ เมื่อโตขึ้นก็จะไม่ได้มีนิสัยหรืออารมณ์ที่รุนแรงเท่าตอนวัยทอง 2 ขวบ แต่จะสามารถควบคุมอารมณ์ไปในทางที่ดีขึ้นได้

 

วัยทอง 2 ขวบ รับมือได้ด้วยวิธีปรับอารมณ์และพฤติกรรมให้เด็ก

ในวัยนี้เด็กยังควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดีนัก เพราะไม่รู้ใจตนเองว่ากำลังรู้สึกอย่างไร และไม่เข้าใจว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ ดังนั้น คุณพ่อและคุณแม่ต้องให้คำจำกัดความของลูกให้ถูก ว่าอารมณ์ที่เขากำลังรู้สึกอยู่นั้นคืออะไร และบอกว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ จะต้องใช้วิธีการบอกสั้น ๆ ไม่ต้องยาว แต่ต้องหนักแน่น เพราะเด็กเล็กยังไม่เข้าใจในภาษาได้มากนัก ความรักความอบอุ่นก็เป็นสิ่งสำคัญ การแสดงออกเมื่อยามลูกน้อยมีอารมณ์ฉุนเฉียว ด้วยการกอด เป็นวิธีที่ช่วยให้ลูกอารมณ์เย็นลง และรู้สึกปลอดภัย โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจับมือของเขาไว้เป็นการบ่งบอกถึงการห้ามไม่ให้เด็ก ปาของใส่ ตี หรือการทำร้ายร่างกายตัวเอง

 

ลูกอารมณ์ร้อน ลูกดื้อ เอาแต่ใจ ควรลงโทษหรือไม่

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรลงโทษลูก ขณะที่ลูกมีอารมณ์โกรธ ฉุนเฉียว หรือกำลังร้องอาละวาด เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กเก็บความคับข้องใจและมีปัญหาทางอารมณ์ต่อไป ควรตอบสนองกับพฤติกรรมเชิงลบของลูกอย่างสงบและเข้าใจให้มากที่สุด พึงนึกเสมอว่าลูกพร้อมทดสอบกฎกติกาของพ่อแม่เสมอ และเมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดียิ่งขึ้น

 

วัยทอง 2 ขวบ นานแค่ไหนที่ลูกจะหายอารมณ์ร้อน

พฤติกรรมวัยทอง 2 ขวบ เป็นไปตามธรรมชาติของวัยของลูก เด็กแต่ละคนจะมีอารมณ์มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานนิสัยและสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยเข้าโรงเรียน เริ่มมีการเข้าสังคมมากขึ้น พฤติกรรมและอารมณ์เชิงลบต่าง ๆ เหล่านี้ จะค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะเด็กจะเริ่มเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับคนอื่น เริ่มเคารพกฎ กติกาของคุณครู เขาจะต้องควบคุมพฤติกรรม ควบคุมอารมณ์ของตัวเองอย่างไร เพื่อให้อยู่ร่วมกับเพื่อน และคุณครูได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ แนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่อาจปรึกษาแพทย์ เมื่อเด็กมีการทำร้ายตนเองหรือคนอื่นมากขึ้น หรือพฤติกรรมแย่ลงหลังอายุ 4 ปี เพื่อดูว่าเด็กมีปัญหาทางกายภาพหรือจิตใจแอบแฝงอยู่หรือไม่

 

เมื่อคุณแม่มือใหม่ต้องรับมือกับวัยทองเด็ก หรือ ลูก 2 ขวบ ดื้อมาก ความรัก ความเข้าใจของคุณพ่อคุณแม่ และสมาชิกภายในครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะรับมือกับวัยทอง 2 ขวบ พร้อมช่วยให้เด็กมีพัฒนาการตามวัยที่ดี เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 

 

บทความแนะนำ

เปลี่ยนนามสกุลใช้เอกสารอะไรบ้าง พร้อมขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลลูก

เปลี่ยนนามสกุลใช้เอกสารอะไรบ้าง พร้อมขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลลูก

เปลี่ยนนามสกุลใช้เอกสารอะไรบ้าง ทำผ่านออนไลน์ได้ไหม มีขั้นตอนอย่างไร ลูกน้อยต้องอายุเท่าไหร่ถึงเปลี่ยนนามสกุลได้ พร้อมขั้นตอนการเปลี่ยนนามสกุลลูก

เหาเกิดจากอะไร คุณแม่มีวิธีกำจัดเหาในเด็กเล็กได้อย่างไรบ้าง

เหาเกิดจากอะไร คุณแม่มีวิธีกำจัดเหาในเด็กเล็กได้อย่างไรบ้าง

เหาเกิดจากอะไร ลูกเป็นเหา คันหนังศีรษะ คุณแม่มีวิธีกำจัดเหาอย่างไร หากปล่อยไว้นาน ไม่กำจัดเหา จะเป็นอันตรายกับลูกน้อยไหม พร้อมวิธีป้องกันเหาในเด็ก

ใบเกิดหาย สูติบัตรหาย ทำอย่างไรดี พร้อมขั้นตอนขอสูติบัตรใหม่

ใบเกิดหาย สูติบัตรหาย ทำอย่างไรดี พร้อมขั้นตอนขอสูติบัตรใหม่

ใบเกิดหาย สูติบัตรหาย ทำอย่างไรได้บ้าง อยากขอใบเกิดและสูติบัตรใหม่ต้องแจ้งที่ไหน มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง คัดลอกสำเนานานไหม พร้อมขั้นตอนการขอสูติบัตรใหม่

ออมเงินให้ลูก ดอกเบี้ยสูง เปิดบัญชีให้ลูกธนาคารไหนดี

ออมเงินให้ลูก ดอกเบี้ยสูง เปิดบัญชีให้ลูกธนาคารไหนดี

พ่อแม่ยุคใหม่ อยากเปิดบัญชีให้ลูกทำยังไงได้บ้าง เปิดบัญชีให้ลูกได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ต้องเตรียมเอกสารและมีขั้นตอนอย่างไร เปิดบัญชีให้ลูกธนาคารไหนดี