คนท้องกินโกโก้ได้ไหม คุณแม่ท้องกินโกโก้ส่งผลอะไรกับลูกในท้องบ้าง

คนท้องกินโกโก้ได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

11.04.2024

โกโก้ ชา กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในคนแทบทุกเพศทุกวัย เนื่องจากรสชาติความอร่อย และคุณสมบัติของคาเฟอีนที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้รู้สึกสดชื่น ตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า จึงทำให้หลายคนนิยมดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนเป็นประจำ แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ การดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีคาเฟอีน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์ได้ คุณแม่จึงควรหาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะรับประทาน

headphones

PLAYING: คนท้องกินโกโก้ได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • โกโก้เป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์
  • การบริโภคคาเฟอีนระหว่างตั้งครรภ์เพียงวันละ 50 มิลลิกรัม เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์
  • ลูกในครรภ์สามารถรับคาเฟอีนผ่านทางรกได้ หากคุณแม่บริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีปริมาณคาเฟอีนมาก ลูกก็จะได้รับคาเฟอีนปริมาณมากตามไปด้วย

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

สำหรับคุณแม่ที่ชอบน้ำหวาน เช่น โกโก้ ช็อกโกแลต ชาเย็น แล้วกังวลว่า การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ จะมีผลอย่างไรกับสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์ บ้าง สามารถหาคำตอบไปพร้อมกันได้เลยค่ะ

 

ความจริงที่คุณแม่ต้องรู้ คนท้องกินโกโก้ได้ไหม

คนท้องควรหลีกเลี่ยงอาหาร ที่มีคาเฟอีน (caffeine) เนื่องจากคาเฟอีนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่ แถมยังสามารถส่งผ่านรกไปยังลูกในครรภ์ได้ จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกในครรภ์อีกด้วย โดยคาเฟอีนจะพบมากในกาแฟและโกโก้ ซึ่งสามารถกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกตื่นตัว ตาสว่าง กระปรี้กระเปร่า ดังนั้นคุณแม่จึงควรดื่มโกโก้หรือรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของโกโก้แต่น้อย

 

ในโกโก้มีอะไรบ้างที่ส่งผลเสียกับลูกในท้อง

โกโก้ 1 แก้ว มักจะมีคาเฟอีนประมาณ 8-12 มิลลิกรัม เมื่อคุณแม่ดื่มโกโก้จะได้รับคาเฟอีน ซึ่งสามารถดูดซึมจากทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็วภายใน 40-60 นาที ก่อนที่คาเฟอีนเกือบทั้งหมดจะเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย และสามารถส่งไปยังลูกน้อยในครรภ์ผ่านทางรกได้ ทำให้ระดับของคาเฟอีนในเลือดของคุณแม่และลูกในครรภ์มีปริมาณพอ ๆ กัน

 

โดยมีงานวิจัยยืนยันว่า ในเส้นผมของทารกแรกคลอดจะมีคาเฟอีนในปริมาณที่สัมพันธ์กับปริมาณคาเฟอีนที่คุณแม่รับประทานระหว่างตั้งครรภ์ในไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์บริโภคอาหารที่มีคาเฟอีนเพียงวันละ 50 มิลลิกรัม ก็สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกในครรภ์ได้แล้ว ดังนั้นการดื่มโกโก้หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนปริมาณมากเป็นประจำจึงอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกในครรภ์ได้

 

ติดโกโก้มาก ลูกในท้องจะเป็นอย่างไร

คุณแม่ที่ติดโกโก้ และดื่มโกโก้ปริมาณมากเป็นประจำ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกในครรภ์ดังนี้

1. หัวใจทารกเต้นเร็วผิดปกติ

เนื่องจากคาเฟอีนสามารถส่งผ่านรกไปยังลูกในครรภ์ได้ จึงทำให้ลูกได้รับคาเฟอีนจากแม่ และทำให้ระดับของคาเฟอีนในเลือดของคุณแม่และลูกในครรภ์มีปริมาณพอ ๆ กัน ซึ่งคาเฟอีนมีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดของลูกในครรภ์หดตัว ส่งผลทำให้การไหลเวียนโลหิตของลูกลดลง หัวใจเต้นเร็วขึ้น รบกวนการขนส่งออกซิเจนภายในร่างกายของลูก ซึ่งอาจส่งผลไปถึงสุขภาพของลูกแรกคลอด เช่น มีอาการหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ หายใจไม่สม่ำเสมอ นอนหลับผิดปกติ มีอาการตัวสั่น หรืออาเจียน เป็นต้น

 

2. เสี่ยงเสียชีวิตในครรภ์

บางการศึกษาพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับคาเฟอีนปริมาณมาก มีโอกาสที่จะเกิดภาวะตายคลอด (stillbirth) หรือภาวะที่ลูกเสียชีวิตในครรภ์มากกว่าคุณแม่ที่ไม่ได้รับคาเฟอีนถึง 2 เท่า

 

3. พัฒนาการไม่สมบูรณ์ตามวัย

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับคาเฟอีนปริมาณมากเป็นประจำ มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการสร้างกระดูกของทารก นอกจากนี้ จากการวิจัยพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับคาเฟอีนเป็นประจำ มีโอกาสที่จะคลอดลูกออกมาแล้วลูกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติหรือต่ำกว่าเกณฑ์ ลูกตัวเล็ก รวมไปถึงอาจมีขนาดแขน ต้นขา ศีรษะ และความยาวของตัวลูกน้อยกว่าคุณแม่ที่ไม่ได้รับคาเฟอีนระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากคาเฟอีนจะสะสมในของเหลวภายในมดลูกและท่อนำไข่ของคุณแม่ จึงอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ และเพิ่มความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นโรคหรือเกิดความผิดปกติเมื่อเติบโตสู่วัยเด็ก เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ (acute lymphoblastic leukemia) ลูกเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ (overweight) จนเกิดโรคอ้วน (obesity) รวมไปถึงความสามารถในการเรียนรู้ที่ด้อยลง (cognitive impairment) เป็นต้น

 

โกโก้ ส่งผลเสียกับคุณแม่ตั้งครรภ์มากกว่าที่คิด

1. เสี่ยงแท้ง

คุณแม่ที่รับประทานหรือดื่มโกโก้ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะแท้ง (miscarriage) ตั้งแต่อายุครรภ์ยังไม่มาก โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณคาเฟอีนที่คุณแม่บริโภค

 

2. เสี่ยงเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

โกโก้นั้นมักจะถูกใช้เป็นส่วนผสมของอาหารหรือขนมหวานประเภทต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่มโกโก้ เค้กโกโก้ คุกกี้โกโก้ ไอศกรีมโกโก้ เป็นต้น ซึ่งอาหารแต่ละชนิดล้วนแล้วแต่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมสำคัญ การรับประทานอาหารเหล่านี้ปริมาณมากเป็นประจำ จึงอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

 

3. นอนไม่หลับ

คาเฟอีนในโกโก้ออกฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า รวมไปถึงทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ หากคุณแม่พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่กระทบต่อการตั้งครรภ์ได้

 

คนท้องกินโกโก้ได้ไหม น้ำชงอื่น ๆ เป็นอันตรายกับลูกในครรภ์หรือไม่

 

คนท้องกินโกโก้ได้ปริมาณเท่าไหร่ต่อวัน

American College of Obstetricians and Gynecologists, European Food Safety Authority, UK National Health Service กำหนดปริมาณคาเฟอีนที่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถบริโภคได้ ว่าไม่ควรบริโภคเกินวันละ 200 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าการดื่มกาแฟประมาณ 1-2 แก้ว แต่การบริโภคคาเฟอีนระหว่างตั้งครรภ์เพียงวันละ 50 มิลลิกรัม ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกในครรภ์ได้แล้ว ดังนั้น คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่ม รับประทาน หรือบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หากมีความจำเป็นต้องรับประทาน ก็ควรรับประทานแต่น้อย

 

เครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีคาเฟอีน คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง

นอกจากโกโก้แล้ว ยังมีเครื่องดื่มอีกหลายประเภทที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น โดยในกาแฟ 1 แก้ว ขนาดประมาณ 240-250 มิลลิลิตร มักจะมีคาเฟอีนประมาณ 60-200 มิลลิกรัม ในชา 1 แก้ว มักจะมีคาเฟอีนประมาณ 25-50 มิลลิกรัม และในช็อกโกแลต 1 แก้ว มักจะมีคาเฟอีนประมาณ 5-8 มิลลิกรัม แม้แต่กาแฟที่สกัดคาเฟอีนออก (decaffeinated coffee) ก็ยังคงมีคาเฟอีนอยู่บ้าง โดย 1 แก้ว อาจมีคาเฟอีนประมาณ 2-25 มิลลิกรัม

 

หากคุณแม่ติดน้ำหวาน น้ำชงมาก ควรกินอะไรทดแทน

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ชื่นชอบเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ติดน้ำหวาน น้ำชง ต้องรับประทานเป็นประจำ ควรเปลี่ยนไปดื่มเครื่องดื่มประเภทอื่นที่ปราศจากคาเฟอีนแทน เช่น นม หรือน้ำผลไม้ อย่างน้ำฝรั่ง น้ำส้มคั้นสด เพื่อดับกระหาย ให้ความสดชื่น แทนการดื่มชา กาแฟ หรือโกโก้ที่มีคาเฟอีน เพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่และลูกในครรภ์ได้รับอันตรายจากคาเฟอีน และยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย นอกจากนี้คุณแม่ควรเลือกเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย และดื่มเท่าที่จำเป็น ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากเกินไป อาจเสี่ยงที่จะทำให้คุณแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

 

การเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในช่วงที่ตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญและดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะอาหารบางชนิดสามารถส่งต่อไปถึงลูกในครรภ์ได้ สิ่งที่คุณแม่รับประทานจึงส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์โดยตรง หากคุณแม่เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้เพียงพอต่อความต้องการของคุณแม่และลูกน้อย หมั่นตรวจสุขภาพตามที่หมอนัด และปรึกษาคุณหมอหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อมีข้อสงสัย เพื่อที่คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์จะได้มีสุขภาพที่ดี และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคขณะตั้งครรภ์ได้ค่ะ

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. คาเฟอีน...ผลเสียต่อทารกในครรภ์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. Drink coffee while pregnant, โรงพยาบาลเพชรเวช
  3. คุณแม่ตั้งครรภ์กับเครื่องดื่มคาเฟอีน ที่ต้องระวัง, โรงพยาบาลเปาโล

อ้างอิง ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567

บทความแนะนำ

คนท้องปวดหัวข้างเดียวทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้ไขอาการคนท้องปวดหัว

คนท้องปวดหัวข้างเดียวทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้ไขอาการคนท้องปวดหัว

คนท้องปวดหัวขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร คนท้องปวดหัวผิดปกติไหม อาการแบบไหนเรียกว่าปวดหัวปกติหรือไมเกรนในคนท้อง พร้อมวิธีแก้ไขเมื่อคนท้องมีอาการปวดหัว

มดลูกคว่ำคืออะไร อันตรายไหม อาการแบบนี้ทำให้มีลูกยากหรือเปล่า

มดลูกคว่ำคืออะไร อันตรายไหม อาการแบบนี้ทำให้มีลูกยากหรือเปล่า

มดลูกคว่ำ คืออะไร ภาวะมดลูกคว่ำในผู้หญิง ทำให้ว่าที่คุณแม่มีลูกยากและแท้งง่ายจริงไหม ภาวะมดลูกคว่ำ มดลูกกลับหลัง เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ไปดูกัน

ตกขาวสีน้ำตาลคนท้องบอกอะไร แม่ท้องมีตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

ตกขาวสีน้ำตาลคนท้องบอกอะไร แม่ท้องมีตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

ตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน เกิดจากอะไร อาการตกขาวสีน้ำตาลคนท้อง อันตรายกับคุณแม่ตั้งครรภ์ไหม ตกขาวแบบไหนผิดปกติ พร้อมวิธีสังเกตตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม ทำไมคุณแม่ควรเจาะน้ำคร่ำในระหว่างตั้งครรภ์ การเจาะน้ำคร่ำควรเจาะตอนไหนถึงไม่เป็นอันตรายกับลูกในครรภ์ เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร ไปทำความรู้จักกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก