ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่คุณแม่ต้องเจอ พร้อมวิธีรับมือ

17.02.2024

การมีลูกเป็นประสบการณ์ที่ “เปลี่ยนแปลงชีวิต” ของคุณแม่เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นคุณแม่มือใหม่ เป็นปกติที่จะมีความรู้สึกตื่นเต้นกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก จนทำให้เกิดความเครียดและความเหนื่อยล้าได้ ทั้งนี้คุณแม่ลองสังเกตตัวเองว่าหลังจากคลอดลูกแล้วรู้สึกวิตกกังวล มีความเศร้าหรือเหงาผิดปกติ อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง และร้องไห้บ่อย ๆ หรือไม่ ถ้ามีอาการดังกล่าวคุณแม่อาจมีความเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้

headphones

PLAYING: ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่คุณแม่ต้องเจอ พร้อมวิธีรับมือ

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่คุณแม่และคนใกล้ชิดสามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะนี้ได้ โดยเรียนรู้วิธีการดูแลที่ถูกต้อง และคอยหมั่นสังเกตอาการของคุณแม่ที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า
  • หากคุณแม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไม่รุนแรงนัก สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรม ออกกำลังกาย หรือปรึกษาปัญหากับคนใกล้ชิด แต่ถ้าอาการยังคงอยู่ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ในประเทศไทยพบภาวะนี้ได้ประมาณ 10–15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคุณแม่ที่เพิ่งมีลูกคนแรกและคุณแม่วัยรุ่น สิ่งสำคัญคือหากสงสัยหรือพบว่ามีอาการเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คุณแม่และคนใกล้ชิดอย่าเพิกเฉยต่ออาการเหล่านี้ ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป อย่าโทษตัวเองเพราะว่าไม่ใช่ความผิดหรือความอ่อนแอของคุณแม่ และภาวะดังกล่าวอาจสามารถหายเองได้ในเวลาต่อมา แต่ถ้าอาการยังคงอยู่มากกว่า 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมภาวะซึมเศร้าหลังคลอดก็จะหาย และคุณแม่ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันกับลูกน้อยได้อย่างมีความสุข

 

สาเหตุการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลง 3 ปัจจัย ได้แก่

  1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน ซึ่งจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากคุณแม่คลอดลูก ฮอร์โมนเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและอารมณ์ของคุณแม่ ทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า เฉื่อยชา และหดหู่
  2. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอารมณ์และจิตใจของคุณแม่ เนื่องมาจากคุณแม่ต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกจนเกิดความวิตกกังวล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย เช่น น้ำหนักเกิน แผลผ่าคลอดจากการผ่าตัด ที่ก่อให้เกิดความเครียดและสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และถ้าหากคุณแม่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดจะมีแนวโน้มในการเกิดอาการซ้ำได้
  3. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น รายได้ที่ลดลง ข้อจำกัดทางด้านค่าใช้จ่าย ขาดการดูแลเอาใจใส่จากสมาชิกในครอบครัวและคนรอบข้าง อาจทำให้คุณแม่วิตกกังวล และไม่มั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงดูลูกได้ ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ทั้งสิ้น

 

อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสามารถแบ่งได้ 3 ระดับ โดยคุณแม่และสมาชิกในครอบครัวสามารถสังเกตสัญญาณและอาการได้ดังต่อไปนี้

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด

พบได้ประมาณ 40-80 เปอร์เซ็นต์ของคุณแม่หลังคลอด อาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ 2-3 วันแรกหลังคลอด และส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ โดยมักมีอาการดังต่อไปนี้

  • นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท
  • เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร
  • เหนื่อยล้าง่าย ไม่ค่อยมีแรง
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ

 

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

จะเริ่มมีอาการในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด และอาจเป็นต่อเนื่องยาวนานได้ถึง 1 ปี โดยอาการจะรุนแรงกว่าภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด และต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้

  • ไม่สนใจลูก หรือรู้สึกว่าไม่ผูกพัน
  • ร้องไห้ตลอดเวลาโดยไม่มีสาเหตุ
  • มีอารมณ์หดหู่ เศร้าหมอง
  • มีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้
  • สูญเสียความสุข ความรู้สึกสนุก มีความสนใจต่อสิ่งที่คุ้นเคยลดลง
  • มีความรู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง และไร้หนทาง
  • คิดเรื่องความตายหรือการฆ่าตัวตาย
  • คิดจะทำร้ายตัวเอง ทำร้ายลูกและคนอื่น
  • ไม่มีสมาธิ มีปัญหาในการตัดสินใจ

 

ภาวะโรคจิตหลังคลอด

พบได้น้อย มีเพียงประมาณร้อยละ 0.1-0.2 เปอร์เซ็นต์ของคุณแม่หลังคลอด แต่อันตรายและรุนแรงมาก และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที อาการของโรคได้แก่

  • วิตกกังวล หวาดกลัว และตื่นตระหนกเกือบตลอดทั้งวัน
  • มีปัญหาในการนอน นอนไม่หลับหรืออยากนอนตลอดเวลา
  • มีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง ลูก หรือผู้อื่น
  • ประสาทหลอนทางการได้ยิน หรือทางการมองเห็น เช่น หูแว่ว มองเห็นภาพหลอน
  • มีอาการหลงผิด เช่น เชื่อมั่นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแรงกล้าโดยไม่มีเหตุผล

 

อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด

 

วิธีการรักษาทางการแพทย์

หากคุณแม่พบว่าเสี่ยงมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและไม่สามารถรับมือได้ด้วยตัวเอง ควร เข้ารับคำปรึกษาและการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของอาการ ปัจจุบันมีวิธีการรักษา 2 วิธี ได้แก่

  1. การทำจิตบำบัด โดยแพทย์หรือนักจิตบำบัดจะพูดคุยกับคุณแม่ เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดที่ไม่ถูกต้อง หรือความคิดในเชิงลบ เพื่อให้คุณแม่สามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ถูกต้องชัดเจน ช่วยให้ปรับตัวได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยระบายความเครียด และลดความรู้สึกวิตกกังวลให้กับคุณแม่ได้ด้วย
  2. การใช้ยา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาแต่คุณแม่อยู่ในช่วงเวลาให้นมลูกควรแจ้งกับแพทย์ก่อน การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้วิจารณญาณและการดูแลรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น และการใช้ยารักษาจิตเวชบางชนิด จะสามารถผ่านทางน้ำนมแม่และส่งผลข้างเคียงกับลูกได้

 

การดูแลตัวเองที่บ้าน ไม่เสี่ยงภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

เรามีเคล็ดลับการดูแลตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คุณแม่เตรียมรับมือกับความกังวลที่จะเกิดขึ้นหลังคลอด มาฝากกัน 4 วิธี ดังนี้

1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ซึ่งการพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลให้หงุดหงิด อารมณ์เสีย และเหนื่อยล้าได้ ช่วงเวลาที่ลูกนอนหลับแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนไปด้วยกัน การจัดห้องนอนให้มืดสนิทและเย็นจะช่วยให้การนอนหลับของคุณแม่ดีขึ้น รวมทั้งคุณแม่สามารถขอความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัว หรือจ้างพี่เลี้ยงเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้าน และช่วยดูแลลูกในตอนกลางคืนเพื่อให้คุณแม่นอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่

 

2. ไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ตัวเองชอบ

หรือหาเวลาออกไปเจอเพื่อนเพื่อสังสรรค์บ้าง การทำกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้คุณแม่ออกจากอาการเศร้า ช่วยลดความวิตกกังวลและความหดหู่ได้ อย่างไรก็ตามเพื่อนที่ออกไปพบปะต้องเป็นคนที่เข้าใจและมีทัศนคติเชิงบวกต่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วยเช่นกัน

 

3. การออกกำลังกาย

ออกกำลังกายหลังคลอด อีกหนึ่งวิธีที่นอกจากจะช่วยให้หุ่นกระชับขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากขณะออกกำลังจะเป็นการกระตุ้นเอ็นดอร์ฟินส์ ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและลดความเครียดได้ และเป็นการเพิ่มอะดรีนาลีน ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี และการออกกำลังที่พอเหมาะ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมยังช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นด้วย

 

4. หากคุณแม่รู้สึกเป็นกังวลหรืออึดอัดใจ ไม่ควรเก็บไว้คนเดียว

ควรพูดคุยเปิดใจเพื่อระบายความรู้สึก หรือปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว รวมทั้งสามารถขอคำแนะนำหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลลูกจากคุณแม่ท่านอื่น ๆ จะช่วยให้คุณแม่ลดความกดดันลงได้

 

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากไม่รีบไปพบแพทย์

  1. คุณแม่อาจรู้สึกว่า ไม่ผูกพันกับลูกเท่าที่ควร จนถึงขั้นอยากทำร้ายตัวเองและลูก ดังนั้นควรมีการเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด หากอาการมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที ซึ่งหากปล่อยไว้จะเกิดอันตรายต่อชีวิตของคุณแม่และลูกได้
  2. คุณแม่จะสูญเสียความสนใจในชีวิตคู่ โดยเฉพาะอารมณ์ทางเพศจะลดลง ทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ของคู่รักได้ รวมทั้งคุณแม่มีอารมณ์แปรปรวนไม่คงที่ อาจทำให้เกิดการทะเลาะกัน ไม่ถูกใจกัน จนก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา
  3. คุณพ่ออาจมีความเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน โดยเฉพาะคุณพ่อที่มีลูกคนแรก หรือคุณพ่อที่มีอายุน้อย และหากคุณแม่มีภาวะซึมเศร้า แนวโน้มที่คุณพ่อจะมีอาการก็เพิ่มขึ้นด้วย
  4. พัฒนาการของลูกช้ากว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากคุณแม่ไม่สนใจลูกเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างเหมาะสมตามวัย นอกจากนี้ยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และการเรียนรู้ของลูกในอนาคต อาจทำให้ลูกขาดสมาธิ มีอารมณ์รุนแรงง่าย และไม่ร่าเริง

 

ดูแลตัวเองที่บ้าน ลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

 

ดังนั้นสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือคุณแม่ที่มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ขอให้ทราบว่าสามารถป้องกันและแก้ไขได้ เริ่มต้นด้วยการดูแลสุขภาพตัวเอง หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง และสิ่งสำคัญหลังคลอด นอกหนือจากการดูแลตนเองอย่างดีแล้วคือการเลี้ยงดูเอาใจใส่ลูกให้มีสุขภาพกายและใจที่ดีด้วย เช่น ดูแลโภชนาการลูกน้อยให้เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง เล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์และพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง และมีความสุข นอกเหนือจากนี้ ครอบครัวและคนใกล้ชิดที่เข้าใจ จะช่วยเป็นพลังให้คุณแม่ต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ให้ผ่านพ้นไปได้ร่วมกัน หากคุณแม่มีคำถามเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือคำถามเกี่ยวกับการดูแลลูกน้อย สามารถปรึกษาทีมพยาบาล S-Mom Club ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีค่าใช้จ่าย S-Mom Club พร้อมเคียงข้างทุกช่วงเวลาที่สำคัญของคุณและลูก

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. Postpartum Depression, Cleveland Clinic
  2. ภาวะบลู - สภาวการณ์ซึมเศร้าของหญิงหลังคลอด, วารสารวิชาการสาธารณสุข วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง
  3. Risk Factors of Postpartum Depression, Cureus
  4. Postpartum Depression, WebMD
  5. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด, โรงพยาบาลเมดพาร์ค
  6. Postpartum Depression: Diagnostic and Treatment Issues, WOMEN’S HEALTH
  7. ออกกำลังกายคลายเศร้าบรรเทาเครียด, BDMS Health Research Center ศูนย์วิจัยสุขภาพบีดีเอ็มเอส
  8. ความชุกและรูปแบบของการเกิดอารมณ์เศร้าในมารดาวัยรุ่นหลังคลอด ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง, มหาวิทยาลัยบูรพา

อ้างอิง ณ วันที่ 4 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องกินหอยนางรมได้ไหม อันตรายหรือไม่ จะส่งผลอะไรกับลูกในท้องบ้าง

คนท้องกินหอยนางรมได้ไหม อันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า

คนท้องกินหอยนางรมได้ไหม หากคุณแม่ท้องกินหอยนางรมเยอะเกินไป จะเป็นอันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและไม่เป็นอันตรายกับลูกน้อย

คุณแม่ตั้งครรภ์เบิกค่าฝากครรภ์ได้กี่บาท มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

คุณแม่ตั้งครรภ์เบิกค่าฝากครรภ์ได้กี่บาท มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีสิทธิประกันสังคมต้องรู้ เบิกค่าฝากครรภ์ได้เท่าไหร่ มีขั้นตอนอะไรบ้าง เบิกค่าฝากครรภ์ออนไลน์ได้ไหม และรายละเอียดที่ช่วยให้คุณแม่สะดวกขึ้น

คนท้องเท้าบวมเพราะอะไร ปกติหรือไม่ มีวิธีลดบวมให้คุณแม่ยังไงบ้าง

คนท้องเท้าบวมเพราะอะไร ปกติหรือไม่ มีวิธีลดบวมยังไงบ้าง

คนท้องเท้าบวม เกิดจากอะไร อาการคนท้องเท้าบวม หากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายกับคุณแม่หรือเปล่า ไปดูสัญญาณเตือนของอาการคนท้องเท้าบวมที่คุณแม่ควรรู้

ท้องผูกตั้งครรภ์อ่อน ๆ เกิดจากอะไร ทำยังไงให้คุณแม่ถ่ายง่ายขึ้น

ท้องผูกตั้งครรภ์อ่อน ๆ เกิดจากอะไร ทำยังไงให้คุณแม่ถ่ายง่ายขึ้น

ท้องผูกตั้งครรภ์อ่อน ๆ เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ คุณแม่สามารถรับมือได้อย่างถูกวิธี โดยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำมากๆ และทำตามตามคำแนะนำของแพทย์

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก