เด็กตั้งไข่กี่เดือน ตั้งไข่แล้วล้มผิดปกติไหม ฝึกลูกตั้งไข่ตอนไหนดี
เมื่อลูกเริ่มเกาะยืนและฝึกตั้งไข่ อาจมีการล้มบ้างซึ่งเป็นเรื่องปกติและสำคัญต่อการเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกังวลหรือเร่งรัด แต่ควรสนับสนุนการพัฒนาของลูกอย่างใจเย็น โดยช่วยในการฝึกฝนทักษะการทรงตัวและการเคลื่อนไหวให้ดี เพื่อให้ลูกพร้อมยืนและก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นใจ
PLAYING: เด็กตั้งไข่กี่เดือน ตั้งไข่แล้วล้มผิดปกติไหม ฝึกลูกตั้งไข่ตอนไหนดี
สรุป
- เด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการที่ช้าเร็วแตกต่างกัน ในเด็กบางคนอาจเริ่มตั้งไข่ ยืนได้เร็ว ตั้งแต่ 9 เดือน บางคนอาจยืนตั้งไข่ในช่วง 10-11 เดือน หรือในเด็กบางคนอาจยืนได้ช้า ประมาณ 12 เดือน ขึ้นอยู่กับทักษะการทรงตัว และควบคุมกล้ามเนื้อขา สะโพก และลำตัวของเด็กแต่ละคน
- เด็กอาจมีความกระฉับกระเฉง หรือความแข็งแรงของแกนลำตัว กล้ามเนื้อขา และสะโพกที่ไม่เท่ากัน ช่วงแรกอาจยืนตั้งไข่ได้เพียงไม่กี่วินาที แล้วล้มลง พอล้มแล้วจะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะยืน เริ่มทรงตัว ยืนด้วยตัวเองได้ดี และนานขึ้น
- หากลูกมีพัฒนาการล่าช้าผิดปกติจากเด็กวัยเดียวกัน มีปัญหาทางกายภาพ เคลื่อนไหวทรงตัวไม่ได้ ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมิน และวางแผนการรักษาต่อไป
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- พ่อแม่จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเริ่มตั้งไข่แล้ว
- เด็กเริ่มตั้งไข่ตอนตอนอายุเท่าไหร่
- เด็กตั้งไข่กี่เดือน ถึงจะเริ่มเดินได้
- ลูกตั้งไข่ช้า เกิดจากอะไรได้บ้าง
- ลูกตั้งไข่ช้าแค่ไหน ควรปรึกษาแพทย์
- เคล็ดลับฝึกลูกตั้งไข่ อย่างไรให้ปลอดภัย
- พ่อแม่มือใหม่ ควรเริ่มฝึกลูกตั้งไข่ตอนไหน
- ข้อดีของการฝึกลูกตั้งไข่
พ่อแม่จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเริ่มตั้งไข่แล้ว
เมื่อเริ่มตั้งไข่ ลูกจะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวอย่างเห็นได้ชัด พัฒนาการจะเริ่มจากการลุกนั่งเองและดันตัวขึ้นยืนโดยไม่ต้องพยุง ลูกจะเริ่มไขว่คว้าหาที่เกาะ เช่น โต๊ะหรือเก้าอี้ เพื่อช่วยให้ยืนได้ เด็กบางคนอาจเริ่มตั้งไข่ได้ตั้งแต่เด็กอายุ 9 เดือน ขณะที่บางคนอาจเริ่มได้เมื่อเด็กอายุ 12 เดือน ขึ้นอยู่กับทักษะการทรงตัวและการควบคุมกล้ามเนื้อขา สะโพก และลำตัว
ในช่วงแรก ลูกอาจยืนได้เพียงไม่กี่วินาทีแล้วล้มลง การล้มช่วยให้ลูกเรียนรู้การทรงตัวและการยืนได้ดีขึ้น และสามารถยืนด้วยตัวเองได้นานขึ้น
เด็กเริ่มตั้งไข่ตอนตอนอายุเท่าไหร่
เด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการในการยืนที่ช้าเร็วต่างกัน เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัย 6 เดือน ก็เริ่มมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายที่มากขึ้น ลูกจะเริ่มขยับตัวไปรอบ ๆ พลิกตัวได้ทั้งสองด้าน ใช้ขาถีบพื้นเมื่อเท้าอยู่บนพื้นแข็ง ๆ พอเริ่มเข้าเดือนที่ 9-10 ลูกน้อยพยายามดันตัวขึ้นนั่งโดยไม่ต้องช่วยพยุง ไขว่คว้ายึดโต๊ะ เก้าอี้ เพื่อเหนี่ยวดึงตัวเองให้ลุกขึ้นยืน และเริ่มหัดยืน ตั้งไข่ เมื่ออายุ 11 เดือน เด็กบางคนยืนได้ตั้งแต่ 9 เดือน หรือบางคนอาจยืนได้เมื่อ 11-12 เดือน
เด็กตั้งไข่กี่เดือน ถึงจะเริ่มเดินได้
เมื่อลูกอายุ 11 เดือน มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายที่ก้าวหน้าขึ้น มีทักษะการทรงตัว และควบคุมกล้ามเนื้อขา สะโพก และลำตัว ทำให้ยืนตั้งไข่ได้แล้ว และจะเริ่มก้าวเดินได้เองทีละ 1-2 ก้าวในช่วงอายุ 12 เดือน หรือ 1 ขวบ
ลูกตั้งไข่ช้า เกิดจากอะไรได้บ้าง
เด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการที่ช้าเร็วแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างของเด็กนี้อาจทำให้เด็กบางคนตั้งไข่ได้ตั้งแต่ 9 เดือน หรือบางคนอาจตั้งไข่ได้เมื่ออายุ 1 ขวบ ทั้งนี้เกิดจากเด็กแต่ละคนอาจมีความกระฉับกระเฉง หรือความแข็งแรงของแกนลำตัว กล้ามเนื้อขา และสะโพกที่ไม่เท่ากัน คุณพ่อคุณแม่ สามารถเสริมความแข็งแรง กระตุ้นกล้ามเนื้อในส่วนของการเคลื่อนไหวนี้ให้ลูกได้ ลูกตั้งไข่ช้า
อีกหนึ่งสาเหตุ อาจเป็นเพราะเกิดจากเด็กพัฒนาการล่าช้า มีพัฒนาการไม่สมวัยโดยเฉพาะในด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ที่จะส่งผลให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น นั่ง ยืน เดิน เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพัฒนาการของลูกได้ เช่น ลูกสามารถลุกยืน ตั้งไข่ และเริ่มหัดเดิน ได้คงที่ไหม เคลื่อนไหวลำบากหรือไม่ แขนขามีลักษณะเกร็ง หรืออ่อนปวกเปียกผิดปกติหรือเปล่า สามารถควบคุมลำตัวเพื่อทรงตัวได้ไหม หากลูกมีพัฒนาการล่าช้าผิดปกติจากเด็กวัยเดียวกัน มีปัญหาทางกายภาพ เคลื่อนไหวทรงตัวไม่ได้ ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมิน และการวางแผนรักษาต่อไป
ลูกตั้งไข่ช้าแค่ไหน ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อลูกเข้าช่วงวัย 10-12 เดือนแล้ว หากลูกน้อยไม่คลาน หรือใช้ลำตัวข้างใดข้างหนึ่งไถขณะที่คลาน หรือ ไม่เกาะยืนเอง ไม่ตั้งไข่ แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยงช่วยให้ยืน ซึ่งการมีพัฒนาการล่าช้านี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณแสดงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับพัฒนาการของลูก คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยงดูควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กพัฒนาการ และรับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
เคล็ดลับฝึกลูกตั้งไข่ อย่างไรให้ปลอดภัย
เมื่อลูกเริ่มฝึกตั้งไข่และยืน อาจมีการล้มบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้การฝึกตั้งไข่เป็นไปอย่างปลอดภัยและสนุกสนาน ด้วยเคล็ดลับดังนี้:
- เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน: พาลูกไปเล่นกับเด็กที่อายุใกล้เคียงเพื่อให้เห็นและเลียนแบบการตั้งไข่และการเกาะยืน
- กระตุ้นการเคลื่อนไหว: ใช้ของเล่นหรือของโปรดของลูกวางไว้ที่ใกล้ ๆ ดึงความสนใจให้ลูกต้องยืนเพื่อหยิบมา
- ถือของเล่นขนาดเล็ก: ให้ลูกถือของเล่นขนาดเล็กในมือขณะยืน เพื่อให้รู้สึกมีสิ่งของให้ยึด
- ใช้หมอนช่วยฝึก: วางหมอนใกล้ ๆ ให้ลูกปีนป่ายข้ามหมอนเพื่อฝึกกล้ามเนื้อและการทรงตัว
- พูดคุยหรือร้องเพลง: ชวนลูกพูดคุยหรือร้องเพลงขณะยืน เพื่อลดความกังวลและทำให้ยืนได้นานขึ้น
- อยู่ใกล้ ๆ ลูก: คุกเข่าหรือยืนใกล้ ๆ ลูกเพื่อให้รู้สึกปลอดภัย
- ชมเชยและปรบมือ: เมื่อลูกพยายามยืนหรือตั้งไข่ ให้ปรบมือและชมเชยทุกครั้ง
- ฝึกการเคลื่อนไหวบนพื้นเรียบ: ให้ลูกขยับแขนขาและคลานบนพื้นเรียบเพื่อเสริมทักษะการเคลื่อนไหว
- วางเฟอร์นิเจอร์มั่นคง: วางโต๊ะหรือเก้าอี้ที่แข็งแรงใกล้ลูกเพื่อให้ยึดเกาะและยืนได้
- จัดพื้นที่ให้ปลอดภัย: ทำความสะอาดพื้น อย่าให้มีน้ำหก และวางที่กั้นมุมหรือลงยางกันกระแทกที่ขอบมุม
- ช่วยพยุงเมื่อลูกโอนเอน: ยื่นมือช่วยเหลือเมื่อลูกยืนแล้วโอนเอน
- ฝึกยืนด้วยเท้าเปล่า: ให้ลูกฝึกยืนด้วยเท้าเปล่าเพื่อป้องกันการลื่นและสะดุด
พ่อแม่มือใหม่ ควรเริ่มฝึกลูกตั้งไข่ตอนไหน
เมื่อลูกเข้าสู่วัย 11 เดือน จะมีทักษะการทรงตัว และควบคุมกล้ามเนื้อขา สะโพกและลำตัว มีความพร้อมในการเริ่มตั้งไข่ ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยลูกเริ่มฝึกฝนได้ การฝึกทักษะพัฒนาการให้ลูก ควรเลือกฝึกในช่วงที่ลูกนอนเต็มอิ่ม สดใส ไม่งอแง ไม่ง่วงนอน หรือคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตช่วงเวลาของลูก ให้เป็นช่วงเวลาที่ลูกพร้อมเปิดรับการฝึก การเรียนรู้ หากลูกอารมณ์ไม่ดีอย่าเพิ่งเริ่มฝึก
ข้อดีของการฝึกลูกตั้งไข่
การฝึกลูกตั้งไข่นั้น มักเป็นธรรมดาที่ลูกน้อยจะล้มลงได้ เมื่อลูกล้มจะเป็นการเรียนรู้ที่จะทำให้ลูกลุกขึ้นยืน การช่วยให้ลูกฝึกตั้งไข่นี้ เป็นสิ่งที่คุณพ่อไม่ควรละเลย ยังเป็นการฝึกความสมดุลให้กับร่างกายของลูกเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเดินเมื่อถึงวัยที่พร้อม เมื่อฝึกตั้งไข่บ่อย ๆ ลูกจะรู้จักเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะการทรงตัว สมองก็จะเรียนรู้ที่จะควบคุมกล้ามเนื้อ ขา สะโพก และลำตัว ทำให้ทรงตัวได้ดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับลูก และช่วยลดการล้มได้
อย่างไรก็ตาม ในทุกช่วงอายุของลูกจะมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงในทุกด้านไปเรื่อย ๆ ความรัก ความเข้าใจ และการให้กำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ และผู้เลี้ยงดู คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเรียนนรู้ พัฒนาตัวเองในทักษะต่าง ๆ ให้เป็นไปได้ตามวัยอย่างดี หากสังเกตเห็นสัญญาณผิดปกติทางด้านพัฒนาการเกิดขึ้นกับลูก ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้รีบพาลูกไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็ก และรับการรักษาอย่างเหมาะสม
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- โปรแกรม Baby Development เข้าใจพัฒนาการลูกน้อยแต่ละช่วงวัย เพื่อการเตรียมพร้อมของคุณแม่
- พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 5 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
อ้างอิง:
- พัฒนาการของลูกน้อยเมื่ออายุ 6 เดือน, UNICEF Thailand
- พัฒนาการของลูกน้อยเมื่ออายุ 9 เดือน, UNICEF Thailand
- เช็คพัฒนาการเจ้าตัวน้อยวัยแรกเกิด, โรงพยาบาลนนทเวช
- Take a Stand! When Do Babies Stand on Their Own, Pathways
- Learning to stand, NHS
- 4 สิ่งผิดปกติบ่งบอกว่าลูกรักเป็น “เด็กพัฒนาการล้าช้า”, โรงพยาบาลพญาไท
- เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพัฒนาการทารกแต่ละช่วงวัย, podpad
- พัฒนาการของลูกน้อยเมื่ออายุ 1 ปี, UNICEF Thailand
- When Do Babies First Start Standing Up?, what to expect
- Benefits of ‘Tummy Time’ and How To Do It Safely, Cleveland Clinic
อ้างอิง ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2567