การอยู่ไฟหลังคลอด คืออะไร จำเป็นไหมสำหรับคุณแม่หลังคลอด

อยู่ไฟหลังคลอดจำเป็นไหม หลังคลอดควรอยู่ไฟวันละกี่ชั่วโมง

31.03.2024

สัปดาห์แรก ๆ หลังคลอดบุตรเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวของคุณแม่ เนื่องจากระบบในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการคลอดธรรมชาติหรือการผ่าคลอดก็ตาม สิ่งสำคัญคือคุณแม่จะต้องดูแลตัวเองในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอดนี้ให้ดี เพื่อให้ร่างกายและจิตใจของคุณแม่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์สำหรับเตรียมพร้อมในการดูแลลูกน้อย และคำถามยอดฮิตของคุณแม่หลาย ๆ ท่านเลยก็คือ “ต้องอยู่ไฟหรือไม่” ซึ่งการอยู่ไฟเป็นวิธีการดูแลตัวเองหลังคลอดที่ได้รับการบอกกล่าวกันมารุ่นสู่รุ่นตั้งแต่สมัยคุณยายคุณย่า โดยเชื่อว่าจะช่วยฟื้นฟูร่างกายจากความเหนื่อยล้า และทำให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดลูก แต่ความเชื่อนี้ได้ค่อย ๆ ลดความนิยมลงตามกาลเวลา ดังนั้นแล้ว ในปัจจุบันการอยู่ไฟนั้นยังจำเป็นหรือไม่ และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง บทความนี้จะเชิญชวนคุณแม่มารู้จักวิธีการอยู่ไฟ

headphones

PLAYING: อยู่ไฟหลังคลอดจำเป็นไหม หลังคลอดควรอยู่ไฟวันละกี่ชั่วโมง

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • การอยู่ไฟหลังคลอดเป็นศาสตร์ของแพทย์แผนไทย เป็นความเชื่อของคนโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อช่วยให้คุณแม่หลังคลอดฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและลดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดลูก
  • ปัจจุบันการอยู่ไฟหลังคลอดถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับคุณแม่ยุคใหม่มากขึ้น โดยคุณแม่สามารถเลือกที่จะอยู่ไฟหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความสะดวกของคุณแม่

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ทำความรู้จักกับการอยู่ไฟหลังคลอด

การอยู่ไฟเป็นการบริบาลคุณแม่หลังคลอดตามหลักการของแพทย์แผนไทย โดยเชื่อว่าการคลอดลูกจะทำให้ธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายของคุณแม่เสียสมดุล โดยเฉพาะการคลอดทำให้เสียเลือดหรือทำให้ธาตุไฟในร่างกายน้อยลง ดังนั้นจึงมีการใช้ความร้อนและการนวดประคบเพื่อช่วยปรับธาตุในร่างกายของคุณแม่ให้สมดุล โดยวิธีอยู่ไฟในสมัยโบราณคือจะให้คุณแม่หลังคลอดนอนใกล้กองไฟ ดื่มน้ำสมุนไพร ประคบหน้าท้องด้วยอิฐเผาไฟ นวดประคบสมุนไพร ทับหม้อเกลือ เข้ากระโจมอบสมุนไพร ซึ่งวิธีการและระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับคำแนะนำของหมอพื้นบ้านหรือหมอตำแย แต่ในปัจจุบันวิธีการอยู่ไฟได้ถูกปรับปรุงให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคุณแม่ยุคใหม่เพื่อความปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น โดยสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนหลัก ๆ ได้ 3 ขั้นตอนดังนี้

 

1. การนวดไทยแบบราชสำนัก การนวดจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด

ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ลดอาการคัดตึงของเต้านม และการประคบสมุนไพรช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ลดอาการบวม อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นน้ำนมคุณแม่หลังคลอดได้ด้วย

 

2. การทับหม้อเกลือ

โดยนำหม้อดินเผาใส่เกลือเม็ดแล้วนำไปตั้งไฟให้ร้อน จากนั้นนำมาวางลงบนสมุนไพร และใบพลับพลึง ทำการห่อด้วยผ้าหลายชั้นเพื่อให้อุณหภูมิความร้อนจากหม้อเกลือกระจายตัวทั่วผ้า แล้วนำมานาบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จะช่วยให้มดลูกหดรัดตัวเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ขับน้ำคาวปลา ความร้อนจากหม้อเกลือจะช่วยเผาผลาญไขมันที่หน้าท้องทำให้หน้าท้องยุบเร็ว และกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือดแก้อาการปวดกล้ามเนื้อตามร่างกายได้

 

ทำความรู้จักกับการอยู่ไฟหลังคลอด

 

3. การอบไอน้ำสมุนไพร

เป็นการต้มสมุนไพรในห้องหรือกระโจมที่ใช้อบตัว ไอน้ำที่เกิดขึ้นจะช่วยพาตัวยาสมุนไพรซึมเข้าสู่ผิวหนัง ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพร จะทำให้รู้สึกสดชื่น หลอดลมขยายตัว ช่วยลดความตึงเครียดและนอนหลับได้ง่ายขึ้น

 

นอกจาก 3 ขั้นตอนนี้แล้วอาจมีขั้นตอนอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น การนั่งถ่าน การพันผ้าเพื่อกระชับหน้าท้อง การพอกผิวและขัดผิว ซึ่งอาจจะแตกต่างกันในแต่ละสถาบันหรือคลินิกที่คุณแม่ใช้บริการ

 

อยู่ไฟหลังคลอดใช้เวลานานไหม

ปัจจุบันการอยู่ไฟหลังคลอดนิยมทำวันละ 2-3 ชั่วโมง โดยทำต่อเนื่องติดต่อกัน 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความพอใจ และความสะดวกของคุณแม่ แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียมากกว่าปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ควรหยุดการอยู่ไฟทันที

 

เมื่อไหร่จึงจะเริ่มอยู่ไฟหลังคลอดได้

การอยู่ไฟจะได้ผลดีควรทำหลังจากคลอดลูกไม่เกิน 3 เดือน คุณแม่ที่คลอดลูกเองโดยวิธีธรรมชาติสามารถอยู่ไฟได้หลังจากคลอดลูกแล้ว 7-10 วัน และควรรอให้แผลบริเวณช่องคลอดแห้งสนิทก่อน แต่ถ้าเป็นกรณีที่คุณแม่ผ่าตัดคลอด ควรรอประมาณ 30-45 วัน หรือรอจนกว่าแผลผ่าตัดหายสนิทแล้ว ซึ่งถ้าคุณแม่ไม่มั่นใจว่าแผลแห้งหรือยังสามารถขอคำแนะนำจากคุณหมอผู้ดูแลการรักษาได้

 

อยู่ไฟหลังคลอด ช่วยอะไร

  • ช่วยขับน้ำคาวปลา โดยหลังคลอดลูกกลไกของมดลูกตามธรรมชาติจะมีการหดรัดตัวเพื่อขับน้ำคาวปลาซึ่งก็คือเศษเซลล์ที่ลอกออกมาจากโพรงมดลูก โดยจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน น้ำคาวปลาก็จะหมด
  • ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น เนื่องจากช่วงเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์มดลูกจะมีการขยายตัวตามขนาดของลูกน้อย และหลังจากคลอดแล้วมดลูกจะค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเรียกกันว่ามดลูกเข้าอู่
  • ช่วยกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก โดยหลังจากคุณแม่คลอดรกสมบูรณ์แล้วมดลูกจะมีการหดรัดตัว ซึ่งถ้าหากมดลูกหดรัดตัวได้ไม่ดีอาจก่อให้เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้
  • ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ซึ่งความร้อนจากการอยู่ไฟจะช่วยให้เลือดในร่างกายไหลเวียนได้ดีขึ้น ทำให้ร่างกายอบอุ่น และช่วยลดอาการหนาวสั่นของคุณแม่ได้
  • ช่วยลดการอักเสบช้ำบวม ซึ่งการประคบร้อนสมุนไพรจากการอยู่ไฟจะช่วยให้เลือดมีการไหลเวียนได้ดี กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซมตัวเอง ทำให้ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ลดอาการบวมและฟกช้ำได้เร็ว
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย การนวดและความร้อนจากการอยู่ไฟ สามารถลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายของคุณแม่ได้เป็นอย่างดี
  • ช่วยบรรเทาอาการสะโพกขัดและขาขัด เนื่องจากบริเวณกระดูกเชิงกรานของคุณแม่หลังคลอดจะมีการขยายตัว ทำให้มีการปวดตึงบริเวณสะโพกและขา โดยการนวดแผนไทยแบบ “เข้าตะเกียบ” ในการอยู่ไฟจะช่วยให้ข้อต่อเหล่านี้กลับเข้าที่ได้เร็วขึ้น
  • ช่วยลดอาการคัดตึงเต้านม การประคบร้อนสมุนไพรบริเวณรอบ ๆ เต้านม จะเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนเลือดในบริเวณนั้น ช่วยลดการปวดคัดตึงเต้านม และช่วยให้การไหลของน้ำนมดีขึ้นด้วย

 

ข้อห้ามในการอยู่ไฟหลังคลอด

  • คุณแม่หลังคลอดที่มีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส
  • คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หอบหืด ลมชัก โรคไต
  • คุณแม่หลังคลอดที่มีภาวะตกเลือด
  • แผลผ่าตัด หรือแผลบริเวณช่องคลอดยังไม่แห้งสนิทดี
  • มีอาการอ่อนเพลีย หรือเหนื่อยล้าผิดปกติ
  • หลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ
  • มดลูกยังไม่เข้าอู่

 

อยู่ไฟหลังคลอดจำเป็นไหม

แนวคิดของการอยู่ไฟในสมัยโบราณ ถ้าพูดตามหลักการวิทยาศาสตร์ก็คือช่วยให้คุณแม่ได้ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ เมื่อได้พักผ่อนและฟื้นฟูร่างกายจนกลับมาเป็นปกติได้เร็ว ก็จะสามารถใช้เวลาเลี้ยงดูลูกน้อยได้เต็มที่ แต่ถ้าถามว่าในปัจจุบันจำเป็นต้องอยู่ไฟหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่จำเป็น” เนื่องจากการคลอดในโรงพยาบาลปัจจุบันจะมีการฉีดยาเร่งคลอดซึ่งมีผลให้มดลูกบีบและหดตัวหลังคลอดอยู่แล้ว ดังนั้นคุณแม่สามารถเลือกที่จะไม่อยู่ไฟก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ให้ทำอย่างพอเหมาะ และระมัดระวังไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

 

นวดเต้านมหลังคลอด คืออะไร

คุณแม่หลังคลอดที่มีปัญหาคัดตึงเต้านม หรือท่อน้ำนมอุดตัน การนวดเต้านมเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการของคุณแม่ได้ การนวดกระตุ้นเต้านมเบา ๆ ช่วยลดการอักเสบและบวมน้ำในเนื้อเยื่อของเต้านม กระตุ้นการทำงานของระบบน้ำเหลือง ช่วยเรื่องการไหลเวียนโลหิตทำให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น

 

อยู่ไฟหลังคลอด นวดเต้านมหลังคลอด คืออะไร

 

เมื่อคุณแม่ทราบที่มาและเหตุผลในการอยู่ไฟหลังคลอดแล้ว คุณแม่จะสามารถตัดสินใจวางแผนเรื่องการดูแลตัวเองหลังคลอดได้ ซึ่งแน่นอนว่าการรับบริการอยู่ไฟย่อมมีค่าใช้จ่ายตามมาด้วย นอกจากนี้คุณแม่อย่าลืมรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ รักษาสุขอนามัยของแผล พักผ่อนให้เพียงพอ สามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้ แต่อย่าออกแรงมากเกินไป อย่ายกของหนัก และอย่าลืมพบคุณหมอให้ตรงตามนัด

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  • การดูแลตนเองหลังคลอด, MedPark Hospital
  • การพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ 1, วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • ผลของการทําสปาหลังคลอดต่อการไหลของน้ำนม ระดับความเจ็บปวด ระดับความรู้สึกผ่อนคลาย และภาวะสุขภาพของมารดาหลังคลอด ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่, วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมล้านนา
  • การอยู่ไฟคืออะไร, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัย มหิดล
  • การแพทย์แผนไทยกับการบริบาลมารดาและทารกหลังคลอดในชุมชนภาคกลาง, โครงการวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ละเอียด แจ่มจันทร์ และคณะ
  • ประโยชน์ของการดูแลมารดาหลังคลอด, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • การทับหม้อเกลือ, คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • การอบไอน้ำสมุนไพร, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • อยู่ไฟหลังคลอด จำเป็นแค่ไหนสำหรับคุณแม่?, โรงพยาบาลบางปะกอก
  • 10 ความเชื่อ...จริง และ ไม่จริง กับคุณแม่หลังคลอด, โรงพยาบาลขอนแก่น ราม
  • การดูแลสตรีระยะหลังคลอด (puerperium care), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • การดูแลหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย, โรงพยาบาลแม่ออน
  • การอยู่ไฟหญิงหลังคลอด, โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน
  • แนะ “อยู่ไฟ” ห้ามทำที่ปิด เสี่ยงขาดอากาศ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • นวดเปิดท่อน้ำนม และอัลตราซาวด์, โรงพยาบาลนนทเวช

อ้างอิง ณ วันที่ 26 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนมีนาคม 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนมีนาคม 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนมีนาคม 2567 วันมงคล วันดี สำหรับคุณแม่ใกล้คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนมีนาคม 2567 มีวันไหนมงคล เวลาดี เหมาะสำหรับคุณแม่ใกล้คลอดบ้าง ไปดูกัน

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด กุมภาพันธ์ 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด กุมภาพันธ์ 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด กุมภาพันธ์ 2567 วันมงคล วันดี สำหรับคุณแม่ใกล้คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีวันไหนมงคล เวลาดี เหมาะสำหรับคุณแม่ใกล้คลอดบ้าง ไปดูกัน

6 วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ ก่อนครบกำหนดคลอด

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนมกราคม 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนมกราคม 2567 วันมงคล วันดี สำหรับคุณแม่ใกล้คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนมกราคม 2567 มีวันไหนมงคล เวลาดี เหมาะสำหรับคุณแม่ใกล้คลอดบ้าง ไปดูกัน

อาหารแม่หลังคลอดห้ามกิน อาหารหลังคลอดคุณแม่กินอะไรได้บ้าง

อาหารคุณแม่หลังผ่าคลอดกินอะไรได้บ้าง คนผ่าคลอดห้ามกินอะไรบ้าง

อาหารแม่หลังคลอดห้ามกินมีอะไรบ้าง เมนูไหนที่คุณแม่ควรเลี่ยงและเมนูหลังคลอดแบบไหนที่ช่วยให้คุณแม่แผลหายไว แม่หลังคลอดกินอะไรได้บ้าง ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก