ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ทำยังไงดี พร้อมวิธีช่วยให้ลูกดูดเต้าได้ดีขี้น

ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ทำยังไงดี พร้อมวิธีช่วยให้ลูกดูดเต้าได้สำเร็จ

25.03.2024

บทเรียนชีวิตเรื่องแรก ๆ ของคุณแม่มือใหม่หลังคลอดที่ต้องเจอ โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือการให้ลูกได้ดูดนมแม่ แต่จะเอาลูกเข้าเต้าด้วยวิธีไหน แล้วถ้าลูกไม่ยอมดูดเต้า ปฏิเสธนมแม่จะทำอย่างไรดี เป็นอีกเรื่องที่คุณแม่มือใหม่ต้องเรียนรู้เพื่อรับมือ

headphones

PLAYING: ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ทำยังไงดี พร้อมวิธีช่วยให้ลูกดูดเต้าได้สำเร็จ

อ่าน 8 นาที

 

สรุป

  • ทารกควรได้ดูดนมแม่ทันที หรือภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด การเอาลูกเข้าเต้าเพื่อให้ลูกน้อยได้ดูดน้ำนมแม่นอกจากจะทำให้ลูกได้รับสารอาหารที่ดีที่สุดแล้ว ยังทำให้ลูกได้สัมผัสไออุ่นแรกจากแม่เพื่อทำความคุ้นเคย และช่วยกระตุ้นน้ำนมคุณแม่ให้มาเร็วอีกด้วย
  • ลูกไม่ยอมเข้าเต้า เป็นเรื่องที่คุณแม่มือใหม่หลายคนพบเจอ ซึ่งอาจเกิดได้หลายปัจจัย อาทิ เอาลูกเข้าเต้าผิดวิธี คุณแม่มีน้ำนมน้อย ทารกไม่สบาย เป็นต้น
  • คุณแม่มือใหม่อาจคลายกังวลได้ด้วยเคล็ดลับเอาลูกเข้าเต้าด้วยการปรับท่าให้นมลูก ปรับสภาพแวดล้อมในการให้นม ปรับเวลาให้อยู่กับลูกน้อยมากขึ้น เป็นต้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

“น้ำนมแม่” ถือว่าเป็นอาหารมื้อแรกของเจ้าตัวน้อยหลังจากที่ได้ลืมตาออกมาดูโลก โดยเฉพาะในช่วงอย่างน้อย 6 เดือนแรกนั้น ทารกควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว เพราะในนมแม่นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นมากกว่า 200 ชนิด เช่น แคลเซียม โปรตีน สฟิงโกไมอีลิน ดีเอชเอ (DHA) รวมไปถึงในนมแม่นั้นยังมีจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ (Probiotics) หลายชนิด เช่น บีแลคทิส (B. Lactis) ฯลฯ ที่ล้วนมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการสมอง สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ปัญหาที่คุณแม่มือใหม่ต้องเจอเมื่อลูกไม่ยอมเข้าเต้าอาจทำเอาคุณแม่ต้องเครียด เป็นเพราะอะไร มาหาสาเหตุ พร้อมเทคนิครับมือพาลูกดูดเต้าให้สำเร็จกันค่ะ

 

ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ปัญหาที่แม่มือใหม่ต้องรับมือ

หลังคุณแม่ฟื้นตัวจากการคลอดลูกแล้ว คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้รับนมแม่และเอาลูกเข้าเต้าเพื่อให้เจ้าตัวเล็กได้สัมผัสไออุ่นจากแม่โดยเร็วที่สุดหรือควรให้นมลูก และให้ลูกได้ดูดนมแม่ทันทีใน 60 นาทีแรกหลังคลอด เพื่อให้ลูกน้อยได้คุ้นเคยกับคุณแม่ และให้ลูกน้อยได้ดูดนมเพื่อช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ด้วย แต่ในช่วงแรก ๆ บทบาทของแม่มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นอาจจะทำให้คุณแม่เอาลูกเข้าเต้าไม่ถูกวิธี จนทำให้เจ้าตัวเล็กงับนมแม่ไม่ได้ เบือนหน้าหนี ปฏิเสธนมแม่ และอีกหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการที่ลูกไม่ยอมดูดเต้า

 

ลูกไม่ยอมเข้าเต้า เกิดจากอะไรได้บ้าง

ในช่วงวัยแรกเกิดนั้นเป็นช่วงที่ทารกควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์สูงสุดต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกไม่ยอมเข้าเต้า จนทำให้คุณแม่กังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารน้อย ขาดภูมิต้านทาน หรือเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ กรณีลูกไม่ยอมดูดเต้า หรือดูดนมแม่ได้นิดเดียว อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเหล่านี้ เช่น

  • เอาลูกเข้าเต้าหรือท่าให้ลูกดูดนมที่ผิดวิธี การเป็นคุณแม่มือใหม่ที่อาจยังเคอะเขินกับการให้นมลูกจากเต้า ซึ่งคุณแม่จำเป็นต้องรู้วิธีให้นมด้วยท่าที่ถูกต้อง เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยได้ใช้ปากอมครอบหัวนมและลานนมของแม่จนมิดและทำให้ลูกดูดนมได้อย่างต่อเนื่อง
  • น้ำนมแม่น้อย อีกหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจพบเจอ เมื่อลูกดูดนมแล้วน้ำนมไม่ไหล ไม่มีน้ำนมเพียงพอก็อาจเป็นสาเหตุที่อยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้าได้
  • ให้ลูกกินอาหารอื่น ๆ ก่อน 6 เดือน หรือให้นมผง ให้น้ำ ทำให้ทารกอิ่มจนไม่อยากเข้าเต้า
  • ทารกรู้สึกเครียด หากคุณแม่กระตุ้นให้ลูกน้อยกินนมมากเกินไปหรือให้นมลูกไม่บ่อย หรือเอาลูกเข้าเต้าช้ากว่าปกติ ทำให้ทารกไม่ได้รับสัมผัสจากแม่อย่างใกล้ชิด อาจส่งผลให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกเครียดและไม่ยอมดูดนม
  • กลิ่นไม่คุ้นชิน ทารกจะคุ้นชินกับกลิ่นและสัมผัสจากคุณแม่ แต่ถ้าคุณแม่เปลี่ยนกลิ่นสบู่อาบน้ำ โลชั่น หรือน้ำหอมที่เคยใช้เป็นประจำ ก็อาจทำให้ทารกไม่คุ้นชินกับกลิ่นเดิม ๆ ของคุณแม่ รู้สึกหงุดหงิด ทำให้อยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้ากินนมได้
  • มีสิ่งเร้ารบกวนขณะให้นม หากคุณแม่ให้นมในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เสียงดัง เจ้าตัวน้อยอาจจะตกใจหรือไม่มีสมาธิจนไม่ยอมดูดนม
  • ลูกน้อยไม่สบาย อาจเกิดจากความเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น ทารกไม่สบาย เป็นหวัด มีไข้ มีน้ำมูกจนทำให้การหายใจไม่สะดวกในขณะที่กำลังดูดนมจากเต้า หรือเป็นแผลในช่องปาก เจ็บปาก เจ็บคอ หรืออาการอื่น ๆ เช่น ติดเชื้อในหู ติดเชื้อในลำคอ จนทำให้ลูกน้อยไม่สามารถดูดนมได้ตามปกติ ก็อาจทำให้ลูกไม่ยอมดูดเต้าได้
  • ฟันลูกกำลังขึ้น อาการคันหรือเจ็บเหงือกเนื่องจากฟันกำลังงอกสำหรับทารกในวัย 6 เดือนขึ้นไป ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมเข้าเต้าจนทำให้กินนมแม่ได้น้อยลง
  • ทารกเข้าสู่วัยรับประทานอาหารตามวัยที่เพิ่มเติมจากนมแม่ได้แล้ว ซึ่งถ้าหากคุณแม่ให้อาหารลูกรับประทานมากเกินไปก็อาจทำให้ลูกน้อยอิ่ม จนไม่ยอมดูดเต้าก็เป็นได้

 

อยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ผิดปกติไหม

 

อยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ผิดปกติไหม

ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ลูกไม่ยอมดูดนมแม่จากเต้า หรือเคยดูดได้ปกติแต่อยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ปัญหาที่ชวนคุณแม่มือใหม่ให้กุมขมับ ชวนกังวลว่าเจ้าตัวเล็กจะไม่ยอมกินนมแม่ทำให้ลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยปัญหานี้เกิดขึ้นได้กับคุณแม่มือใหม่แทบทุกคน แต่คุณแม่สามารถกระตุ้นให้ทารกเข้าเต้ากินนมแม่ตามปกติได้ ซึ่งคุณแม่สามารถเช็กได้ว่าลูกน้อยดูดนมแม่ได้เพียงพอหรือเปล่า โดยสังเกตได้จาก

  • ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ขัดขืน เบือนหน้าหนีเมื่อถึงเวลาให้นม
  • ลูกไม่ตื่นขึ้นมาส่งเสียงร้องขอดูดนมเมื่อถึงเวลา
  • ลูกไม่ยอมดูดเต้า กินนมน้อยกว่า 8 ครั้งภายในหนึ่งวัน
  • ลูกดูดไม่ต่อเนื่อง ดูดไม่ถึง 7-10 นาทีแรก หลังดูดนมภายใน 5 นาทีก็ผล็อยหลับ
  • สังเกตอุจจาระของลูก มีการถ่ายน้อยกว่า 3-4 ครั้ง/วัน หรือปัสสาวะน้อย ผ้าอ้อมเปียกไม่เต็มผืนใน 6 แผ่นต่อวัน หรือหลังอายุ 1 สัปดาห์มีอุจจาระสีเขียว หรือออกเขียวมีฟองปน

 

ในกรณีที่ลูกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ นอกจากจะทำให้ทารกขาดสารอาหารที่มีประโยชน์ ขาดพัฒนาการที่ดี ๆ ทางร่างกาย ยังอาจส่งผลให้ลูกเกิดภาวะตัวเหลือง เนื่องจากลูกกินนมน้อยจึงทำให้การขับบิลิรูบิน (Bilirubin) ออกจากร่างกายไม่ทัน ทำให้มีบิลิรูบินไปสะสมอยู่ในกระแสเลือดและทำให้ทารกเกิดอาการตัวเหลืองได้ ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดขึ้นหลังทารกเกิดประมาณ 2-3 วัน และอาจหายได้ภายใน 10-14 วันเมื่อทารกได้รับน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ แต่ถ้าพบว่าการที่ลูกน้อยไม่ยอมเข้าเต้า ปฏิเสธนมแม่ มีสาเหตุจากอาการผิดปกติหรือเกิดจากอาการป่วยอื่น ๆ ควรพาลูกไปหาคุณหมอเพื่อปรึกษาและวินิจฉัยอาการ

 

ลูกไม่ยอมเข้าเต้า เช็กก่อนว่าเป็นแบบนี้หรือไม่

  1. มีเสียงคน ทีวี หรือเสียงต่าง ๆ รบกวน
  2. ภายในห้องมีอากาศร้อนอบอ้าว ไม่ถ่ายเท
  3. ห้องที่เปิดไฟสว่างมากเกินไป

 

ทารกน้อยหากถูกกระตุ้นจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง อาจทำให้ลูกไม่มีสมาธิและถูกดึงดูดความสนใจไปจากเต้านม ดังนั้นเมื่อถึงเวลาให้นม คุณแม่ควรหาห้องหรือสถานที่ที่เงียบสงบ เพื่อไม่ให้มีสิ่งรบกวนมากระตุ้นเวลากินนมของเจ้าตัวน้อย อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท เย็นสบาย หรืออาจสร้างบรรยากาศด้วยการลดแสงสว่างจากไฟที่เปิดจ้าเกินไป และเปิดเพลงเบา ๆ กล่อมลูกน้อยในขณะที่ลูกกำลังดูดนมแม่

 

ช่วงวัยที่ฟันกำลังขึ้น ทำให้ลูกไม่ยอมดูดเต้าได้

หากคุณแม่สังเกตว่าอยู่ดี ๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้าในช่วงนี้ แถมงอแงร้องไห้แบบไม่มีเหตุผล หรือชอบเอามือเข้าปาก มีน้ำลายไหลออกมาเยอะ อาการนี้อาจเป็นสัญญาณว่าเจ้าตัวเล็กกำลังจะมีฟันซี่แรกขึ้น ซึ่งทำให้ลูกรู้สึกคันหรือมีอาการเจ็บเหงือกจนทำให้ลูกน้อยปฏิเสธที่จะดูดนมจากเต้าคุณแม่ได้ ในกรณีแบบนี้คุณแม่ลองใช้ผ้าเย็นชุบน้ำสะอาด แล้วนวดเหงือกลูกเบา ๆ ความเย็นจะช่วยลดอาการบวมของเหงือกลง หรือหายางกัดที่ปลอดภัยสำหรับทารก หรือปราศจากสาร BPA ให้ลูกลองเคี้ยวเล่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันเหงือกลง ทั้งนี้อาการเจ็บเหงือกจากฟันซี่แรกกำลังขึ้นถือเป็นเรื่องปกติ คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลและรีบร้อนให้ลูกใช้ขวดนมแทนนะคะ เพราะหากลูกดูดจากขวดแล้วจะหันกลับมาดูดเต้าอีกครั้งอาจกลายเป็นเรื่องยาก

 

ให้ลูกยอมเข้าเต้าตามปกติ คุณแม่มือใหม่ก็ทำได้

1. ปรับตัวเองหมั่นปั๊มนมบ่อย ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้น้ำนมออกเยอะ

เป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ให้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอสำหรับทารกที่ดูดนมจากเต้าแม่ โดยควรปั๊มนมออกทุก ๆ 3 ชั่วโมง และพยายามปั๊มให้เกลี้ยงเต้า นอกจากนี้ยังมีวิธีกระตุ้นน้ำนมง่าย ๆ ที่คุณแม่ควรรู้ เช่น

  • ควรให้ทารกแรกเกิดได้ดื่มนมแม่ทันทีหรือภายใน 60 นาทีแรกหลังคลอด เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนมของคุณแม่
  • เอาลูกเข้าเต้าบ่อย ๆ หรือไม่ควรน้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 7-10 นาที การที่ลูกได้ดูดนมจากเต้าแม่จะช่วยกระตุ้นร่างกายคุณแม่ให้สร้างน้ำนมออกมาเพิ่มขึ้น
  • ใช้วิธีนวดเต้า โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้า แล้วใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ทั้ง 3 นิ้ววางลงบนเต้านมค่อย ๆ คลึงเบา ๆ เป็นวงกลมจากบริเวณฐานเต้านมไปจนใกล้หัวนม นวดประมาณ 3-5 นาที เพื่อช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลออกมาได้ง่ายขึ้น

 

2. ปรับให้ลูกดูดเต้า งดการใช้จุกหลอก หรือขวดนม

เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกเกิดภาวะสับสนหัวนม ระหว่างเต้านมแม่กับจุกหลอกหรือขวดนม อีกทั้งการให้ลูกน้อยใช้จุกหลอก หัวนมยาง หรือขวดนม เป็นการดูดที่ทำให้ทารกไม่ต้องออกแรงดูดมากน้ำนมก็ไหลผ่านได้ง่ายทันที แตกต่างจากการดูดนมแม่จากเต้าซึ่งทารกจะต้องใช้ลิ้นและขยับกรามเพื่อรีดน้ำนมออกจากกระเปาะน้ำนม และต้องใช้แรงเพื่อดูดกระตุ้นน้ำนมแม่ออกมา ซึ่งหากคุณแม่หลีกเลี่ยงการใช้ขวดนม และเอาลูกเข้าเต้าบ่อย ๆ ก็จะส่งผลให้ลูกคุ้นชินกับเต้านมแม่ และยอมเข้าเต้าตามปกติ

 

3. ปรับสภาพแวดล้อมให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย

สบายใจ ในขณะที่ถึงเวลาให้นมเจ้าตัวเล็ก คุณแม่ควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เงียบสงบ ไม่ส่งเสียงหรือเปิดเสียงดัง ซึ่งก็จะทำให้ลูกรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ดูดนมจากเต้าคุณแม่ได้อย่างมีความสุขและหลับสบาย ทำให้คุณแม่ได้มีโอกาสพักผ่อนในช่วงนี้ด้วย

 

4. ปรับเวลาให้กับลูกมากขึ้น

ในช่วงแรกเกิดคุณแม่ควรได้ใช้เวลาอยู่กับเจ้าตัวน้อยให้ได้มากที่สุด โดยสัมผัสจากการกอดลูกแบบเนื้อแนบเนื้อหรือการเอาลูกเข้าเต้าแนบอก จะช่วยทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย และเป็นการสร้างสายใยความผูกพันของคุณแม่และลูกน้อย เมื่อลูกคุ้นเคยกับกลิ่นตัวและได้รับความอบอุ่นจากร่างกายของคุณแม่ ก็จะยอมดูดเต้ากินนมได้ง่ายขึ้นตั้งแต่แรก ๆ

 

5. ปรับเปลี่ยนท่าให้นมใหม่ ๆ

หากคุณแม่เรียนรู้วิธีการอุ้มลูกเข้าเต้าโดยใช้ท่าที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยยอมเข้าเต้ากินนมง่าย ๆ โดยอุ้มทารกตะแคงเข้าหาตัวให้กระชับกับอก ประคองให้ศีรษะและลำตัวทารกอยู่ในแนวเดียวกัน จากนั้นให้ลูกอ้าปากกว้างเข้าไปอมหัวนมและลานนมให้ลึก คุณแม่จะรับรู้ถึงความรู้สึกว่าลูกดูดนมเป็นจังหวะและอาจได้ยินเสียงเบา ๆ ขณะลูกกลืนน้ำนมด้วย ถ้าหากคุณแม่รู้สึกเกร็งเวลาให้นมลูกก็สามารถพลิกตัวทารกเพื่อสลับฝั่ง หรืออาจจะขยับเปลี่ยนท่าให้นมในท่าอื่นได้ เช่น

  • ท่านอนให้นม โดยคุณแม่นอนตะแคงศีรษะสูง หลังและสะโพกให้นอนตรงยาวเป็นระนาบเดียวกัน และใช้มือด้านล่างประคองหลังลูกน้อยนอนตะแคงเข้าหาตัวให้ปากอยู่ตรงกับหัวนมของคุณแม่ ส่วนมือด้านบนประคองเต้านมเพื่อขยับให้หัวนมเข้าปากลูกได้ง่ายขึ้น
  • ท่าฟุตบอล โดยใช้มือจับที่ต้นคอและท้ายทอยของลูกน้อย ประคองลูกเข้ากับสีข้าง ซึ่งขาของทารกจะชี้ไปทางด้านหลังคุณแม่ และให้ปากทารกตรงกับหัวนมพอดี
  • ท่าอุ้มขวางตัก โดยอุ้มลูกนอนขวางบนตัก ใช้แขนพาดด้านหลัง ขยับศีรษะและลำตัวทารกอยู่ในแนวตรง ซึ่งปากลูกจะตรงกับหัวนมแม่พอดี และฝ่ามืออีกข้างจับช้อนบริเวณก้นและต้นขาของทารก ขยับตะแคงเข้าหาตัวให้ท้องลูกชิดกับท้องคุณแม่

 

ปัญหาลูกไม่ยอมเข้าเต้าสำหรับคุณแม่มือใหม่ หากคุณแม่ได้ศึกษาทั้งสาเหตุและวิธีแก้เพื่อกระตุ้นให้ลูกยอมเข้าเต้ากินนมแม่ได้อย่างประสบความสำเร็จ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะทำให้ลูกน้อยได้รับโภชนาการที่ดี สร้างภูมิต้านทานโรค มีร่างกายที่แข็งแรง และสร้างประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะอย่างน้อยในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงโอกาสทองในการสร้างสมองของลูกให้เรียนรู้ได้ไว ควบคู่ไปกับการกระตุ้นพัฒนาการตามช่วงวัยที่เหมาะสมด้วยค่ะ

 

 บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  1. 8 วิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  2. ปัญหาและวิธีแก้ กับเรื่องนมแม่ที่ต้องอ่าน, โรงพยาบาลสมิติเวช
  3. วิธีให้ลูกดูดเต้า กระตุ้นน้ำนมแม่ ทำได้อย่างไรบ้าง, hellokhunmor
  4. ลูกไม่กินนม ปัญหาหนักใจที่คุณพ่อคุณแม่แก้ไขได้, pobpad
  5. แนะคุณแม่มือใหม่! เทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แบบถูกวิธี, โรงพยาบาลพญาไท
  6. ฟันลูกขึ้น..จะต้องทำยังไง, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  7. เทคนิคจัดการน้ำนมแม่ให้ลูกอิ่มหนำสำราญ, โรงพยาบาลเวชธานี

อ้างอิง ณ วันที่ 16 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ลูกกัดหัวนมทำยังไงดี พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ลูกกัดหัวนมทำยังไงดี พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ทำยังไงดี ลูกกัดเต้าจนหัวนมแม่เป็นแผล คุณแม่ให้นมลูกต่อได้ไหม ทำไมลูกถึงชอบกัดหัวนมแม่ พร้อมวิธีรับมือเมื่อลูกกัดเต้าเป็นแผล

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมัน

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมัน

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าแผลทำหมันจะหายดี เจ็บแผลทำหมัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมันที่ถูกต้อง ช่วยให้แผลหายเร็วและปลอดภัย

ประจำเดือนหลังคลอด จะกลับมาเมื่อไหร่ พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ประจำเดือนหลังคลอด จะกลับมาเมื่อไหร่ พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ประจำเดือนหลังคลอดจะกลับมาเมื่อไหร่ ประจำเดือนครั้งแรกหลังคลอดเป็นแบบไหน คุณแม่มีอาการประจำเดือนหลังคลอดมา ๆ หาย ๆ อันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังคลอด

วิธีไล่ลมในท้องทารก เมื่อลูกน้อยมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง

วิธีไล่ลมในท้องทารก เมื่อลูกน้อยมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง

วิธีไล่ลมในท้องทารก คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง เมื่อลูกน้อยรู้สึกท้องอืด ไม่สบายท้อง การไล่ลมในท้องทารกต้องทำยังไง ไปดูวิธีไล่ลมในท้องทารก ช่วยให้ลูกสบายท้องกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก