หัวนมบอด คืออะไร ปัญหาหัวนมบอดของคุณแม่ให้นมที่แก้ไขได้

หัวนมบอด ปัญหาของคุณแม่ให้นม ที่คุณแม่แก้ไขได้

07.08.2024

หัวนมบอด เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณแม่หลังคลอดไม่สามารถให้นมลูกได้ ลักษณะหัวนมบอดจะเป็นหัวนมที่บุ๋มลงไปในเต้าไม่ยื่นออกมา สำหรับหัวนมที่ลูกน้อยสามารถดูดนมคุณแม่ได้ถนัด หัวนมต้องมีลักษณะเป็นปกติ คือมีความยาวยื่นออกมาต้องได้ 0.7-1 เซนติเมตร ซึ่งความยาวของหัวนมจะวัดตั้งแต่ฐานลานนมจนมาถึงหัวนม
 

headphones

PLAYING: หัวนมบอด ปัญหาของคุณแม่ให้นม ที่คุณแม่แก้ไขได้

อ่าน 7 นาที

สรุป

  • หัวนมบอด (Inverted nipple) คือหัวนมที่มีลักษณะบุ๋มลงไปในเต้านมไม่ยื่นออกมา ทำให้ดูคล้ายกับว่าไม่มีหัวนม
  • หัวนมบอดในคุณแม่ โดยมากจะเป็นมาตั้งแต่เกิด หรืออาจเกิดขึ้นในภายหลังก็ได้เช่นกัน
  • สาเหตุที่ทำให้เกิดหัวนมบอด ได้แก่ มีพื้นฐานหัวนมน้อย, ท่อน้ำนมสั้นมากกว่าปกติ, การให้นมลูกผิดวิธี และมีพังผืดเกิดขึ้นรอบ ๆ หัวนม จนทำให้หัวนมถูกดึงรั้งเข้าไปข้างใน เป็นต้น
  • หัวนมบอดแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ หัวนมบอดเล็กน้อย หัวนมบอดปานกลาง และหัวนมบอดรุนแรง ทั้งนี้ในคุณแม่ที่มีปัญหาหัวนมบอดในระดับ 1 และ ระดับ 2 ยังสามารถที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อยู่

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

หัวนมบอด อุปสรรคเล็ก ๆ ของการให้นมลูก เป็นช่วงเวลาอันล้ำค่าที่เต็มไปด้วยความรักและความผูกพันระหว่างแม่และลูก แต่สำหรับคุณแม่บางท่าน อาจต้องเผชิญกับปัญหา "หัวนมบอด" ซึ่งสร้างความกังวลใจให้คุณแม่ต่อการให้นมลูกในช่วงหลังคลอด ดังนั้น เราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับหัวนมบอด พร้อมแนะนำวิธีการแก้ไขและเทคนิคการให้นมลูกสำหรับคุณแม่ที่มีหัวนมบอด เพื่อให้คุณแม่ทุกท่านสามารถให้นมที่มีคุณค่ากับลูกน้อยได้อย่างมั่นใจกันค่ะ

 

หัวนมบอด คืออะไร มีลักษณะอย่างไร

หัวนมบอด (Inverted nipple) คือหัวนมที่มีลักษณะบุ๋มลงไปในเต้านมไม่ยื่นออกมา ทำให้ดูคล้ายกับว่าไม่มีหัวนม หัวนมบอดที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ โดยมากจะเป็นมาตั้งแต่เกิด หรืออาจเกิดขึ้นในภายหลังก็ได้เช่นกัน อาการของหัวนมบอดมีสาเหตุ ดังนี้

  • มีพื้นฐานหัวนมน้อย
  • ท่อน้ำนมสั้นมากกว่าปกติ
  • การให้นมลูกผิดวิธี
  • ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเต้านม
  • มีพังผืดเกิดขึ้นรอบ ๆ หัวนม จนทำให้หัวนมถูกดึงรั้งเข้าไปข้างใน

 

หัวนมบอดมีทั้งหมดกี่ระดับ

สำหรับอาการหัวนมบอด สามารถแบ่งได้ตามความรุนแรงของหัวนมที่ยุบเข้าไป ซึ่งจะเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับ 1 หัวนมบอดเล็กน้อย

  1. หัวนมจะบุ๋มลงไปเล็กน้อยบางส่วน หากใช้มือดึงหัวนมก็จะขึ้นมา
  2. หัวนมอาจยื่นออกมาได้บ้างเมื่อกระตุ้น เช่น การสัมผัส การดูด และอากาศเย็น
  3. คุณแม่ยังสามารถให้นมลูกได้

 

ระดับ 2 หัวนมบอดปานกลาง

  1. หัวนมจะยุบตัวบุ๋มลึก หากใช้มือดึงหัวนมขึ้นมาก็จะอยู่ได้ไม่นาน แล้วก็จะยุบลงไป
  2. คุณแม่ยังสามารถให้นมลูกได้ และหากในคุณแม่ที่มีปัญหาท่อน้ำนมสั้น จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แก้หัวนมบอดช่วย จึงจะสามารถให้นมลูกได้

 

ระดับ 3 หัวนมบอดรุนแรง

  1. หัวนมยุบตัวบุ๋มลึกเข้าไปแบบถาวรจนมองไม่เห็น สาเหตุก็เนื่องมาจากท่อน้ำนมเกิดการรั้งตัวและขดอยู่ด้านใน
  2. หัวนมดึงออกมาไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้มือ หรืออุปกรณ์
  3. คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้

 

คุณแม่มีภาวะ “หัวนมบอด” หรือไม่

หากคุณแม่ต้องการรู้ว่าตัวเองมีปัญหา “หัวนมบอด” อยู่หรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ด้วยการใช้นิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือกดปลิ้นหัวนมแล้วจับดึงขึ้น หากดึงหัวนมขึ้นมาได้บ้างก็จะแก้ไขได้เร็ว ทั้งนี้หากคุณแม่ไม่สามารถดึงหัวนมขึ้นมาได้เลย จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทันที เพราะหากรอให้คลอดลูกแล้ว อาจต้องใช้เวลาแก้ไขนานเป็นเดือนถึงจะให้ลูกดูดนมได้ แนะนำให้คุณแม่ขอคำปรึกษากับสูติแพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์ เพื่อจะได้รับการแก้ไขที่เหมาะสมตามระดับความรุนแรงของอาการหัวนมบอดค่ะ

 

คุณแม่หัวนมบอด ให้นมลูกได้ไหม

 

คุณแม่หัวนมบอด ให้นมลูกได้ไหม

หากคุณแม่ไม่ได้มีอาการหัวนมบอดขั้นรุนแรง ก็ยังที่จะให้นมลูกได้ตามปกติค่ะ แต่เพื่อการให้นมลูกง่ายขึ้นในคุณแม่ที่มีอาการหัวนมบอดไม่รุนแรง สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ ก่อนให้นมลูกน้อยค่ะ

1. กระตุ้นหัวนม

ก่อนให้ลูกเข้าเต้ากินนม จำเป็นต้องกระตุ้นตรงหัวนมให้นูนขึ้นมาก่อน ด้วยการใช้นิ้วมือคลึงให้รอบหัวนม แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นแตะเบา ๆ บนเต้านม การกระตุ้นจะช่วยให้หัวนมนูนยื่นขึ้นมา เมื่อหัวนมยื่นออกมาแล้ว ก็พร้อมสำหรับให้ลูกเข้าเต้าดูดนมได้แล้วค่ะ

 

2. ลูกเข้าเต้าในท่าที่ถูกต้อง

คุณแม่ประคองลูกเข้าเต้า โดยที่ปากของลูกต้องอ้ากว้าง และงับเต้านมให้ลึกถึงลานนม

 

คุณแม่หัวนมบอด ลูกจะได้รับสารอาหารเพียงพอไหม

น้ำนมแม่ มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ประโยชน์ของนมแม่มีผลแม่กับลูกตั้งแต่แรกเกิด เพราะจะช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วนจากการกินนมแม่ ในกรณีที่คุณแม่หัวนมบอด จำเป็นต้องได้รับการตรวจและแก้ไขก่อนที่จะคลอดลูก แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาแพทย์เพื่อดูว่าอาการหัวนมบอดอยู่ในระดับใด และจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสมค่ะ

 

เทคนิคแก้ปัญหาหัวนมบอดที่คุณแม่ทำเองได้

อาการหัวนมบอดที่อยู่ในระดับไม่รุนแรงอย่างหัวนมบอดระดับ 1 คุณแม่สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองตามเทคนิคดังต่อไปนี้ค่ะ

  • Nipple rolling: คุณแม่ใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือจับด้านข้างของหัวนมที่อยู่ติดกับลานนม แล้วคลึงเบา ๆ พร้อมกับจับหัวนมดึงยืดออกมาแล้วปล่อย แนะนำให้ทำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ทำซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง
  • Hoffmann’s maneuver: ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างวางให้ชิดโคนหัวนม แล้วกดนิ้วและดึงแยกออกจากกันไปทางด้านข้าง สลับทำให้รอบบริเวณหัวนม แนะนำให้ทำหลังอาบน้ำ โดยทำซ้ำ 10-20 ครั้งต่อข้าง

 

คุณแม่หัวนมบอด ใช้อุปกรณ์อะไรช่วยให้น้ำนมไหลได้บ้าง

  1. อุปกรณ์ดึงหัวนม (Nipple puller) เป็นการดึงหัวนมด้วยอุปกรณ์ โดยการใช้นิ้วมือบีบกระเปาะยางแล้วครอบที่หัวนม จากนั้นปล่อยนิ้วที่บีบกระเปาะเบา ๆ ให้ทำครั้งละ 5-10 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  2. ปทุมแก้ว (Breast Shell หรือ Breast Cup) ใช้เพื่อช่วยดึงหัวนมขึ้นมา ให้ใช้ปทุมแก้วครอบลงบนหัวนม โดยให้หัวนมอยู่ตรงกลางรูฐานของปทุมแก้ว จนหัวนมยื่นออกมาที่รูฐานปทุมแก้ว ให้ทำวันละ 2-3 ชั่วโมง
  3. อุปกรณ์ดึงหัวนมไซริงค์ (Syringe puller) วิธีการใช้ไซริงค์ช่วยดูดหัวนม เริ่มจากดึงลูกสูบขึ้นให้ได้ 1/3 ของกระบอกไซริงค์ จากนั้นเอาด้านที่มีปีกครอบตรงหัวนมให้สนิท แล้วดึงลูกสูบขึ้นช้า ๆ เพื่อให้หัวนมยื่นออกมา

 

หัวนมบอดแบบไหน ที่ควรรักษาด้วยการผ่าตัด

หัวนมบอดไม่ได้ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากคุณแม่มีอาการหัวนมบอดขั้นรุนแรง อาจส่งผลทำให้ไม่สามารถให้นมลูกได้ แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมด้วยวิธีการผ่าตัด และเพื่อให้คุณแม่สามารถให้นมแม่แก่ลูกน้อยได้ ก่อนการตั้งครรภ์ ควรต้องตรวจสุขภาพรวมถึงตรวจเต้านมด้วย ซึ่งหากพบความผิดปกติของเต้านม และหัวนม จะได้รักษาให้หายเป็นปกติก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ค่ะ

 

ฝึกลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธี ช่วยให้น้ำนมไหลเยอะขึ้น

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบผลสำเร็จ ลูกน้อยได้กินนมอิ่ม นอกจากสุขภาพเต้านมและหัวนมที่เป็นปกติแล้ว คุณแม่ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ รวมถึงฝึกให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธี ตั้งแต่ช่วงแรกคลอด เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมแม่ได้เยอะและเพื่อให้คุณแม่มีปริมาณน้ำนมที่เพียงพอสำหรับลูกน้อย

  1. ดูดเร็ว: ให้ลูกดูดนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด
  2. ดูดบ่อย: ให้ลูกดูดนมแม่ทุก 2-3 ชั่วโมง
  3. ดูดถูกวิธี: ให้ลูกอยู่ในท่ากินนมที่ถูกต้อง คือ ปากลูกต้องอ้ากว้างบานออกคล้ายปากปลา อมลึกถึงลานนม และต้องดูดนมให้เกลี้ยงเต้า

 

การเตรียมความพร้อมสุขภาพและร่างกายก่อนการตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่มือใหม่เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากค่ะ เนื่องจากจะทำให้คุณแม่ทราบถึงปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ อย่างสุขภาพเต้านมและหัวนม แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็ก หากพบความผิดปกติจะได้แก้ไขและรักษาให้หายเป็นปกติ เพื่อที่หลังคลอดจะได้ให้ลูกน้อยกินนมแม่ได้ตั้งแต่แรกคลอด เพราะในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน รวมทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายชนิด ที่ช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการการเจริญเติบโต และพัฒนาการสมองการเรียนรู้ที่ดีสมวัยค่ะ

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  1. หัวนมบอดเป็นแบบไหน? มีสาเหตุมาจากอะไร? พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น , นายแพทย์พลเดช สุวรรณอาภา ศัลยแพทย์ เฉพาะทางเสริมหน้าอก JAREM CLINIC
  2. เตรียมความพร้อมเต้านมคุณแม่ ก่อนคลอด สำคัญอย่างไร ?, นายแพทย์นพเมศฐ์ ศรีจารุสิทธิ์ โรงพยาบาลพริ้นซ์สุวรรณภูมิ
  3. หัวนมบอดระดับ 3 ระดับรุนแรง(Inverted Nipples Grade 3), กรมอนามัยที่ 5
  4. เตรียมเต้านม…เพื่อให้นมบุตร, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  5. ถามตอบ – ไขปัญหานมแม่, โรงพยาบาลสมิติเวช
  6. การเตรียมตัวเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. เทคนิค 3 ดูด เพิ่มปริมาณน้ำนมให้ลูกได้รับอย่างคาดไม่ถึง, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

อ้างอิง ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2567
 

บทความแนะนำ

ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ผื่นแพ้ในเด็กเกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแล

ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ลูกแพ้เหงื่อตัวเอง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลลูก

ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ เกิดจากอะไร อาการลูกแพ้เหงื่อตัวเอง มักเกิดขึ้นหลังเด็กมีเหงื่อออกตามใบหน้าและลำตัว ไปรู้จักอาการลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ พร้อมวิธีดูแลลูก

ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี พร้อมวิธีดูแลผดผื่นบนใบหน้าทารก

ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี พร้อมวิธีแก้ผดผื่นบนใบหน้าทารก

ผื่นขึ้นหน้าทารก เกิดจากอะไร ผื่นทารก มีกี่แบบ รู้จักอาการผื่นขึ้นหน้าทารก ปัญหากวนใจคุณแม่มือใหม่ พร้อมวิธีแก้ผดผื่นบนใบหน้าทารกกัน ที่คุณแม่ควรรู้

ผื่นทารก ลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว ปัญหาผิวผื่นทารกในเด็ก

ผื่นทารก ลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว ปัญหาผื่นแพ้ในเด็ก พร้อมวิธีดูแลลูก

ผื่นทารกหรือผื่นแพ้ในเด็ก อาการลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว เกิดจากอะไร ทำไมถึงเกิดขึ้นกับเล็กเด็ก ไปดูสาเหตุที่ทำให้ลูกมีผื่นทารกและผื่นแพ้ในเด็ก พร้อมวิธีดูแล

ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกมีผื่นสาก

ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกผื่นสาก

ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร ทารกมีผื่นสาก บอกอะไรได้บ้าง ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ ทารกผื่นสาก เป็นอันตรายไหม มีสาเหตุมาจากอะไร พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก