อาการท้องลด หนึ่งในสัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด

อาการท้องลด หนึ่งในสัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด

25.10.2024

“ท้องลดแล้วใกล้คลอดแน่เลย!” คุณแม่หลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้บ่อย ๆ “ท้องลด” เป็นอาการที่เกิดขึ้นก่อนคลอดเพียงไม่กี่สัปดาห์เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอด สำหรับคุณแม่มือใหม่ การสังเกตอาการต่าง ๆ ในช่วงใกล้คลอดอาจทำให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก บทความนี้จะพาคุณแม่ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการท้องลด รวมถึงสัญญาณเตือนอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าคุณแม่กำลังจะได้พบกับลูกน้อยแล้ว เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการคลอดอย่างราบรื่น

headphones

PLAYING: อาการท้องลด หนึ่งในสัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด

อ่าน 5 นาที

 

สรุป

  • ท้องลด เป็นอาการแรกของการเข้าสู่ระยะการคลอด เมื่อใกล้คลอดประมาณ 2-3 สัปดาห์ ท้องของคุณแม่จะเริ่มลดลง เนื่องจากศีรษะของลูกน้อยเคลื่อนลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกราน ซึ่งทำให้ยอดมดลูกลดต่ำลงมา
  • ท้องลด คุณแม่สามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้จาก ยอดมดลูกลดต่ำลง ไม่อึดอัด หายใจคล่องขึ้น รู้สึกปวดหน่วง ปัสสาวะบ่อย และเท้าบวม

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ท้องลดขณะตั้งครรภ์ คืออะไร

ท้องลด คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณแม่ใกล้ถึงกำหนดคลอดแล้ว โดยปกติขนาดท้องของคุณแม่จะค่อย ๆ โตขึ้นตามพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ แต่เมื่อใกล้คลอดประมาณ 2-3 สัปดาห์ ท้องของคุณแม่จะเริ่มลดลง เนื่องจากศีรษะของลูกน้อยเคลื่อนลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกราน ซึ่งทำให้ยอดมดลูกลดต่ำลงมา อาการท้องลดถือเป็นอาการแรกที่จะเข้าสู่ระยะการคลอด

 

อาการท้องลด เป็นแบบไหน

คุณแม่ตั้งครรภ์ครั้งแรกอาจสงสัยว่าอาการท้องลดเป็นแบบไหน จะรู้สึกอะไรหรือเปล่าเวลาที่ท้องลดลง คุณแม่สามารถเช็กอาการท้องลดที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้

1. ยอดมดลูกลดต่ำลง

ความสูงของยอดมดลูกลดต่ำลงมา เนื่องจากศีรษะของทารกเคลื่อนเข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกรานของคุณแม่

 

2. หายใจคล่องขึ้น

ความสูงของยอดมดลูกที่ลดลง ทำให้ขนาดท้องเล็กลง คุณแม่จะรู้สึกโล่งสบาย ไม่อึดอัด หายใจได้สะดวกคล่องขึ้น

 

3. ปัสสาวะบ่อยขึ้น

ศีรษะของทารกที่เคลื่อนต่ำลงเข้าไปในอุ้งเชิงกรานจะไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ จนทำให้คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยมากขึ้น

 

4. รู้สึกปวดหน่วง

ศีรษะของทารกจะไปกดทับบริเวณเส้นประสาทในอุ้งเชิงกราน และมดลูกไปกดทับเส้นเลือดดำ ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหน่วงในอุ้งเชิงกราน

 

5. เท้าบวม

ศีรษะของทารกและมดลูกที่ไปกดทับเส้นเลือดดำ และเส้นประสาทในอุ้งเชิงกราน ทำให้คนท้องเท้าบวม ขาทั้งสองข้างเกิดเป็นตะคริวบ่อย และมีความลำบากเวลาลุกนั่ง

 

ท้องลด จะเกิดขึ้นในเดือนไหน

ท้องลดเป็นอาการแรกของการเข้าสู่ระยะการคลอด ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน 9 ช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ นับจากอายุครรภ์คุณแม่ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป

 

ท้องลด คือสัญญาณใกล้คลอดจริงไหม

ท้องลด เป็นอาการแรกของการเข้าสู่ระยะการคลอด จึงถือว่าเป็นสัญญาณอาการใกล้คลอด แล้ว เนื่องจากทารกกลับศีรษะค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่จะเกิดขึ้นอีกไม่กี่สัปดาห์ในเดือนสุดท้ายไตรมาส 3 ของการตั้งครรภ์

 

 

ท้องลด กับ ท้องแข็ง ต่างกันไหม

ท้องลด กับ ท้องแข็ง เป็นสัญญาณอาการก่อนคลอดเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีอาการแสดงที่ต่างกัน สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • ท้องลด เป็นอาการที่ทารกกลับศีรษะเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ยอดมดลูกจะลดต่ำลง ขนาดท้องจะเล็กลงคุณแม่จะหายใจคล่องขึ้น และจะมีอาการปวดหน่วงในอุ้งเชิงกราน ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • ท้องแข็ง ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เป็นอาการของการเจ็บท้องเตือน เนื่องมาจากมดลูกขยายตัวและเคลื่อนต่ำลงมา มดลูกจะเริ่มบีบตัวทำให้คุณแม่รู้สึกว่าท้องแข็งเกร็งขึ้นมา บริเวณหน้าท้องคลำแล้วรู้สึกเป็นก้อนแข็ง การบีบตัวของมดลูกจะไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ อาการท้องแข็งส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นตอนอายุครรภ์ 8 เดือน

 

สัญญาณใกล้คลอดที่คุณแม่ควรรู้

การตั้งครรภ์ครั้งแรกของคุณแม่มือใหม่ อาจจำเป็นต้องรู้สัญญาณเตือนอาการใกล้คลอดของร่างกาย เพื่อให้คุณแม่เตรียมตัวพร้อมไปคลอดกันได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย สัญญาณใกล้คลอดที่คุณแม่ควรรู้ มีดังนี้

1. ช่องคลอดมีมูกเลือด

คุณแม่เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด จะสังเกตได้ว่าที่ช่องคลอดมีมูกเลือด นั่นก็เป็นเพราะว่าตรงบริเวณปากมดลูกเริ่มเปิดและขยาย จึงทำให้เส้นเลือดตรงบริเวณปากมดลูกมีการแตก ส่งผลทำให้มีมูกเลือดไหลออกมานั่นเอง แต่หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์

 

2. น้ำเดิน

เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด มดลูกจะมีการบีบตัวหดเล็กลง เพื่อให้ศีรษะของทารกให้เคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกราน ทำให้มีอาการน้ำเดิน ลักษณะเป็นน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะ ไม่มีกลิ่น จะค่อย ๆ ซึมไหลออกมาทางช่องคลอดหรือไหลพรวดออกมาเลยก็ได้ หากคุณแม่มีอาการน้ำเดิน ควรเตรียมตัวไปโรงพยาบาล เพราะอาจจะคลอดภายใน 12 ชั่วโมง

 

3. เจ็บท้องคลอด

คุณแม่จะเริ่มรู้สึกเจ็บตรงส่วนบนของมดลูก จากนั้นจะเจ็บร้าวลงไปตรงด้านล่างของท้อง เจ็บจนท้องแข็งตึงขึ้นมา อาการเจ็บจะถี่ เจ็บสม่ำเสมอเริ่มจากทุกครึ่งชั่วโมง และขยับมาเจ็บทุก 10-15 นาที ช่องคลอดมีมูกเลือดออกมากขึ้น แนะนำให้คุณแม่ไปโรงพยาบาลทันที

 

อย่างไรก็ตามการที่ท้องลดลง ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะต้องคลอดทันที อาจจะยังใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น คุณแม่ควรเตรียมตัวให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ โดยสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องแข็ง มีน้ำเดิน หรือมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อคุณหมอจะได้ตรวจและเตรียมตัวสำหรับการคลอดอย่างปลอดภัย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด

 

 

อ้างอิง:

  1. 6สัญญาณเตือนการใกล้คลอด ที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
  2. เตรียมความพร้อมก่อนคลอดเจ้าตัวเล็ก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  3. อาการเมื่อคุณแม่ใกล้คลอด, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  4. เจ็บท้องถี่รุนแรง มีมูกเลือด น้ำเดิน สัญญาณใกล้คลอด, โรงพยาบาลนครธน

อ้างอิง ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2567
 

บทความแนะนำ

นอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วคุณแม่ต้องทำยังไง

นอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วคุณแม่ต้องทำยังไง

คุณแม่หลังคลอดนอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วต้องทำยังไงบ้าง ไปดูวิธีที่ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังคลอด

การทำหมันหญิงอันตรายไหม ทำหมันหลังคลอดทันทีได้หรือเปล่า

การทำหมันหญิงอันตรายไหม ทำหมันหลังคลอดทันทีได้หรือเปล่า

การทำหมันหญิงอันตรายไหม คุณแม่ทำหมันหลังคลอดทันที พักฟื้นนานหรือเปล่า มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังการทำหมันหญิงหลังคลอด

ท้องกระตุกเหมือนลูกดิ้น อาการท้องกระตุก บอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง

ท้องกระตุกเหมือนลูกดิ้น อาการท้องกระตุก บอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง

ท้องกระตุกเหมือนลูกดิ้น อาการแบบนี้เกิดจากอะไร ท้องกระตุกบ่อย อันตรายไหม บอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง อาการท้องกระตุกเหมือนลูกดิ้นแบบไหนที่คุณแม่ควรสังเกต

ผ่าคลอดประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่มีสิทธิเบิกอะไรบ้าง

ผ่าคลอดประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่มีสิทธิเบิกอะไรบ้าง

ผ่าคลอดประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่ ค่าคลอดบุตรประกันสังคมมาตรา 33 ปี 2567 ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ไปดูข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าคลอดประกันสังคมที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้กัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก