อาการออทิสติกเทียม ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน เสี่ยงออทิสติกหรือเปล่า

อาการออทิสติกเทียม ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน เสี่ยงออทิสติกหรือเปล่า

30.09.2024

ลูกเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่หลายคนเลือกที่จะประคบประหงมลูกน้อยไม่ให้ลูกต้องลำบาก ยอมทำทุกอย่างเพื่อลูกจนอาจเผลอทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว ในทางตรงข้ามพ่อแม่ที่ให้อิสระปล่อยปละละเลยลูก ก็ส่งผลเสียต่อลูกน้อยเช่นเดียวกัน เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ของพ่อแม่อาจส่งผลให้ลูกน้อยเป็นออทิสติกเทียมโดยไม่รู้ตัว ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
 

headphones

PLAYING: อาการออทิสติกเทียม ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน เสี่ยงออทิสติกหรือเปล่า

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • ออทิสติกเทียม เป็นอาการของเด็กที่ขาดการเลี้ยงดูเอาใจใส่ของผู้ปกครอง และไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามวัย ทำให้เด็กมีความผิดปกติจากเด็กในวัยเดียวกัน
  • ลักษณะของเด็กที่มีอาการของออทิสติกเทียม เช่น ลูกไม่สามารถสื่อสารพูดคุยได้ พูดช้า มีโลกส่วนตัวสูง พูดไม่รู้เรื่อง เล่นกับเด็กในวัยเดียวกันไม่เป็น หรือไม่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เป็นต้น
  • อาการของออทิสติกเทียม มักจะแสดงอาการให้เห็นได้ชัดเมื่อลูกน้อยมีอายุ 2 ปี เมื่อคุณแม่สงสัยว่าลูกน้อยน่าจะเป็นเด็กออทิสติกเทียม ควรรีบพาลูกน้อยไปตรวจเช็กอาการกับคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อให้ลูกน้อยได้รับการกระตุ้นพฤติกรรมที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว เด็กจะได้กลับมามีพัฒนาการที่ดีขึ้นเหมือนเด็กปกติได้

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ออทิสติกเทียม เกิดจากอะไรได้บ้าง

ออทิสติกเทียม (Virtual autism) เป็นภาวะที่เด็กแสดงอาการคล้ายออทิสติกแท้ เนื่องจากขาดการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม ได้แก่

  • การเลี้ยงลูกด้วยหน้าจอที่เป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้เด็กขาดทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคม
  • การเลี้ยงลูกตามใจมากเกินไป ไม่ให้ลูกช่วยเหลือตนเอง ส่งผลให้ขาดความมั่นใจและไม่กล้าแสดงออก
  • การห้ามและควบคุมมากเกินไป ทำให้เด็กกลัวที่จะลองทำสิ่งใหม่ ๆ ส่งผลให้พัฒนาการล่าช้า

 

ออทิสติกเทียม ต่างกับออทิสติกแท้ยังไง

1. ออทิสติกเทียม

เป็นภาวะที่เด็กมีอาการบางอย่างที่คล้ายกับออทิสติกแท้ ที่มีผลมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ทำให้ลูกน้อยขาดการกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ เช่น ลูกไม่สามารถสื่อสารพูดคุยได้ พูดช้า เล่นกับเด็กในวัยเดียวกันไม่เป็น หรือไม่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ออทิสติกเทียมสามารถรักษาได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ถ้าได้รับการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม ลูกน้อยก็จะกลายเป็นเด็กปกติ

 

2. ออทิสติกแท้

เกิดจากความผิดปกติของสมองลูกน้อยอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ ทำให้ลูกน้อยมีปัญหาด้านพัฒนาการการสื่อสาร พูดไม่ได้ พูดแปลก ๆ เฉยเมย อยู่ในโลกของตัวเอง ชอบเล่นคนเดียว ไม่ชอบเล่นกับเพื่อน มักไม่ยอมเล่นตามกฎกติกา และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เด็กซน เด็กสมาธิสั้น  โขกศีรษะ ก้าวร้าว และอารมณ์รุนแรง เป็นต้น เมื่อเด็กที่เป็นออทิสติกแท้ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ อาจทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่อาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่ต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน

 

หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นเด็กออทิสติกเทียม หรือออทิสติกแท้ ควรพาลูกน้อยไปตรวจเช็กพัฒนาการกับคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อให้ลูกน้อยได้รับการวินิจฉัยอาการที่ถูกต้อง และได้รับการดูแลกระตุ้นพัฒนาการตามวัย อย่างเหมาะสม

 

เช็กให้ชัด ลูกมีอาการออทิสติกเทียมหรือไม่

ลักษณะของเด็กที่มีอาการของออทิสติกเทียม มีดังนี้

  • พูดช้า พูดไม่รู้เรื่อง: เด็กที่เป็นออทิสติกเทียมมักไม่ยอมพูด พูดซ้ำ ๆ หรือพูดไม่เป็นภาษา
  • เอาแต่ใจตัวเอง: ลูกน้อยไม่สามารถบอกความต้องการได้ ใช้การโวยวายแทนการสื่อสาร
  • หงุดหงิดง่าย: มีพฤติกรรมรุนแรง ร้องไห้ไม่มีเหตุผล หรือติดอยู่กับการทำอะไรซ้ำ ๆ
  • ไม่สบตา: เมื่อมีคนพูดคุยด้วย เด็กมักไม่สบตาหรือสบตาเพียงครู่เดียว
  • ไม่พยายามช่วยเหลือตัวเอง: ลูกน้อยที่เคยชินกับการได้รับความช่วยเหลือ จะไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเอง
  • มีโลกส่วนตัวสูง: ติดเล่นคนเดียว ไม่สนใจรอบข้าง ไม่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน
  • เรียกแล้วไม่หัน: ไม่สนใจเมื่อมีคนเรียก ไม่สบตาหรือแสดงความสนใจต่อผู้อื่น

 

เช็กให้ชัด ลูกมีอาการออทิสติกเทียมหรือไม่

 

ออทิสติกเทียม เกิดขึ้นกับเด็กวัยไหนได้บ้าง

ออทิสติกเทียม เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ลูกน้อยยังเล็ก แต่คุณแม่อาจจะยังไม่ทราบ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว อาการของออทิสติกเทียมมักจะแสดงอาการให้เห็นได้ชัดเมื่อลูกน้อยมีอายุ 2 ปี

 

ออทิสติกเทียม ปล่อยไว้นาน ๆ ร้ายแรงแค่ไหน

เมื่อคุณแม่สงสัยว่าลูกน้อยเข้าข่ายอาการของเด็กออทิสติกเทียม ควรรีบพาลูกน้อยไปตรวจเช็กอาการกับคุณหมอเฉพาะทางอย่าปล่อยไว้นาน เพราะในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต เป็นช่วงที่สมองของลูกน้อยยังมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ หากคุณแม่ยังคงละเลย ปล่อยให้ลูกขาดการกระตุ้นพัฒนาการตามวัย อาจส่งผลในระยะยาวจนทำให้ลูกน้อยมีอาการที่ผิดปกติไปจากเด็กวัยเดียวกันได้

 

ออทิสติกเทียม แก้ไขเร็ว ลูกหายขาดได้

เด็กที่มีภาวะออทิสติกเทียม สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ซึ่งกุญแจสำคัญ คือ คุณแม่ต้องพาลูกเข้ารับการดูแลจากคุณหมอให้ไวที่สุดโดยเฉพาะในช่วง 5 ขวบปีแรกที่สมองยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน เพื่อให้ลูกน้อยได้รับการกระตุ้นพฤติกรรมที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว เด็กจะได้กลับมามีพัฒนาการที่ดีขึ้นเหมือนเด็กในวัยเดียวกันได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

 

ลูกเป็นออทิสติกเทียม พ่อแม่รับมืออย่างไรดี

ออทิสติกเทียม เป็นอาการที่ขาดการกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดพัฒนาการเรียนรู้ คุณแม่จึงต้องพยายามเอาใจใส่ลูกน้อย คอยให้กำลังใจ และพยายามหากิจกรรมที่ช่วยเสริมพัฒนาการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านวิชาการ และไม่ใช่วิชาการ ดังต่อไปนี้

  • หมั่นพูดคุย ให้เวลาลูกมากขึ้นกว่าเดิม: พ่อแม่ควรพูดคุยสื่อสารกับลูกน้อยบ่อย ๆ เพื่อฝึกให้ลูกน้อยได้รู้จักการโต้ตอบ และการสบตาเวลาพูด
  • งดให้ดูหน้าจอทุกชนิดและกำหนดเวลาการดูหน้าจอ: คุณแม่ควรงดไม่ให้ลูกน้อยที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีดูจอโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต หากลูกน้อยมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ให้จำกัดเวลาดูหน้าจอไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง และพ่อแม่ควรดูจอเป็นเพื่อนลูกด้วย
  • ให้เล่นของเล่นเสริมพัฒนาการ: การเล่นของเล่นตามวัย  จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยได้ดีที่สุด หรืออาจเป็นการเล่นบทบาทสมมติในอาชีพที่ลูกสนใจ เพื่อให้เด็กรู้สึกอยากมีส่วนร่วม
  • ให้ลูกได้ออกไปเล่นใกล้ชิดกับธรรมชาติ: คุณแม่ควรปล่อยให้ลูกออกไปเล่นนอกบ้านบ้าง ไม่ควรปล่อยให้ลูกอุดอู้อยู่แต่ในบ้าน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี
  • ให้ลูกได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน: พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันบ้าง เพื่อให้ลูกน้อยได้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสังคมที่เหมาะสมตามวัย

 

ความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกน้อย หากคุณพ่อคุณแม่รักลูกให้พอดี และส่งเสริมให้ลูกน้อยทำกิจกรรมนอกบ้าน เล่นกับเพื่อน พูดคุยกันภายในครอบครัวบ่อย ๆ หรือแม้แต่การทำกิจกรรมร่วมกัน จะเป็นการช่วยให้ลูกน้อยเกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น แทนการปล่อยให้ลูกติดจอหรือลูกติดโทรศัพท์  เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกน้อยขาดการกระตุ้นพัฒนาการตามวัย จนทำให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อออทิสติกเทียมได้ในอนาคต

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 

อ้างอิง:

  1. ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม เหมือนหรือต่าง อย่างไร, โรงพยาบาลสมิติเวช
  2. รู้จัก ออทิสติกเทียม ภาวะที่เกิดได้จากการเลี้ยงดู, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
  3. ออทิสติกเทียม...คืออะไร แท้เทียมอย่างไร? พ่อแม่ควรรู้, โรงพยาบาลเปาโล
  4. ลูกของคุณเสี่ยงมีพฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือไม่, โรงพยาบาลกรุงเทพ

อ้างอิง ณ วันที่  7 สิงหาคม 2567
 

บทความแนะนำ

อาการไข้ในเด็ก ลูกมีอาการหนาวสั่นมีไข้ เช็ดตัวยังไงให้ไข้ลด

อาการไข้ในเด็ก ลูกมีอาการหนาวสั่นมีไข้ เช็ดตัวยังไงให้ไข้ลด

ลูกมีอาการหนาวสั่นมีไข้ ดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ถูกวิธี อาการไข้ในเด็กอันตรายไหม อาการแบบไหนที่คุณแม่ควรสังเกตเมื่อลูกมีไข้หนาวสั่น พร้อมวิธีดูแลลูกน้อยเบื้องต้น

ลูกป่วยบ่อยมาก ทำไงดี พร้อมวิธีเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรง

ลูกป่วยบ่อยมาก ทำไงดี พร้อมวิธีเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรง

ลูกป่วยบ่อยมาก ทำไงดี ลูกไม่สบายบ่อย เกิดจากสาเหตุอะไร ลูกป่วยบ่อยอันตรายไหม อยากให้ลูกแข็งแรงต้องทำอย่างไร พร้อมวิธีดูแลลูกน้อยและเสริมภูมิคุ้มกัน

ลูกเป็นไข้ตอนกลางคืนกลางวันปกติ พร้อมวิธีดูแลเมื่อลูกมีไข้ตอนกลางคืน

ลูกเป็นไข้ตอนกลางคืนกลางวันปกติ พร้อมวิธีดูแลเมื่อลูกมีไข้ตอนกลางคืน

ลูกเป็นไข้ตอนกลางคืนกลางวันปกติเพราะอะไร ลูกมีไข้ตอนกลางคืนแบบไหนเสี่ยงอันตราย เด็กมีไข้ตอนกลางคืนให้กินยาอะไรได้บ้าง พ่อแม่ดูแลยังไงให้ถูกวิธี

วิธีทำสไลม์ สูตรทำสไลม์สำหรับเด็ก พร้อมส่วนผสมที่ปลอดภัยกับผิวลูก

วิธีทำสไลม์ สูตรทำสไลม์สำหรับเด็ก พร้อมส่วนผสมที่ปลอดภัยกับผิวลูก

วิธีทำสไลม์ ของเล่นเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กสำหรับลูกน้อย สูตรทำสไลม์แบบง่าย ๆ และปลอดภัย ไม่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายกับผิวลูก จะมีวิธีทำยังไงบ้าง ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก