กลากน้ำนม เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนมในเด็ก
กลากน้ำนม หรือบางคนอาจจะเรียกกว่าเกลื้อนน้ำนม ที่คุณแม่อาจจะสังเกตเห็นเป็นลักษณะวงกลมหรือวงรีสีขาว มีขุยบางๆ ที่มักชอบขึ้นอยู่บริเวณแก้มของลูก หรือส่วนใหญ่มักจะขึ้นบริเวณใบหน้า ลำคอ ลำตัว แขน และขา โดยทั่วไป กลากน้ำนมมักจะขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่มีอากาศอบอ้าว แม้ว่าจะไม่ส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย แต่อาการจะเป็นๆ หายๆ และอาการจะลดน้อยลงเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น
สรุป
- กลากน้ำนม เกลื้อนน้ำนม หรือเกลื้อนแดดเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็กไปจนถึงเด็กโต และอาการจะลดน้อยลงเมื่อเริ่มโตขึ้นหรือหายไปเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
- กลากน้ำนม ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผื่นสีขาวหรือสีที่อ่อนกว่าสีผิวปกติ อาจจะเป็นสีชมพูจางๆ หรือสีแดงอ่อน กระจายเป็นวงกลมหรือวงรี
- กลากน้ำนม มักจะเกิดขึ้นบริเวณต่างๆ เช่น แก้ม คาง คอ ต้นแขน หน้าอก และหลัง เป็นต้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- กลากน้ำนม เป็นโรคผิวหนังหรือไม่
- โรคกลากน้ำนม เกิดจากสาเหตุอะไร
- เด็กทารกเป็นกลากน้ำนมได้ไหม
- เกลื้อนน้ำนม มีลักษณะแบบไหน
- โรคกลากน้ำนมเป็นอันตรายกับลูกไหม
- วิธีดูแลลูกน้อยที่เป็นเกลื้อนแดด
- คุณหมอจะมีวิธีรักษากลากน้ำนมยังไงบ้าง
- มีวิธีไหนที่สามารถป้องกันโรคกลากน้ำนมได้ไหม
กลากน้ำนม เกิดจากอะไร โรคผิวหนังในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนม
กลากน้ำนม เกลื้อนน้ำนม หรือเกลื้อนแดด เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็กไปจนถึงเด็กโต โดยสังเกตได้จากอาการคันบริเวณที่เป็นกลากน้ำนม ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผื่นสีขาวหรือผื่นสีอ่อนกว่าสีผิวปกติ กระจายเป็นวงกลมหรือวงรี กลากน้ำนมเกิดจากอะไร และหากพบว่าเจ้าตัวเล็กเป็นกลากน้ำนมต้องดูแลอย่างไร มาหาคำตอบนี้กันค่ะ
กลากน้ำนม เป็นโรคผิวหนังหรือไม่
กลากน้ำนม (Pityriasis alba) เป็นโรคที่แสดงอาการอย่างหนึ่งของโรคผิวหนังที่สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ที่คาดว่าเกิดขึ้นจากความผิดปกติของกระบวนการสร้างเม็ดสีมีจำนวดลดลง และอาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย โดยจะปรากฏลักษณะให้เห็นเป็นรอยด่างสีชมพูหรือสีแดงอ่อน หรือเป็นสีที่จางลงกว่าสีผิวปกติ มักจะเห็นได้ชัดในเด็กที่มีสีผิวเข้ม โดยจะเกิดขึ้นบริเวณต่างๆ เช่น แก้ม คาง คอ หน้าอก ต้นแขน และหลัง เป็นต้น มีอาการผิวแห้ง คัน ระคายเคือง ผิวหนังลอกแดง และอักเสบได้ เมื่ออาการดีขึ้นผิวหนังก็จะค่อยๆ กลายเป็นขุยแห้ง สีขาว และตกสะเก็ด ทั้งนี้กลากน้ำนมเป็นโรคผิวหนังชนิดที่ไม่ร้ายแรง หากเกิดขึ้นมาก็จะสามารถหายได้เองเพียงแต่อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง และอาการจะลดน้อยลงเมื่อลูกเริ่มโตขึ้นหรือหายไปเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้เบื้องต้น คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกมาพบแพทย์ เพื่อขอรับคำปรึกษาและการวินิจฉัยที่ถูกต้องนะคะ
โรคกลากน้ำนม เกิดจากสาเหตุอะไร
กลากน้ำนม เป็นหนึ่งในโรคที่แสดงอาการของโรคผื่นแพ้ทางผิวหนัง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุอาการเกิดกลากน้ำนมที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดขึ้นได้จากการถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานาน การขาดสารอาหาร หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ส่งผลทำให้เซลล์ในการสร้างเม็ดสีที่ชั้นหนังกำพร้าไม่สามารถผลิตเม็ดสีได้ตามปกติ ทำให้ปริมาณของเม็ดสีผิวหนังลดลง จึงเกิดขึ้นเป็นรอยด่างขาวจางๆ มีสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอกันในบางจุด และมองเห็นเป็นวงสีขาวได้ชัดเจนในผู้ที่มีสีผิวเข้ม ส่งผลให้ผิวแห้ง อาจมีขุยบางๆ ติดอยู่ โดยมากมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้า หรืออวัยวะส่วนต่างๆ เช่น ลำคอ บริเวณไหล่ และแขน เป็นต้น มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี
เด็กทารกเป็นกลากน้ำนมได้ไหม
โดยส่วนใหญ่โรคกลากน้ำนม มักพบได้ในเด็กช่วงอายุประมาณ 3-14 ปี สามารถเกิดขึ้นกับทั้งเด็กชายและเด็กหญิง ซึ่งมักพบในเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือโรคผื่นแพ้ผิวหนัง ผิวแพ้ง่าย ผิวที่ไวต่อการกระตุ้น ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการพาเจ้าตัวเล็กสัมผัสแดดจัดเป็นเวลานาน เพื่อที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลากน้ำนม รวมถึงการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดีให้กับลูกด้วย
เกลื้อนน้ำนม มีลักษณะแบบไหน
โดยทั่วไปแล้วผื่นกลากน้ำนมสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วบริเวณร่างกาย แต่มักพบบ่อยที่บริเวณใบหน้า แก้ม คาง คอ หน้าอก แขนหรือแผ่นหลัง ลักษณะของกลากน้ำนมหรือเกลื้อนน้ำนมจะเป็นรอยด่างวงกลมหรือวงรี หรือไม่มีรูปร่างขนาดขอบเขตที่ชัดเจน แต่มักจะปรากฏอยู่ที่รัศมี 0.5-5 เซนติเมตร
กลากน้ำนมอาจจะเกิดขึ้นแค่จุดเดียวหรืออาจจะเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายจุดได้ ทั้งนี้บริเวณที่เป็นผื่นกลากน้ำนมจะส่งผลให้สีผิวจางหรืออ่อนกว่าสีผิวปกติและอาจทำให้เกิดอาการคันระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่เป็นเกลื้อนน้ำนม อย่างไรก็ตาม โรคกลากน้ำนมอาจมีอาการเป็นๆ หายๆ แต่ก็สามารถหายได้เองร่วมกับการดูแลเป็นอย่างดี เพียงแต่อาจต้องใช้ระยะเวลา และอาการจะลดน้อยลงเมื่อลูกโตขึ้นหรือหายไปเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
โรคกลากน้ำนมเป็นอันตรายกับลูกไหม
โรคกลากน้ำนม แม้ว่าจะเป็นที่แสดงอาการเป็นๆ หายๆ และจัดอยู่ในโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ทั้งนี้กลากน้ำนมเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ส่งผลอันตราย โดยเมื่อมีอาการผื่นจะค่อยๆ หายไปเอง แต่ก็อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรที่สีผิวหนังจะกลับมาคืนเป็นปกติ อย่างไรก็ตามกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคกลากน้ำนมได้ง่าย เช่น เด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือเคยเป็นโรคภูมิแพ้ เด็กที่ถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานาน หรืออาบน้ำอุ่นบ่อยเกินไป เป็นต้น ทั้งนี้การดูแลป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลากน้ำนมกับเจ้าตัวเล็ก ได้แก่ หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัด ไม่อาบน้ำบ่อยเกินไปที่จะส่งผลทำให้ผิวหนังแห้งและระคายเคืองได้ เป็นต้น
วิธีดูแลลูกน้อยที่เป็นเกลื้อนแดด
- แม้ว่าโรคกลากน้ำนมสามารถหายได้เองโดยอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่เมื่อเจ้าตัวเล็กเป็นเกลื้อนแดด คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกและเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเกลื้อนแดดได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสูตรอ่อนโยนต่อเด็กที่ไม่มีสารก่อให้เกิดการระคายเคือง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนัง ป้องกันอาการคัน ระคายเคือง ลดการอักเสบแสบร้อน และป้องกันผิวแห้ง
- ในระหว่างเป็นเกลื้อนแดดหรือแม้แต่ในช่วงที่หายแล้วไม่มีอาการ ก่อนพาลูกออกนอกบ้านควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่า SPF30+ หรือ SPF50+ PA++++ สูตรสำหรับเด็กทาเพื่อปกป้องผิวและบริเวณใบหน้าของเจ้าตัวเล็กจากแสงแดดและรังสียูวี
- เมื่อลูกเป็นกลากน้ำนมอาจเกิดอาการคันบริเวณที่มีผื่นขึ้นได้ ควรตัดเล็บลูกให้สั้นหรือตะไบเล็บเพื่อไม่ให้เกิดความคม เพื่อป้องกันเจ้าตัวเล็กที่อาจเผลอไปเกาจนผิวหนังถลอกซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นแผลและติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาได้
- กรณีลูกเป็นเกลื้อนแดดมากหรือพบอาการอื่นที่ผิดปกติ ไม่ควรปล่อยให้เป็นนาน หรือซื้อยามาใช้เอง เนื่องจากการใช้ยาไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายตามมา ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจรักษาอาการและรับคำแนะนำการดูแลโรคกลากน้ำนมอย่างถูกวิธี
คุณหมอจะมีวิธีรักษากลากน้ำนมยังไงบ้าง
โดยทั่วไปกลากน้ำนมเป็นโรคผิวหนังที่ไม่แสดงอาการรุนแรง คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเจ้าตัวเล็กง่ายๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลากน้ำนม เช่น การทาโลชั่นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิว หรือการทาครีมป้องกันแสงแดดเมื่อออกนอกบ้าน กรณีที่พบว่าลูกมีเกลื้อนแดดขยายวงกว้างหรือบริเวณผิวหนังที่เป็นกลากน้ำนมมีอาการคันมาก อักเสบรุนแรง หรือมีอาการกลับมาเป็นผื่นซ้ำๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถพาเจ้าตัวเล็กไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจดูอาการ โดยการวินิจฉัยอาการกลากน้ำนม คุณหมอจะเช็กจากประวัติอาการและทำการตรวจร่างกายเพื่อดูรอยโรค อย่างไรก็ตาม โรคกลากน้ำนมไม่มียาที่รักษาโดยตรง สำหรับในรายที่มีผิวหนังอักเสบ คันมาก บางครั้งคุณหมออาจแนะนำหรือสั่งจ่ายยาสำหรับทาภายนอก ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
วิธีไหนที่สามารถป้องกันโรคกลากน้ำนมได้ไหม
แม้ว่ากลากน้ำนมจะพบบ่อยได้ในเด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันการเกิดโรคกลากน้ำนมหรือลดความเสี่ยงต่ออาการระคายเคืองในเกลื้อนแดดที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเคล็ดลับนี้
- หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกอยู่ในที่ที่มีแสงแดดจัดนานเกินไป ควรทาครีมป้องกันแดดที่ปราศจากสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและเหมาะสำหรับเด็กเมื่ออยู่กลางแจ้ง เนื่องจากรังสียูวีเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคกลากน้ำนมได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีผิวบอบบางหรือมีผิวที่ไวต่อแดด
- เลือกใช้ครีมบำรุงผิวหรือมอยส์เจอไรเซอร์ที่ปราศจากน้ำหอม ทาผิวให้เจ้าตัวเล็กเพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื่น และป้องกันผิวแห้ง เนื่องจากโรคกลากน้ำนมหรือโรคผิวหนังส่วนใหญ่จะส่งผลให้ผิวหนังแห้งจนทำให้เกิดอาการคันและอักเสบได้
- ไม่ควรให้ลูกอาบน้ำอุ่นนานเกินไป และควรใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำสูตรอ่อนโยนต่อผิวเด็ก
- สอนให้ลูกดูแลและรักษาความสะอาด ทั้งในส่วนของร่างกายและผิวหน้าอย่างสม่ำเสมอ
- การให้ลูกได้ดื่มนมแม่ ทารกควรได้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด และในน้ำนมแม่ยังมีคุณสมบัติเป็น Hypo-Allergenic หรือ H.A. ที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ได้ด้วย มากกว่านั้นแล้วโปรตีนในนมแม่บางส่วนได้ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กลง หรือที่เรียกว่า PHP (Partially Hydrolyzed Proteins ) ซึ่งง่ายต่อการดูดซึมเข้าร่างกายของลูกน้อย นอกจากนั้นแล้วนมแม่ยังมีพรีไบโอติกโอลิโกแซคคาไรด์ใยอาหารหลักที่สำคัญ ที่ช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่างๆ ซึ่งโอลิโกแซคคาไรด์ ประกอบด้วยใยอาหารหลากหลายชนิด โดยมี 5 ใยอาหารหลัก (5 Oligosaccharide หรือ 5 HMOs เช่น 2’FL, DFL, LNT, 6’SL และ 3’SL ) มีส่วนช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันในเด็กเล็ก รวมทั้งนมแม่มีโพรไบโอติกหลายชนิด เช่น B. lactis (บีแล็กทิส) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ การให้ลูกน้อยได้ดื่มนมแม่ จะช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงโรคผื่นแพ้ผิวหนัง หรือโรคหอบหืดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลากน้ำนมจะเป็นโรคที่พบได้โดยทั่วไปและไม่ส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย แต่ก็เป็นโรคผิวหนังชนิดเรื้อรังที่อาจเป็นแล้วหาย หรืออาจจะเป็นผื่นขึ้นซ้ำๆ กลับมาได้อีก ซึ่งจะส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจส่งผลต่อความกังวลของคุณพ่อคุณแม่ที่ผิวของลูกไม่สวย เนื่องจากสีผิวบริเวณที่เกิดเกลื้อนน้ำนมจะไม่สม่ำเสมอกับสีผิวปกติ แต่โรคนี้จะหายไปได้เองเมื่อลูกโตขึ้น ทั้งนี้ในการใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการบำรุงผิวต่างๆ คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะกับผิวของเจ้าตัวเล็ก และหากพบว่ามีอาการผิวหนังที่อักเสบรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการและขอคำปรึกษาในการดูแลโรคผิวหนังของลูก เนื่องจากผิวหนังในเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน การเข้าใจในอาการของโรคกลากน้ำนมที่อาจเกิดขึ้นกับเจ้าตัวเล็ก จะทำให้คุณพ่อคุณแม่พร้อมรับมือและสามารถดูแลลูกได้อย่างถูกวิธี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดการโรคกลากน้ำนมหรืออาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- ผื่นทารก ลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว ปัญหาผิวผื่นทารกในเด็ก
- ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี พร้อมวิธีแก้ผดผื่นบนใบหน้าทารก
- ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน ลูกเป็นผื่น ดูแลลูกแบบไหนให้ถูกวิธี
- ผื่นคันในเด็ก ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ พร้อมวิธีดูแลลูก
- ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกมีผื่นสาก
- ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ผื่นแพ้ในเด็กเกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแล
- ผื่นลมพิษในเด็ก เกิดจากอะไร ทำไมพ่อแม่ยุคใหม่ ควรใส่ใจเป็นพิเศษ
- ผื่นแพ้อาหารทารก พร้อมวิธีป้องกันลักษณะผื่นแพ้อาหารทารก
อ้างอิง:
- กลากน้ำนม...โรงผิวหนังที่พบบ่อยในเด็ก,โรงพยาบาลสินแพทย์
- ผื่นกลากน้ำนม, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- กลากน้ำนมเกิดจากอะไร และวิธีดูแลแบบง่ายๆ, พบแพทย์
- โรคกลากน้ำนมสาเหตุคืออะไร และรักษาได้อย่างไร, เฮลโหลคุณหมอ
- ผื่นแพ้ในเด็ก, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- อาการภูมิแพ้ของลูกน้อย พบบ่อยแต่รับมือได้, โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์
- นมแม่ มหัศจรรย์แห่งภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติ, โรงพยาบาลเปาโล
อ้างอิง ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567