รกเกาะต่ำเกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
รก เป็นอวัยวะที่พัฒนาขึ้นภายในมดลูกระหว่างตั้งครรภ์ เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับสายสะดือ ทำหน้าที่ส่งออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทารก และกำจัดของเสียออกจากเลือดของทารก โดยทั่วไป รกจะติดอยู่ที่ด้านบนของมดลูก แต่ภาวะรกเกาะต่ำเป็นภาวะที่รกจะไปเกาะที่ส่วนล่างของมดลูก ทำให้คนท้องเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้
สรุป
- ภาวะรกเกาะต่ำเกิดจากหลายสาเหตุ มักเจอในแม่ที่มีลูกมาก ๆ ตั้งแต่การตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป ครรภ์แฝด คนท้องที่ผ่านการขูดมดลูกมาก่อน หรือคุณแม่ที่มีอายุเยอะ มีพฤติกรรมที่ชอบสูบบุหรี่ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูกได้
- อาการรกเกาะต่ำ คือ มีเลือดสีแดงสดไหลออกจากทางช่องคลอด รู้สึกเจ็บแปลบ ๆ ที่ท้อง บางรายอาจไม่มีการบีบตัวของมดลูกจึงทำให้ไม่รู้สึกปวด เมื่อคุณแม่มีอาการเลือดไหลให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าปล่อยให้เลือดไหลมากจนถึงขั้นช็อกอาจทำให้เกิดอันตรายทั้งแม่และลูกน้อยในท้อง
- คนท้องที่มีภาวะรกเกาะต่ำควรงดการเดินทาง การเคลื่อนไหวร่างกายที่มากเกินไป หากเป็นไปได้ควรนอนนิ่ง ๆ บนเตียง ในกรณีที่คุณแม่มีเลือดออกจำนวนมาก คุณหมออาจให้คุณแม่นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อไม่ให้เกิดการเสียเลือดที่มากเกินไป และคุณหมอจะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ทำความรู้จัก ภาวะ “รกเกาะต่ำ”
- รกเกาะต่ำ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
- อาการของคุณแม่รกเกาะต่ำเป็นอย่างไร
- รกเกาะต่ำ เสี่ยงอันตรายไหม
- รกเกาะต่ำ เกิดขึ้นช่วงไหนของการตั้งครรภ์
- คุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำ ควรดูแลตัวเองยังไง
- วิธีป้องกันภาวะรกเกาะต่ำ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ทำความรู้จัก ภาวะ “รกเกาะต่ำ”
ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta Previa) เกิดจากรกลงมาเกาะอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูกใกล้กับปากมดลูก เมื่อทารกที่อยู่ในรกโตขึ้น ทำให้รกปิดขวางบริเวณปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด โดยปกติแล้วรกจะเกาะอยู่บริเวณส่วนบนของมดลูก เมื่อถึงเวลาคลอดปากมดลูกจะเปิดออก ทำให้เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างรกและมดลูกฉีกขาด จึงเสี่ยงมีเลือดออกมาก อาจเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และคุณแม่ได้ เมื่อคนท้องเกิดภาวะรกเกาะต่ำ คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ผ่าคลอดแทนการคลอดธรรมชาติเพราะมีความปลอดภัยกว่า
รกเกาะต่ำ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
อาการรกเกาะต่ำเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ส่วนใหญ่มักเจอในคุณแม่ที่มีลูกหลายคน การตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป
- คนท้องที่ตั้งครรภ์แฝด
- คนท้องที่ผ่านการขูดมดลูกมาก่อน
- มีความผิดปกติของมดลูก หรือมดลูกมีขนาดใหญ่
- ตำแหน่งของทารกในครรภ์ที่ผิดปกติ เช่น ลูกน้อยอยู่ในท่าขวาง
- เนื้องอกบริเวณกล้ามเนื้อมดลูก หรือมีแผลที่ผนังมดลูก
- คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
- คุณแม่ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติด
อาการของคุณแม่รกเกาะต่ำเป็นอย่างไร
ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจยังสังเกตไม่เห็นอาการ เพราะอาการรกเกาะต่ำเริ่มแสดงให้เห็นชัดเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่ช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ไปจนถึงต้นไตรมาสที่ 3 หรือมีอายุครรภ์ได้ประมาณ 6 เดือนขึ้นไป โดยมีอาการดังนี้
- มีเลือดสีแดงสดไหลออกจากทางช่องคลอด ตั้งแต่ปริมาณน้อยไปจนถึงปริมาณมาก บางรายเลือดหยุดไหลแล้วอาจกลับมาไหลอีกครั้ง เมื่อผ่านไป 2-3 วัน หรือประมาณ 1 สัปดาห์
- อาจมีอาการปวดเล็กน้อย เจ็บแปลบ ๆ เพราะการบีบตัวของมดลูก หรืออาจไม่มีอาการเจ็บปวดเลยก็ได้
- ในกรณีที่เสียเลือดมาก อาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะช็อก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
รกเกาะต่ำ เสี่ยงอันตรายไหม
ภาวะรกเกาะต่ำ เป็นอันตรายทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในท้องหากปล่อยให้มีการเสียเลือดจำนวนมาก คือ
- อันตรายต่อคุณแม่: ภาวะรกเกาะต่ำทำให้คนท้องเสียเลือดเป็นอย่างมาก จึงเสี่ยงต่อการตกเลือดที่อาจนำไปสู่ภาวะช็อก หรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเนื่องจากถุงน้ำคร่ำแตก และโอกาสในการติดเชื้อหลังคลอดสูงขึ้น เนื่องจากมีเส้นเลือดแตกใกล้บริเวณปากมดลูก
- อันตรายต่อลูกน้อยในท้อง: เมื่อรกเกาะต่ำทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ส่งผลให้ลูกน้อยมีขนาดตัวที่เล็ก น้ำหนักน้อย เติบโตได้ช้า และยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิการแต่กำเนิดอีกด้วย
รกเกาะต่ำ เกิดขึ้นช่วงไหนของการตั้งครรภ์
อาการรกเกาะต่ำ เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เพราะตัวอ่อนในรกที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะไปฝังตัวอยู่ในบริเวณมดลูกส่วนล่างจนปิดขวางปากมดลูก เมื่อรกมีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้เกิดการฉีกขาดของรกและมดลูก คนท้องจึงมีเลือดไหลออกมา ดังนั้น ก่อนที่คุณแม่จะเกิดภาวะเลือดไหลจากรกเกาะต่ำ จะต้องเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ประเมินตำแหน่งของรก โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ 18-22 สัปดาห์ เพื่อคุณหมอจะได้วางแผนการคลอดอย่างเหมาะสม
คุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำ ควรดูแลตัวเองยังไง
เมื่อคุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำ จะต้องดูแลตัวเองและทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในท้อง โดยมีวิธีการ ดังนี้
- เคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด: คุณแม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด ไม่เคลื่อนไหวร่างกายมากเกินไป พยายามนอนนิ่ง ๆ อยู่บนเตียง ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องลุกนั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเลือดไหลออกเป็นจำนวนมาก
- งดการมีเพศสัมพันธ์: ควรงดการมีเพศสมพันธ์โดยเด็ดขาด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เลือดออกมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในท้องได้
- ไม่เดินทางไกล: การเดินทางไกลอาจทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวมากเกินไป ได้รับการกระทบกระเทือน ทำให้มีเลือดออก
- หมั่นสังเกตเลือดที่ออกจากช่องคลอด: ในคุณแม่ที่มีเลือดออกเพียงเล็กน้อยควรสังเกตอาการเลือดออกของตัวเองอยู่เสมอ เพราะเลือดอาจจะหยุดไหลแล้วกลับมาไหลใหม่ หรืออาจไหลมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้ หากคุณแม่มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดมากควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
- งดการยกของหนัก: การยกของหนัก หรือทำงานหนัก ๆ หลังผ่าคลอดห้ามยกของหนัก เพราะจะยิ่งทำให้ภาวะรกเกาะต่ำยิ่งแย่ลง ทางที่ดีคุณแม่ควรให้ผู้อื่นช่วยและบอกถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าว
วิธีป้องกันภาวะรกเกาะต่ำ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- ฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด: การฝากครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะรกเกาะต่ำได้ดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยและคุณแม่ หากตรวจพบว่ามีภาวะรกเกาะต่ำ คุณหมอจะได้ให้คำแนะนำเรื่องการดูแลไม่ให้มีการกระทบกระเทือนเพิ่มมากขึ้น
- ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง: ทุกครั้งที่คุณหมอนัดตรวจครรภ์ คุณแม่ควรไปตามนัด เพราะคุณหมอจะทำการตรวจอัลตราซาวด์ตำแหน่งของรก น้ำคร่ำ และติดตามสุขภาพของลูกน้อยด้วย
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่: พฤติกรรมบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรกเกาะต่ำได้ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด
รกเกาะต่ำ เป็นอาการที่คุณแม่หลายคนคงไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะถ้าเป็นแล้วทำให้คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์เกิดความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำที่รุนแรง คุณแม่ควรงดสูบบุรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ และเข้ารับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ และสุขภาพที่ดีของลูกน้อยในครรภ์
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- โปรแกรม Womb development ตามติด 9 เดือนในครรภ์ของลูกน้อยพร้อมบทความพัฒนาการต่างๆ
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ลูกน้อยมีพัฒนาการยังไงบ้าง
- ลูกดิ้นตอนกี่เดือน การนับลูกดิ้น ลูกดิ้นแบบไหนอันตราย
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายกับคุณแม่ท้องและลูกในครรภ์อย่างไร
- 12 เมนูคนท้อง คนท้องกินอะไรได้บ้าง กินอะไรให้ดีกับลูกน้อย
- โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงสำคัญกับคุณแม่ตั้งครรภ์แค่ไหน
- อาหารบํารุงครรภ์ไตรมาส 1 อาหารคนท้องอ่อน สำหรับคุณแม่และลูกน้อย
- คลอดก่อนกำหนด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด
- คลอดธรรมชาติ น่ากลัวไหม คลอดลูกแบบธรรมชาติ มีขั้นตอนอย่างไร
- ของใช้เตรียมคลอดก่อนไปคลอด เตรียมของไปคลอดยังไงให้ครบ
- อยู่ไฟหลังคลอด ยังจำเป็นอยู่ไหมสำหรับคุณแม่หลังคลอด
- คนท้องนอนหงายได้ไหม ท่านอนคนท้อง 1-3 เดือน ท่าไหนปลอดภัย
อ้างอิง:
- ภาวะรกเกาะต่ำในคุณแม่ตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหนนะ?, โรงพยาบาลพญาไท
- อันตรายของภาวะรกเกาะต่ำ พร้อมแนวทางการรักษา, โรงพยาบาลสินแพทย์
- คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ ภาวะรกเกาะต่ำ, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
- 10 โฉมหน้าโรคแทรกซ้อน แม่ท้องต้องระวัง ตอนที่ 1, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิง ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2567