ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

12.09.2024

จากสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คู่สามีภรรยามีอายุเฉลี่ยแต่งงานช้าลง รวมถึงการวางแผนครอบครัวเพื่อเตรียมความพร้อมในการมีลูกช้าลงตามไปด้วย จนทำให้ทั้งสามีและภรรยาอายุเพิ่มมากขึ้น จนอาจเกิดปัญหาภาวะผู้มีบุตรยากได้ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายหญิงอายุเกิน 35 ปี จะส่งผลต่อคุณภาพความแข็งแรงและจำนวนของไข่ที่พบในรังไข่ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด อาหารการกินต่าง ๆ ล้วนส่งผลต่อการมีบุตรยากทั้งสิ้น ซึ่งหากคู่สมรสที่แต่งงานและมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ และยังไม่มีบุตรภายใน 1 ปี จะถือว่าเป็นภาวะผู้มีบุตรยาก จำเป็นต้องมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการแนะนำวิธีการดูแลและแก้ปัญหาที่เหมาะสมต่อไป

headphones

PLAYING: ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • การทำกิ๊ฟ คือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถช่วยให้มีบุตร โดยการนำไข่และอสุจิกลับไปวางที่ท่อนำไข่โดยทันที เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติภายในร่างกาย
  • การทำกิ๊ฟ เป็นการนำไข่และอสุจิไปวางที่ปลายท่อนำไข่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิภายในร่างกายของผู้หญิง ส่วนการทำเด็กหลอดแก้ว จะเป็นการนำไข่และอสุจิปฏิสนธิกันภายนอกร่างกาย จนได้เป็นตัวอ่อนจึงย้ายกลับสู่โพรงมดลูก
  • การทำกิ๊ฟจะต้องเจาะหน้าท้องของผู้หญิงสำหรับการเก็บไข่ และฉีดกลับไปสู่ท่อนำไข่พร้อมกับอสุจิ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเข้าห้องผ่าตัด วางยาสลบและต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล ดังนั้นจึงมีค่าใช้จ่ายที่สูง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

การทำกิ๊ฟ คืออะไร

การทำกิ๊ฟ หรือ Gamete Intrafallopian Transfer: GIFT คือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถช่วยทำให้มีบุตร ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างมากในอดีต โดยมีขั้นตอนในการกระตุ้นไข่และดูดไข่ออกมาจากรังไข่ และคัดเลือกอสุจิที่มีความแข็งแรง จากนั้นจะนำทั้งไข่และอสุจิกลับไปวางที่ท่อนำไข่โดยทันที เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติภายในร่างกาย ซึ่งภายหลังการปฏิสนธิแล้ว ตัวอ่อนจะค่อย ๆ เคลื่อนผ่านท่อนำไข่ไปยังโพรงมดลูกเพื่อเจริญเติบโตต่อไปจนเกิดการตั้งครรภ์ในที่สุด

 

การทำกิ๊ฟ ต่างจากเด็กหลอดแก้วอย่างไร

ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีพัฒนาการมากยิ่งขึ้น ทำให้ขั้นตอนการช่วยทำให้มีบุตรมีหลากหลายวิธีมากขึ้น โดยการทำกิ๊ฟ คือ การนำไข่และอสุจิไปวางที่ปลายท่อนำไข่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิภายในร่างกายของผู้หญิง แต่การทำเด็กหลอดแก้ว คือ กระบวนการนำไข่และอสุจิปฏิสนธิกันภายนอกร่างกาย และเพาะเลี้ยงตัวอ่อนอีกประมาณ 3-5 วัน ก่อนย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกให้เจริญเติบโตต่อไป

 

การทำกิ๊ฟ เลือกเพศลูกได้ไหม

ในปัจจุบันตามกฎหมายของประเทศไทย การเลือกเพศลูกโดยที่ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติ สำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้น ยังถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากคุณหมอพิจารณาจากโรคที่อาจส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมจากประวัติของครอบครัวแล้ว การตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมจากไข่และอสุจิก่อนการทำกิ๊ฟ ก็จะทำให้ทราบเพศได้ทันที

 

เนื่องจากไข่ที่ได้จากฝ่ายหญิงจะมีโครโมโซมเพศเป็น XX และอสุจิของฝ่ายชายจะมีโครโมโซมเพศเป็น XY ซึ่งในอสุจิจะมี 2 ชนิด คือหากอสุจิที่เป็น X ผสมกับไข่ที่เป็น X จะได้โครโมโซม XX หมายถึงลูกเป็นเพศหญิง ส่วนอสุจิที่เป็น Y ผสมกับไข่ที่เป็น X จะได้โครโมโซม XY หมายถึงลูกเป็นเพศชายนั้นเอง ดังนั้น ก่อนการฉีดไข่และอสุจิเข้าสู่ท่อนำไข่ในกระบวนการทำกิ๊ฟมีการตรวจความผิดปกติของโครโมโซมก่อน ก็จะทำให้เราทราบเพศของตัวอ่อนไปด้วยเช่นกัน

 

การทำกิ๊ฟ เหมาะกับใครบ้าง

การทำกิ๊ฟ เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยรักษาภาวะผู้มีบุตรยากวิธีการหนึ่ง โดยเหมาะสมกับผู้หญิงที่อาจมีปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ หรือมีปัญหาการตกไข่ของผู้หญิง แต่ท่อนำไข่มีความสมบูรณ์ หรือสามารถใช้งานได้อย่างน้อย 1 ข้าง หรือปัญหาของอสุจิที่มีจำนวนน้อยและไม่แข็งแรงของผู้ชาย รวมถึงคู่สามีภรรยาที่มีปัญหาภาวะผู้มีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

ทำการทำกิ๊ฟ เหมาะกับใครบ้าง

 

ทำกิ๊ฟ ได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์

การที่จะประสบความสำเร็จเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ สุขภาพความแข็งแรงของฝ่ายหญิง และระดับปัญหาภาวะมีบุตรยากของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยจากการศึกษาพบว่าเฉลี่ยแล้วผู้หญิงที่มีอายุน้อยจะมีไข่ที่มีคุณภาพดีกว่าผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า ซึ่งค่าเฉลี่ยของผู้หญิงอายุน้อยกว่า 38 ปี จะมีโอกาสตั้งครรภ์ที่ 37 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 39 ปีขึ้นไป จะลดลงเหลือเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

 

การทำกิ๊ฟในปัจจุบัน ยังเป็นที่นิยมอยู่ไหม

เนื่องจากวิธีการเก็บไข่มีความแตกต่างกันระหว่างการทำกิ๊ฟกับการทำเด็กหลอดแก้ว โดยการทำกิ๊ฟจะต้องเจาะหน้าท้องของผู้หญิงสำหรับการเก็บไข่ และฉีดกลับไปสู่ท่อนำไข่พร้อมกับอสุจิ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเข้าห้องผ่าตัด เพื่อวางยาสลบก่อนการเจาะหน้าท้องในการเก็บไข่ ดังนั้น ต้องมีการพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน แต่สำหรับขั้นตอนเก็บไข่ของการทำเด็กหลอดแก้วนั้น คุณหมอจะดูดไข่ออกทางช่องคลอด ซึ่งใช้เวลาพักฟื้นหลังการเก็บไข่เพียง 1-2 ชั่วโมงก็สามารถกลับบ้านได้แล้ว อีกทั้งโอกาสในการประสบความสำเร็จในตั้งครรภ์ของการทำเด็กหลอดแก้วมีโอกาสสูงกว่า ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้วิธีการทำกิ๊ฟสำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยากค่อนข้างได้รับความนิยมน้อยลงในปัจจุบัน

 

ค่าใช้จ่ายในการทำกิ๊ฟ มีอะไรบ้าง

ค่าใช้จ่ายหลักของการทำกิ๊ฟ คือ กระบวนการฉีดยากระตุ้นไข่ โดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญจะต้องมีการนัดตรวจด้วยการอัลตราซาวด์ และตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเก็บไข่โดยการดูดไข่ออกมา และทำการนำไข่พร้อมกับอสุจิกลับเข้าสู่ท่อนำไข่ ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องมีการพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน เนื่องจากต้องมีการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อนำไข่และอสุจิไปวางที่ท่อนำไข่จนเกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ และคุณหมอจะให้ฮอร์โมนเพื่อช่วยในการฝังตัวของตัวอ่อนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้จึงทำให้กระบวนการทำกิ๊ฟมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะมีการใช้ห้องผ่าตัด การให้ยาสลบ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพักฟื้นที่โรงพยาบาล วิธีการนี้จึงอาจลดความนิยมลงในปัจจุบันเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายกับโอกาสประสบผลสำเร็จ

 

เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการทำกิ๊ฟ

1. ข้อดีของการทำกิ๊ฟ

  1. เป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือการมีลูกยากโดยไม่ทราบสาเหตุ
  2. เหมาะกับฝ่ายหญิงที่มีปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ
  3. ช่วยแก้ปัญหาการตกไข่ในฝ่ายหญิง
  4. ช่วยแก้ปัญหาของคุณภาพเชื้ออสุจิในฝ่ายชายไม่แข็งแรง หรือมีจำนวนน้อย

 

2. ข้อเสียของการทำกิ๊ฟ

  1. เนื่องจากกระบวนการทำกิ๊ฟจำเป็นต้องมีการผ่าตัด จึงอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น เจ็บแผล หรือแผลมีเลือดออก
  2. อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
  3. สามารถเกิดการตั้งครรภ์ลูกแฝดได้ ซึ่งมีความเสี่ยงภาวะแท้งลูกหรือมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์มากกว่าการตั้งครรภ์ปกติ
  4. มีอาการมึนหัว ปวดหัว อารมณ์แปรปรวน อันเนื่องมาจากผลข้างเคียงของการได้รับยาระหว่างการทำกิ๊ฟ

 

ก่อนทำกิ๊ฟ ว่าที่คุณแม่ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง

เนื่องจากการทำกิ๊ฟต้องมีขั้นตอนสำคัญคือการกระตุ้นรังไข่และเก็บไข่ ข้อควรปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ มีดังนี้

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ และนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
  • ทำจิตใจให้สบาย รู้สึกสดชื่น ไม่เครียดและวิตกกังวลมากจนเกินไป
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นสารอาหารที่เป็นโปรตีน พยายามลดแป้งและน้ำตาล
  • รับแสงแดดในช่วงเช้าอย่างน้อย 30 นาที เพื่อช่วยกระตุ้นการนอนหลับให้ดีมากขึ้นได้
  • ไม่ทาเล็บ แต่งหน้า และใส่คอนแทคเลนส์ หรือเครื่องประดับต่าง ๆ ในระหว่างการเก็บไข่ เพราะคุณหมอจะประเมินโดยการพิจารณาจากนิ้วมือ นิ้วเท้า และใบหน้า
  • อย่าดื่มน้ำมากเกินไป หรือไม่ควรเกินวันละ 1 ลิตร รวมถึงรับประทานโปรตีน เนื่องจากเมื่อรังไข่ถูกกระตุ้นมากขึ้น อาจทำให้ร่างกายบวมน้ำได้

 

การทำกิ๊ฟ เป็นหนึ่งในวิธีการดูแลและแก้ปัญหาภาวะผู้มีบุตรยาก ซึ่งเป็นเทคนิคที่นำไข่และอสุจิใส่กลับไปที่ท่อนำไข่ เพื่อช่วยให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ ดังนั้น ในช่วงแรกที่ใช้เทคนิคช่วยการเจริญพันธุ์ การทำกิ๊ฟจึงค่อนข้างได้รับความนิยม เนื่องจากมีโอกาสตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนามากยิ่งขึ้น จึงทำให้เกิดเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แบบอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าและลดความเสี่ยงในการผ่าตัด ซึ่งต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล อีกทั้งค่าใช้จ่ายก็ลดลง จึงทำให้การทำกิ๊ฟค่อย ๆ ลดความนิยมลงในที่สุด

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

 

อ้างอิง:

  1. “เด็กหลอดแก้ว” ความหวังของผู้ที่มีบุตรยาก, โรงพยาบาลพญาไท
  2. ทำกิฟต์ (GIFT) ขั้นตอนการช่วยมีบุตรในอดีตเป็นอย่างไร? คืออะไร? ต่างกับเด็กหลอดแก้วอย่างไร?, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  3. การทำ icsi สามารถเลือกเพศได้หรือไม่?, คลินิกมีบุตรยาก GFC
  4. ฝากไข่ (Egg Freezing) การวางแผนเพื่ออนาคตสำหรับคนอยากมีลูกแต่ยังไม่พร้อม, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  5. ทำกิฟต์และเด็กหลอดแก้ว มีบุตรได้แบบสบายใจ, โรงพยาบาลกรุงเทพ

อ้างอิง ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2567
 

บทความแนะนำ

ท้องกระตุกเหมือนลูกดิ้น อาการท้องกระตุก บอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง

ท้องกระตุกเหมือนลูกดิ้น อาการท้องกระตุก บอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง

ท้องกระตุกเหมือนลูกดิ้น อาการแบบนี้เกิดจากอะไร ท้องกระตุกบ่อย อันตรายไหม บอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง อาการท้องกระตุกเหมือนลูกดิ้นแบบไหนที่คุณแม่ควรสังเกต

ผ่าคลอดประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่มีสิทธิเบิกอะไรบ้าง

ผ่าคลอดประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่มีสิทธิเบิกอะไรบ้าง

ผ่าคลอดประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่ ค่าคลอดบุตรประกันสังคมมาตรา 33 ปี 2567 ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ไปดูข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าคลอดประกันสังคมที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้กัน

คุณแม่ปวดท้องข้างขวา บอกอะไรบ้าง ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ

คุณแม่ปวดท้องข้างขวา บอกอะไรบ้าง ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ

ว่าที่คุณแม่ปวดท้องข้างขวา มีอาการปวดท้องน้อยหน่วง ๆ เกิดจากอะไร อาการแบบนี้เกิดกับคุณแม่ท้องทุกคนหรือไม่ คุณแม่มีอาการปวดท้องข้างขวา ควรดูแลตัวเองยังไง ไปดูกัน

คนท้องกินยาพาราได้ไหม ทำไมก่อนกินยาคนท้องต้องปรึกษาหมอทุกครั้ง

คนท้องกินยาพาราได้ไหม ทำไมก่อนกินยาคนท้องต้องปรึกษาหมอทุกครั้ง

คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการปวดหัว ปวดตัวและปวดหลังขณะตั้งครรภ์ อาการแบบนี้คนท้องกินยาพาราได้ไหม ทำไมก่อนกินยาแต่ละครั้งคนท้องต้องปรึกษาหมอทุกครั้งก่อนรับประทานยา

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก