สายสะดือพันคอทารก เกิดจากอะไร รกพันคออันตรายแค่ไหน
เตรียมพร้อมรับมือระหว่างตั้งครรภ์ รู้ไว้ช่วยลูกรอด สายสะดือพันคอเกิดจากสาเหตุอะไร รกพันคออันตรายไหม ต้องทำอย่างไร คุณแม่ตั้งครรภ์โปรดหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี ว่ามีอาการผิดปกติกับครรภ์หรือเปล่า อาการลูกดิ้นน้อยลง ลูกไม่ดิ้น หากคุณแม่ท้องมีอาการเหล่านี้ ไม่ควรชะล่าใจ เพราะอาจเกิดจากสายสะดือพันคอ ควรรีบไปพบสูติแพทย์โดยด่วน
สรุป
- สายสะดือ เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างทารกในครรภ์กับรก ทำหน้าที่ส่งอาหารและออกซิเจนให้แก่ทารกในครรภ์เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต
- สายสะดือพันคอ หรือรกพันคอ เป็นภาวะที่พบเจอได้บ่อย เกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัวหรือทราบมาก่อน อาจเกิดจากทารกในครรภ์เคลื่อนไหวมากเกินไป สายสะดือที่มีความยาวเกินไป สายสะดือ พันคอจะทำให้ส่งออกซิเจนและอาหารไปหล่อเลี้ยงทารกไม่ได้ และอาจเสี่ยงทำให้ทารกในครรภ์หยุดหายใจได้
- สายสะดือพันคอ รกพันคอ ไม่อาจป้องกัน หรือทำการรักษาได้ แม้จะเป็นภาวะปกติ แต่ก็อาจส่งผลอันตรายได้ คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง และไปตรวจครรภ์ ตามที่สูติแพทย์นัดทุก ๆ เดือน หากพบว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงไปจากเดิม ให้รีบไปพบสูติแพทย์ทันที
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- สายสะดือพันคอ เกิดจากอะไร
- สายสะดือพันคอ คุณแม่จะมีอาการอย่างไร
- รกพันคอ อันตรายถึงชีวิตลูกจริงไหม
- การพันของสายสะดือ แบบไหนอันตรายกับลูก
- สายสะดือพันคอส่งผลร้ายแรงกับลูกยังไง
- ลูกดิ้นบ่อย แปลว่ารกพันคอลูกอยู่ จริงหรือเปล่า
- สายสะดือพันคอ ทำให้ต้องผ่าคลอดทันทีเลยไหม
- รกพันคอลูก มักจะเกิดขึ้นในไตรมาสไหน
- วิธีป้องกันรกพันคอลูก คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง
สายสะดือพันคอ เกิดจากอะไร
สายสะดือพันคอนั้น เป็นภาวะที่พบเจอได้บ่อย เกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัวหรือทราบมาก่อน อาจเกิดจากสายสะดือที่มีความยาวมากเกินไป หรือ ทารกในครรภ์เคลื่อนไหวมากเกินไป สายสะดือพันคอเป็นภาวะที่พบได้ปกติ แต่ก็อาจส่งผลอันตรายได้ เพราะการที่สะดือพันคอ จะทำให้ส่งออกซิเจนและอาหารไปหล่อเลี้ยงทารกไม่ได้ และอาจเสี่ยงทำให้ทารกในครรภ์ไม่หายใจได้ และกว่าจะรู้ตัวก็ตอนที่ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง หรือหยุดดิ้นแล้ว
สายสะดือมีลักษณะเป็นท่ออ่อนเป็นเส้นยาว บิดเป็นเกลียว สีขาวขุ่น ประกอบไปด้วย หลอดเลือดดำ 1 เส้น และหลอดเลือดแดง 2 เส้น มีขนาด 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 30-100 เซนติเมตร เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างทารกในครรภ์กับรก ทำหน้าที่ส่งอาหารและออกซิเจนให้แก่ทารกในครรภ์ เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต และสายสะดือนั้นยังช่วยขับของเสียออกไป
สายสะดือพันคอ คุณแม่จะมีอาการอย่างไร
สายสะดือพันคอ มักจะไม่เกิดอาการใด ๆ ทางร่างกาย จึงทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่รู้ตัวมาก่อน มารู้ตัวอีกทีก็เมื่อลูกดิ้นน้อยลง หรือหยุดดิ้น สายสะดือพันคอไม่อาจป้องกันได้ คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง และไปตรวจครรภ์ ตามที่สูติแพทย์นัดทุก ๆ เดือน โดยเฉพาะในช่วงของการตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ ขึ้นไป เพราะการตรวจครรภ์ทุกเดือน อาจพบเจอความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจทารก ที่ทำให้รู้ว่าสายสะดือพันคอได้ หากคุณแม่พบว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงจากเดิม หรือไม่ดิ้นเลย ให้ไปพบสูติแพทย์ทันที
รกพันคอ อันตรายถึงชีวิตลูกจริงไหม
รกพันคอ หรือ สายสะดือพันคอ พบได้ทั่วไปเมื่อตั้งครรภ์ ไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ หรือเกิดอันตรายที่ถาวรต่อทารกในครรภ์ ทารกประมาณ 1 ใน 3 คน คลอดออกมามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์โดยมีสายสะดือพันรอบคออยู่ขณะคลอด สายสะดือพันคอไม่อาจป้องกันได้ แม้จะเป็นภาวะที่พบได้ปกติ แต่ก็อาจส่งผลอันตรายได้ คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง และไปตรวจครรภ์ ตามที่สูติแพทย์นัดทุก ๆ เดือน หากคุณแม่พบว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงไปจากเดิม อย่าชะล่าใจ ให้รีบไปพบสูติแพทย์ทันที
การพันของสายสะดือ แบบไหนอันตรายกับลูก
การพันของสายสะดือ อาจส่งผลให้การส่งออกซิเจนและอาหารไปหล่อเลี้ยงทารกไม่ได้ และอาจเสี่ยงทำให้ทารกในครรภ์หยุดหายใจได้ เพราะสายสะดือ มีหน้าที่ในการส่งลำเลียงสารอาหาร และออกซิเจนให้กับทารกในครรภ์ เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต หากเกิดการพันของสายสะดือเกิดขึ้น ประเภทการพันของสายสะดือนั้น เป็นการบ่งบอกได้ว่า มีความเสี่ยงของภาวะขาดออกซิเจนหรือไม่ การพันของสายสะดือมี 2 รูปแบบ คือ
1. แบบปลดล็อก
สายสะดือพันคอ แบบไม่ล็อก ปลายสายสะดือจะเชื่อมต่อกับรก ผ่านปลายเชื่อมต่อกับทารก สายสะดือในลักษณะแบบไม่ล็อกนี้ สามารถเคลื่อนไหวอย่างอิสระ คลายตัวเอง หลุดออกได้เองตามธรรมชาติ เมื่อมีการขยับเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์
2. แบบล็อก
สายสะดือพันคอ แบบล็อก ปลายสายสะดือเชื่อมต่อกับรกไขว้กันที่ส่วนปลายเชื่อมกับทารก จะพันในลักษณะที่ไม่สามารถคลายออกได้ตามธรรมชาติ เมื่อสายสะดือพันแล้วจะคลายตัวออกได้ยาก แม้จะมีการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ก็ตาม
สายสะดือพันคอส่งผลร้ายแรงกับลูกยังไง
ทารกในครรภ์ที่มีสายสะดือพันคอแม้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ปกติ แต่ก็อาจส่งผลอันตรายถึงทารกได้ เพราะการที่สะดือพันคอ จะทำให้ส่งออกซิเจนและอาหารไปหล่อเลี้ยงทารกไม่ได้ และอาจเสี่ยงทำให้ทารกในครรภ์หยุดการหายใจได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลร้ายทางสุขภาพต่าง ๆ ของทารกได้ เช่น
1. หัวใจทารกในครรภ์เต้นผิดปกติ
ผลร้ายที่พบได้บ่อยที่สุดจากสายสะดือพันคอทารกก็คือ ทำให้ทารกในครรภ์มีอัตราการเต้นของหัวใจลดลงระหว่างคลอด เกิดจากการไหลเวียนของเลือดผ่านสายสะดือที่พันกัน และออกซิเจนลดลง
2. ภาวะมีขี้เทาในน้ำคร่ำ
ทารกในครรภ์ถ่ายขี้เทาออกมาก่อนกำหนด เกิดจากภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงทารก เมื่อเลือดไปเลี้ยงทารกผ่านทางสายสะดือของคุณแม่ตั้งครรภ์น้อยลง จะกระตุ้นทำให้ทารกในครรภ์ถ่ายขี้เทาออกมา
3. ภาวะเลือดเป็นกรด หรือ DKA Diabetic Ketoacidosis
เกิดขึ้นจากระบบการหายใจ หรือปอด มีความผิดปกติ ทำให้ร่างกายมีกรดสะสมอยู่ในปริมาณมาก หรือสูญเสียความเป็นด่างไป
4. ทารกเติบโตช้าในครรภ์
ความผิดปกติของสายสะดือ เป็นหนึ่งปัจจัยที่อาจทำให้ทารกเสี่ยงต่อภาวะทารกในครรภ์เติบโตช้า หรือ IUGR Intrauterine Growth Retardation ส่งผลให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักน้อย ตัวเล็ก เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพทั้งตอนอยู่ในครรภ์และหลังการคลอด
5. สมองทารกทำงานผิดปกติ
ภาวะ HIE หรือ Hypoxic ischemic encephalopathy คืออาการบาดเจ็บที่สมองที่เกิดขึ้นในช่วงแรกเกิด เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติ มีความเสี่ยงต่อความบกพร่องของสติปัญญาหรือทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า ในระยะยาว
ลูกดิ้นบ่อย แปลว่ารกพันคอลูกอยู่ จริงหรือเปล่า
ลูกดิ้น บ่งบอกว่าทารกในครรภ์มีการตอบสนองต่อสิ่งรอบ ๆ ตัว เช่น การยืดขยับขา หรือแขน ตอบสนองต่ออาหารที่คุณแม่ทานเข้าไป การดิ้นของทารกยังบอกถึงพัฒนาการทางสมอง ที่นำไปสู่พฤติกรรมของทารกเมื่อโตขึ้น เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ลูกจะดิ้นบ่อย ดิ้นมากขึ้น เพราะมีการเจริญเติบโตของระบบกล้ามเนื้อและประสาท การดิ้นในแต่ละวันไม่เหมือนกัน ลูกดิ้นน้อยลง เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น ตัวโตขึ้นเต็มโพรงมดลูก สำหรับสาเหตุที่ทำให้ทารกมีการดิ้นน้อยลง อาจเกิดจากสายสะดือพันคอลูกอยู่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตการดิ้นของลูกในครรภ์ให้ดี หากลูกดิ้นบ่อย แล้วดิ้นน้อยลง โดยเฉพาะหลัง 28 สัปดาห์ ควรรีบไปพบสูติแพทย์ให้เร็วที่สุด
สายสะดือพันคอ ทำให้ต้องผ่าคลอดทันทีเลยไหม
แม้ว่าสายสะดือพันคอเป็นภาวะที่พบเจอได้บ่อยในขณะตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ส่งผลอันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้ คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง และไปตรวจครรภ์ตามนัดทุก ๆ เดือน หากคุณแม่พบกว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงจากเดิม หรือไม่ดิ้นเลย ให้รีบไปพบสูติแพทย์ทันที หากพบว่ามีอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ลดลง สูติแพทย์จะประเมินอาการและแนะนำให้รับการผ่าคลอด ทันที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสูติแพทย์
รกพันคอลูก มักจะเกิดขึ้นในไตรมาสไหน
รกพันคอลูก หรือสายสะดือพันคอลูก มีโอกาสเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ หรือในช่วงไตรมาสที่ 2 และจะพบสายสะดือพันคอได้มากขึ้น เมื่ออายุครรภ์ 42 สัปดาห์
วิธีป้องกันรกพันคอลูก คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง
ปัจจุบันนี้ยังไม่มีทางเลือกในการรักษา หรือป้องกันสายสะดือพันคอที่เกิดกับทารกในครรภ์ ดังนั้น คุณแม่ควรเอาใจใส่ หมั่นสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์ ควรไปตรวจครรภ์ตามนัดเสมอเพื่อติดตามสุขภาพของทารกในครรภ์ และช่วยลดความเสื่ยงที่อันตรายจากสายสะดือพันคอ
คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรให้ความสำคัญกับการตรวจครรภ์และการฝากครรภ์ หรือพบสูติแพทย์ตามนัดอย่างเป็นประจำ เพราะการที่คุณแม่ไปพบแพทย์ตามนัด จะช่วยให้มีสุขภาพครรภ์ที่ดี ลดความเสี่ยงอันตราย หรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยในครรภ์ได้ หากมีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรีบไปพบสูติแพทย์ อย่ารอช้าเด็ดขาด
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด
- โปรแกรม Womb development ตามติด 9 เดือนในครรภ์ของลูกน้อยพร้อมบทความพัฒนาการต่างๆ
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
- คลอดเองกับผ่าคลอดต่างกันยังไง พร้อมขั้นตอนเตรียมผ่าคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อยอันตรายไหม
- ผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที ผ่าคลอดนานไหม พร้อมขั้นตอนการผ่าคลอด
- บล็อกหลัง คืออะไร การผ่าคลอดบล็อกหลังที่คุณแม่ควรรู้
- แผลฝีเย็บหลังคลอดของคุณแม่ ดูแลแผลฝีเย็บอย่างไรให้ปลอดภัย
- แผลผ่าคลอดกี่วันหาย พร้อมวิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดให้เนียนสวย
- ผ่าคลอดกี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอดถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
- ข้อห้ามหลังผ่าคลอดมีอะไรบ้าง พร้อมวิธีลุกจากเตียงหลังผ่าตัดคลอด
- ออกกําลังกายหลังคลอด ตัวช่วยกระชับหุ่นสุขภาพดี สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด
อ้างอิง:
- What to Know About a Nuchal Cord?, Webmd
- สายสะดือพันคอ สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ควรรู้, Hello Khunmor
- How Does Nuchal Cord Affect My Baby?, Healthline
- Nuchal Cord: Umbilical Cord Wrapped Around Baby’s Neck, Abclawcenters
- Your Guide to Hypoxic Ischemic Encephalopathy, Healthline
- ภาวะสูดสำลักขี้เทาในเด็กแรกเกิด ตอนที่ 1, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัย
- ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า (IUGR), pobpad
- เลือดเป็นกรด, pobpad
- คุณแม่รู้ไหม ลูกดิ้น..บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด, โรงพยาบาลเปาโล
อ้างอิง ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2567