9 ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด

ของเตรียมคลอด คุณแม่ควรเตรียมของไปคลอดอะไรบ้าง

01.03.2020

เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์หรือเดือนสุดท้ายก่อนคลอด สิ่งหนึ่งที่คุณแม่มือใหม่หลาย ๆ ท่าน อาจเริ่มมีความกังวล คือ การเตรียมสิ่งของไปโรงพยาบาลในวันคลอดและระหว่างการพักฟื้น ดังนั้นให้คลายความกังวลของคุณแม่ เรามาเริ่มจัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็นทั้งสำหรับคุณแม่และลูกน้อยกันค่ะ เพื่อให้พร้อมเมื่อถึงวันกำหนดคลอดหรือมีอาการเจ็บท้อง แล้วไปโรงพยาบาลได้ทันท่วงที

headphones

PLAYING: ของเตรียมคลอด คุณแม่ควรเตรียมของไปคลอดอะไรบ้าง

อ่าน 10 นาที

 

สรุป

  • ควรจัดกระเป๋าเตรียมคลอดไว้ล่วงหน้า ช่วยลดความกังวลก่อนคลอด เพื่อความรวดเร็วในการไปโรงพยาบาล
  • ของใช้ที่จำเป็นต้องเตรียม อาทิ เสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว ของคุณแม่และคนเฝ้า รวมไปถึงเอกสารสำคัญสำหรับการแจ้งเกิดของลูกน้อย

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

 

9 วิธีเตรียมของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้

1. ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้

  • ก่อนจัดเตรียมสิ่งของ คุณแม่อาจเริ่มสอบถามและตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลล่วงหน้า เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งมีการจัดเตรียมสิ่งของจำเป็นบางอย่างสำหรับคุณแม่และลูกน้อย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้คุณพ่อและผู้มาเยี่ยมด้วย
  • สำหรับคุณแม่และคุณพ่อที่ทำงานประจำ ควรควรเตรียมศึกษาเกณฑ์การลาคลอดและสิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อเตรียมลางานล่วงหน้า หรือจัดการธุระให้เรียบร้อย 
  • ควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจดูความพร้อมของร่างกาย ป้องกันอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งในช่วงเดือนสุดท้าย คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการใกล้คลอดต่าง ๆ อาทิ อาการเจ็บท้องเตือน อาการท้องแข็งเกร็ง  ท้องลด ความสูงของยอดมดลูกลดลง หรือ มีมูกขาวข้นออกทางช่องคลอด เป็นต้น
  • หากคุณแม่พบอาการเหล่านี้ อาทิ มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ถุงน้ำคร่ำแตกหรือที่เรียกกันว่า น้ำเดิน และอาการเจ็บท้องรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในลักษณะที่เจ็บสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง ควรรีบไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลทันที 

 

2. สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนคลอดสำหรับแม่

  • เสื้อผ้า คุณแม่ควรเลือกชุดที่สวมง่าย ใส่สบาย และสามารถให้นมลูกได้ง่าย 
  • ชุดชั้นในให้นม เพื่อความสะดวกในการให้นมลูก 
  • แผ่นซับน้ำนม ป้องกันคราบน้ำนมที่อาจไหลซึมเปื้อนเสื้อ 
  • กางเกงชั้นใน ไม่ควรให้รัดแน่นจนเกินไป เพื่อความสบายของคุณแม่
  • ผ้ารัดหน้าท้อง ช่วยพยุงสรีระและกระชับเองให้คุณแม่เคลื่อนไหวได้ง่าย
  • แผ่นอนามัย หรือผ้าอนามัยแบบห่วง มีสายรัดยางยืดรอบเอว เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยน โดยเฉพาะคุณแม่ที่ผ่าคลอด เพราะหลังคลอดคุณแม่จะมีน้ำคาวปลาออกมาคล้ายประจำเดือน 
  • ของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ หรือ ครีมอาบน้ำ แชมพู โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน แปรงสีฟัน หวี ครีมบำรุงผิว และ แว่นสายตา เนื่องจากการใส่คอนแทคเลนส์ในช่วงนี้อาจไม่สะดวกนัก
  • โทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ ควรเตรียมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินมาด้วย เช่น เบอร์โรงพยาบาล เบอร์คุณหมอฝากครรภ์ที่ดูแล หรือ เบอร์ญาติ ๆ ที่ใกล้ชิด
  • เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารประกันสุขภาพ ใบนัดแพทย์ เอกสารหรือสมุดฝากครรภ์  บันทึกการตั้งครรภ์ รวมถึงเตรียมชื่อลูกน้อย สำหรับการแจ้งเกิด
  • รองเท้า เลือกรองเท้าแบบส้นเตี้ยหรือรองเท้าแตะ เพื่อใช้เดินในห้องและในโรงพยาบาล
  • ชุดกลับบ้าน อาจเตรียมชุดที่เคยใส่ขณะตั้งครรภ์ เพราะหลังคลอดไม่นาน น้ำหนักตัวคุณแม่อาจจะยังไม่ลดลงได้มาก
  • เครื่องสำอาง คุณแม่อาจเตรียมเครื่องสำอางติดกระเป๋าเพื่อเติมหน้าให้สดใส ต้อนรับแขกที่มาเยี่ยม หรือเตรียมตัวกลับบ้าน

นอกจากนี้ คุณแม่ควรเตรียมกระเป๋าสำหรับของใช้ส่วนตัวของคุณพ่อ หรือคนที่มานอนเฝ้าคุณแม่ด้วย

 

3. สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนคลอดสำหรับลูกน้อย

  • เสื้อผ้าเด็กอ่อน ควรเลือกเสื้อผ้าที่ง่ายต่อการสวมใส่ อาจจะใช้เชือกผูกหรือกระดุม มีเนื้อผ้าละเอียด ไม่ระคายผิว ไม่มีเหลี่ยมคมที่อาจจะบาดผิวลูกน้อย คุณแม่ควรเตรียม หมวก ถุงมือ ถุงเท้า ไปด้วย เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายลูก และ ป้องกันเล็บข่วนหน้า ก่อนใช้งานควรซักด้วยน้ำยาซักผ้าโดยเฉพาะสำหรับเด็กอ่อนให้เรียบร้อย และเตรียมให้มีจำนวนเพียงพอสำหรับใช้ในโรงพยาบาล
  • ผ้าอ้อม ใช้สำหรับทำความสะอาดลูกน้อย หรือใช้รองอุ้มเพื่อป้องกันการสัมผัสกับตัวผู้ใหญ่โดยตรง ควรเลือกเนื้อผ้าที่มีความอ่อนนุ่ม มีสีอ่อน เพื่อให้สังเกตเห็นสิ่งแปลกปลอมที่อาจติดมากับผ้าได้ง่าย
  • ผ้าอ้อมสำเร็จรูป  ควรเลือกแบบเทป เพื่อความสะดวกในการสวมใส่ เพราะเด็กแรกเกิดยังมีขนาดร่างกายที่เล็ก ผ้าอ้อมแบบเทปสามารถขยับให้กระชับพอดีกับลูกน้อยได้มากกว่าแบบกางเกง
  • ผ้าห่มหรือผ้าห่อตัว ควรเลือกผ้าเนื้อนุ่มที่ค่อนข้างหนา เพื่อให้ลูกน้อยอุ่นสบาย และรู้สึกมั่นคงตอนถูกอุ้ม สามารถใช้ห่อตัวลูกน้อยกลับบ้าน
  • ทิชชู่เปียกและสำลี ควรเลือกชนิดที่ปราศจากน้ำหอมหรือสารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวของลูกที่บอบบาง ใช้เช็ดทำความสะอาดก้นลูก ใช้ทำความสะอาดเต้านมคุณแม่ 
  • วาสลีน หรือครีมทาป้องกันผื่นผ้าอ้อม ควรเลือกชนิดที่ไม่มีสารกันบูด น้ำหอม หรือ สารฆ่าเชื้อใด ๆ ก่อนใส่ผ้าอ้อมให้ทาบาง ๆ บริเวณก้น เพื่อป้องกันผดผื่น 
  • แชมพูอาบน้ำ สระผม สำหรับเด็กทารก และฟองน้ำธรรมชาติ อย่าลืมเตรียมผ้าเช็ดตัวเนื้อนิ่ม สำหรับเช็ดตัวลูกน้อยหลังอาบน้ำ
  • สมุดบันทึกลูกน้อย สำหรับคุณแม่เพื่อจดบันทึกความเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงพัฒนาการต่าง ๆ ของลูกน้อย
  • คาร์ซีท สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมเพื่อรับลูกน้อยกลับบ้าน ให้ลูกรักมีที่นั่งที่อบอุ่นและปลอดภัย

 

9 วิธีเตรียมของใช้สำหรับเตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้

 

4. คุณแม่คุณพ่อควรเริ่มซื้อของเตรียมคลอดตอนอายุครรภ์กี่เดือน

คุณแม่และคุณพ่อสามารถเริ่มจัดหาและซื้อสิ่งของได้ล่วงหน้า ตั้งแต่ที่ครรภ์ยังไม่ใหญ่มากนัก เพื่อที่คุณแม่จะสามารถออกไปเลือกซื้อสิ่งของสำหรับลูกน้อยได้เอง และคุณแม่ควรเริ่มเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการคลอดล่วงหน้าสัก 2 สัปดาห์ก่อนถึงกำหนดคลอด ทั้งคุณแม่ที่คลอดเองธรรมชาติและคุณแม่ผ่าคลอด เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่อาจคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเจ็บท้องคลอดเมื่อไหร่ น้ำคร่ำจะไหลเมื่อไหร่ การเก็บสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ใส่กระเป๋าไว้ล่วงหน้า จะช่วยลดความวิตกกังวลก่อนการคลอดได้ และพร้อมไปโรงพยาบาลได้ทันที 

 

5. หลังคลอดคุณแม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง

  • เตรียมตัวเรื่องอาหาร คุณแม่มือใหม่ควรระวังเรื่องอาหารเพื่อลูกน้อย ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ ใช้วัตถุดิบที่ปรุงสุก สะอาด อาจเสริมด้วยอาหารที่มีกากใยสูง อาหารที่มีสรรพคุณช่วยเพิ่มน้ำนมให้กับคุณแม่หลังคลอด รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ น้ำอัดลม และการงดเว้นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ยังคงเป็นสิ่งควรทำอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่คุณแม่จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อการรักษาอาการใด ๆ ก็ตาม ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเสมอ เนื่องจากยาบางชนิดหลั่งสารออกฤทธิ์ผ่านทางน้ำนมได้ 
  • เตรียมตัวเรื่องจิตใจและอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย ในช่วงเวลา 6 สัปดาห์แรกหลังคลอดบุตร   จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และฮอร์โมน โดยส่วนของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกายของคุณแม่จะลดต่ำลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสรีระร่างกายและความกังวลใจในการปรับตัว เพื่อดูแลลูกน้อยแรกเกิดให้ได้อย่างเต็มที่ จะมีความอ่อนไหวง่ายมากขึ้น จึงอาจส่งผลให้เกิดเป็นความแปรปรวนทางด้านอารมณ์ ไปจนถึงการซึมเศร้าแบบไม่มีเหตุผล ซึ่งในภาวะเศร้านี้คุณแม่ต้องคอยสังเกตตัวเองให้ดี แต่ทั้งนี้ภาวะเหล่านี้จะดีขึ้นได้ด้วยกำลังใจจากคุณพ่อและการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากคนรอบข้าง หากมีอาการรุนแรงมากจนเป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ในกลุ่ม โรคซึมเศร้าหลังคลอด ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
  • เตรียมตัวดูแลตัวเอง เพื่อสุขภาพที่ดี อาทิ 
    1. แผลฝีเย็บ แผลหลังคลอด อย่างแผลฝีเย็บ จะสมานและดีขึ้นประมาณ 7 วัน แต่อาจจะรู้สึกเจ็บแปล๊บเวลาขยับร่างกายต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์ 
    2. แผลผ่าคลอด สำหรับกรณีแผลผ่าตัดหลังผ่าคลอด  คุณแม่สามารถทำความสะอาดแผลด้วยตนเอง โดยใช้น้ำสะอาดล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง จากนั้นซับแผลด้วยผ้าที่สะอาดให้แห้งทันที อย่าปล่อยให้แผลอับชื้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัย และทำตามคำแนะนำของแพทย์ หากสังเกตว่าแผลมีน้ำซึม เจ็บแผล แผลบวมแดง แนะนำให้พบแพทย์โดยทันที  
    3. น้ำคาวปลา จะมีสีแดงเข้ม ค่อย ๆ จางลงเป็นสีเหลือง และจางจนหมดไปเองหลังคลอด 3-6 สัปดาห์  
    4. เต้านมคัดตึง อาการคัดตึงเต้านม  สามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้โดยการนำทารกเข้าเต้าดูดนมทันทีหลังคลอด และทำบ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบประมาณ 10 นาที นวดคลึงหัวนมเปิดทางให้น้ำนมไหลได้สะดวก และรักษาความสะอาดก่อนและหลังให้นมทุกครั้ง 
    5. การพักผ่อน คุณแม่จึงควรจัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเหมาะสม หาเวลางีบหลับระหว่างวัน หรือใช้โอกาสช่วงที่ลูกหลับ พักผ่อนไปพร้อมกัน อาจขอให้คุณพ่อหรือคนที่บ้านช่วยดูเป็นบางเวลา เพื่อไปทำกิจกรรมที่ได้อยู่กับตัวเองในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น การอาบน้ำ เดินเล่น หรือออกกำลังกายเบา ๆ ให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข ลดความวิตกและลดอาการเหนื่อยล้าสะสมที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ได้

 

6. เตรียมของไปคลอดโรงพยาบาลรัฐอย่างไรดี

ในปัจจุบัน การเตรียมสิ่งของสำหรับไปคลอดโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนมีความแตกต่างกันไม่มากนัก คุณแม่มือใหม่ควรสอบถามรายละเอียดจากโรงพยาบาลล่วงหน้า เพื่อเตรียมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับหลังคลอดและระหว่างการพักฟื้นที่ในโรงพยาบาลให้พร้อม ไม่ควรพกสิ่งของมีค่า หรือเงินจำนวนมากเพื่อป้องกันการสูญหาย และไม่ควรเตรียมสิ่งของมากเกินจำเป็น 

 

7. เอกสารสำคัญก่อนคลอด

  • เอกสารสำคัญที่คุณแม่ไม่ควรลืม คือ สมุดฝากครรภ์
  • เอกสารเพื่อให้ทางโรงพยาบาลดำเนินการแจ้งเกิดให้ลูก ซึ่งจะต้องดำเนินการภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่เกิด ประกอบด้วย
    1. สำเนาบัตรประชาชนของคุณแม่,ของคุณพ่อ
    2. สำเนาทะเบียนบ้านของคุณแม่, ของคุณพ่อ,และสำเนาทะเบียนบ้านที่จะให้บุตรย้ายเข้า
    3. สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้าจดทะเบียนสมรส)
    4. อื่น ๆ เช่น สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล

 

8. ท้อง 6-7 เดือน คุณแม่คุณพ่อเริ่มเตรียมของได้หรือยัง?

ในระหว่างการตั้งครรภ์เดือนที่ 6  ถึง เดือนที่ 7  เป็นช่วงที่ลูกน้อยมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว และเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาเตรียมตัวสำหรับการคลอดของคุณแม่ การฝึกการหายใจเพื่อบรรเทาอาการปวด การเตรียมความพร้อมของใช้ เสื้อผ้า และจัดเตรียมสถานที่ ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้ คุณแม่จะยังสามารถเดินได้อย่างสะดวกคล่องแคล่ว จึงอาจเป็นช่วงเวลาที่สามารถจัดหาสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับลูกน้อยได้สะดวกและถูกใจคุณแม่ แต่ในสิ่งของบางรายการ คุณแม่อาจต้องหมั่นสังเกตวันหมดอายุด้วย เนื่องจากซื้อล่วงหน้าหลายเดือนก่อนคลอด ดังนั้นอาจจะจัดเตรียมเฉพาะสิ่งของที่ไม่มีหมดอายุก่อน และเมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนที่ 8 จนถึง 2 สัปดาห์ก่อนคลอด จึงค่อยเตรียมสิ่งของที่สามารถหมดอายุได้

 

9. ซื้อของเตรียมคลอดควรเตรียม Budget ไว้เท่าไหร่ดี?

เมื่อคุณแม่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ เชื่อว่าหนึ่งในเรื่องของความกังวล คือ งบประมาณในการเตรียมคลอด ทั้งค่าใช้จ่ายในการคลอดลูกที่โรงพยาบาล และสิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงดูลูกน้อย รวมไปถึงเงินเดือนพี่เลี้ยงหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการเลี้ยงลูก ทั้งนี้ขึ้นกับความพร้อมและสถานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัว ทั้งนี้เราได้รวบรวมหลักการจัดเตรียมซื้อสิ่งของให้เหมาะสมและคุ้มค่ามาให้แล้ว ดังนี้

  • เตรียมของใช้ตามความจำเป็น อาทิ อุปกรณ์ให้นม ทั้งขวดนม เครื่องนึ่งขวดนม อุปกรณ์ล้างขวดนม รวมถึงผลิตภัณฑ์ล้างขวดนม คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ เนื่องจากเด็กแรกเกิดจะดื่มนมเป็นอาหารหลัก ทั้งนี้ หากคุณแม่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แบบเข้าเต้า ในช่วงแรกอาจซื้ออุปกรณ์ให้นมจำนวนไม่มากก่อน 
    1. ชุดเครื่องนอน ขึ้นกับรูปแบบของคุณพ่อคุณแม่ว่าใช้เตียงนอนเด็ก หรือเบาะรองนอน
    2. อุปกรณ์อาบน้ำสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เสื้อผ้าของลูกน้อยในช่วงแรกเกิดอาจะเตรียมประมาณ 10-15 ชุด 
    3. ค่ายา สำลี ทิชชู่เปียก อุปกรณ์วัดไข้
  • เลือกที่คุณภาพเหมาะสมกับราคา คุณภาพเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในการเลือกซื้อของเตรียมคลอด คุณพ่อคุณแม่คงไม่อยากได้ของใช้เด็กในราคาประหยัด แต่อาจทำจากวัสดุที่เป็นอันตรายต่อเด็ก หรือไม่คงทนอย่างแน่นอน แม้ว่าของบางชิ้นจะมีราคาแพง แต่บางครั้งเมื่อเทียบกับการใช้ของใช้เด็กที่ราคาถูก แล้วทำให้ลูกป่วย ลูกได้รับอันตราย ทำให้เสียค่ารักษาพยาบาล คงจะไม่ดีแน่ ดังนั้นราคาและคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน
  • แบ่งปันของใช้กันบ้าง หากเพื่อน ๆ ที่มีลูกโตแล้วมาเสนอของใช้เด็กให้ เช่น เตียงเด็ก รถเข็นเด็ก ก็จะทำให้ประหยัดได้มากทีเดียว อย่างไรก็ตาม ก็อย่าลืมตรวจสอบเรื่องความสะอาด และคุณภาพความแข็งแรงของของใช้เด็กที่ได้รับการส่งต่อมาด้วย ในกรณีของคาร์ซีท คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบปีที่ผลิต เนื่องจากบางครั้งผลิตมานานจนหมดอายุการใช้งานแล้ว อาจส่งผลต่อความปลอกภัยของลูกน้อยได้

 

คุณแม่มือใหม่เมื่อเตรียมของไปคลอดครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมเตรียมจิตใจเพื่อรับมือกับอาการปวดท้องคลอด และการปรับตัวในการเลี้ยงดูลูกน้อยภายหลังคลอด การพักผ่อนที่เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนตามหลักโภชนาการ รวมถึงสุขภาพจิตที่ดีของคุณแม่ ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ของลูกน้อย คุณพ่อและคนรอบข้างที่เป็นกำลังใจสำคัญ ควรช่วยกันดูแลคุณแม่มือใหม่หลังคลอดให้ดีที่สุดทั้งกายและจิตใจด้วยนะคะ

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  1. สัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด เตรียมพร้อมได้ทันเวลา, รพ.นครธน 
  2. เก็บกระเป๋าเตรียมตัวไปคลอด, รพ.สมิติเวช 
  3. คุณแม่มือใหม่ หลังคลอดต้องเตรียมอะไรบ้าง?, รพ.วิมุต 
  4. LIST ของให้คุณแม่ในวันคลอดมีอะไรบ้าง ?, รพ.เปาโล 
  5. 9 สิ่งควรทำ ใน 9 เดือน ที่ตั้งครรภ์, รพ.เปาโล 

อ้างอิง ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2566
 

 

บทความแนะนำ

รก คืออะไร หน้าที่ของรกมีอะไรบ้าง รกผิดปกติ อันตรายกับคุณแม่แค่ไหน

รก คืออะไร หน้าที่ของรกมีอะไรบ้าง รกผิดปกติ อันตรายกับคุณแม่แค่ไหน

รก คืออะไร หน้าที่ของรกสำคัญแค่ไหน เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ พร้อมวิธีสังเกตความผิดปกติของรก ที่คุณแม่ควรรู้ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับทารกในครรภ์

น้ำคร่ำน้อย เกิดจากอะไร น้ำคร่ำน้อยตอนใกล้คลอด อันตรายไหม

น้ำคร่ำน้อย เกิดจากอะไร น้ำคร่ำน้อยตอนใกล้คลอด อันตรายไหม

น้ำคร่ำน้อย สัญญาณอันตรายที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรมองข้าม น้ำคร่ำน้อยระหว่างตั้งครรภ์ มีอาการอย่างไร น้ำคร่ำน้อยตอนใกล้คลอดอันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเอง 

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมัน

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมัน

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าแผลทำหมันจะหายดี เจ็บแผลทำหมัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมันที่ถูกต้อง ช่วยให้แผลหายเร็วและปลอดภัย

เสริมแคลเซียมคนท้องจำเป็นไหม แม่ท้องควรเริ่มกินเมื่อไหร่

เสริมแคลเซียมคนท้องจำเป็นไหม แม่ท้องควรเริ่มกินเมื่อไหร่

แคลเซียมคนท้องจำเป็นไหม อยากเสริมแคลเซียมคนท้องกินอะไรดี คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเริ่มเสริมแคลเซียมสำหรับคนท้องตอนไหนดีที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกในครรภ์