ทำลูกแฝดยากไหม คุณแม่อยากมีลูกแฝด ทำอย่างไรได้บ้าง

ทำลูกแฝดยากไหม คุณแม่อยากมีลูกแฝด ทำอย่างไรได้บ้าง

23.04.2024

เป็นไปได้ไหมนะ ถ้าท้องนี้อยากทำลูกแฝด !! คู่รักที่แต่งงาน หรือคู่ที่มีลูกมาแล้ว ท้องครั้งนี้อยากจะได้ลูกแฝด สำหรับการตั้งครรภ์แฝดเกิดขึ้นได้ทั้งจากการตั้งครรภ์ธรรมชาติ และการตั้งครรภ์แฝดโดยใช้เทคนิคทางการแพทย์ช่วย การมีลูกแฝดไม่ว่าจะด้วยธรรมชาติ หรือใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ สำคัญคือทั้งคุณผู้ชายและคุณผู้หญิงต้องเตรียมร่างกายให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์เพื่อเพิ่มโอกาสการมีลูก

headphones

PLAYING: ทำลูกแฝดยากไหม คุณแม่อยากมีลูกแฝด ทำอย่างไรได้บ้าง

อ่าน 9 นาที

 

สรุป

  • การทำลูกแฝด มีเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 300 คน ในการตั้งครรภ์แฝดที่มาจากกรรมพันธุ์ ในผู้หญิงที่มีประวัติครรภ์แฝดในครอบครัวมาก่อน จะทำให้มีโอกาสในการเกิดครรภ์แฝด
  • การตั้งครรภ์แฝดแท้ หรือแฝดเหมือน เกิดจากไข่ 1 ใบเดียวกัน เป็นการผสมกันตามกระบวนการทางธรรมชาติที่อสุจิผสมกับไข่ จากนั้นเกิดการแบ่งตัวออกเป็น 2 เกิดเป็นแฝดเพศเดียวกันและมีหน้าตาเหมือนกัน
  • การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น การดื่มนมมากกว่า 5 เท่า และการรับประทานกรดโฟลิก จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์แฝด ซึ่งควรได้รับในปริมาณที่แพทย์แนะนำ


เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

โดยปกติแล้วการตั้งครรภ์ในมนุษย์จะมีลูกได้ครั้งละ 1 คน การตั้งครรภ์แฝด (Multifetal Pregnancy) เป็นการตั้งครรภ์ที่มีการเกิดทารกในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป อาทิเช่น การตั้งครรภ์แฝดคู่ (Twins) การตั้งครรภ์แฝดสาม (Triplets) และการตั้งครรภ์แฝดสี่ (Quadruplets) เป็นต้น ในทางการแพทย์พบว่าการตั้งครรภ์แฝดสามารถพบได้ 1 ต่อ 90 ของการตั้งครรภ์ และในปัจจุบันพบว่ามีการตั้งครรภ์แฝดเพิ่มมากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

 

จะมีลูกแฝดได้ ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์มากน้อยแค่ไหน

การตั้งครรภ์แฝดธรรมชาติจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยครั้ง มีเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 300 คน เท่านั้น ในการตั้งครรภ์แฝดที่มาจากกรรมพันธุ์ ข้อมูลทางการแพทย์พบว่าในผู้หญิงบางรายที่มีประวัติครรภ์แฝดในครอบครัวมาก่อน จะทำให้มีโอกาสในการเกิดครรภ์แฝด (dizygotic twins) ได้เพิ่มมากขึ้น สำหรับ Dizygotic (Fraternal) twins คือ การตั้งครรภ์แฝดที่เกิดจากการผสมของไข่ 2 ใบ กับอสุจิ 2 ตัว โดยที่อาจจะได้เพศของทารกเป็นเพศเดียวกัน (หญิง/หญิง), (ชาย/ชาย) หรือต่างเพศกัน (ชาย/หญิง) ก็ได้เช่นกันค่ะ

 

จะมีลูกแฝดได้ ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง

ทำลูกแฝด อยากมีลูกแฝดอาจไม่ใช่เรื่องง่าย หากเป็นการตั้งครรภ์แฝดโดยธรรมชาติ จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • กรรมพันธุ์: ในครอบครัวมีประวัติการตั้งครรภ์แฝดมาก่อน
  • เชื้อชาติ: พบว่าในคนกลุ่มผิวดำจะมีการเกิดครรภ์แฝดสูงกว่าในคนกลุ่มผิวขาว ทั้งนี้อาจสัมพันธ์กับความแปรปรวนของปริมาณฮอร์โมน FSH ที่มีในคนแต่ละเชื้อชาติ
  • อายุ: ในผู้หญิงที่อายุมากจะมีปริมาณฮอร์โมน FSH เพิ่มมากขึ้นตามอายุ ซึ่งพบว่าปริมาณฮอร์โมน FSH จะมีความสัมพันธ์กับการตั้งครรภ์แฝด dizygotic twinning สำหรับ Follicle Stimulating Hormone หรือ FSH คือฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของรังไข่ ที่ทำให้เกิดรอบเดือนในผู้หญิง
  • น้ำหนักและส่วนสูง: พบว่าในผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก (BMI ≥ 30 kg/m2) และสูง (Height ≥ 164 cm.) จะมีโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์แฝด dizygotic twins ได้มากกว่าในผู้หญิงที่ไม่สูง (เตี้ย) ร้อยละ 23-30

 

ความแตกต่างของแฝดแท้และแฝดเทียม

1. แฝดแท้ หรือแฝดเหมือน

เกิดจากไข่ 1 ใบเดียวกัน เป็นการผสมกันตามกระบวนการทางธรรมชาติที่อสุจิผสมกับไข่ จากนั้นเกิดการแบ่งตัวออกเป็น 2 เกิดเป็นแฝดเพศเดียวกันและมีหน้าตาเหมือนกัน สำหรับการเกิดแฝดแท้ หรือแฝดเหมือน จะมีเปอร์เซ็นต์การเกิดคือ 1:250

 

2. แฝดเทียม หรือแฝดไม่เหมือน

เกิดจากไข่ 2 ใบ (ไข่ 1 ใบ + สเปิร์ม 1 ตัว = 1 คน) และ (ไข่อีก 1 ใบ + สเปิร์ม 1 ตัว = 1 คน) การตั้งครรภ์แฝดเทียม หรือแฝดไม่เหมือน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากกระบวนการตามธรรมชาติ หรือจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ก็ได้เช่นกัน สเปิร์มและไข่ที่ผสมกันแล้วจะอยู่ในครรภ์เดียวกัน โดยที่จะมีการแยกอวัยวะทุกส่วนออกจากกันอย่างชัดเจน และจะมีถุงการตั้งครรภ์คนละถุงกัน และสายรกคนละสาย เป็นต้น

 

อยากมีลูกแฝด ทำลูกแฝดอย่างไรได้บ้าง


 

ทำลูกแฝดด้วยวิธีธรรมชาติ มีวิธีไหนบ้าง

ในทางการแพทย์การตั้งครรภ์แฝดเองตามธรรมชาติอาจเกิดขึ้นได้ หรืออาจไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ น้ำหนัก กรรมพันธุ์ และเชื้อชาติ เป็นต้น สำหรับวิธีธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ อาจจะเป็นครรภ์เดี่ยว หรือครรภ์แฝด คุณพ่อคุณแม่สามารถปฏิบัติได้ตามคำแนะนำดังนี้

  1. มีเพศสัมพันธ์กันในช่วงที่ไข่ตก
  2. การใช้ท่วงท่าในการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ท่ามิชชันนารี
  3. ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ อาจต้องมีเพศสัมพันธ์กันวันเว้นวัน หรือมีเพศสัมพันธ์กัน 2 วันครั้ง
  4. ผ่อนคลาย ลดเรื่องเครียดต่าง ๆ ลง
  5. หากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ ควรเพิ่มน้ำหนักตัว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการเพิ่มน้ำหนักที่ถูกต้องและเหมาะสมกับของแต่ละคน
  6. ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เพราะส่งผลต่อการมีลูกยากถึง 50 เปอร์เซ็นต์
  7. ความร้อน รังสีจากการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ส่งผลต่อการผลิตอสุจิ แนะนำว่าขณะใช้โน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ควรให้ห่างจากอัณฑะ
  8. การใช้เจลหล่อลื่นบ่อย ๆ อาจทำให้สารเคมีที่อยู่ในเจลหล่อลื่น ลดการเคลื่อนไหวของอสุจิได้มากถึง 60-100 เปอร์เซ็นต์

 

การตั้งครรภ์แฝดมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

  1. มีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ
  2. มีโอกาสเป็นโรคโลหิตจางได้มากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว
  3. มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงและครรภ์เป็นพิษ การตั้งครรภ์แฝดครั้งแรกมีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมากกว่า 5 เท่า
  4. มีน้ำคร่ำมากหรือแฝดน้ำ ในการตั้งครรภ์แฝดพบได้ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ และเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด และการตกเลือดหลังคลอด เป็นต้น
  5. รู้สึกไม่สบายตัวมาก มีความลำบากในการเคลื่อนไหวร่างกาย
  6. มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  7. ถุงน้ำคร่ำอาจแตกก่อนกำหนด
  8. มีภาวะรกเกาะต่ำ

 

อยากมีลูกแฝดควรกินอะไรบำรุงร่างกาย

มีงานวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น การดื่มนมมากกว่า 5 เท่า และการรับประทานกรดโฟลิก ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์แฝด สำหรับกรดโฟลิก หรือวิตามินบี 9 เป็นสารอาหารสำคัญในกระบวนการสร้างสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ ช่วยในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ การปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ กรดโฟลิกจะมีอยู่ในอาหารได้จากผัก ผลไม้ เช่น ดอกกะหล่ำ ใบกุยช่าย มะเขือเทศ แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง ส้ม องุ่นเขียว สตรอเบอร์รี ถั่วลิสง และถั่วเหลือง ส่วนในเนื้อสัตว์จะมีอยู่ในตับ เป็นต้น

 

ทำลูกแฝดไม่ว่าจะด้วยการตั้งครรภ์ธรรมชาติ หรือใช้วิทยาการทางการแพทย์ คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำในการเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกาย โภชนาการอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการพักผ่อนนอนหลับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การตั้งครรภ์มีความสมบูรณ์มากที่สุดค่ะ

 

และเมื่อการตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ หลังคลอดลูกแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูก รวมทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายชนิด

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

อ้างอิง:

  1. การตั้งครรภ์แฝดไม่ง่ายอย่างที่คิด, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. การตั้งครรภ์แฝด (Multifetal Pregnancy), โรงพยาบาลกรุงเทพ
  3. การตั้งครรภ์แฝด Multifetal Pregnancy, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  4. ตรวจฮอร์โมนส์เพศหญิงแล้วดีอย่างไร?, โรงพยาบาลเปาโล
  5. การตั้งครรภ์แฝด, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘ครรภ์แฝด’, โรงพยาบาลพญาไท
  7. เทคนิคการมีลูกง่ายด้วยวิธีธรรมชาติ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  8. 4 เคล็ดลับ ใครอยากได้ 'ลูกแฝด' มาทางนี้?, โรงพยาบาลราชสีมา
  9. โฟลิกกับการตั้งครรภ์, MedPark Hospital

อ้างอิง ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567
 

บทความแนะนำ

รกเกาะต่ำเกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

รกเกาะต่ำเกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

รกเกาะต่ำเกิดจากอะไร คุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำ อันตรายไหม แม่ท้องจะรู้ได้ยังไงว่าตัวเองมีภาวะรกเกาะต่ำ พร้อมวิธีสังเกตอาการและวิธีป้องกันรกเกาะต่ำในคนท้อง

คนท้องเป็นริดสีดวงอันตรายไหม แม่ท้องเป็นริดสีดวงสังเกตยังไง

คนท้องเป็นริดสีดวงอันตรายไหม แม่ท้องเป็นริดสีดวงสังเกตยังไง

แม่ท้องเป็นริดสีดวง เกิดจากอะไร คุณแม่ท้องจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นริดสีดวง พร้อมวิธีสังเกตริดสีดวงคนท้อง พร้อมวิธีป้องกันริดสีดวงคนท้องระหว่างตั้งครรภ์

เข็มขัดพยุงครรภ์ควรใช้ตอนไหน ใช้เข็มขัดพยุงครรภ์อันตรายไหม

เข็มขัดพยุงครรภ์ควรใช้ตอนไหน ใช้เข็มขัดพยุงครรภ์อันตรายไหม

เข็มขัดพยุงครรภ์คืออะไร เข็มขัดพยุงครรภ์ดีไหม จำเป็นกับคุณแม่ตั้งครรภ์จริงหรือเปล่า คุณแม่ท้องควรเริ่มใส่เข็มขัดพยุงครรภ์ตอนอายุครรภ์กี่เดือน

ท้องแฝดเกิดจากอะไร คุณแม่ตั้งท้องแฝดอันตรายจริงไหม

ท้องแฝดเกิดจากอะไร คุณแม่ตั้งท้องแฝดอันตรายจริงไหม

คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องแฝดยากไหม เกิดจากอะไร ตั้งครรภ์ท้องแฝดสี่ยงอันตรายจริงหรือเปล่า ลูกแฝดเกิดจากอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีเตรียมตัวมีลูกแฝดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก