เมนูอาหารเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาหารคนท้องเป็นเบาหวาน
คนท้องที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จำเป็นต้องควบคุมอาหารเพื่อให้น้ำตาลอยู่ในระดับปกติ โดยที่ยังได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถเลือกทานอาหารได้ตามปกติ แต่ควรเลือกทานที่เน้นวิธีการผัด แกง ยำ อบ นึ่ง ตุ๋นแทนการทอด และหลีกเลี่ยงการปรุงรสด้วยน้ำตาล และกะทิ แค่นี้คุณแม่ก็ได้เมนูอาหารเบาหวานขณะตั้งครรภ์แล้ว
สรุป
- คนท้องที่เป็นเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ ด้วยการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย โดยหลีกเลี่ยงการปรุงรสด้วยน้ำตาล ไม่ทานผลไม้ที่มีรสหวานจัด เน้นทานผักให้มากขึ้น และจำกัดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อให้มีปริมาณเหมาะสม
- คนท้องที่เป็นเบาหวานยังคงต้องการสารอาหารจำพวกโปรตีน แคลเซียม โฟเลต และธาตุเหล็กในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อเสริมสร้างร่างกายและสมองให้กับลูกน้อยในท้อง
- คนท้องเป็นเบาหวานควรหมั่นวัดระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน ออกกำลังกายเบา ๆ หรือเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอด้วยการเดินหรือการวิ่งเบา ๆ หรือว่ายน้ำ เพื่อให้ระดับน้ำตาลอยู่ในระดับที่กำหนด และยังช่วยให้คุณแม่มีร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้นอีกด้วย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเมนูอาหารเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- สารอาหารที่คนท้องเป็นเบาหวานต้องการต่อวัน
- อาหารคนท้องเป็นเบาหวาน ปรุงอะไรได้บ้าง
- 20 เมนูอาหารเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำง่าย ได้ประโยชน์
- คนท้องเป็นเบาหวาน กินอะไรแทนน้ำหวานดี
- คนท้องเป็นเบาหวาน ดูแลตัวเองยังไงดี
ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเมนูอาหารเบาหวานขณะตั้งครรภ์
คนท้องที่มีภาวะเบาหวาน จะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ ด้วยการควบคุมอาหารให้ดีเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสการเกิดอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ เพราะเบาหวานส่งผลให้คนท้องเสี่ยงภาวะแท้ง หรือเสี่ยงต่อการแท้ง เกิดภาวะความดันเลือดสูง ภาวะคลอดยาก ตกเลือดหลังคลอด ส่วนทารกในครรภ์อาจพบภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ สมองอาจถูกทำลายและเกิดการชัก ทารกตัวใหญ่กว่าปกติ เสี่ยงพิการแต่กำเนิด และอัตราการตายสูงกว่าปกติ
สารอาหารที่คนท้องเป็นเบาหวานต้องการต่อวัน
คนท้องที่เป็นเบาหวานมีความต้องการอาหารที่ไม่แตกต่างกันกับคนท้องที่ไม่เป็นเบาหวาน เพียงแต่คนท้องที่เป็นเบาหวานต้องระมัดระวังการทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตอย่างแป้ง ข้าว น้ำตาล เพราะเป็นตัวการที่ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น สารอาหารที่คนท้องเป็นเบาหวานต้องดูแลให้เหมาะสม มีดังนี้
1. โปรตีน
มีบทบาทสำคัญในการสร้างเนื้อเยื่อ และเสริมสร้างการเจริญเติบโตให้กับลูกน้อยในท้อง และยังช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย คนท้องที่เป็นเบาหวานจึงต้องเลือกทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน เช่น โปรตีนจากไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนังหรือมันน้อย ถั่ว และเนื้อปลา
2. แคลเซียม
ตัวช่วยสำคัญในการสร้างกระดูกและฟันของลูกน้อยในท้อง ทั้งยังช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนในคนท้องด้วย แคลเซียมพบมากในนมพร่องมันเนย ปลาตัวเล็กที่ทานได้ทั้งกระดูก ถั่ว งา และผักใบเขียว
3. โฟเลต
โฟเลตสำหรับแม่ตั้งครรภ์ มีส่วนสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาสมองของทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก ตั้งแต่การตั้งครรภ์ไตรมาสแรก หากลูกน้อยขาดโฟเลตอาจเสี่ยงต่อการเกิดสมองพิการได้ ในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่จึงต้องเน้นเสริมโฟเลตจากอาหารจำพวกเมล็ดถั่ว ธัญพืช ผัก และผลไม้ที่ไม่หวานจัด ในปริมาณที่เหมาะสม
4. ธาตุเหล็ก
มีความสำคัญต่อเม็ดเลือดแดงเป็นอย่างมาก เพื่อให้ร่างกายสามารถนำพาออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ธาตุเหล็กพบมากในอาหารจำพวกปลา ไข่ ตับ ผักใบเขียว เช่น ใบตำลึง ใบขี้เหล็ก เป็นต้น
อาหารคนท้องเป็นเบาหวาน ปรุงอะไรได้บ้าง
คนท้องที่เป็นเบาหวานจำเป็นต้องควบคุมอาหาร ทำให้ต้องปรุงอาหารทานเองอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น คุณแม่สามารถใช้เกลือ ซีอิ๊ว หรือซอสปรุงรสอื่น ๆ ได้ แต่ควรใช้ในปริมาณเล็กน้อยตามความเหมาะสมเท่านั้น รวมถึงมะนาว น้ำส้มสายชู มัสตาร์ด และเครื่องเทศอย่างพริกไทย และกระเทียมได้ สำหรับน้ำมันที่ใช้ในการทำอาหารควรเลือกเป็นน้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพดแทนการใช้น้ำมันหมู หรือน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าวก็ดีต่อร่างกายคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือการปรุงอาหารรสเค็มจัด หวานจัด อาหารมัน และอาหารที่มีกะทิ
20 เมนูอาหารเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำง่าย ได้ประโยชน์
ตัวอย่างเมนูอาหารคนท้องเป็นเบาหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด คนท้องควรเลือกทานอาหารในเมนูดังต่อไปนี้
- ผัดผักบุ้งไฟแดง: ผัดผักบุ้งไฟแดงเมนูอาหารง่าย ๆ แต่มีประโยชน์สูง เพราะในผักบุ้งอุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุอย่างวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี รวมถึงแคลเซียมและธาตุเหล็กที่ล้วนดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- ปลาผัดขิง: ปลาเป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่ายทั้งยังมีโปรตีนสูง หากคุณแม่เลือกปลาทะเลมาประกอบอาหารจะช่วยให้ได้รับสารอาหารจำพวกกรดไขมันดีเอชเอที่ช่วยเรื่องของการพัฒนาสมองของลูกน้อยในท้องด้วย
- แกงส้มผักรวมใส่ปลาช่อน: คนท้องที่อยู่ในช่วงควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดควรเลือกผักที่มีไฟเบอร์สูงแต่มีน้ำตาลน้อยอย่างผักกาด ผักบุ้ง หรือผักชนิดอื่น ๆ ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยมาทำเป็นแกงส้ม และควรทานคู่กับข้าวกล้องไม่ขัดสี
- โจ๊กหมู: สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานควรเปลี่ยนจากข้าวสวยมาเป็นข้าวกล้องแทน และพยายามเลือกเนื้อหมูที่ไม่ติดมันมาประกอบอาหารจะดีที่สุด
- ต้มยำไก่: ต้มยำ ประกอบด้วยสมุนไพรนานาชนิด เช่น ขิง หอมหัวใหญ่หรือหอมแดง ผักชี ที่ล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณแม่และยังช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาลได้ดีอีกด้วย อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรระวังเรื่องการปรุงรสชาติเพิ่มด้วย
- แกงจืดมะระหมูบด: มะระจัดเป็นผักที่มีปริมาณแป้งและน้ำตาลน้อย คุณแม่ที่เป็นเบาหวานสามารถทานได้ดี ทั้งยังมีการเติมหมูไม่ติดมันเพิ่มเข้าไปทำให้คุณแม่ได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้นด้วย
- น้ำพริกปลาย่างกับผักต้ม: สำหรับคุณแม่ที่ชอบทานน้ำพริกเมนูนี้ต้องถูกใจแน่ ๆ เพราะคุณแม่สามารถทานน้ำพริกปลาย่างได้ในปริมาณที่พอดีควบคู่กับการทานผักต้มนานาชนิด เช่น ดอกกะหล่ำ ดอกแค ถั่วฝักยาว ถั่วพู สะตอ สะเดา เป็นต้น
- ปลานึ่งกับผักสด: คุณแม่สามารถเลือกได้ว่าจะทานเป็นปลานึ่งธรรมดาหรือนึ่งสมุนไพร หรืออาจเลือกทานสลับกันในบางมื้อก็ได้ แต่คุณแม่ควรระวังหากต้องการทานคู่กับน้ำจิ้มเพราะอาจมีการเพิ่มรสชาติจากน้ำตาลที่มากเกินไปได้
- แกงเลียงผักรวม: แกงเลียงเป็นแมนูที่อุดมไปด้วยผักที่มีประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นฟักทอง ผักตำลึง เห็ดฟาง บวบ และผักชนิดอื่น ๆ ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีอีกด้วย
- ขนมจีนน้ำยาป่า: คนท้องควรระวังในการกินเมนูขนมจีน เพราะน้ำยาขนมจีนอาจมีการปรุงรสโดยการเติมน้ำตาลในปริมาณมาก ดังนั้น คุณแม่ควรทานในปริมาณที่จำกัดและหลีกเลี่ยงน้ำยาที่มีรสหวาน
- แกงจืดเต้าหู้อ่อนกับตำลึง: เมนูนี้เป็นอีกเมนูที่ทำให้คุณแม่เพลิดเพลินไปกับมื้ออาหาร เพราะคุณแม่จะได้รับสารอาหารจากผัก เต้าหู้อ่อน และข้าวสวยหอม ๆ เหมาะกับคนท้องเป็นเบาหวานในช่วงควบคุมน้ำตาลที่สุด
- ผัดกระเพราไก่สับ: สำหรับเมนูกระเพราคุณแม่ยังคงทานได้ แต่เพื่อสุขภาพที่ดีแนะนำให้คุณแม่เลือกทานเป็นเนื้อไก่จะดีกว่า เพราะเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน มีมันน้อย
- หมูย่างไม่ติดมัน: หากคุณแม่ชื่นชอบการกินหมูย่าง สามารถทานหมูย่างได้ โดยเลือกหมูที่ไม่ติดหนัง มีมันน้อยอย่างหมูสันในจะดีที่สุด และควรระวังเรื่องน้ำจิ้มที่ปรุงรสชาติจัดจ้านเพราะอาจมีปริมาณน้ำตาลที่สูง
- ผัดเผ็ดลูกชิ้นปลากราย: ลูกชิ้นเป็นเมนูอาหารที่คนท้องที่เป็นเบาหวานทานได้แต่ควรจำกัดปริมาณ เนื่องจากในลูกชิ้นมีการใส่สารปรุงแต่งอาหาร และควรเลือกทานเป็นลูกชิ้นปลาจะดีที่สุดเพราะมีไขมันที่น้อยกว่าลูกชิ้นหมูและลูกชิ้นเนื้อ
- ต้มจับฉ่ายเต้าหู้: นอกจากผักที่ดีต่อร่างกายของคนท้องแล้ว เต้าหู้ยังเหมาะกับคุณแม่ที่เป็นเบาหวานด้วย โดยเฉพาะเต้าหู้ไข่ขาวที่ให้โปรตีนสูงแถมยังช่วยให้ย่อยง่ายกว่าเต้าหู้ไข่อีกด้วย
- ปลานึ่งราดพริก: ปลาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักในเมนูอาหารคนท้องเป็นเบาหวานเลยก็ว่าได้ เพราะมีโคเลสเตอรอลต่ำมีโปรตีนสูง ทั้งยังย่อยง่าย และเป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ที่ดีทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในท้อง แต่คุณแม่ควรปรุงรสด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ได้รับปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป
- ผัดถั่วงอก: ถั่วงอกผักตระกูลถั่วที่ดีต่อคนท้องเป็นเบาหวาน เพราะมีสารที่ช่วยดูดซึมอาหารประเภทน้ำตาลให้ร่างกายนำไปใช้ได้ดี จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
- บะหมี่น้ำหมูแดง: คุณแม่สามารถทานบะหมี่ได้ในปริมาณจำกัด โดยแยกเอาลูกชิ้นออก และไม่ควรปรุงน้ำตาลและน้ำปลาเพิ่ม แต่ควรเพิ่มไฟเบอร์จากผักในปริมาณมาก ๆ แทน
- ผัดบรอกโคลี: คนท้องเป็นเบาหวานสามารถทานผัดบรอกโคลีได้ตามต้องการ แต่อาจมีการเสริมโปรตีนระหว่างมื้อเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนด้วย
- แกงจืดผักกาดขาว: แกงจืดอาหารสำหรับคนท้องเป็นเบาหวาน หากคุณแม่ต้องการเติมหมูลงไปแนะนำให้ใช้เนื้อหมูแดงไม่ติดมันสับแทนหมูสับติดมันจะดีกว่า
คนท้องเป็นเบาหวาน กินอะไรแทนน้ำหวานดี
ในผู้ป่วยเบาหวานทั่วไปสามารถใช้น้ำตาลเทียม แอซีซัลเฟม โพแทสเซียม (Acesulfame potassium) แทนน้ำตาลได้ แต่ไม่แนะนำให้ใส่ลงไปในระหว่างทำอาหาร เนื่องจากน้ำตาลชนิดนี้สามารถใช้กับอาหารอย่างของอบและเครื่องดื่มที่ต้องการให้ความหวานได้ คนท้องและแม่ให้นมลูกสามารถใช้ปรุงอาหารและเครื่องดื่มได้ เพราะเมื่อกินเข้าไปแล้วจะไม่เกิดการสะสมในร่างกายและยังถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรขอคำแนะนำในการใช้น้ำตาลเทียมจากคุณหมอก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากมีการจำกัดปริมาณต่อวัน
คนท้องเป็นเบาหวาน ดูแลตัวเองยังไงดี
นอกจากการควบคุมอาหารแล้ว คนท้องเป็นเบาหวานยังต้องดูแลตัวเองในเรื่องอื่น ๆ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในปริมาณที่คุณหมอกำหนด โดยมีคำแนะนำดังต่อไปนี้
1. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
ในแต่ละมื้อของคนท้องเป็นเบาหวาน สามารถทานข้าว ก๋วยเตี๋ยวได้ในปริมาณที่พอเหมาะ แต่ควรทานปลา หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง หากต้องการทานเต้าหู้ให้เปลี่ยนจากเต้าหู้ขาวมาเป็นเต้าหู้ไข่ขาวแทน ทานผักให้มากขึ้น รวมถึงควรกินไข่ให้ได้สัปดาห์ละ 2-3 ฟอง หากคุณแม่มีไขมันในเลือดสูงให้งดไข่แดง และหลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่กะทิ
2. หลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด
คุณแม่ควรเลือกทานผลไม้สดวันละ 2-3 มื้อต่อวัน หากผลไม้ขนาดใหญ่ ให้แบ่งเป็นชิ้นประมาณ 6-8 ชิ้นต่อมื้อ หากเป็นผลไม้ขนาดเล็กให้ทาน 1-2 ผลต่อมื้อ พยายามหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัดอย่างทุเรียน มะพร้าว มะม่วงสุก รวมถึงผลไม้อบแห้งด้วย
3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
คนท้องที่เป็นเบาหวานควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละประมาณ 8 แก้วต่อวัน
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
คนท้องไม่ควรออกกำลังกายหนัก เพราะอาจส่งผลต่อลูกน้อยในท้อง โดยกิจกรรมออกกำลังกายที่คนท้องเป็นเบาหวานทำได้ คือ การเดินหรือการวิ่งเบา ๆ หรือว่ายน้ำ หรือการเคลื่อนไหวร่างกายเบา ๆ วันละ 30 นาที เพื่อให้ระดับน้ำตาลอยู่ในระดับที่กำหนด และยังช่วยให้คุณแม่มีร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้น ทั้งนี้หากคุณแม่ต้องการออกกำลังกายควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ด้วย
5. หมั่นเช็กน้ำตาลในเลือด
คนท้องเป็นเบาหวานควรหมั่นวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองทุกวัน เพื่อดูว่าน้ำตาลอยู่ในระดับที่กำหนดหรือไม่ จากการเจาะเลือดด้วยเครื่องมือพกพา
6. ไม่กินจุกจิก
คุณแม่ควรควบคุมปริมาณอาหาร ต้องไม่กินอาหารจุกจิกโดยไม่จำเป็น งดขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เพราะอาจทำให้ระดับปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอีกด้วย
7. ควบคุมปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้เหมาะสมและใกล้เคียงกัน
คุณแม่ควรควบคุมปริมาณอาหารให้มีปริมาณที่เหมาะสมและใกล้เคียงกันในแต่ละมื้อ เพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ในระหว่างวันได้ โดยควรทานอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ และควรทานผลไม้สด 2-3 มื้อต่อวันเป็นประจำ
คนท้องเป็นเบาหวาน สามารถทานอาหารปกติได้ แต่ควรเลือกทานอาหารที่เหมาะสม โดยเลือกเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ที่คนเป็นเบาหวานทานได้แทน และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงเข้ารับคำแนะนำในการดูแลตัวเองเพิ่มเติมจากคุณหมอ ในระหว่างนี้หากคุณแม่มีอาการอ่อนเพลีย มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ลูกดิ้นน้อยลงหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ให้รีบไปพบคุณหมอทันที
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด
- โปรแกรม Womb development ตามติด 9 เดือนในครรภ์ของลูกน้อยพร้อมบทความพัฒนาการต่างๆ
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
- Colostrum คือ น้ำนมสีหลืองที่มีสฟิงโกไมอีลิน เสริมภูมิคุ้มกันลูก
- อาหารบำรุงน้ำนม เมนูเพิ่มน้ำนม กระตุ้นน้ำนมแม่ให้มีคุณภาพ
- น้ำนมใส คืออะไร สีน้ำนมแม่ ประโยชน์ของน้ำนมส่วนหน้าที่แม่ควรรู้
- น้ำนมส่วนหน้าและน้ำนมส่วนหลังต่างกันอย่างไร เรื่องน้ำนมที่แม่ต้องรู้
- น้ำนมแม่อยู่ได้กี่ชั่วโมง เก็บได้นานแค่ไหน พร้อมการเก็บนมแม่ให้ถูกวิธี
- อาการคัดเต้านม คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการเต้านมคัด
- หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนมดูแลอย่างไร คุณแม่ให้นมลูกต่อได้ไหม
- ท่อน้ำนมอุดตัน ท่อน้ำนมตัน ปัญหาคุณแม่หลังคลอด ที่คุณแม่แก้ไขได้
- วิธีนวดเปิดท่อน้ำนม นวดเต้าหลังคลอด แก้ไขปัญหาคุณแม่น้ำนมน้อย
อ้างอิง:
- เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นเบาหวาน ควรกินอย่างไร, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- อาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวาน, สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
- เบาหวาน รับประทานอะไรได้บ้าง, โรงพยาบาลเปาโล
- ผู้ป่วยเบาหวานควรทานของหวานอย่างไร...ให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงเกิน ?, โรงพยาบาลพญาไท
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ผอมก็เป็นได้, โรงพยาบาลพญาไท
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์, โรงพยาบาลนนทเวช
- เบาหวารรู้ทันป้องกันได้, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์
- วิธีตรวจน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์
- แกงจืดเต้าหู้ไข่หมูสับผักกาดขาว, คุยเบาหวานกับหมออาหาร
- อาหารเพื่อสุขภาพผู้เป็นเบาหวาน, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
- แนะผู้ป่วยเบาหวานกินปลา ชี้ให้คุณค่าอาหารสูง, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
- ถั่วงอก อาหารต้านโรคและวิธีบริโภคอย่างปลอดภัย, Pobpad
- ผักบุ้ง สรรพคุณและประโยชน์ของผักบุ้ง 45 ข้อ, Medthai
- น้ำตาลเทียม, กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค
อ้างอิง ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง