ลูกติดทีวี ภัยเงียบที่บ้าน
ลูกติดทีวี จัดเป็นภัยเงียบที่ควรระวังค่ะ เพราะสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (AAP) แนะนำว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีไม่ควรดูทีวี ส่วนเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปสามารถดูทีวีได้ไม่เกินวันละ 1 – 2 ชั่วโมง
ในปัจจุบันนี้มีรายการทีวีสำหรับเด็กรวมทั้งสืออิเลคโทรนิคส์ (วีซีดี, ดีวีดี) สำหรับเด็กเป็นจำนวนมาก คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจไม่แน่ใจว่าการที่ลูกน้อยดูทีวีตั้งแต่วัยแบเบาะนั้นจะเป็นการดีหรือไม่ สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (AAP) แนะนำว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีไม่ควรดูทีวีค่ะ ไม่ว่าจะเป็นรายการใดก็ตาม และสำหรับเด็กที่อายุ 2 ปีขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ดูทีวีได้ แต่ควรเป็นรายการที่ให้ความรู้และดูอย่างมากไม่เกินวันละ 1 – 2 ชั่วโมง เนื่องจากช่วง 2 ปีแรกของทารกนั้นเป็นช่วงที่สำคัญมากในการพัฒนาสมอง การให้ลูกน้อยดูทีวีหรือสื่ออิเลคโทรนิคส์อื่น ๆ นั้นจะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของลูกน้อยจากการเรียนรู้ สำรวจ การเล่น กับคุณพ่อคุณแม่และคนอื่น ๆ และเมื่อลูกโตขึ้นทีวีก็อาจส่งผลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความกระฉับกระเฉงการอ่านหนังสือ การทำการบ้าน การเล่นกับเพื่อนหรือแม้แต่การใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ กับครอบครัว ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการทางด้านสติปัญญา สังคม และอารมณ์นั่นเองค่ะ เพราะในการเล่น ลูกน้อยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นการพัฒนาสมองจากการได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง รวมทั้งการพบปะผู้คนก็จะช่วยในการพัฒนาทางด้านอารมณ์อีกด้วย นอกจากนี้ ช่วง 2 ปีแรกยังเป็นช่วงที่สำคัญมากในการพัฒนาทางด้านภาษาของลูกน้อย ทักษะทางด้านภาษานั้นต้องใช้การเรียนรู้โดยการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ใช่การนั่งฟังจากทีวีเพียงอย่างเดียวค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้ความสำคัญในการคุยกับลูก ลูกน้อยก็อาจจะมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ได้ค่ะ ซึ่งการดูทีวีจะทำให้ลูกน้อยจดจำและเลียนแบบภาษาของผู้ใหญ่ที่เค้าอาจไม่เข้าใจและอาจเป็นคำที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้การดูทีวียังเป็นการมีปฏิสัมพันธ์ฝ่ายเดียว ลูกน้อยอาจยิ้มให้ทีวีแต่อย่าลืมว่าทีวีจะไม่ยิ้มตอบกลับให้ลูกนะคะ ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านสังคมและจิตใจของลูกได้ค่ะ
สำหรับผลเสียอื่น ๆ ที่เกิดจากการดูทีวีมากเกินไปเช่น
• เด็กที่ดูทีวีมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันเป็นประจำมักจะเป็นโรคอ้วน
• เด็กที่ดูรายการทีวีที่มีความรุนแรง มีโอกาสอย่างมากที่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ในขณะเดียวกันก็จะมีความกลัวสังคมภายนอก โดยอาจกลัวว่าจะถูกทำร้าย
• ตัวละครในทีวีส่วนมากมักจะสะท้อนพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า รวมทั้งเรื่องเพศ สำหรับเด็กที่โตพอที่จะเริ่มดูทีวีได้แล้ว การสร้างนิสัยการดูทีวีที่ดีก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามค่ะ เช่น จำกัดชั่วโมงการดูทีวีในแต่ละวัน และอาจสร้างกฎเกี่ยวกับการดูทีวี เช่น ดูเมื่อทำการบ้านเสร็จแล้วเท่านั้น โดยทุกครั้งที่ลูกดูทีวี คุณพ่อคุณแม่ก็ควรดูพร้อมกับลูกด้วยเพื่อที่จะได้อธิบายในสิ่งที่ลูกอาจไม่เข้าใจ หรือบางอย่างเป็นสิ่งที่ลูกไม่ควรกระทำตาม ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกด้วยนะคะ
• ในห้องที่ดูทีวี ควรมีหนังสือหรือของเล่นอย่างอื่นเพื่อดึงความสนใจลูกออกจากการดูทีวี
• ไม่ควรเอาทีวีไว้ในห้องนอน
• ไม่ควรดูทีวีในขณะรับประทานอาหาร
• ไม่ควรอนุญาตให้ลูกดูทีวีขณะทำการบ้าน
• สร้างวันหยุดให้เป็นช่วงกิจกรรม งดการดูทีวี โดยควรหากิจกรรมต่าง ๆ สำหรับครอบครัวทำร่วมกัน
• ถ้าเป็นรายการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถดูได้ก่อน หรือทราบผังรายการล่วงหน้า (เช่น รายการที่ฉายวนในเคเบิ้ลทีวี) ก็สามารถช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ดูความเหมาะสมได้ว่ารายการใดที่ลูกดูได้ และรายการใดที่ไม่ควรดู อย่างไรก็ตาม การดูทีวีหรือการดูสื่ออิเลคโทรนิคส์ต่าง ๆ (วีซีดี, ดีวีดี) ในปริมาณที่เหมาะสม (และเป็นสื่อหรือรายการทีวีที่เหมาะสม) นั้นก็สามารถเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ได้เช่นกัน เช่น เด็กก่อนวัยเรียนสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับตัวอักษร เด็กในวัยเรียนสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์ป่าและธรรมชาติ ซึ่งในกรณีนี้ทีวีสามารถเป็นผู้ให้ความรู้และผู้ให้ความบันเทิงอย่างที่มีประโยชน์ได้