เริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี มีขั้นตอนอะไรที่คุณแม่มือใหม่ต้องทำบ้าง

ควรฝากครรภ์ตอนไหน คุณแม่เริ่มเริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี

08.04.2024

เมื่อรู้ตัวแล้วว่า กำลังจะกลายเป็นคุณแม่ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การฝากครรภ์ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะการฝากครรภ์จะช่วยให้คุณแม่ได้ตรวจร่างกาย ประเมินความเสี่ยงสุขภาพ ให้คุณหมอได้ดูแลทารกในครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น แข็งแรง ปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย

headphones

PLAYING: ควรฝากครรภ์ตอนไหน คุณแม่เริ่มเริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • การฝากครรภ์คุณภาพ ควรฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ เพื่อให้คุณหมอได้ตรวจดูสุขภาพร่างกายของคุณแม่ ช่วยประเมินความเสี่ยง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
  • หลังจากฝากครรภ์แล้ว คุณหมอจะนัดตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่อง และนัดถี่มากขึ้นในช่วงก่อนคลอด ซึ่งคุณแม่ควรมาตรวจครรภ์ตามนัดเป็นประจำ

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

การฝากครรภ์ คืออะไร

การฝากครรภ์ คือ การดูแลสุขภาพร่างกายของคุณแม่และลูกในท้อง ตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มที่รู้ว่าตั้งครรภ์จวบจนถึงวันที่ลูกน้อยลืมตาออกมาดูโลก เพื่อให้คุณแม่และลูกในท้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง อุ้มท้องอย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน คุณแม่จึงควรฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์

 

ทำไมควรฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด

หลังจากที่รู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ควรฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ให้คุณหมอได้ประเมินภาวะแทรกซ้อน และคัดกรองความเสี่ยง โดยข้อดีของการฝากครรภ์เร็ว เช่น

  • การฝากครรภ์เร็ว ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ ซึ่งควรฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์
  • คุณแม่ได้รับการตรวจคัดกรอง ประเมินความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้คุณหมอทำการรักษาหรือควบคุมภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ หากพบว่า คุณแม่มีความเสี่ยงจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • กลุ่มโรคที่คุณหมอจะตรวจ เช่น โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด คัดกรองเบาหวาน รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • คุณหมอจะช่วยดูแลการตั้งครรภ์ ให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น ให้คำแนะนำและความรู้ บอกวิธีการดูแลตัวเอง เพื่อให้ทารกและคุณแม่ปลอดภัย

 

ประโยชน์ของการฝากครรภ์ ที่ต้องรู้

  • กำหนดวันคลอดและประเมินช่วงเวลาที่อาจจะคลอดได้: ในการฝากครรภ์ คุณหมอจะช่วยวางแผนการคลอด รวมถึงทราบอายุครรภ์ ทำให้สามารถกำหนดช่วงเวลาที่คุณแม่จะคลอดเจ้าตัวน้อยได้
  • ส่งเสริมสุขภาพกาย ดูแลจิตใจคุณแม่: ในการตั้งครรภ์ คุณแม่มักจะเผชิญกับความวิตกกังวลและความเครียด การฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถปรึกษา ขอคำแนะนำจากคุณหมอได้ ทำให้รู้สึกสบายใจ ลดความกังวลลง รวมถึงได้รับการดูแลสุขภาพร่างกาย ให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น
  • ดูแลสุขภาพเจ้าตัวน้อยและคอยประเมินพัฒนาการ: คุณหมอจะตรวจหาความผิดปกติและความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ รวมถึงดูแลสุขภาพของเจ้าตัวน้อยให้มีพัฒนาการทารกในครรภ์ที่ดีในทุก ๆ เดือน
  • ประเมินและป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์: คุณหมอจะช่วยดูแล ประเมินความเสี่ยง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนให้กับคุณแม่ เช่น ภาวะแท้งคุกคาม โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน และภาวะคลอดก่อนกำหนด
  • ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น: เมื่อคุณแม่ฝากครรภ์เร็ว จะได้รับการตรวจโรคต่าง ๆ ประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ และได้รับคำแนะนำเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์
  • ช่วยให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น: คุณหมอจะดูแลสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้อง ช่วยให้การตั้งครรภ์ของคุณแม่ราบรื่น ปลอดภัย รวมทั้งดูแลทารกในครรภ์ให้แข็งแรง

 

ฝากครรภ์ ต้องตรวจอะไรบ้าง

 

ฝากครรภ์ ต้องตรวจอะไรบ้าง

การฝากครรภ์ในครั้งแรก แพทย์จะทำการตรวจหลายอย่าง เช่น

  • ตรวจเลือด: ตรวจหาความเข้มข้นของเลือด ซึ่งคนท้องควรมีมากกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ ตรวจหาหมู่เลือด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และเชื้อซิฟิลิส รวมถึงโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคเบาหวาน
  • ตรวจปัสสาวะ: ดูปริมาณน้ำตาลในปัสสาวะ รวมถึงดูโปรตีนหรือไข่ขาว ที่อาจรั่วออกมาอยู่ในปัสสาวะ
  • ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง: น้ำหนักและส่วนสูงของคุณแม่มีความสำคัญสำหรับการตั้งครรภ์ เช่น คุณแม่ที่ส่วนสูงน้อยกว่า 145 เซนติเมตร อาจมีอุ้งเชิงกรานแคบส่งผลต่อการคลอดได้

 

เอกสารที่ใช้ในการฝากครรภ์

เอกสารการฝากครรภ์จะใช้สำเนาบัตรประชาชนของคุณพ่อและคุณแม่ที่เซ็นสำเนาถูกต้อง และใบตั้งชื่อเพื่อทำสูติบัตร โดยกรอกรายละเอียดให้เรียบร้อย นอกจากนี้ ยังควรเตรียมข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว และการแพ้ยา มาแจ้งให้คุณหมอทราบด้วย

 

ฝากครรภ์แล้ว ต้องไปพบแพทย์บ่อยไหม

หลังจากฝากครรภ์ คุณหมอจะนัดพบบ่อยในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ โดยช่วงแรกที่อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ ควรมาตรวจครรภ์ทุก 4 สัปดาห์ จากนั้นจะนัดตรวจครรภ์ทุก 2 สัปดาห์ และเมื่อตั้งครรภ์มากกว่า 36 สัปดาห์ คุณหมอจะนัดตรวจทุก 1 สัปดาห์ ไปจนกว่าคุณแม่จะคลอด

 

ฝากครรภ์แล้ว คุณแม่ต้องทำอะไรบ้าง

การฝากครรภ์และตรวจครรภ์ในแต่ละไตรมาส จะมีรายละเอียดการตรวจร่างกายที่แตกต่างกัน

  • ไตรมาสที่ 1: ดูแลสุขภาพร่างกายทั่วไปของคุณแม่ ตรวจดูโรคประจำตัวและประเมินความเสี่ยง รวมถึงประเมินอายุครรภ์และกำหนดคลอด ส่วนทารกจะตรวจภาวะดาวน์ซินโดรม
  • ไตรมาสที่ 2: คุณหมอจะเช็กการเจริญเติบโต ดูอัตราการเต้นหัวใจของลูก ด้วยการตรวจขนาดยอดมดลูก รวมถึงอัลตราซาวด์เช็กความสมบูรณ์ของเจ้าตัวน้อย ดูตำแหน่งของรก ปริมาณน้ำคร่ำ และวัดความยาวของปากมดลูก
  • ไตรมาสที่ 3: ไตรมาสสุดท้าย คุณหมอจะอัลตราซาวด์ดูความเสี่ยงของภาวะรกเกาะต่ำ และตรวจดูความผิดปกติของทารก ในช่วงนี้จะพูดคุยเพื่อให้คุณแม่ได้เตรียมตัววางแผนการคลอด และให้สังเกตอาการที่ต้องรีบมาโรงพยาบาล เช่น ท้องแข็ง เลือดออกจากช่องคลอด และลูกดิ้นน้อยลง

 

ฝากครรภ์แล้ว ได้อัลตราซาวด์ครั้งแรกเมื่อไหร่

การอัลตราซาวด์ คุณหมอจะตรวจอัลตราซาวด์ครั้งแรกในช่วง 6-8 สัปดาห์ เพื่อดูว่า ตั้งครรภ์อยู่ในมดลูกหรือไม่ ตรวจขนาดและการเต้นของหัวใจเจ้าตัวน้อย ซึ่งคุณหมอจะอัลตราซาวด์ ประเมินการตั้งครรภ์ตั้งแต่แรก ๆ การฝากครรภ์เร็วจะช่วยให้คุณหมอได้รู้ว่าครรภ์เดี่ยวหรือครรภ์แฝด และประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ได้

 

เลือกฝากครรภ์ที่ไหนดี

การฝากครรภ์ ควรเลือกโรงพยาบาลที่คุณแม่ตรวจรักษาอยู่เป็นประจำ จะมีประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา และโรคต่าง ๆ ที่คุณแม่เป็นอยู่ หรือเลือกสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือ อยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานหรือบ้าน เมื่อเกิดการเจ็บป่วยไม่สบาย หรือเจ็บท้องคลอด จะได้มาถึงอย่างรวดเร็ว

 

การฝากครรภ์คุณภาพก่อน 12 สัปดาห์ หรือฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจ เมื่อฝากครรภ์แล้ว คุณหมอจะให้สมุดฝากครรภ์ ซึ่งจะมีรายละเอียดการตั้งครรภ์ สมุดเล่มนี้คุณแม่ควรพกติดตัวไว้เสมอ หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือต้องพบแพทย์ในโรงพยาบาลอื่น และอย่าลืมทำตามคำแนะนำของคุณหมอเป็นประจำ เพื่อให้การตั้งครรภ์นี้ปลอดภัย เจ้าตัวน้อยคลอดออกมาสุขภาพแข็งแรง

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. การดูแลสตรีในระยะตั้งครรภ์, คณะพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
  2. 4 เหตุผลดี ๆ ว่าทำไม ควรฝากท้องเร็ว, กรมอนามัย
  3. ฝากครรภ์เร็ว ฝากครรภ์คุณภาพ ฝากก่อน 12 สัปดาห์, กรมอนามัย
  4. การฝากครรภ์สำคัญอย่างไร?, โรงพยาบาลบางปะกอก
  5. คำแนะนำการฝากครรภ์ครั้งแรก, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. ฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
  7. ฝากครรภ์: เตรียมความพร้อมเพื่อสุขภาพที่ดีของทารก, โรงพยาบาลศิครินทร์
  8. ฝากครรภ์แต่ละครั้ง ตรวจอะไรบ้าง?, โรงพยาบาลเปาโล

อ้างอิง ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567

บทความแนะนำ

มดลูกคว่ำคืออะไร อันตรายไหม อาการแบบนี้ทำให้มีลูกยากหรือเปล่า

มดลูกคว่ำคืออะไร อันตรายไหม อาการแบบนี้ทำให้มีลูกยากหรือเปล่า

มดลูกคว่ำ คืออะไร ภาวะมดลูกคว่ำในผู้หญิง ทำให้ว่าที่คุณแม่มีลูกยากและแท้งง่ายจริงไหม ภาวะมดลูกคว่ำ มดลูกกลับหลัง เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ไปดูกัน

ตกขาวสีน้ำตาลคนท้องบอกอะไร แม่ท้องมีตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

ตกขาวสีน้ำตาลคนท้องบอกอะไร แม่ท้องมีตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

ตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน เกิดจากอะไร อาการตกขาวสีน้ำตาลคนท้อง อันตรายกับคุณแม่ตั้งครรภ์ไหม ตกขาวแบบไหนผิดปกติ พร้อมวิธีสังเกตตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม ทำไมคุณแม่ควรเจาะน้ำคร่ำในระหว่างตั้งครรภ์ การเจาะน้ำคร่ำควรเจาะตอนไหนถึงไม่เป็นอันตรายกับลูกในครรภ์ เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร ไปทำความรู้จักกัน

คนท้องแน่นอกหายใจไม่สะดวก เกิดจากออะไร อันตรายกับลูกในท้องไหม

คนท้องแน่นอกหายใจไม่สะดวก เกิดจากออะไร อันตรายกับลูกในท้องไหม

คนท้องแน่นอกหายใจไม่สะดวก เกิดจากอะไรได้บ้าง คนท้องหายใจไม่อิ่ม จะเป็นอันตรายกับลูกในท้องไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเอง เมื่อคนท้องแน่นอกหายใจไม่สะดวก

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก