อาการก่อนเมนส์มากับท้อง ต่างกันยังไง ทำไมถึงมีอาการคล้ายกัน

อาการก่อนเมนส์มากับท้องต่างกันยังไง ทำไมถึงคล้ายกัน

02.04.2024

อาการก่อนเมนส์มา หรือ Premenstrual Syndrome (PMS) เป็นอาการที่กวนใจสาว ๆ หลายคน แถมบางครั้งยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงานของเราอีกด้วย มาทำความรู้จักกับอาการก่อนเมนส์มาให้มากขึ้น ว่าอาการแบบไหนที่ถือว่าอยู่ในระดับที่ปกติ อาการแบบไหนอยู่ในระดับรุนแรง และอาการก่อนเมนส์มามีความแตกต่างกับอาการท้องอย่างไร

headphones

PLAYING: อาการก่อนเมนส์มากับท้องต่างกันยังไง ทำไมถึงคล้ายกัน

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • อาการก่อนเมนส์มา มักเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5-11 วัน และจะหายไปเองหลังจากประจำเดือนมา 4-7 วัน
  • กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder: PMDD) คืออาการก่อนเมนส์มาที่มีความรุนแรง จนทำให้เกิดอาการผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  • อาการก่อนเมนส์มากับการท้อง มีบางอาการที่คล้ายคลึงกัน เช่น อาการคัดเต้านม และปวดท้อง เป็นต้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

รู้จัก PMS หรืออาการก่อนเมนส์มาให้มากขึ้น เกิดจากอะไร

ก่อนที่จะมีประจำเดือน ผู้หญิงหลายคนมักจะมีอาการปวดท้องน้อย ไม่สบายตัว รู้สึกเหมือนกำลังจะป่วย ควบคุมอารมณ์ได้ยาก รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสียมากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ อาการก่อนเมนส์มา หรือ Premenstrual Syndrome (PMS) คืออาการที่เกิดขึ้นก่อนประจำเดือนมา มักพบในผู้หญิงอายุ 20-40 ปี มากถึงร้อยละ 80 ของผู้หญิงทั้งหมด โดยจะเริ่มรู้สึกถึงอาการเหล่านี้ประมาณ 5-11 วัน หรือ 1-2 สัปดาห์ก่อนประจำเดือนมา และอาการเหล่านี้จะหายไปเอง หลังจากประจำเดือนมาได้ 4-7 วัน

 

อาการก่อนเมนส์มา มีอะไรบ้าง

อาการก่อนเมนส์มามีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้หญิงแต่ละคน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาการ

 

1. อาการทางจิตใจ

ผู้หญิงที่มีอาการก่อนเมนส์มา มักจะรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย มีอารมณ์แปรปรวน โกรธ โมโห เหวี่ยงวีนมากกว่าปกติ หรือรู้สึกเครียด เศร้า วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ อารมณ์อ่อนไหว ร้องไห้ง่าย รวมไปถึงความรู้สึกอยากแยกตัวเองออกจากสังคม ไม่อยากสุงสิงกับใคร อยากอยู่คนเดียว รู้สึกหิวหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ และมีอาการนอนไม่หลับ

 

2. อาการทางร่างกาย

อาการทางร่างกายที่พบได้ก่อนเมนส์มา ได้แก่ อาการเจ็บคัดตึงหน้าอก ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ มีอาการท้องอืด ขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูกหรือท้องเสีย รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเป็นสิว

 

อาการก่อนเมนส์มา มีอะไรบ้าง

 

อาการก่อนเมนส์มา แบบไหนคือรุนแรง

อาการก่อนเมนส์มาเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และพบในผู้หญิงส่วนใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงก่อนมีประจำเดือน แต่ในผู้หญิงบางคนอาจมีอาการรุนแรงแบบที่เรียกว่า “กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน” หรือ Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD) ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติต่อจิตใจที่รุนแรงกว่าอาการก่อนเมนส์มาตามปกติ จนกระทบกับการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อาจเกิดจากการเปลี่ยนของฮอร์โมนเพศ โดยพันธุกรรม ประวัติการมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ รวมไปถึงนิสัยพื้นฐานของผู้หญิงคนนั้นที่อาจเป็นคนอารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ไม่ดีอยู่แล้ว

 

1. รู้สึกซึมเศร้า ไม่อยากทำอะไร

คนที่มีอาการก่อนเมนส์มาแบบรุนแรง อาจมีอารมณ์รุนแรงต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก เบื่อหน่าย ซึมเศร้า ร้องไห้ง่าย ร้องไห้บ่อย ไม่มีสมาธิ ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ไม่สนใจสิ่งที่เคยชอบ อยู่ในสังคมได้ยาก ไม่อยากไปเรียนหรือทำงาน จนกระทบต่อการเรียนและการทำงาน รวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย

 

2. โมโหร้าย

คนที่มีอาการนี้ อาจควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิดมาก โกรธ โมโหรุนแรง ฉุนเฉียว อารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เครียดหรือวิตกกังวลมากจนเกินไป

 

3. ทำร้ายตัวเอง

บางครั้งคนที่มีอาการก่อนเมนส์มาอย่างรุนแรงอาจมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือจบชีวิตของตัวเอง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตนเองได้ โดยอาการเช่นนี้มักเกิดขึ้นประมาณ 6 วัน ก่อนที่ประจำเดือนจะมา และมักจะมีอาการรุนแรงมากที่สุดประมาณ 2 วันก่อนประจำเดือนมา โดยระยะเวลาที่เกิดอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนเป็นแค่ไม่กี่วันแล้วก็หายเป็นปกติ แต่บางคนมีอาการนี้นานถึง 2 สัปดาห์

 

อาการก่อนเมนส์มากับท้อง ทำไมถึงคล้ายกัน

อาการก่อนเมนส์มากับอาการคนท้อง มีหลายอาการที่ใกล้เคียงกัน จนบางครั้งอาจทำให้รู้สึกสับสน ว่าตนเองกำลังจะมีประจำเดือน หรือกำลังจะท้องกันแน่

 

ประจำเดือนไม่มากี่วัน ถึงควรตรวจการตั้งครรภ์

ประจำเดือนไม่มาแค่ 1 วัน ก็สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้เลย โดยวิธีการตรวจเลือด เป็นวิธีการยืนยันการตั้งครรภ์ที่แม่นยำที่สุด

 

ตรวจครรภ์เร็วสุดได้เมื่อไหร่

การตรวจเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการตรวจเลือด ประจำเดือนขาดไปแค่ 1 วัน ก็สามารถตรวจได้เลย โดยวิธีการตรวจวิธีนี้ให้ผลที่แม่นยำแน่นอน สำหรับการตรวจทดสอบหาฮอร์โมน HCG (Human chorionic gonadotropin) โดยใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วยปัสสาวะ (Pregnancy Test) สามารถตรวจได้ตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนควรจะมา แต่ประจำเดือนยังไม่มา โดยผลการตรวจจะมีความแม่นยำมากขึ้นหลังจากปฏิสนธิได้ 10-14 วัน

 

ปวดท้องหน่วง ๆ เหมือนปวดประจําเดือน แต่ประจำเดือนไม่มา ตั้งครรภ์ไหม ?

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วง 1-2 สัปดาห์ อาจมีอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อย หรือเป็นตะคริวที่ท้องน้อย (Cramping) บริเวณปีกมดลูก คล้ายอาการปวดประจำเดือน เนื่องจากร่างกายของคุณแม่ผลิตฮอร์โมนเพื่อหล่อเลี้ยงตัวอ่อน และเกิดจากมดลูกขยายตัวตามการเจริญเติบโตของทารก แต่อย่างไรก็ตาม ควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยอาการ และยืนยันการตั้งครรภ์ให้แน่นอน แม่นยำ

 

ความแตกต่างของอาการก่อนเมนส์มากับท้อง

  • รู้สึกอ่อนเพลีย ก่อนมีประจำเดือน ผู้หญิงมักจะมีอาการนอนไม่หลับ จนอาจทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ และรู้สึกอ่อนเพลียตามมาได้ ซึ่งอาการนี้จะดีขึ้นหลังจากประจำเดือนมาแล้ว แต่สำหรับคนท้อง มักรู้สึกอ่อนเพลียในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
  • คัดเต้านม ผู้หญิงหลายคนจะรู้สึกคัดตึงหน้าอกก่อนประจำเดือนมา ซึ่งอาการนี้จะหายไปเมื่อมีประจำเดือนวันแรก ส่วนผู้หญิงตั้งครรภ์จะเริ่มรู้สึกคัดเต้านมหลังเริ่มตั้งครรภ์ได้ 1-2 สัปดาห์ และอาจเป็นติดต่อกันนานถึง 3 เดือน
  • รู้สึกปวดท้อง ผู้หญิงมีประจำเดือนอาจรู้สึกปวดรุนแรงบริเวณหน้าท้องและส่วนล่างของหลัง กินเวลามากกว่า 1 วัน ส่วนผู้หญิงมีครรภ์จะมีอาการปวดไม่รุนแรง บริเวณท้องน้อยและส่วนล่างของหลัง เป็นระยะเวลาสั้น ๆ

 

อาการคัดเต้าไม่ได้ท้อง เกิดจากอะไร

ความรู้สึกคัดตึงเต้านมก่อนประจำเดือนมา เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกาย ทำให้เต้านมขยายขนาด จนรู้สึกคัดตึง และอาจรู้สึกเจ็บทุกครั้งที่สัมผัสโดน ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อประจำเดือนมา ในขณะที่ผู้หญิงมีครรภ์ จะรู้สึกคัดตึงหน้าอกประมาณสัปดาห์ที่ 1-2 ของการตั้งครรภ์ และจะรู้สึกนานถึง 3 เดือน

 

รวมวิธีดูแลตัวเอง ช่วยบรรเทาอาการก่อนเมนส์มา

เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการก่อนเมนส์มาได้ ด้วยการรับประทานอาหารคนท้องที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดเช่น เค็มจัด หวานจัด งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทชาและกาแฟ เนื่องจากมีสารกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดอาการหงุดหงิดหรือซึมเศร้า ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ชอบ พบปะเพื่อนฝูง เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกดดัน เป็นต้น

 

ประจำเดือนเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนต้องพบเจอเมื่อก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ อาการก่อนเมนส์มาเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ คุณสามารถดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของตนเองให้แข็งแรง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอาการก่อนเมนส์มา หากพบว่าอาการรุนแรงผิดปกติ จนกระทบกับการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและวิธีการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับประจำเดือนในทุก ๆ เดือนได้อย่างมีความสุข

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. “PMS” กับอาการเหวี่ยงวีนของสาว ๆ ก่อนมีประจำเดือน, โรงพยาบาลเปาโล
  2. PMS คืออะไร รู้ทันเรื่องฮอร์โมน อาการก่อนมีประจำเดือน, โรงพยาบาลศิครินทร์
  3. อาการคนท้อง กับก่อนมีประจำเดือนต่างกันอย่างไร, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล อ้อมน้อย
  4. "หงุดหงิดซึมเศร้า” อาการก่อนมีประจำเดือนที่คุณผู้หญิงควรเข้าใจ, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. ทำความรู้จัก PMDD หรือกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน, Pobpad
  6. อาการคัดเต้า ไม่ได้ท้อง มีสาเหตุมาจากอะไร, hellokhunmor
  7. ตั้งครรภ์แน่ ๆ หรือแค่จะมีประจำเดือน, โรงพยาบาลสมิติเวช
  8. 18 อาการคนท้องเริ่มแรก ข้อสังเกต วิธียืนยันการตั้งครรภ์, MedPark Hospital

อ้างอิง ณ วันที่ 23 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องปวดหัวข้างเดียวทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้ไขอาการคนท้องปวดหัว

คนท้องปวดหัวข้างเดียวทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้ไขอาการคนท้องปวดหัว

คนท้องปวดหัวขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร คนท้องปวดหัวผิดปกติไหม อาการแบบไหนเรียกว่าปวดหัวปกติหรือไมเกรนในคนท้อง พร้อมวิธีแก้ไขเมื่อคนท้องมีอาการปวดหัว

มดลูกคว่ำคืออะไร อันตรายไหม อาการแบบนี้ทำให้มีลูกยากหรือเปล่า

มดลูกคว่ำคืออะไร อันตรายไหม อาการแบบนี้ทำให้มีลูกยากหรือเปล่า

มดลูกคว่ำ คืออะไร ภาวะมดลูกคว่ำในผู้หญิง ทำให้ว่าที่คุณแม่มีลูกยากและแท้งง่ายจริงไหม ภาวะมดลูกคว่ำ มดลูกกลับหลัง เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ไปดูกัน

ตกขาวสีน้ำตาลคนท้องบอกอะไร แม่ท้องมีตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

ตกขาวสีน้ำตาลคนท้องบอกอะไร แม่ท้องมีตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

ตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน เกิดจากอะไร อาการตกขาวสีน้ำตาลคนท้อง อันตรายกับคุณแม่ตั้งครรภ์ไหม ตกขาวแบบไหนผิดปกติ พร้อมวิธีสังเกตตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม ทำไมคุณแม่ควรเจาะน้ำคร่ำในระหว่างตั้งครรภ์ การเจาะน้ำคร่ำควรเจาะตอนไหนถึงไม่เป็นอันตรายกับลูกในครรภ์ เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร ไปทำความรู้จักกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก