หัวนมบอด คืออะไร ปัญหาหัวนมบอดของคุณแม่ให้นมที่แก้ไขได้

หัวนมบอด คืออะไร ปัญหาหัวนมบอดของคุณแม่ให้นมที่แก้ไขได้

07.08.2024

หัวนมบอด เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณแม่หลังคลอดไม่สามารถให้นมลูกได้ ลักษณะหัวนมบอดจะเป็นหัวนมที่บุ๋มลงไปในเต้าไม่ยื่นออกมา สำหรับหัวนมที่ลูกน้อยสามารถดูดนมคุณแม่ได้ถนัด หัวนมต้องมีลักษณะเป็นปกติ คือมีความยาวยื่นออกมาต้องได้ 0.7-1 เซนติเมตร ซึ่งความยาวของหัวนมจะวัดตั้งแต่ฐานลานนมจนมาถึงหัวนม
 

headphones

PLAYING: หัวนมบอด คืออะไร ปัญหาหัวนมบอดของคุณแม่ให้นมที่แก้ไขได้

อ่าน 7 นาที

สรุป

  • หัวนมบอด (Inverted nipple) คือหัวนมที่มีลักษณะบุ๋มลงไปในเต้านมไม่ยื่นออกมา ทำให้ดูคล้ายกับว่าไม่มีหัวนม
  • หัวนมบอดในคุณแม่ โดยมากจะเป็นมาตั้งแต่เกิด หรืออาจเกิดขึ้นในภายหลังก็ได้เช่นกัน
  • สาเหตุที่ทำให้เกิดหัวนมบอด ได้แก่ มีพื้นฐานหัวนมน้อย, ท่อน้ำนมสั้นมากกว่าปกติ, การให้นมลูกผิดวิธี และมีพังผืดเกิดขึ้นรอบ ๆ หัวนม จนทำให้หัวนมถูกดึงรั้งเข้าไปข้างใน เป็นต้น
  • หัวนมบอดแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ หัวนมบอดเล็กน้อย หัวนมบอดปานกลาง และหัวนมบอดรุนแรง ทั้งนี้ในคุณแม่ที่มีปัญหาหัวนมบอดในระดับ 1 และ ระดับ 2 ยังสามารถที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อยู่

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

หัวนมบอด อุปสรรคเล็ก ๆ ของการให้นมลูก เป็นช่วงเวลาอันล้ำค่าที่เต็มไปด้วยความรักและความผูกพันระหว่างแม่และลูก แต่สำหรับคุณแม่บางท่าน อาจต้องเผชิญกับปัญหา "หัวนมบอด" ซึ่งสร้างความกังวลใจให้คุณแม่ต่อการให้นมลูกในช่วงหลังคลอด ดังนั้น เราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับหัวนมบอด พร้อมแนะนำวิธีการแก้ไขและเทคนิคการให้นมลูกสำหรับคุณแม่ที่มีหัวนมบอด เพื่อให้คุณแม่ทุกท่านสามารถให้นมที่มีคุณค่ากับลูกน้อยได้อย่างมั่นใจกันค่ะ

 

หัวนมบอด คืออะไร มีลักษณะอย่างไร

หัวนมบอด (Inverted nipple) คือหัวนมที่มีลักษณะบุ๋มลงไปในเต้านมไม่ยื่นออกมา ทำให้ดูคล้ายกับว่าไม่มีหัวนม หัวนมบอดที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ โดยมากจะเป็นมาตั้งแต่เกิด หรืออาจเกิดขึ้นในภายหลังก็ได้เช่นกัน อาการของหัวนมบอดมีสาเหตุ ดังนี้

  • มีพื้นฐานหัวนมน้อย
  • ท่อน้ำนมสั้นมากกว่าปกติ
  • การให้นมลูกผิดวิธี
  • ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเต้านม
  • มีพังผืดเกิดขึ้นรอบ ๆ หัวนม จนทำให้หัวนมถูกดึงรั้งเข้าไปข้างใน

 

หัวนมบอดมีทั้งหมดกี่ระดับ

สำหรับอาการหัวนมบอด สามารถแบ่งได้ตามความรุนแรงของหัวนมที่ยุบเข้าไป ซึ่งจะเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับ 1 หัวนมบอดเล็กน้อย

  1. หัวนมจะบุ๋มลงไปเล็กน้อยบางส่วน หากใช้มือดึงหัวนมก็จะขึ้นมา
  2. หัวนมอาจยื่นออกมาได้บ้างเมื่อกระตุ้น เช่น การสัมผัส การดูด และอากาศเย็น
  3. คุณแม่ยังสามารถให้นมลูกได้

 

ระดับ 2 หัวนมบอดปานกลาง

  1. หัวนมจะยุบตัวบุ๋มลึก หากใช้มือดึงหัวนมขึ้นมาก็จะอยู่ได้ไม่นาน แล้วก็จะยุบลงไป
  2. คุณแม่ยังสามารถให้นมลูกได้ และหากในคุณแม่ที่มีปัญหาท่อน้ำนมสั้น จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แก้หัวนมบอดช่วย จึงจะสามารถให้นมลูกได้

 

ระดับ 3 หัวนมบอดรุนแรง

  1. หัวนมยุบตัวบุ๋มลึกเข้าไปแบบถาวรจนมองไม่เห็น สาเหตุก็เนื่องมาจากท่อน้ำนมเกิดการรั้งตัวและขดอยู่ด้านใน
  2. หัวนมดึงออกมาไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้มือ หรืออุปกรณ์
  3. คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้

 

คุณแม่มีภาวะ “หัวนมบอด” หรือไม่

หากคุณแม่ต้องการรู้ว่าตัวเองมีปัญหา “หัวนมบอด” อยู่หรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ด้วยการใช้นิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือกดปลิ้นหัวนมแล้วจับดึงขึ้น หากดึงหัวนมขึ้นมาได้บ้างก็จะแก้ไขได้เร็ว ทั้งนี้หากคุณแม่ไม่สามารถดึงหัวนมขึ้นมาได้เลย จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทันที เพราะหากรอให้คลอดลูกแล้ว อาจต้องใช้เวลาแก้ไขนานเป็นเดือนถึงจะให้ลูกดูดนมได้ แนะนำให้คุณแม่ขอคำปรึกษากับสูติแพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์ เพื่อจะได้รับการแก้ไขที่เหมาะสมตามระดับความรุนแรงของอาการหัวนมบอดค่ะ

 

คุณแม่หัวนมบอด ให้นมลูกได้ไหม

 

คุณแม่หัวนมบอด ให้นมลูกได้ไหม

หากคุณแม่ไม่ได้มีอาการหัวนมบอดขั้นรุนแรง ก็ยังที่จะให้นมลูกได้ตามปกติค่ะ แต่เพื่อการให้นมลูกง่ายขึ้นในคุณแม่ที่มีอาการหัวนมบอดไม่รุนแรง สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ ก่อนให้นมลูกน้อยค่ะ

1. กระตุ้นหัวนม

ก่อนให้ลูกเข้าเต้ากินนม จำเป็นต้องกระตุ้นตรงหัวนมให้นูนขึ้นมาก่อน ด้วยการใช้นิ้วมือคลึงให้รอบหัวนม แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นแตะเบา ๆ บนเต้านม การกระตุ้นจะช่วยให้หัวนมนูนยื่นขึ้นมา เมื่อหัวนมยื่นออกมาแล้ว ก็พร้อมสำหรับให้ลูกเข้าเต้าดูดนมได้แล้วค่ะ

 

2. ลูกเข้าเต้าในท่าที่ถูกต้อง

คุณแม่ประคองลูกเข้าเต้า โดยที่ปากของลูกต้องอ้ากว้าง และงับเต้านมให้ลึกถึงลานนม

 

คุณแม่หัวนมบอด ลูกจะได้รับสารอาหารเพียงพอไหม

น้ำนมแม่ มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ประโยชน์ของนมแม่มีผลแม่กับลูกตั้งแต่แรกเกิด เพราะจะช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วนจากการกินนมแม่ ในกรณีที่คุณแม่หัวนมบอด จำเป็นต้องได้รับการตรวจและแก้ไขก่อนที่จะคลอดลูก แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาแพทย์เพื่อดูว่าอาการหัวนมบอดอยู่ในระดับใด และจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสมค่ะ

 

เทคนิคแก้ปัญหาหัวนมบอดที่คุณแม่ทำเองได้

อาการหัวนมบอดที่อยู่ในระดับไม่รุนแรงอย่างหัวนมบอดระดับ 1 คุณแม่สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองตามเทคนิคดังต่อไปนี้ค่ะ

  • Nipple rolling: คุณแม่ใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือจับด้านข้างของหัวนมที่อยู่ติดกับลานนม แล้วคลึงเบา ๆ พร้อมกับจับหัวนมดึงยืดออกมาแล้วปล่อย แนะนำให้ทำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ทำซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง
  • Hoffmann’s maneuver: ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างวางให้ชิดโคนหัวนม แล้วกดนิ้วและดึงแยกออกจากกันไปทางด้านข้าง สลับทำให้รอบบริเวณหัวนม แนะนำให้ทำหลังอาบน้ำ โดยทำซ้ำ 10-20 ครั้งต่อข้าง

 

คุณแม่หัวนมบอด ใช้อุปกรณ์อะไรช่วยให้น้ำนมไหลได้บ้าง

  1. อุปกรณ์ดึงหัวนม (Nipple puller) เป็นการดึงหัวนมด้วยอุปกรณ์ โดยการใช้นิ้วมือบีบกระเปาะยางแล้วครอบที่หัวนม จากนั้นปล่อยนิ้วที่บีบกระเปาะเบา ๆ ให้ทำครั้งละ 5-10 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  2. ปทุมแก้ว (Breast Shell หรือ Breast Cup) ใช้เพื่อช่วยดึงหัวนมขึ้นมา ให้ใช้ปทุมแก้วครอบลงบนหัวนม โดยให้หัวนมอยู่ตรงกลางรูฐานของปทุมแก้ว จนหัวนมยื่นออกมาที่รูฐานปทุมแก้ว ให้ทำวันละ 2-3 ชั่วโมง
  3. อุปกรณ์ดึงหัวนมไซริงค์ (Syringe puller) วิธีการใช้ไซริงค์ช่วยดูดหัวนม เริ่มจากดึงลูกสูบขึ้นให้ได้ 1/3 ของกระบอกไซริงค์ จากนั้นเอาด้านที่มีปีกครอบตรงหัวนมให้สนิท แล้วดึงลูกสูบขึ้นช้า ๆ เพื่อให้หัวนมยื่นออกมา

 

หัวนมบอดแบบไหน ที่ควรรักษาด้วยการผ่าตัด

หัวนมบอดไม่ได้ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากคุณแม่มีอาการหัวนมบอดขั้นรุนแรง อาจส่งผลทำให้ไม่สามารถให้นมลูกได้ แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมด้วยวิธีการผ่าตัด และเพื่อให้คุณแม่สามารถให้นมแม่แก่ลูกน้อยได้ ก่อนการตั้งครรภ์ ควรต้องตรวจสุขภาพรวมถึงตรวจเต้านมด้วย ซึ่งหากพบความผิดปกติของเต้านม และหัวนม จะได้รักษาให้หายเป็นปกติก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ค่ะ

 

ฝึกลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธี ช่วยให้น้ำนมไหลเยอะขึ้น

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบผลสำเร็จ ลูกน้อยได้กินนมอิ่ม นอกจากสุขภาพเต้านมและหัวนมที่เป็นปกติแล้ว คุณแม่ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ รวมถึงฝึกให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธี ตั้งแต่ช่วงแรกคลอด เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมแม่ได้เยอะและเพื่อให้คุณแม่มีปริมาณน้ำนมที่เพียงพอสำหรับลูกน้อย

  1. ดูดเร็ว: ให้ลูกดูดนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด
  2. ดูดบ่อย: ให้ลูกดูดนมแม่ทุก 2-3 ชั่วโมง
  3. ดูดถูกวิธี: ให้ลูกอยู่ในท่ากินนมที่ถูกต้อง คือ ปากลูกต้องอ้ากว้างบานออกคล้ายปากปลา อมลึกถึงลานนม และต้องดูดนมให้เกลี้ยงเต้า

 

การเตรียมความพร้อมสุขภาพและร่างกายก่อนการตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่มือใหม่เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากค่ะ เนื่องจากจะทำให้คุณแม่ทราบถึงปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ อย่างสุขภาพเต้านมและหัวนม แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็ก หากพบความผิดปกติจะได้แก้ไขและรักษาให้หายเป็นปกติ เพื่อที่หลังคลอดจะได้ให้ลูกน้อยกินนมแม่ได้ตั้งแต่แรกคลอด เพราะในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน รวมทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายชนิด ที่ช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการการเจริญเติบโต และพัฒนาการสมองการเรียนรู้ที่ดีสมวัยค่ะ

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  1. หัวนมบอดเป็นแบบไหน? มีสาเหตุมาจากอะไร? พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น , นายแพทย์พลเดช สุวรรณอาภา ศัลยแพทย์ เฉพาะทางเสริมหน้าอก JAREM CLINIC
  2. เตรียมความพร้อมเต้านมคุณแม่ ก่อนคลอด สำคัญอย่างไร ?, นายแพทย์นพเมศฐ์ ศรีจารุสิทธิ์ โรงพยาบาลพริ้นซ์สุวรรณภูมิ
  3. หัวนมบอดระดับ 3 ระดับรุนแรง(Inverted Nipples Grade 3), กรมอนามัยที่ 5
  4. เตรียมเต้านม…เพื่อให้นมบุตร, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  5. ถามตอบ – ไขปัญหานมแม่, โรงพยาบาลสมิติเวช
  6. การเตรียมตัวเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. เทคนิค 3 ดูด เพิ่มปริมาณน้ำนมให้ลูกได้รับอย่างคาดไม่ถึง, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

อ้างอิง ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2567
 

บทความแนะนำ

ผ่าคลอดเจ็บไหม ผ่าคลอดดีไหม แม่ผ่าคลอดดูแลแผลผ่าคลอดยังไงดี

ผ่าคลอดเจ็บไหม ผ่าคลอดดีไหม แม่ผ่าคลอดดูแลแผลผ่าคลอดยังไงดี

ผ่าคลอดเจ็บไหม ผ่าคลอดน่ากลัวไหม คุณแม่ผ่าคลอดดีไหม มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้ก่อนการผ่าคลอดบ้าง พร้อมข้อดีข้อเสียและวิธีดูแลแผลแม่ผ่าคลอดให้หายไว

เจ็บแผลผ่าตัดจี๊ด ๆ ปวดแผลผ่าคลอดหลังผ่าตัดคลอด อันตรายไหม

เจ็บแผลผ่าตัดจี๊ด ๆ ปวดแผลผ่าคลอดหลังผ่าตัดคลอด อันตรายไหม

เจ็บแผลผ่าตัดจี๊ด ๆ ปวดแผลผ่าคลอดทันทีหลังผ่าตัดคลอด คุณแม่ผ่าคลอดควรทำอย่างไร หากเจ็บแผลผ่าตัดจี๊ด ๆ และปวดแผลผ่าคลอด พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน อันตรายไหม

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน อันตรายไหม

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างในหลังผ่าคลอด เกิดจากอะไร คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างในบ่อย จะเป็นอันตรายกับคุณแม่ในระยะยาวไหม ไปดูวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นกัน

เจ็บเต้าจี๊ด ๆ เหมือนเข็มทิ่ม เจ็บเต้าจี๊ด ๆ ข้างซ้ายผู้หญิง อันตรายไหม

เจ็บเต้าจี๊ด ๆ เหมือนเข็มทิ่ม เจ็บเต้าจี๊ด ๆ ข้างซ้ายผู้หญิง อันตรายไหม

คุณแม่เจ็บเต้าจี๊ด ๆ เหมือนเข็มทิ่ม บางครั้งเจ็บเต้าจี๊ด ๆ ข้างซ้ายผู้หญิง อาการแบบนี้เกิดจากอะไร หากเจ็บเต้านมบ่อยจะเป็นอันตรายกับแม่ให้นมไหม ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก