อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 6 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นกับแม่บ้าง

อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 6 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

04.03.2020

อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ยังอยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก สัปดาห์นี้คุณแม่จะยังมีอาการแพ้ท้อง ปวดปัสสาวะเข้าห้องน้ำบ่อย หากคุณแม่สำรวจร่างกายตัวเองจะพบว่าเต้านมทั้งสองข้างมีการขยายใหญ่ รู้สึกคัดเต้านม และในสัปดาห์นี้ตัวอ่อนในครรภ์จะมีขนาดตัวอยู่ที่ประมาณ 0.5 เซนติเมตร และหากมีการอัลตราซาวนด์จะเห็นการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์

headphones

PLAYING: อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 6 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ทารก(ตัวอ่อน)ในครรภ์ จะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ซึ่งเทียบได้กับขนาดของเมล็ดทับทิม
  • อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น เนื่องจากหัวใจต้องสูบฉีดเม็ดเลือดแดงเพื่อนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้นจากเดิมมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์
  • อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ธาตุเหล็กจะช่วยเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแดงของร่างกาย ช่วยนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะภายในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ตรงบริเวณหลังของทารกในครรภ์จะเริ่มปรากฏขึ้นเป็นร่องยาว ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นสมองและระบบประสาท

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เมื่ออายุครรภ์ 6 สัปดาห์คุณแม่จะรู้สึกเพลีย เหนื่อยง่าย เป็นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่ขณะตั้งครรภ์มีการทำงานที่หนักมากขึ้น โดยเฉพาะหัวใจที่ต้องสูบฉีดเม็ดเลือดแดง เพื่อนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมากขึ้นจากเดิมถึงราว 50 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้คุณแม่มีอาการเหนื่อยเพิ่มขึ้นจากปกติ สำหรับอาการเหนื่อยของคุณแม่ท้อง 6 สัปดาห์ สามารถดูแลให้ร่างกายผ่อนคลายรู้สึกสดชื่นขึ้นได้ ดังนี้

  1. การนอน ในระหว่างวันคุณแม่อาจนอนหลับพักงีบสักครึ่งถึง 2 ชั่วโมง และการนอนกลางคืนควรเข้านอนแต่หัวค่ำ ไม่นอนดึก
  2. การออกกำลังกาย การผ่อนคลายร่างกายด้วยการออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดินช้าๆ ช่วงเช้าเพื่อเป็นการยืดเส้นยืดสายให้กับร่างกายจะช่วยทำให้คุณแม่รู้สึกสดชื่นขึ้น
  3. การรับประทานอาหาร นอกเหนือไปจากอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่แล้ว คุณแม่ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสมจะช่วยเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแดงของร่างกาย ช่วยนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะภายในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อไก่ ตับหมู ผักใบเขียวเข้ม และถั่วหลากหลายๆ ชนิด

 

ตกขาวที่ผิดปกติของคุณแม่ท้อง 6 สัปดาห์

การมีตกขาวขณะตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ไปกระตุ้นให้มีการสร้างมูกเพิ่มมากขึ้นในช่องคลอด คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสังเกตการมีตกขาว หากพบว่ามีตกขาวที่ผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที

 

ตกขาวปกติ

  • มีสีขาวขุ่น
  • ไม่มีกลิ่น

 

ตกขาวผิดปกติ

  • ตกขาวออกมามากจนผิดปกติ
  • มีอาการคัน
  • มีกลิ่นที่แปลกไปจากเดิม
  • มีตกขาวลักษณะสีเขียว สีเหลือง

 

การมีตกขาวผิดปกติขณะตั้งครรภ์ บ่อยครั้งเป็นเพราะบริเวณช่องคลอดเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้สภาพภายในช่องคลอดมีสภาพที่ง่ายต่อการติดเชื้อ จึงส่งผลทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในช่องคลอด สาเหตุที่พบบ่อยมากมาจาก

  • ติดเชื้อรา
  • ติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด
  • ติดเชื้อแบคทีเรีย

 

อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ อาการคนท้องที่พบได้ทั่วไป

เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ อาการปกติที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ปัสสาวะบ่อย
  • บริเวณเต้านมทั้งสองข้างมีการขยายใหญ่ขึ้น และมีอาการเจ็บคัดตึง
  • อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ หงุดหงิดง่าย
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • คลื่นไส้พะอืดพะอม อาเจียน

 

อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน

ช่วงท้อง 6 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าการสวมใส่เสื้อผ้าจะเริ่มคับขึ้นตรงบริเวณหน้าท้อง เพื่อความสบายตัวไม่รู้สึกอึดอัด คุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนมาเป็นชุดเสื้อผ้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้บ้างแล้ว และในช่วงอายุครรภ์ สัปดาห์ที่อยู่ในเดือนที่สองของการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ในคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องอาจยังรับประทานอาหารได้ในปริมาณที่ไม่มาก

 

แต่หากคุณแม่ไม่ได้มีอาการแพ้ท้องและรับประทานอาหารได้ปกติ แนะนำว่าเพื่อให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตามเกณฑ์ มีพัฒนาการการเจริญเติบโตของร่างกายและระบบประสาทสมองการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ คุณแม่ควรรับประทานอาหารอย่างหลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และเน้นเพิ่มอาหารในกลุ่มโปรตีนมากขึ้น ส่วนคาร์โบไฮเดรตและไขมันควรรับประทานในปริมาณที่พอดี

 

คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก ร่างกายต้องการพลังงานประมาณ 2,050 กิโลแคลอรีต่อวันเท่านั้น การได้รับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยให้คุณแม่มีเกณฑ์น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ด้วย

 

ท้อง 6 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน

ทารกในครรภ์อายุ 6 สัปดาห์มีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนเมล็ดทับทิม หรือประมาณ 0.5 เซนติเมตร ในช่วงนี้ทารกในครรภ์ยังเป็นตัวอ่อนอยู่ หากมีการอัลตราซาวนด์โดยแพทย์ ก็จะสามารถมองเห็นการเต้นของหัวใจทารกได้

 

พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 6 สัปดาห์

  • บริเวณกลางหลังเริ่มมีร่องยาวปรากฏขึ้น ซึ่งจะพัฒนาต่อไปเป็นสมองและระบบประสาท
  • เริ่มมีการพัฒนาการขึ้นของแขน ขา และดวงตา

 

การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 6 สัปดาห์

เพื่อให้คุณแม่มีสุขภาพที่ดีขณะตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ ต้องเริ่มจากการดูแลใจและร่างกายที่ดีของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์เป็นสำคัญ

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม

  • รับประทานอาหารที่มีโฟเลต เช่น ผักใบเขียว บรอกโคลี ถั่วแดง มะละกอ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เป็นต้น
  • กรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ปลากะพง เป็นต้น โอเมก้า 3 ช่วยให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตดี
  • ไอโอดีน เช่น ปลาหมึก กุ้ง เป็นต้น การรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการสมองของทารก

 

2. ฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนขณะตั้งครรภ์จะได้รับการแนะนำจากแพทย์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มให้คุณแม่และทารกในครรภ์ ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ

 

3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

คุณแม่ท้องสามารถออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกายได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่ที่แพทย์ในการแนะนำการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมให้กับคุณแม่แต่ละท่าน

 

เพื่อให้คุณแม่มีครรภ์คุณภาพตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน หากในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่พบความผิดปกติมีอาการต่างๆ เช่น มีเลือดซึมออกจากช่องคลอด, ปวดศีรษะมาก, หรือมีอาการแพ้ท้องรุนแรงไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้เลย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. ไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ ( อายุครรภ์ < 14 สัปดาห์ ), โรงพยาบาล BNH
  2. เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์...ควรทำอย่างไร?, โรงพยาบาลพญาไท
  3. ประโยชน์ของธาตุเหล็ก อาหารเสริมธาตุเหล็กมีอะไรบ้าง?, โรงพยาบาลMedPark
  4. อาการระหว่างตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้, โรงพยาบาลพญาไท
  5. ตกขาวคราวตั้งครรภ์, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาส 1 ของการตั้งครรภ์ 1-3 เดือน, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
  7. พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์, helloคุณหมอ
  8. คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ในแต่ละไตรมาส, โรงพยาบาลนครธน
  9. ขนาดทารกในครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ต่าง ๆ เปรียบเทียบกับขนาดผักและผลไม้, helloคุณหมอ

อ้างอิง ณ วันที่ 11 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทำหมันกี่วันหาย เตรียมตัวแบบไหนดี

ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทำหมันกี่วันหาย เตรียมตัวแบบไหนดี

ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทําหมันกี่วันหาย คุณแม่ทำหมันทันทีเลยได้ไหม ต้องเตรียมตัวอย่างไร ให้คุณแม่เจ็บน้อยที่สุด พร้อมข้อดีและข้อเสียการทำหมัน

คนท้องไอบ่อยเป็นอะไรไหม ไอขณะตั้งครรภ์เกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี

คนท้องไอบ่อยเป็นอะไรไหม ไอขณะตั้งครรภ์เกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี

คนท้องไอบ่อย คุณแม่ไอขณะตั้งครรภ์ เกิดจากสาเหตุอะไร คนท้องไอบ่อยมาก อันตรายกับลูกในท้องไหม คุณแม่มีวิธีรับมืออย่างไร เมื่อมีอาการไอขณะตั้งครรภ์

อาการคันของคนท้อง เกิดจากอะไร ผื่นแพ้ฮอร์โมนตั้งครรภ์ อันตรายไหม

อาการคันของคนท้อง เกิดจากอะไร ผื่นแพ้ฮอร์โมนตั้งครรภ์ อันตรายไหม

อาการคันของคนท้อง เกิดจากอะไร คุณแม่มีอาการคันตามร่างกาย อันตรายไหม พร้อมวิธีบรรเทาอาการคันของคนท้อง สำหรับคุณแม่ที่มีผื่นแพ้ฮอร์โมนตั้งครรภ์

อาการมโนว่าท้อง กังวลไปเองว่าท้อง คืออะไร พร้อมวิธีเช็กอาการตัวเอง

อาการมโนว่าท้อง กังวลไปเองว่าท้อง คืออะไร พร้อมวิธีเช็กอาการตัวเอง

อาการมโนว่าท้อง กังวลไปเองว่าท้อง คืออะไร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เหมือนจะตั้งครรภ์ แบบนี้ใช่อาการตั้งท้องหรือเปล่า จะรู้ได้อย่างไรว่าตั้งท้องไหม ไปดูกัน