โปรแกรมคำนวณน้ำหนักคนท้อง แต่ละไตรมาสน้ำหนักคุณแม่ควรเพิ่มเท่าไหร่

โปรแกรมคำนวณน้ำหนักคนท้อง แต่ละไตรมาสควรเพิ่มเท่าไหร่

25.09.2019

โภชนาการที่ดีย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมวัยของลูกน้อยในท้อง หากคุณแม่ดูแลตัวเองไม่ดีทานอาหารไม่เพียงพอหรือไม่มีประโยชน์ อาจทำให้ทารกน้อยในครรภ์เจริญเติบโตได้ไม่ดีมากนัก เมื่อลูกคลอดออกมาจึงมีน้ำหนักตัวที่น้อยและอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและพัฒนาการอื่น ๆ ตามมา เช่น เสี่ยงต่อภาวะเตี้ยในเด็ก ในทางตรงกันข้าม หากคนท้องทานอาหารมากเกินไปอาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวที่มากกว่าเกณฑ์จนนำไปสู่ภาวะอ้วนและมีความเสี่ยงต่อโรคติดต่อเรื้อรังได้

headphones

PLAYING: โปรแกรมคำนวณน้ำหนักคนท้อง แต่ละไตรมาสควรเพิ่มเท่าไหร่

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • คนท้องควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามหลักการและหญิงตั้งครรภ์ควรเพิ่มประมาณ 10-15 กิโลกรัม หรือน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12.5 กิโลกรัม
  • หากค่า BMI ก่อนท้องของคุณแม่อยู่ที่ 18.5-24.9 แสดงว่าคุณแม่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ คุณแม่ควรเพิ่มน้ำหนักตัวในระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 11.5–16 กิโลกรัม
  • คนท้องมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมน้ำหนักตัวและอาหารให้เหมาะสมในแต่ละระยะ นอกจากนี้ หากคุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์ยังเสี่ยงต่อการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ภาวะครรภ์เป็นพิษ และโรคหลอดเลือดในสมองด้วย

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

คนท้องควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ในแต่ละเดือน ตามหลักการแล้วหญิงตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15 กิโลกรัม หรือน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12.5 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ใช่มีแค่น้ำหนักตัวของคุณแม่เพียงอย่างเดียวแต่ยังรวมเอาน้ำหนักจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายคุณแม่ไปด้วย เช่น น้ำหนักของลูกน้อยในท้อง น้ำคร่ำ รก มดลูก เป็นต้น อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายของคุณแม่ก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งน้ำหนักตัวของคุณแม่ควรเพิ่มเท่าไหร่สามารถดูได้จากตารางด้านล่าง ดังนี้

 

ตาราง: น้ำหนักตัวที่ควรเพิ่มขึ้นของคุณแม่ท้องในแต่ละไตรมาส

ดัชนีมวลกายของคุณแม่ก่อน
การตั้งครรภ์

น้ำหนักตัวคุณแม่ที่ควรเพิ่ม
ในไตรมาสแรก (กก.)

น้ำหนักตัวคุณแม่ที่ควรเพิ่ม
ในไตรมาส 2 และ 3 (กก.)

BMI น้อยกว่า 18.5

2.3

0.5

BMI 18.5-24.9

1.6

0.4

BMI 25-29.9

0.9

0.3

BMI มากกว่า 30

0

0.2

 

ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ของคุณแม่ตั้งครรภ์

ค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) เป็นค่าผลลัพธ์ของปริมาณไขมันในร่างกายโดยวัดจากสัดส่วนของน้ำหนักและส่วนสูงของคุณแม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

ตาราง: น้ำหนักตัวที่ควรเพิ่มขึ้นของคุณแม่ท้องโดยรวม

ดัชนีมวลกายของคุณแม่ก่อนการตั้งครรภ์

น้ำหนักตัวคุณแม่ที่ควรเพิ่มขึ้น (กก.)

BMI น้อยกว่า 18.5

12.5-18

BMI 18.5-24.9

11.5–16

BMI 25-29.9

7–11.5

BMI มากกว่า 30

5–9

*กรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด

15.9–20.4

 

  • ค่า BMI ที่แสดงว่าคุณแม่ตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์: จากตารางดัชนีมวลกาย จะเห็นได้ว่าค่า BMI ก่อนท้องของคุณแม่อยู่ที่น้อยกว่า 18.5 เท่ากับว่า คุณแม่ควรเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 12.5-18 กิโลกรัม
  • ค่า BMI ที่แสดงว่าดีต่อสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์: จากตารางดัชนีมวลกาย จะเห็นได้ว่าค่า BMI ก่อนท้องของคุณแม่อยู่ที่ 18.5-24.9 เท่ากับว่า คุณแม่ควรเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 11.5–16 กิโลกรัม
  • ค่า BMI ที่แสดงว่าคุณแม่ตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์: จากตารางดัชนีมวลกาย จะเห็นได้ว่าค่า BMI ก่อนท้องของคุณแม่อยู่ที่ 25-29.9 เท่ากับว่า คุณแม่ควรเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 7-11.5 กิโลกรัม
  • ค่า BMI ที่แสดงว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่ภาวะอ้วน: จากตารางดัชนีมวลกาย จะเห็นได้ว่าค่า BMI ก่อนท้องของคุณแม่อยู่ที่มากกว่า 30 เท่ากับว่า คุณแม่ควรเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 5-9 กิโลกรัม

 

วิธีคำนวณค่าดัชนีมวลกายอย่างง่าย

ถ้าคุณแม่อยากทราบว่าก่อนการตั้งครรภ์ตัวเองมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เท่าไหร่ ให้ใช้วิธีคำนวณตามนี้ 

BMI = น้ำหนักตัวของคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์ (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง

 

ตัวอย่าง น้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์อยู่ที่ 45 กิโลกรัม และมีส่วนสูง 155 เซนติเมตร หรือ 1.55 เมตร

  • BMI = 45 ÷ 1.552 หรือ 45 ÷ (1.55 x 1.55)
  • BMI = 18.7
  • แสดงว่า คุณแม่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะมีค่าอยู่ระหว่าง 18.5-24.9 และควรเพิ่มน้ำหนักตัวประมาณ 11.5–16 กิโลกรัม

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อน้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์

  • ทานอาหารมากเกินไป: อาหารเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของภาวะอ้วนในคนท้อง มักเกิดจากการทานอาหารที่ไม่สมดุลทำให้คนท้องได้รับพลังงานมากเกินความจำเป็นของร่างกาย จึงส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันขึ้น
  • การหลั่งฮอร์โมนบางชนิดที่ผิดปกติ: เมื่อร่างกายคนท้องเกิดการหลั่งฮอร์โมนที่ผิดปกติทำให้เกิดความไม่สมดุลของความหิวอิ่ม และยังส่งผลให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายผิดปกติไปด้วย
  • กรรมพันธุ์: คนท้องบางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองอ้วนขึ้นได้ง่าย เพราะอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ทางครอบครัวที่คนส่วนใหญ่มักมีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐานหรือน้ำหนักที่มากกว่าเกณฑ์ทำให้คุณแม่มีภาวะอ้วนไปด้วย
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน: พฤติกรรมการกินของคุณแม่อาจส่งผลต่อภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินของคนท้องได้ ยิ่งคุณแม่เป็นคนที่ชอบกินจุบจิบ กินบ่อย กินไม่หยุด หรือชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ชา น้ำอัดลม เป็นประจำก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คุณแม่เกิดภาวะอ้วนได้ง่าย

 

ภาวะแทรกซ้อน หากคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควบคุมน้ำหนัก

  • โรคเบาหวาน: โดยปกติแล้วคนท้องมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อยู่แล้ว หากคุณแม่ทานอาหารโดยไม่มีการควบคุมน้ำหนักอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานมากขึ้นตามไปด้วย
  • โรคความดันโลหิตสูง: หากคุณแม่ปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐานจนเข้าสู่ภาวะอ้วนอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษหรือโรคหลอดเลือดในสมองด้วย
  • เสี่ยงต่อการหยุดหายใจขณะนอนหลับ: ภาวะนี้มักจะพบได้ในคนที่เป็นโรคอ้วน หากคนท้องมีภาวะอ้วนแล้วเกิดภาวะหยุดหายใจสั้น ๆ ในขณะนอนหลับขึ้น จะส่งผลให้คุณแม่รู้สึกนอนไม่พอ อ่อนเพลียได้ง่าย และยังเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงในอนาคต
  • ทารกพิการแต่กำเนิด: เมื่อคุณแม่ตั้งท้องในขณะที่น้ำหนักตัวเกินอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะทารกพิการแต่กำเนิดได้ เพราะไขมันในร่างกายของคุณแม่ที่มีมากเกินไปทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นมาในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ง่ายจนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพของคุณแม่และอาจส่งต่อไปยังลูกน้อยในท้อง
  • ลูกน้อยคลอดยาก: คุณแม่ที่มีน้ำหนักเกินก่อนตั้งครรภ์ เสี่ยงต่อทารกมีรูปร่างที่ใหญ่กว่าปกติ เมื่อถึงเวลาคลอดทำให้ลูกน้อยกลายเป็นเด็กคลอดยาก คุณแม่จึงควรควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีน้ำหนักพุ่งมากเกินไป
  • ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในครรภ์: การควบคุมอาหารของคนท้องมีความสำคัญมาก คุณแม่ต้องพยายามไม่ให้มีน้ำหนักตัวมากเกินไปเพราะอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงลูกในท้องน้อยจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในครรภ์ได้

 

เคล็ดลับการรับประทานอาหาร เพื่อคุมน้ำหนัก

  • เลี่ยงไขมันสูง เน้นอาหารพลังงานสูงแทน: คนท้องควรเลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำแต่ให้พลังงานสูงอย่างโปรตีน เช่น เนื้อปลา อกไก่ เพราะนอกจากช่วยให้อิ่มท้องแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะน้ำหนักตัวเกินของคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วย
  • เลี่ยงอาหารรสเค็ม และเครื่องดื่มรสหวานจัด: เพื่อสุขภาพที่ดีของคนท้องและรักษาน้ำหนักให้อยู่ตามเกณฑ์ที่ดี คุณแม่ควรงดอาหารที่มีรสชาติเค็มหรือหวาน งดขนมหวาน และเครื่องดื่มที่หวานจัด เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน รวมถึงขนมขบเคี้ยวด้วย
  • เลือกทานแต่อาหารที่มีประโยชน์: ในระหว่างตั้งครรภ์คนท้องควรเลือกอาหารที่เหมาะสำหรับคนท้อง เช่น ทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อปลา และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน รวมถึงอาหารที่มีไขมันดีอย่าง อะโวคาโด และน้ำมันรำข้าว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและน้ำหนักตัวที่ดีของแม่ตั้งครรภ์
  • แบ่งทานอาหารออกเป็น 5-6 มื้อ: ในระหว่างวันคุณแม่ควรแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อย ๆ 5–6 มื้อ แทนการทานอาหารเพียง 3 มื้อ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้สะดวก ย่อยได้ดี และสามารถดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น

 

เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่ควรใส่ใจเรื่องโภชนาการและน้ำหนักตัวของคนท้อง คุณแม่ต้องควบคุมน้ำหนักตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเพราะถ้าน้ำหนักมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรใช้วิธีอดอาหารให้มีน้ำหนักตัวที่ดีเพราะอาจทำให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอได้ แต่คุณแม่ควรใช้วิธีควบคุมอาหารแทนพยายามแบ่งทานอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ แล้วกินบ่อยขึ้น เพื่อจะได้ไม่ทานคราวละมาก ๆ ภายในมื้อเดียว

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. คู่มือการฝากครรภ์ สำหรับบุคลากรสาธารณสุข, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  2. คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ในแต่ละไตรมาส, โรงพยาบาลนครธน
  3. วิธีคํานวณค่า BMI สูตรคำนวณดัชนีมวลกาย บอกอะไรได้บ้าง, โรงพยาบาลสมิติเวช
  4. ภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนในขณะตั้งครรภ์ความท้าทายของพยาบาลผดุงครรภ์, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
  5. อ้วนแล้วไง... โรคภัยถามหา, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  6. น้ำหนัก คน ท้อง เกินกว่าเกณฑ์ ส่งผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร, Hellokhunmor
  7. วิธีคํานวณค่า BMI สูตรคำนวณดัชนีมวลกาย บอกอะไรได้บ้าง, โรงพยาบาลสมิติเวช
  8. รู้จัก “ภาวะครรภ์เสี่ยง”…เพิ่มความใส่ใจคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
  9. คุณแม่ตั้งครรภ์ คุมน้ำหนักอย่างไรให้พอดี, โรงพยาบาลบางปะกอก

อ้างอิง ณ วันที่ 3 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องกินน้ำขิงได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินน้ำขิงได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินน้ำขิงได้ไหม คุณแม่ท้องอยากกินน้ำขิง เพื่อบำรุงสุขภาพครรภ์ น้ำขิงดีกับลูกในท้องหรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์

หยุดกินยาคุม 1 เดือน จะท้องไหม ว่าที่คุณแม่เลิกกินยาคุมกี่เดือนท้องได้

หยุดกินยาคุม 1 เดือน จะท้องไหม ว่าที่คุณแม่เลิกกินยาคุมกี่เดือนท้องได้

หยุดกินยาคุม 1 เดือน จะท้องไหม เลิกกินยาคุมกี่เดือนท้อง กินยาคุมมานาน เสี่ยงมีลูกยากจริงไหม ว่าที่คุณแม่ควรทำอย่างไร ถ้าอยากมีลูกเร็วหลังหยุดยาคุม

อาการท้องลด หนึ่งในสัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด

อาการท้องลด หนึ่งในสัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด

ท้องลด คืออะไร อาการท้องลดขณะตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นตอนไหน อาการท้องลดของคุณแม่ คือสัญญาณใกล้คลอดจริงไหม หลังเกิดอาการท้องลด นานแค่ไหนถึงจะคลอด ไปดูกัน

คนท้องปวดก้นกบ อันตรายไหม ปวดก้นบ่อย ทำยังไงให้หายปวด

คนท้องปวดก้นกบ อันตรายไหม ปวดก้นบ่อย ทำยังไงให้หายปวด

คนท้องปวดก้นกบ เกิดจากอะไร คุณแม่ปวดก้นกบบ่อย อันตรายไหม ส่งผลอะไรกับลูกหรือเปล่า ถ้าไม่กินยา คนท้องปวดก้นหายเองได้ไหม ต้องทำยังไงให้อาการปวดหายไป