เด็กเริ่มคลานกี่เดือน สัญญาณแบบไหนที่บอกว่าเด็กเริ่มคลาน
เด็กเริ่มคลานกี่เดือน พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและร่างกายของเด็กทารก ส่วนใหญ่เริ่มเรียนรู้ที่จะคลานได้นั้น จะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 12 เดือน คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากการที่ลูกน้อยเริ่มมีการใช้มือและเข่าพยุงตัวขึ้นเพื่อช่วยในการทรงตัวและเริ่มคลานไปหาพ่อแม่ หรือของเล่นที่ลูกน้อยสนใจได้
สรุป
- การคลานเป็นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและร่างกายของเด็กทารก และจะเริ่มเรียนรู้ที่จะคลาน จะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 12 เดือน
- เด็กเริ่มคลานกี่เดือน เด็กทารกจะเริ่มคลานตอนประมาณ 8 เดือน
- การคลานของเด็กทารกมีท่าในการคลานประมาณ 6 แบบ ได้แก่ ท่าคลานแบบปกติ ท่าคลานแบบหมี ท่าคลานแบบปู ท่าคลานด้วยท้อง ท่าคลานด้วยก้น และ ท่าคลานแบบกลิ้ง
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เด็กควรเริ่มคลานเมื่อไหร่ เด็กเริ่มคลานกี่เดือน
- ลำดับพัฒนาการของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย
- สัญญาณที่บอกว่าลูกพร้อมคลาน
- ท่าคลานแบบต่าง ๆ ของลูกน้อย
- ลูกไม่คลาน แต่เดินเลยได้ไหม
- เด็กคลานกี่เดือน ถึงเรียกว่าพัฒนาการช้า
- สาเหตุอะไรบ้าง ที่ทำให้ลูกไม่ยอมคลานสักที
- กิจกรรมช่วยลูกฝึกคลานในบ้านอย่างปลอดภัย
- อยากฝึกลูกคลาน ควรจัดบ้านแบบไหน
การคลาน คือโอกาสแรกของลูกน้อยที่จะได้เคลื่อนที่ด้วยตัวเอง การคลานเป็นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและร่างกายของเด็กทารก เป็นหนึ่งในพัฒนาการสำคัญของลูกน้อย เด็กทารกจะประสานการเคลื่อนไหวของแขนและขา เพื่อเสริมสร้างพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณแขน ไหล่ และขา การคลานทำให้ลูกน้อยได้สำรวจโลกใบใหม่รอบตัว เด็กเริ่มคลานกี่เดือน คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตสัญญาณของการคลานได้อย่างไร พบคำตอบได้ในบทความนี้
เด็กควรเริ่มคลานเมื่อไหร่ เด็กเริ่มคลานกี่เดือน
การคลานเป็นหนึ่งในพัฒนาการสำคัญที่แสดงถึงการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของทารก โดยทั่วไปแล้ว เด็กทารกจะเริ่มคลานได้เมื่ออายุประมาณ 8 เดือน และจะมีความคล่องตัวมากขึ้นเมื่ออายุ 9 เดือนขึ้นไป พัฒนาการนี้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา และลำตัว รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและการสำรวจสิ่งรอบตัวของเด็กด้วย
ลำดับพัฒนาการของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย
ปีแรกของชีวิตลูกน้อยเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่รวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นความก้าวหน้าของลูกในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่พัฒนาการเด็กแรกเกิดจนถึง 1 ปี มาดูกันว่ามีพัฒนาการสำคัญอะไรบ้างในแต่ละช่วง
1. แรกเกิด – 2 เดือน
ในช่วงแรกของชีวิต ลูกน้อยเริ่มทำความรู้จักกับโลกใบใหม่ผ่านการมองและฟัง คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพัฒนาการลูกน้อยได้ ดังนี้
- มองหน้า สบตา: ลูกน้อยจะเริ่มมองหน้าคนใกล้ชิดและสบตา เป็นการเริ่มต้นของการสร้างความผูกพัน
- ส่งเสียงอ้อแอ้: ลูกเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ เป็นสัญญาณของการสื่อสารเบื้องต้น
- เริ่มชันคอ: เมื่อลูกอยู่ในท่าคว่ำ จะพยายามชันคอขึ้นมาเล็กน้อย เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อคอและหลัง
2. 3 เดือน – 5 เดือน
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงนี้เริ่มมีการตอบสนองกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น และเริ่มควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดีขึ้น
- ส่งเสียงโต้ตอบกับพ่อแม่: ลูกจะเริ่มส่งเสียงตอบสนองเมื่อพ่อแม่พูดคุยด้วย เป็นการพัฒนาทักษะการสื่อสาร
- เริ่มไขว่คว้าสิ่งของ: ลูกจะเริ่มใช้มือจับและคว้าสิ่งของรอบตัว เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือและประสาทสัมผัส
- เริ่มคืบ และพลิกตัว: ลูกจะเริ่มคืบไปข้างหน้า พลิกคว่ำและพลิกหงาย เป็นขั้นตอนแรกของการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนขึ้น
3. 6 เดือน – 8 เดือน
พัฒนาการของลูกน้อยในช่วงนี้หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตอย่างใกล้ชิด จะพบว่าลูกน้อยเริ่มมีความคล่องตัวมากขึ้น และเริ่มเข้าใจสิ่งรอบตัวได้ดีขึ้น
- หันหาเสียงเรียกชื่อ: เมื่อลูกได้ยินเสียงเรียกชื่อ จะหันไปหา เป็นการแสดงถึงการจดจำและการตอบสนองต่อเสียง
- เริ่มนั่งทรงตัว: ลูกน้อยจะเริ่มนั่งได้เองโดยไม่ต้องพยุง เป็นการพัฒนาความสมดุลและกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว
- ตามองตามสิ่งของ: ลูกจะเริ่มมองตามสิ่งของที่เคลื่อนที่ เป็นการพัฒนาทักษะการมองเห็นและการติดตามวัตถุ
4. 9 เดือน – 12 เดือน
ในช่วงท้ายของปีแรก ลูกน้อยเริ่มเคลื่อนไหวและสื่อสารได้มากขึ้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตดูพัฒนาการลูกน้อยอย่างใกล้ชิดก็จะพบว่า
- คลาน: ลูกจะเริ่มคลานไปมารอบบ้าน เป็นการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว
- เกาะยืน เกาะเดิน: ลูกจะพยายามยืนและเดินโดยเกาะยึดสิ่งของ เป็นการเตรียมตัวสำหรับการเดินได้เองในอนาคต
- ตั้งไข่: ลูกน้อยจะเริ่มพยายามตั้งไข่หรือยืนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพยุง เป็นสัญญาณของการพัฒนากล้ามเนื้อขา
- พูดคำเดี่ยวๆ: ลูกจะเริ่มพูดคำง่ายๆ เช่น "หม่ำ" หรือ "จ๊ะ" เป็นการเริ่มต้นของการใช้ภาษา
- ก้าวเดิน: ลูกจะเริ่มก้าวเดินด้วยตัวเอง เป็นก้าวแรกของการเดินอย่างมั่นคงในอนาคต
แต่ละขั้นตอนเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนา ทั้งทางร่างกายและการเรียนรู้ของลูกน้อย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนเพื่อให้ลูกน้อยเติบโตอย่างสมบูรณ์
สัญญาณที่บอกว่าลูกพร้อมคลาน
เด็กจะเริ่มคลานตอนเด็กอายุ 8 เดือน เวลาที่ลูกเล่นอยู่บนพื้นให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตสัญญาณต่อไปนี้ที่บอกว่าลูกน้อยกำลังจะเริ่มคลาน
- ลูกสามารถพลิกตัวจากคว่ำไปหงายและหงายไปคว่ำได้
- ลูกสามารถดันตัวขึ้นนั่งจากท่าคว่ำได้เอง
- ลูกจะพยายามดันตัวขึ้นโดยใช้มือกับเข่าเพื่อการทรงตัวแล้วโยกไปมา
ท่าคลานแบบต่าง ๆ ของลูกน้อย
การคลานของเด็กทารกเป็นการคลื่อนไหวร่างกายจากจุดที่อยู่เพื่อไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งเด็กทารกจะมีท่าคลานหลายแบบ ได้แก่
1. คลานแบบปกติ
เป็นท่าคลานที่ลูกจะใช้มือและเข่าในการคลาน โดยที่ท้องจะลอยอยู่เหนือพื้น
2. คลานแบบหมี
การคลานแบบหมีคล้ายกับการคลานแบบปกติ โดยใช้มือและเข่าในการเคลื่อนไหว แต่ต่างกันตรงที่เข่าและศอกจะยกขึ้นจากพื้น และแขนขาเหยียดตรง
3. คลานแบบปู
เป็นการคลานในท่านั่ง โดยใช้มือและเท้าในการเคลื่อนไหวไปด้านข้างหรือถอยหลัง
4. คลานด้วยท้อง
เป็นท่าคลานที่คล้ายกับท่าหมอบคลานของทหาร ท้องของลูกจะราบไปกับพื้นและใช้แขนดันตัวไปข้างหน้า
5. คลานด้วยก้น
เป็นการคลานด้วยท่านั่ง ลูกจะเคลื่อนตัวจากด้านล่าง โดยจะใช้ขาและเท้าเพื่อดันตัวไปข้างหน้า ลูกอาจจะกางแขนออกเพื่อช่วยในการทรงตัว
6. คลานแบบกลิ้ง
เป็นการคลานแบบกลิ้งไป ลูกจะเคลื่อนย้ายร่างกายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยการพลิกตัวกลิ้งไป
ลูกไม่คลาน แต่เดินเลยได้ไหม
เด็กทารกบางคนอาจข้ามพัฒนาการการคลานไปและเริ่มเดินทันที โดยดึงตัวขึ้นมายืนและเดินไปมาด้วยการเกาะเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของรอบตัวที่สามารถจับยึดเพื่อช่วยในการทรงตัวและการเดิน แม้จะไม่ได้คลาน แต่ก็ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ปกติในเด็กบางคน
เด็กคลานกี่เดือน ถึงเรียกว่าพัฒนาการช้า
คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าเด็กเริ่มคลานกี่เดือน โดยทั่วไป เด็กจะเริ่มคลานได้เมื่ออายุประมาณ 8 เดือน แต่พัฒนาการของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม หากลูกน้อยอายุครบ 1 ปีแล้วยังไม่เริ่มคลาน ควรพาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลอย่างเหมาะสม
สาเหตุอะไรบ้าง ที่ทำให้ลูกไม่ยอมคลานสักที
หากลูกน้อยอายุ 9-11 เดือนแล้วยังไม่ยอมคลาน อาจมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับวิธีการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ เช่น การปล่อยให้ลูกอยู่ในรถเข็น เปล หรือเบาะนั่งแบบกึ่งนั่งกึ่งนอนนานเกินไป ทำให้ลูกไม่มีโอกาสได้เล่นหรือเคลื่อนไหวบนพื้น ส่งผลให้พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้า เด็กจึงไม่สามารถคลานได้ตามวัยที่ควรจะเป็น
กิจกรรมช่วยลูกฝึกคลานในบ้านอย่างปลอดภัย
ก่อนจะฝึกลูกคลานเพื่อให้มีพื้นที่ในการฝึกคลานที่ปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ควรต้องเคลียร์พื้นที่ในบ้าน ห้องนั่งเล่นและห้องนอนของลูก เอาสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายออกไป ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นที่ที่จะให้ลูกฝึกคลานนั้นปลอดภัยจริง ๆ จากนั้นลองฝึกลูกคลานด้วยกิจกรรมสนุก ๆ เพื่อกระตุ้นลูกในการคลานให้สามารถคลานได้เร็วขึ้น ได้แก่
1. ทำ Tummy Time
การทำ Tummy Time คือการให้ลูกนอนคว่ำแล้วขยับตัวบนท้อง ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อช่วงคอ ไหล่ แขน และลำตัวของลูกแข็งแรง การทำ Tummy Time ก็เพื่อช่วยพัฒนาการเริ่มคลาน
2. จูงใจลูกด้วยของเล่น
วางของเล่นชิ้นโปรดให้ห่างจากมือลูก เป็นการกระตุ้นให้ลูกเอื้อมมือและขยับตัวคลานเพื่อไปหยิบของเล่น
อยากฝึกลูกคลาน ควรจัดบ้านแบบไหน
การฝึกลูกคลานบนพื้นภายในบ้าน คุณพ่อคุณแม่ต้องเช็กอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุม ต้องเป็นพื้นที่ที่สะอาดและปลอดภัยจากอุปกรณ์ของใช้ที่เป็นอันตรายกับลูกน้อย
- บันได: ตรงบริเวณบันไดทั้งด้านบนและด้านล่าง ควรติดประตูนิรภัยที่แข็งแรง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกคลานไปถึง เพราะจะล้มลงตกบันไดไปได้
- ของหนักและเฟอร์นิเจอร์: ควรติดตั้งอุปกรณ์ยึดติด เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งของนั้น ล้มหรือหล่นลงมาทับลูก เช่น โทรทัศน์ ชั้นหนังสือ และของหนักอื่น ๆ
- ปลั๊กไฟ: ควรปิดฝาครอบเต้าเสียบปลั๊กไฟในบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกแหย่นิ้วเข้าไป และเกิดอันตรายจากการถูกไฟดูด
การคลานเป็นพัฒนาการสำคัญที่ช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้และเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ การให้กำลังใจ สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และการสังเกตพัฒนาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้ลูกน้อยก้าวผ่านช่วงวัยนี้ไปได้อย่างมีความสุขและมีพัฒนาการที่ดี ทั้งนี้หากพบว่าลูกอายุ 1 ขวบแล้วแต่ยังไม่เริ่มที่จะคลาน ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- โปรแกรม Baby Development เข้าใจพัฒนาการลูกน้อยแต่ละช่วงวัยเพื่อการเตรียมพร้อมของคุณแม่
- พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 5 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
อ้างอิง:
- พัฒนาการของลูกน้อยเมื่ออายุ 9 เดือน, Unicef Thailand
- When Do Babies Start Crawling?, Healthline
- 7 กิจกรรมที่สามารถช่วยให้ลูกคลานได้เร็วขึ้น (Top tip to teach baby to crawl), แพทย์หญิงทานตะวัน พระโสภาแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
- เด็กทารกอายุ 8 เดือน มีพัฒนาการอย่างไร ?, Pobpad
- When do babies start crawling?, Babycenter
- พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย แบบไหนเข้าข่าย “พัฒนาการล่าช้า”, โรงพยาบาลสุขุมวิท
- เช็คพัฒนาการเจ้าตัวน้อยวัยแรกเกิด, โรงพยาบาลนนทเวช
- เทคนิคการฝึกลูกนอนคว่ำ หรือ การทำ Tummy Time (Guide to Tummy Time), แพทย์หญิงทานตะวัน พระโสภา แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
อ้างอิง ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2567