อาการเจ็บท้องคลอด เจ็บท้องคลอดแบบไหนควรไปหาหมอ

อาการเจ็บท้องคลอดของคุณแม่ แบบไหนเจ็บจริงหรือเจ็บหลอก

02.04.2024

อาการเจ็บท้องเตือน มักจะเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3 แต่การเจ็บท้องเตือนมักจะไม่มีอาการปวดมากขึ้น ถี่ขึ้น หรือปวดสักพักจะหายไปได้เอง แต่อาการเจ็บท้องคลอดของจริง การเจ็บครรภ์จะปวดมากขึ้น ปวดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการอื่น ๆ แสดงให้เห็น เช่น น้ำเดิน น้ำคร่ำแตก มีเลือดออก ปวดท้องมาก จนรู้สึกทนไม่ได้ หากมีอาการเช่นนี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน

headphones

PLAYING: อาการเจ็บท้องคลอดของคุณแม่ แบบไหนเจ็บจริงหรือเจ็บหลอก

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • ในช่วงไตรมาสสุดท้ายใกล้คลอด มักจะมีอาการเจ็บท้องเตือนบ่อย ๆ เพราะร่างกายกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดทารกในอีกไม่นาน แต่การเจ็บท้องคลอดจริง จะมีความแตกต่าง และมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำคร่ำแตก มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีอาการปวดท้องมาก หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน
  • อาการเจ็บท้องคลอดที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าจะคลอด เช่น มดลูกบีบรัดตัวสม่ำเสมอ ประมาณ 30-60 วินาที มีช่วงห่างของการปวดครั้งละประมาณ 5-20 นาที หากมีอาการปวดเช่นนี้ร่างกายส่งสัญญาณเตือนการคลอดที่กำลังจะเกิดขึ้น
  • ในระหว่างที่มีการเจ็บท้องเตือน สามารถบรรเทาอาการได้ด้วย วิธีการต่าง ๆ เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอ ลองเปลี่ยนอิริยาบถ นอนพักให้รู้สึกดีขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้แจ่มใส จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บท้องได้และทำให้คุณแม่ท้องรู้สึกสบายตัวขึ้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

คุณแม่ท้องใกล้คลอด โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่อายุครรภ์ 8 เดือน ร่างกายเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด ในช่วงนี้มดลูกจะขยายตัวและเริ่มเคลื่อนตัวลงต่ำ เมื่อใช้มือคลำหน้าท้องจะรู้สึกได้ว่ามีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ๆ มดลูกมีการบีบตัวเป็นจังหวะที่เรียกว่า เจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องหลอก คุณแม่สามารถสังเกตอาการเจ็บท้องเตือน ดังนี้

  • เจ็บท้อง ไม่สม่ำเสมอ เจ็บแบบเป็น ๆ หาย ๆ
  • เจ็บห่าง ๆ เช่น ชั่วโมงละครั้ง
  • ความเจ็บต้องไม่เจ็บมากขึ้นหรือเจ็บถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
  • เมื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบท หรือปรับเปลี่ยนท่าทาง เช่น ลุกเดิน นั่ง นอน จะรู้สึกคลายขึ้น ความเจ็บปวดลดลง
  • ปวดท้องน้อยเป็นระยะเวลาสั้น ๆ
  • ไม่มีอาการน้ำเดิน
  • ปากมดลูกไม่เปิดหรือไม่ขยาย

 

เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด

อาการเจ็บท้องเตือนหรือเจ็บท้องหลอก อาการนี้มักเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 8-9 เดือน มดลูกมักจะหดเกร็งบ่อย ๆ ทำให้มีอาการปวดท้องบ้างเล็กน้อย ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ และไม่ปวดถี่ขึ้น หากเปลี่ยนท่าทาง เช่น ลุกเดิน นั่งพัก นอนพัก อาการปวดจะทุเลาลง การเจ็บเตือนเกิดจากท้องลดและมดลูกเคลื่อนต่ำเข้าสู่อุ้งเชิงกราน จะเกิดขึ้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด เกิดจากทารกในครรภ์เคลื่อนตัวลงเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ยอดมดลูกในช่วงนี้จะลดลงเล็กน้อย เรียกว่า เป็นอาการแรกของการเข้าสู่ระยะคลอด

 

เจ็บท้องเตือน กินยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการได้ไหม

อาการเจ็บท้องเตือนหรือเจ็บท้องหลอก คุณแม่ท้องจะมีอาการปวดเจ็บหน้าท้อง เกิดจากมดลูกหดตัว ความแรงของการบีบตัวของมดลูกจะไม่สม่ำเสมอ และไม่ปวดมากขึ้นหรือปวดถี่ขึ้น และไม่มีมูกเลือดหรือไม่มีเลือดออกมาจากช่องคลอด หากเปลี่ยนอิริยาบท เปลี่ยนท่าทาง เดิน ยืน นั่ง นอน อาการปวดจะทุเลาลง ส่วนการทานยาใด ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

 

บรรเทาอาการเจ็บท้องเตือนแบบไหนได้บ้าง

1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

เมื่อคุณแม่เกิดอาการเจ็บท้องเตือนหรือเจ็บท้องหลอก ควรดื่มน้ำให้มาก เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำและช่วยให้มีของเหลวเพียงพอในการหล่อเลี้ยงมดลูก

 

2. ลองเปลี่ยนอิริยาบถ

อาการเจ็บท้องหลอก เจ็บท้องเตือน ขณะที่ปวดท้อง ให้คุณแม่เปลี่ยนอิริยาบท ด้วยการนั่ง ยืน เดินไปมา นอนพัก หรือเปลี่ยนในท่านอนเอนเป็นนอนหงาย เปลี่ยนจากนอนตะแคงเป็นนั่งให้หลังชิดฝาผนังก็ได้ อาจจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บท้องได้

 

3. ฝึกควบคุมลมหายใจ

การฝึกควบคุมลมหายใจจะทำให้คุณแม่ท้องรู้สึกผ่อนคลายอารมณ์ คลายความเจ็บปวดได้ เช่น การทำสมาธิ ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิ แต่เป็นนอนสมาธิก็ได้ หรือยืดเหยียดเบา ๆ ทำให้คุณแม่รู้สึกมีสมาธิ และกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ช่วยลดอาการปวดที่เกิดขึ้นได้

 

4. อาบน้ำอุ่นลดอาการปวด

การอาบน้ำอุ่น ไม่ควรเกิน 10 นาที ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตภายในร่างกายช่วยให้แม่ท้องรู้สึกผ่อนคลาย

 

5. รับประทานขนมหรืออาหารว่าง

คุณแม่ท้องอาจบรรเทาอาการเจ็บท้องด้วยการรับประทานขนมหรืออาหารว่างที่มีประโยชน์ เป็นอาหารประเภทที่มีไขมันต่ำและน้ำตาลต่ำ เช่น แก้วมังกร ฝรั่ง อะโวคาโด หรือธัญพืชไม่ขัดสี

 

อาการเจ็บท้องเตือนเป็นอย่างไร เกิดขึ้นช่วงไหนของการตั้งครรภ์

 

เจ็บท้องเตือน จะเกิดขึ้นช่วงไหนของการตั้งครรภ์

อาการเจ็บท้องเตือนหรือเจ็บท้องหลอก แสดงถึงการเตรียมความพร้อมของร่างกายเพื่อพร้อมคลอดทารก คุณแม่ท้องมักจะเริ่มรู้สึกถึงการเจ็บท้องเตือนในช่วงหลังเดือนที่ 6 หรือช่วงเริ่มต้นเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 มดลูกหดรัดตัวเพื่อฝึกหัดตัวเอง ซึ่งการหดรัดตัวนี้ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บจี๊ด ๆ มดลูกอาจมีการแข็งตัว เจ็บแบบเป็น ๆ หาย ๆ คุณแม่อาจนอนพักผ่อนหรือเปลี่ยนอิริยาบทเป็นลุกนั่ง เดินไปเดินมา หรือยืดเหยียดร่างกายเบา ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย อาจช่วยลดอาการปวดให้ทุเลาลงได้

 

เจ็บท้องคลอดจริง เป็นแบบไหน

หากเข้าสู่ช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ในเดือนที่ 8-9 คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตตนเองถึงโอกาสที่จะคลอดทารกโดยเฉพาะอาการเจ็บท้องจริง มีข้อสังเกต คือ

  • การเจ็บท้องจริงจะเจ็บเป็นระยะ และเจ็บต่อเนื่อง
  • เจ็บท้องถี่ขึ้น เช่น จากทุก 10 นาที เป็น 5 นาที
  • การเจ็บท้องคลอดจริงจะมีลักษณะคล้ายกับปวดท้องประจำเดือนแต่จะเจ็บปวดมากกว่า
  • อาการปวดเริ่มที่ท้อง แล้วปวดลามไปยังหลังส่วนล่าง และต้นขา หรืออาจปวดหลังแล้วลามมาที่ท้อง

 

เจ็บท้องคลอดแบบไหนควรไปหาหมอ

1. น้ำเดิน น้ำคร่ำแตก

นอกจากอาการเจ็บท้องคลอดจริงที่เกิดขึ้น คุณแม่ท้องสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะอาการน้ำเดินหรือน้ำคร่ำแตก หากเกิดอาการน้ำเดินหรือน้ำคร่ำแตก มักมีโอกาสคลอดสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 12 ชั่วโมง เพราะแสดงถึงมดลูกบีบหดตัวเล็กลงเพื่อบีบให้ศีรษะทารกเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกราน สำหรับน้ำคร่ำที่ไหลออกมานั้นจะมีลักษณะใส คล้ายน้ำปัสสาวะ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น อาจจะไหลพรวดออกมาหรือค่อย ๆ ไหล หากมีอาการเช่นนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

 

2. มีเลือดออก

ร่างกายของคุณแม่ท้องตามปกติแล้วจะมีมูกเลือดทำหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกร่างกายอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงที่เกิดอาการเจ็บท้องคลอด หากมีอาการปากมดลูกขยายและเริ่มเปิด ทำให้เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงบริเวณปากมดลูกมีการแตกออก มีมูกเลือดและเลือดไหลออกมา เป็นสัญญาณว่า มีโอกาสคลอดสูง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

 

3. ปวดท้องมาก จนรู้สึกทนไม่ได้

อาการเจ็บท้องคลอดจริง ให้คุณแม่สังเกตอาการ ดังนี้

  • เจ็บท้องแบบสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง และเจ็บรุนแรงมากขึ้น
  • เจ็บท้องนานขึ้น และเจ็บถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เจ็บท้องทุก ๆ 10 นาที เป็นทุก ๆ 5 นาที
  • อาการเจ็บท้องคลอดจะหายได้จนกว่ากระบวนการคลอดจะสิ้นสุดลง
  • อาการเจ็บจะเริ่มเจ็บที่ส่วนบนของมดลูกก่อน และเจ็บร้าวลงไปข้างล่าง ท้องแข็งตึง หากมีการเคลื่อนไหว เช่น เดินก็จะเจ็บมากขึ้น
  • มักจะมีมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอดมากขึ้น หรือมีเลือดไหลออกมาด้วย

 

การเจ็บท้องคลอด นอกจากอาการเจ็บจะมากขึ้น เจ็บถี่ขึ้น เพราะมดลูกกำลังบีบตัวเพื่อให้ศีรษะทารกกลับลงมาทางช่องคลอด นอกจากนี้ มักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด น้ำเดินหรือน้ำคร่ำแตก แสดงถึงร่างกายพร้อมคลอดตามธรรมชาติแล้ว นอกจากนั้นการคลอดแบบธรรมชาติมีข้อดีทั้งสำหรับคุณแม่และทารก เพราะทารกจะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพหลายสายพันธุ์จากคุณแม่ตั้งแต่แรกคลอด อาทิ B. lactis ที่เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียมที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกหลังคลอดให้มีสุขภาพแข็งแรง

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. เตรียมพร้อมคุณแม่ใกล้คลอดแบบธรรมชาติม, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  2. เจ็บครรภ์ก่อนคลอดเป็นอย่างไร, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
  3. สัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด เตรียมพร้อมได้ทันเวลา, โรงพยาบาลนครธน
  4. เจ็บท้องเตือน สาเหตุ อาการ วิธีบรรเทาอาการปวด, hellokhunmor
  5. เตรียมความพร้อมก่อนคลอดเจ้าตัวเล็ก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  6. 6สัญญาณเตือนการใกล้คลอด ที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก

อ้างอิง ณ วันที่ 25 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

อาการคันของคนท้อง เกิดจากอะไร ผื่นแพ้ฮอร์โมนตั้งครรภ์ อันตรายไหม

อาการคันของคนท้อง เกิดจากอะไร ผื่นแพ้ฮอร์โมนตั้งครรภ์ อันตรายไหม

อาการคันของคนท้อง เกิดจากอะไร คุณแม่มีอาการคันตามร่างกาย อันตรายไหม พร้อมวิธีบรรเทาอาการคันของคนท้อง สำหรับคุณแม่ที่มีผื่นแพ้ฮอร์โมนตั้งครรภ์

อาการมโนว่าท้อง กังวลไปเองว่าท้อง คืออะไร พร้อมวิธีเช็กอาการตัวเอง

อาการมโนว่าท้อง กังวลไปเองว่าท้อง คืออะไร พร้อมวิธีเช็กอาการตัวเอง

อาการมโนว่าท้อง กังวลไปเองว่าท้อง คืออะไร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เหมือนจะตั้งครรภ์ แบบนี้ใช่อาการตั้งท้องหรือเปล่า จะรู้ได้อย่างไรว่าตั้งท้องไหม ไปดูกัน

คุณแม่ท้อง 1 เดือนกี่สัปดาห์ พร้อมวิธีนับอายุครรภ์รายสัปดาห์

คุณแม่ท้อง 1 เดือนกี่สัปดาห์ พร้อมวิธีนับอายุครรภ์รายสัปดาห์

ท้อง 1 เดือนกี่สัปดาห์ คุณแม่มือใหม่นับอายุลูกน้อยในครรภ์รายสัปดาห์อย่างไรให้แม่นยำ เพื่อพัฒนาการของลูกน้อย คุณแม่ท้อง 1 สัปดาห์ นับแบบไหนดี ไปดูกัน

นอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วคุณแม่ต้องทำยังไง

นอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วคุณแม่ต้องทำยังไง

คุณแม่หลังคลอดนอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วต้องทำยังไงบ้าง ไปดูวิธีที่ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังคลอด

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก