แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน อันตรายไหม

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน อันตรายไหม

21.08.2024

คุณแม่ผ่าคลอดหลายคนมีความกังวลเรื่องแผลการผ่าคลอด ไม่ว่าจะเป็นแผลผ่าคลอดนูนไม่สวย แผลผ่าคลอดปริ แต่มีสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจเป็นพิเศษคือ “การดูแลทำความสะอาดแผลผ่าคลอดให้สะอาดอยู่เสมอ” หากคุณแม่ดูแลแผลผ่าคลอดได้ไม่ดีหรือไม่ดีพอ อาจทำให้แผลผ่าคลอดเกิดการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แผลหายช้าได้ หากคุณแม่พบว่าแผลผ่าคลอดอักเสบ หรือแผลผ่าคลอดปริให้เข้าพบแพทย์ทันที

headphones

PLAYING: แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน อันตรายไหม

อ่าน 5 นาที

 

สรุป

  • แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การดูแลรักษาความสะอาดแผลผ่าคลอดที่ไม่ดีพอ การยกของที่หนักเกินไป โรคบางประเภทอย่างโรคเบาหวาน ความดัน เป็นต้น
  • เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน เป็นอาการที่เกิดขึ้นข้างในโดยที่คุณแม่ไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนกับแผลอักเสบข้างนอก แต่คุณแม่สามารถรับรู้ได้จากสัญญาณของแผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน เช่น ปวดท้องมาก ๆ แผลปูดนูนออกมา เป็นต้น
  • วิธีป้องกันไม่ให้เกิดแผลผ่าคลอดอักเสบข้างในคุณแม่สามารถทำได้โดยการหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของแผลผ่าคลอดอยู่เสมอ พยายามเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย งดอาหารจำพวกหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุรี่ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่แผลผ่าคลอดยังไม่หายสนิท

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน เกิดจากอะไร

สาเหตุของแผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน อาจมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง

1. พฤติกรรมการดูแลแผลผ่าคลอดของคุณแม่
การดูแลรักษาความสะอาดแผลผ่าคลอดที่ไม่ดีพอจนแผลผ่าคลอดเกิดการติดเชื้อแล้วเกิดการอักเสบขึ้นได้ การยกของหรือออกกำลังกายที่หนักหน่วงจนเกินไป การสูบบุหรี่ ทำให้เกิดแรงกดทับหรือแรงดันที่บริเวณแผลผ่าคลอดจนอาจกระทบถึงแผลผ่าคลอดภายในมดลูก ทำให้แผลเกิดการอักเสบอยู่ข้างใน

 

2. ปัญหาสุขภาพของคุณแม่เองอาจทำให้เกิดแผลผ่าคลอดอักเสบได้
โรคบางประเภทอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลอักเสบข้างในให้กับคุณแม่โดยไม่รู้ตัว เช่น ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดัน โรคอ้วน ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ  เป็นต้น

 

แผลผ่าคลอดอักเสบ มีกี่แบบ

ลักษณะของแผลผ่าคลอดอักเสบ ที่คุณแม่หลังคลอดสามารถสังเกตได้ คือ บริเวณแผลผ่าคลอดมีอาการบวมแดง แผลเปิดออกหรือไหมเย็บปริ เจ็บปวดบริเวณแผล คุณแม่บางคนอาจมีเลือดออกบริเวณแผลผ่าคลอด หรือมีไข้ร่วมด้วย


โดยทั่วไปแล้วแผลผ่าคลอดอักเสบมีทั้งหมด 2 แบบ คือ

1. แผลผ่าคลอดอักเสบข้างนอก

  • เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาจมาจากการดูแลและทำความสะอาดแผลไม่สะอาด ทำให้แผลหลังผ่าตัดคลอดเกิดการติดเชื้อ ปัญหาสุขภาพบางอย่างของคุณแม่ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และแรงกดทับที่บริเวณแผลผ่าคลอดบริเวณหน้าท้อง ทำให้แผลผ่าคลอดเกิดการปริ แยกหรือฉีกขาดได้ เช่น การอุ้มลูกน้อย ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือการยกของที่หนักเกินไป เป็นต้น

 

2. แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน

  • เป็นอาการที่เกิดขึ้นข้างใน โดยที่คุณแม่ไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนกับแผลอักเสบข้างนอก โดยสัญญาณของอาการแผลอักเสบข้างใน เช่น ปวดท้องมาก ๆ แผลปูดนูนออกมา และมีไข้ร่วมด้วย เป็นต้น ซึ่งสาเหตุสามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการดูแลตัวเองของคุณแม่หลังคลอดหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง

 

อาการของแม่ผ่าคลอด เมื่อแผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน

เมื่อคุณแม่เกิดอาการแผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน ร่างกายจะส่งสัญญาณบางอย่างออกมาให้คุณแม่หลังผ่าคลอดรับรู้ ดังนี้

  • คุณแม่จะรู้สึกถึงอาการปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งอาจรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อมีการขับถ่ายทั้งปัสสาวะหรืออุจจาระ
  • มีไข้ และอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะร่วมด้วย
  • คุณแม่มีน้ำคาวปลามากกว่าปกติ ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็น และอาจมีเลือดออกปนมาด้วย
  • บริเวณแผลผ่าคลอดมีรอยนูนออกมา หรืออาจมีก้อนที่บริเวณท้องส่วนล่างของคุณแม่

 

ดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด ป้องกันแผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน

 

ดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด ป้องกันแผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน

คุณแม่หลังคลอดทุกคนต่างต้องการให้แผลผ่าคลอดหายเร็วที่สุด เพราะในระหว่างที่แผลยังไม่แห้งสนิทอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลปริ แผลอักเสบ อาการเจ็บปวดแผลบ่อย ๆ และยังทำให้คุณแม่เคลื่อนไหวร่างกายไม่ค่อยสะดวกด้วย ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่เกิดแผลอักเสบที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุแผลผ่าคลอดหายช้า คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

1. รักษาแผลให้สะอาด

คุณแม่ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของแผลผ่าคลอดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลผ่าคลอดเกิดการอักเสบทั้งข้างในและด้านนอก และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

 

2. งดการมีเพศสัมพันธ์

ในช่วงที่แผลผ่าคลอดยังไม่หายสนิทดี คุณแม่ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน จนกว่าร่างกายจะฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติ เพราะอาจทำให้มดลูกเกิดการกระทบกระเทือนหรือแรงกดที่แรงจนเกินไป จนอาจทำให้แผลผ่าคลอดอักเสบข้างในได้

 

3. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ระดับน้ำตาลในเลือดอาจส่งผลต่อแผลผ่าคลอด โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แผลผ่าคลอดหายช้าลงได้

 

4. ควบคุมน้ำหนักตัว

คุณแม่หลังคลอดควรควบคุมน้ำหนักตัวให้สมดุล เพราะการที่คุณแม่มีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป อาจส่งผลต่อการเกิดแผลอักเสบข้างในขึ้นได้

 

5. ไม่สูบบุหรี่

ในช่วงที่ร่างกายของคุณแม่กำลังฟื้นฟู คุณแม่ควรงดการสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีที่อยู่ในบุหรี่ส่งผลต่อการสมานตัวของแผลผ่าคลอดโดยตรง ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพลูกน้อยของคุณแม่ด้วย

 

6. หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด

หลังคลอดเป็นช่วงที่ร่างกายของคุณแม่ต้องการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว การทานอาหารหลังผ่าคลอดที่ดีและมีประโยชน์เพื่อช่วยบำรุงร่างกายของคุณแม่หลังคลอดเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรให้ความใส่ใจ และคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจทำให้เกิดการอักเสบของแผลผ่าคลอด เช่น อาหารหมักดอง อาหารกึ่งดิบกึ่งสุก เป็นต้น

 

7. ดื่มน้ำให้เยอะขึ้น

การดื่มน้ำจะช่วยให้คุณแม่สามารถฟื้นฟูร่างกายได้ดี ทั้งยังช่วยในเรื่องของความชุ่มชื้นและผิวพรรณด้วย ดังนั้น คุณแม่ที่ผ่าคลอดควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัวคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

 

วิธีดูแลแผลผ่าคลอดอักเสบข้างในไม่ให้อักเสบซ้ำ

สำหรับคุณแม่ผ่าคลอดที่เคยมีประสบการณ์แผลผ่าคลอดอักเสบข้างในมาก่อน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลอักเสบข้างในซ้ำ

1. ทานอาหารที่ช่วยให้แผลผ่าคลอดหายเร็ว

คุณแม่ผ่าคลอดต้องการสารอาหารอย่างครบถ้วนในการฟื้นฟูร่างกาย และช่วยให้แผลผ่าคลอดหายเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกโปรตีนเพราะโปรตีนมีส่วนช่วยซ่อมแซมร่างกาย ทำให้แผลผ่าคลอดหายเร็ว รวมถึงการหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารหมักดอง อาหารประเภทแป้งหรือไขมัน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

2. ดูแลแผลผ่าคลอดให้ดี

หากคุณแม่ไม่ต้องการให้เกิดแผลอักเสบข้างในซ้ำ ควรดูแลแผลผ่าคลอดให้เนียนสวย พยายามทำความสะอาดแผลตามคำแนะนำของแพทย์ ตรวจสอบแผลผ่าคลอดดูว่าเปียกน้ำหรือมีน้ำซึมหรือไม่ ถ้าพบว่าแผลผ่าคลอดเปียกน้ำให้รีบซับเบา ๆ ให้แห้งโดยทันที เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและแผลผ่าคลอดอักเสบซ้ำได้ หากไม่มั่นใจ ให้ไปพบแพทย์เพื่อทำความสะอาดแผลอย่างถูกวิธีต่อไป

 

3. ไม่ควรยกของหนัก

คุณแม่หลังคลอดบางคนอาจเผลอยกของหนักหรือทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อแรงกดทับที่หน้าท้อง ทำให้แผลผ่าคลอดเกิดการปริแตก หรืออักเสบขึ้นมาได้ ดังนั้น ก่อนที่คุณแม่จะทำกิจกรรมอะไรต้องคำนึงว่าจะส่งผลต่อแผลผ่าคลอดที่หน้าท้องหรือไม่ โดยพยายามหาผู้อื่นมาช่วยยกของ หรือแบ่งยกของเบา ๆ เพื่อไม่ให้แผลผ่าคลอดเกิดการอักเสบข้างในซ้ำ

 

4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มากเกินไป

แม้ว่าการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายกระชับสัดส่วนได้ดี แต่สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด การออกกำลังกายที่หนักเกินไปอาจส่งผลต่อร่างกาย ทำให้แผลผ่าคลอดกระทบกระเทือน และเหงื่อที่ไหลออกมาจะทำให้เกิดการหมักหมมบริเวณแผลผ่าคลอด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการติดเชื้อและเกิดแผลผ่าคลอดอักเสบขึ้นอีกครั้งได้

 

5. งดสูบบุหรี่เด็ดขาด

การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งของตัวคุณแม่เองและลูกน้อย อีกอย่างสารเคมีที่อยู่ในบุหรี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการชะงักการซ่อมแซมเซลล์บริเวณแผลผ่าคลอด ทำให้แผลผ่าคลอดหายช้าและเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออักเสบเพิ่มขึ้นด้วย

 

ช่วงหลังคลอดคุณแม่อาจให้ความสนใจในการดูแลลูกน้อยแรกคลอด จนทำให้ไม่มีเวลาในการใส่ใจดูแลตัวเองมากนัก แต่ความเป็นจริงแล้วคุณแม่หลังผ่าคลอดไม่ควรละเลยในการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะบริเวณแผลผ่าคลอดที่ทำให้คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน ควรดูแลรักษาแผลผ่าคลอดให้สะอาดอยู่เสมอ พยายามอย่าให้แผลเปียกหรือโดนน้ำ หรือทำกิจกรรมที่หนักจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลติดเชื้อจนส่งผลให้แผลผ่าคลอดอักเสบข้างในและข้างนอก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คุณแม่มีอาการปวดแผลผ่าคลอด ไม่สบาย และแผลหายช้าด้วย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด

 

 

อ้างอิง:

  1. แผลผ่าคลอดปริ เกิดจากอะไร คุณแม่ควรดูแลแผลอย่างไร, hellokhunmor
  2. แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน สาเหตุและการดูแล, hellokhunmor
  3. ข้อปฏิบัติหลังคลอด ที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลเปาโล
  4. การดูแลแผลผ่าตัด, โรงพยาบาลพิษณุโลก

อ้างอิง ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2567

บทความแนะนำ

ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ พร้อมวิธีดูแล

ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ พร้อมวิธีดูแล

ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ บางครั้งมีผื่นแดงขึ้นตามตัวและคัน ทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลว่าลูกเป็นอะไร ไปดูวิธีดูแลเมื่อลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้

ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน ลูกเป็นผื่น ดูแลลูกแบบไหนให้ถูกวิธี

ผดร้อนทารก ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน ดูแลลูกแบบไหนให้ถูกวิธี

ผดร้อนทารก ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน เกิดจากอะไร สาเหตุอะไรได้บ้าง ที่ทำให้ลูกมีผดร้อนทารกและลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย เมื่อลูกมีผื่นคัน

กลากน้ำนม เกิดจากอะไร โรคผิวหนังในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนม

กลากน้ำนม เกิดจากอะไร โรคผิวหนังในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนม

กลากน้ำนม คืออะไร กลากน้ำนม เกลื้อนน้ำนม หรือเกลื้อนแดด พบได้บ่อยในเด็กอายุ 3-14 ปี เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคกลากน้ำนมได้

นมย่อยง่าย เหมาะสำหรับเด็กเสี่ยงภูมิแพ้ จริงหรือไม่?

นมย่อยง่าย เหมาะสำหรับเด็กเสี่ยงภูมิแพ้ จริงหรือไม่?

นมย่อยง่าย คืออะไร เหมาะสำหรับเด็กที่มีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้จริงไหม ทำไมคุณแม่ถึงควรรู้เกี่ยวกับนมย่อยง่าย สำหรับลูก ไปทำความรู้จักและหาคำตอบพร้อมกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก