เสียงหัวใจเด็กในครรภ์บอกอะไรได้บ้าง การฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์

เสียงหัวใจเด็กในครรภ์บอกอะไรได้บ้าง การฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์

เสียงหัวใจเด็กในครรภ์บอกอะไรได้บ้าง การฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์

จริงหรือเปล่า? เสียงหัวใจเด็กในครรภ์ จะมีจังหวะการเต้นดังเหมือนเสียงม้าควบ และเต้นเร็วเฉลี่ย 110 ถึง 160 ครั้งต่อนาที บทความนี้จะมาไขคำตอบเกี่ยวกับการฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ ว่าทำไมถึงต้องให้ความสำคัญกับการฟังเสียงหัวใจรวมถึงเมื่อไหร่ถึงเริ่มได้ยินเสียงหัวใจของลูกน้อย

สรุป

  • เสียงหัวใจเด็กในครรภ์ปกติจะเต้นเร็วโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระหว่าง 110 ถึง 160 ครั้งต่อนาที และมีจังหวะการเต้นเหมือนเสียงม้าควบ
  • เสียงหัวใจเด็กในครรภ์ที่ตรวจแล้วไม่ได้ยิน อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น น้ำหนักตัวของคุณแม่ ตำแหน่งของทารกในครรภ์ และการมีน้ำคร่ำมากเกินไป เป็นต้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เสียงหัวใจเด็กในครรภ์ คืออะไร

เสียงหัวใจ (Heart sound) คือเสียงที่เกิดขึ้นขณะลิ้นหัวใจปิด ซึ่งเสียงหัวใจปกติจะมีอยู่ 2 เสียง คือ เสียง 1(S1) กับเสียง 2(S2) และเต้นเสียงดังตุบ ๆ (lubb-dupp) ในจังหวะที่สม่ำเสมอ สำหรับเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ เริ่มต้นพัฒนาขึ้นเมื่อคุณแม่อายุครรภ์ได้ 4 สัปดาห์ ที่มีการรวมตัวของกลุ่มเซลล์ขึ้นภายในตัวอ่อน (embryo) แล้วพัฒนาไปเป็นหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดให้กับทารก และต่อมาในสัปดาห์ที่ 5 โครงสร้างเบื้องต้นก็จะพัฒนามาเป็นหัวใจของทารกพร้อมเริ่มเต้นเป็นจังหวะโดยธรรมชาติ

 

ทำไมต้องมีการฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์

การฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ ก็เพื่อเป็นการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ Nonstress Test (NST) โดยที่แพทย์จะคัดกรองสุขภาพให้กับทารกในครรภ์ด้วยการวัดอัตราการเต้นหัวใจขณะที่ทารกดิ้น เพื่อประเมินการได้รับออกซิเจนของทารกว่าได้รับอย่างเพียงพอหรือไม่ สำหรับการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ Nonstress Test แพทย์จะทำการตรวจให้คุณแม่หลังจากอายุครรภ์ครบ 28 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นช่วงที่หัวใจจะมีการเต้นตอบสนองขณะทารกดิ้น

 

ทารกในครรภ์มีหัวใจตอนกี่สัปดาห์ เริ่มได้ยินตอนไหน

เมื่อคุณแม่อายุครรภ์ได้ 5 สัปดาห์ กลุ่มเซลล์ที่จะแปรสภาพเป็นหัวใจของทารกเริ่มพัฒนาขึ้นและเริ่มเต้นเป็นจังหวะ ซึ่งหากสูตินรีแพทย์ตรวจอัลตราซาวนด์ให้กับคุณแม่ในช่วงไตรมาสแรก (ประมาณสัปดาห์ที่ 6 หรือหลังจากนั้น) ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะได้ ตรวจดูลักษณะกิจกรรมการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ การอัลตราซาวนด์ยังยืนยันได้วันครบกำหนดคลอดโดยประมาณ รวมถึงจำนวนทารกที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์อีกด้วย

เมื่ออายุครรภ์ได้สัปดาห์ที่ 17 ถึง 20 จำนวนห้องต่าง ๆ ของหัวใจทารกจะพัฒนาเพียงพอที่จะมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นในอัลตราซาวนด์ แต่หากมีการอัลตราซาวนด์ตอนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ (เรียกว่า อัลตราซาวนด์ระดับ 2) คุณแม่จะได้เห็นและได้ยินเสียงเต้นของหัวใจทารกในครรภ์

 

เสียงหัวใจเด็กในครรภ์เป็นยังไง

น่าตื่นเต้นที่จะได้ยินเสียงหัวใจเด็กในครรภ์เป็นครั้งแรก สำหรับเสียงหัวใจเล็ก ๆ ของทารกในครรภ์จะเต้นดังเหมือนเสียงม้าควบ ซึ่งหากคุณแม่ได้ยินเสียงหัวใจเต้นดังวูบ นั่นไม่ใช่เสียงหัวใจเต้น แต่อาจเกิดจากการเคลื่อนไหวหรือเกิดจากเครื่องตรวจเคลื่อนที่ผ่านรกของคุณแม่ และถ้าได้ยินเสียงเต้นของหัวใจสองครั้ง อย่าเพิ่งสรุปว่ามีลูกแฝด เพราะเสียงหัวใจเต้นที่ได้ยินนั้นอาจเป็นเสียงหัวใจของคุณแม่เอง

 

เสียงหัวใจเด็กในครรภ์ปกติเท่าไหร่

อัตราการเต้นของเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ปกติจะเต้นเร็วโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระหว่าง 110 ถึง 160 ครั้งต่อนาที โดยอาจมีการแปรผันได้ 5 ถึง 25 ครั้งต่อนาที อัตราการเต้นของหัวใจทารกอาจเปลี่ยนแปลงตามการตอบสนองของทารกต่อสภาวะในมดลูก หากพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจทารกไม่ปกติ อาจหมายความว่าทารกไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ หรือมีปัญหาอื่น ๆ เกิดขึ้นได้ ซึ่งสูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ตรวจและประเมินเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ว่าปกติ หรือไม่ปกติให้กับคุณแม่ในการตรวจสุขภาพครรภ์

 

หัวใจของทารกในครรภ์เต้นพร้อมกับคุณแม่ไหม

มีผลการศึกษาเผยให้เห็นว่าระหว่างการเต้นของหัวใจแม่และทารกในครรภ์นั้นสอดคล้องกัน แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะตอนที่แม่หายใจเป็นจังหวะเท่านั้น ทารกในครรภ์สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงจังหวะการเต้นของหัวใจของแม่ และปรับการเต้นหัวใจของตนเองให้เข้ากับจังหวะนั้นได้ สำหรับการหายใจตามปกติทั่วไป จะเป็นการหายใจตื้น ๆ ส่วนการหายใจเป็นจังหวะ จะเป็นการฝึกลมหายใจให้เข้าและออกอย่าง ช้า ๆ ลึก ๆ ซึ่งการหายใจเป็นจังหวะจะทำให้หัวใจเต้นช้าลง

 

หัวใจทารกในครรภ์เต้นเร็ว ถือว่าอันตรายไหม

หากหัวใจของทารกในครรภ์เต้นเร็ว (Fetal tachycardia) ถือเป็นการเต้นของหัวใจผิดปกติประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ (fetal arrhythmia) โดยจะเกิดขึ้นกับทารกที่อยู่ในระยะกำลังพัฒนา ซึ่งจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่า 180 ครั้งต่อนาที สำหรับภาวะหัวใจเต้นเร็วของทารกในครรภ์นี้พบได้น้อย มักเกิดขึ้นชั่วคราวและไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตามในบางกรณีทารกอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากการเต้นเร็วของหัวใจ เช่น ภาวะทารกบวมน้ำ (hydrops fetalis) สาเหตุเกิดจากมีสารน้ำเข้าไปสะสมมากผิดปกติตรงเนื้อเยื่อหรือช่องว่างในร่างกาย เช่น น้ำในช่องปอด น้ำในช่องท้องหรือ น้ำในช่องหัวใจ ฯลฯ ทำให้ทารกบวมน้ำทั้งตัว

 

ตำแหน่งที่คุณพ่อ คุณแม่ฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ได้

ตำแหน่งเสียงหัวใจทารกจะดังที่สุดตรงบริเวณหน้าอกส่วนบนหรือตรงหลังส่วนบนของทารก ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าขณะที่ฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ทารกได้มีการหันหน้าไปทางไหน สำหรับการฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์อาจต้องฟังในหลายตำแหน่งบนหน้าท้องของคุณแม่ เพื่อให้พบจุดที่เสียงหัวใจดังและชัดเจนที่สุด

  • ตำแหน่งเหนือหรือต่ำกว่าสะดือ: หากคุณแม่ฟังเสียงหัวใจลูกจากตำแหน่งเหนือหรือต่ำกว่าสะดือ แล้วได้ยินเสียงหัวใจดังที่สุดบริเวณหน้าท้องช่วงต่ำกว่าสะดือ แสดงว่าลูกอยู่ในท่าเอาศีรษะลง แต่ถ้าหากฟังเสียงหัวใจได้ดังที่สุดตรงบริเวณหน้าท้องที่อยู่เหนือสะดือขึ้นมา แสดงว่าลูกอาจอยู่ในท่าเอาก้นลง

 

ทั้งนี้การฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ ด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงทารกในครรภ์(Doppler) คุณแม่ไม่สามารถใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงทารกในครรภ์ที่บ้านแทนการไปพบแพทย์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง อาจจะใช้ระหว่างการไปพบแพทย์ แต่ไม่ใช่ใช้แทนการไปพบแพทย์ สำหรับเครื่องตรวจคลื่นเสียงทารกในครรภ์ (Doppler) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจสุขภาพครรภ์โดยแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ที่ได้รับการฝึกอบรม ที่รู้ถึงวิธีการใช้ และเสียงที่ได้ยินจากการใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงทารกในครรภ์หมายถึงอะไร รู้ว่าอะไรที่น่าเป็นห่วง หรือไม่น่าเป็นห่วง ดังนั้นการฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความแม่นยำและมีความปลอดภัย และหากคุณแม่มีความกังวลใจ หรือข้อสงสัยจากการฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ ก็ยังสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ได้ทันที

 

วิธีฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์

วิธีฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ คือการตรวจติดตามหัวใจของทารกในครรภ์ (External Fetal Heart Monitoring) จากภายนอก โดยมีแพทย์เป็นผู้ตรวจให้ สำหรับขั้นตอนการตรวจเริ่มแรกจะให้คุณแม่นอนหงายลงบนเตียงตรวจ แพทย์จะมีการทาเจลใสลงบนหน้าท้องคุณแม่ จากนั้นจะกดเครื่องตรวจจับสัญญาณเสียง (Transducer) ให้เคลื่อนไหวไปมาบนผิวหนังหน้าท้องเพื่อตรวจหาชีพจรของทารก ซึ่งคุณแม่จะสามารถได้ยินเสียงอัตราการเต้นของหัวใจทารกผ่านเครื่องตรวจคลื่นเสียงทารกในครรภ์ (Doppler) หรือจอภาพอิเล็กทรอนิกส์

 

สาเหตุที่ไม่ได้ยินเสียงหัวใจเด็กในครรภ์

สำหรับสาเหตุที่ตรวจติดตามอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ แล้วไม่ได้ยินเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • น้ำหนักตัวของแม่
  • ตำแหน่งของทารกหรือแม่
  • น้ำคร่ำมากเกินไป หรือน้ำคร่ำมากเกินปกติ (Polyhydramnios)
  • ปากมดลูกไม่เปิดหรือถุงน้ำคร่ำไม่แตก

 

การฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์ เป็นการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ เพื่อผลการตรวจที่ถูกต้องควรได้รับการตรวจจากสูตินรีแพทย์ ทั้งนี้หากคุณแม่มีข้อสงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับการตรวจติดตามอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ แนะนำให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์ที่ดูแลครรภ์คุณแม่อีกครั้ง เพื่อขอรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพครรภ์ที่เหมาะสมตลอดการตั้งครรภ์ สำหรับว่าที่คุณแม่คนใหม่ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้พลาดทุกช่วงพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ตลอด 9 เดือน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.s-momclub.com/member-privilege

เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ แนะนำให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพราะในนมแม่มีสารอาหารสำคัญที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อลูกน้อยมากกว่า 200 ชนิด รวมทั้ง แอลฟา-แล็คตัลบูมิน และ สฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตให้กับลูกน้อย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

อ้างอิง:

  1. When can I hear my baby's heartbeat?, babycenter
  2. เมื่อลูกน้อยตรวจพบเสียงฟู่ของหัวใจ (Heart murmur), โรงพยาบาลกรุงเทพ
  3. Your Baby’s Heartbeat, what to expect
  4. ตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ (NST) ขั้นตอน และผลตรวจ, โรงพยาบาล MedPark
  5. Fetal Heart Monitoring, JOHNS HOPKIN MEDICINE The Johns Hopkins University
  6. Synchronisation between mother and foetus heartbeats understood for the first time, Aberdeen University
  7. Fetal Tachycardia, Cincinnati Children's Hospital Medical Center
  8. ภาวะทารกบวมน้ำ (Hydrops fetalis), คณะแพทย์สติศาสตร์ล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  9. Finding the baby’s position by listening to the heartbeat, OpenLearn Create The Open University
  10. What You Need to Know About Using a Fetal Doppler at Home, healthline
  11. ฝึกการหายใจ ผ่อนคลายความเครียด, โรงพยาบาลราชวิถี

อ้างอิง ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2567